ความหมายของอาหารเรปฏิกูลสัญญา

วันที่ 08 สค. พ.ศ.2558

 

ความหมายของอาหารเรปฏิกูลสัญญา

คำว่า อาหาร หมายถึง สิ่งที่นำผลมาให้แก่ตน เป็นคำบ่งถึงการดำรงชีพของสัตว์ทั้งหลาย พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาหาร4 อย่างเหล่านี้ เพื่อความตั้งอยู่แห่งเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้วบ้าง เพื่อความอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ที่แสวงหาภพที่เกิดบ้าง อาหาร 4 อย่าง เป็นไฉน อาหาร 4 อย่าง คือ กวฬิงการาหาร อันหยาบหรือละเอียดเป็นที่ 1 ผัสสาหารเป็นที่ 2 มโนสัญเจตนาหารเป็นที่ 3 วิญญาณาหารเป็นที่ 4”2)

 

จะเห็นได้ว่าอาหารที่เป็นไปเพื่อการตั้งอยู่แห่งสัตว์ พระพุทธองค์ตรัสว่ามีอยู่ 4 อย่างคือ

1.กวฬิงการาหาร อาหาร คือ คำข้าว ได้แก่ อาหารที่เราบริโภคทุกมื้อทุกวันนั้นเอง เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงร่างกายไว้

2.ผัสสาหาร อาหาร คือ ผัสสะหรือสัมผัสต่างๆ ที่กระทบอายตนะ 6 เป็นปัจจัย หล่อเลี้ยงนาม คือ ทำให้เกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา

3.มโนสัญเจตนาหาร อาหาร คือ มโนสัญเจตนา หรืออาหาร คือ ความนึกคิดทางใจ เป็นเหตุให้ทำ พูด คิด เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงกรรม

4.วิญญาณาหาร อาหาร คือ วิญญาณ หรือวิญญาณเป็นอาหารเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงให้เกิดนามรูป

 

ปฏิกูลสัญญา หมายถึง การกำหนดหมายว่าเป็นสิ่งปฏิกูล

            อาหาเรปฏิกูลสัญญาคือ การพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร กำหนดหมายว่า อาหารที่บริโภคเป็นสิ่งปฏิกูล ซึ่งอาหารที่พิจารณาก็คือ กวฬิงการาหาร คือ อาหารที่ใช้บริโภค ใช้ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม เนื่องจากอาหารทั้ง 4 ล้วนเป็นเหตุให้ได้รับทุกข์ ภัย อุปัทวันตรายต่างๆ เป็นอเนกประการ ภัยเกิดจากความยินดีในการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะกวฬิงการาหารมีภัยมาก หากพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดสุขุม จะเห็นโทษภัยที่น่ากลัวยิ่ง ถ้าขาดการพิจารณาจะมองไม่เห็นโทษเลย

 

ในคัมภีร์อรรถกถา ได้กล่าวถึงโทษที่เกิดจากกวฬิงการาหารไว้ว่า

            สัตว์ทั้งหลายติดใจในกวฬิงการาหารแล้ว มุ่งความเย็น เป็นต้น เบื้องหน้าเมื่อจะทำการงาน เป็นต้น เพื่อต้องการอาหารย่อมประสบทุกข์เป็นอันมาก ก็บางพวกแม้จะบวชในศาสนา นี้แล้ว ก็แสวงหาอาหารด้วยอเนสนกรรม3) มีเวชกรรม เป็นต้น ย่อมถูกเขาติเตียนในปัจจุบัน แม้ในภพหน้าก็ย่อมเป็นสมณเปรต ตามนัยที่กล่าวไว้ในลักขณสังยุตมีอาทิว่า แม้สังฆาฏิของเธอก็ถูกไฟไหม้ลุกโชนแล้วเพราะเหตุนี้อันดับแรก ความติดใจในกพฬีการาหาร พึงทราบว่าเป็นภัย4)

            เพราะอาหารมีโทษดังนี้ การเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญาจึงเป็นหนทางแห่งการ หลุดพ้นจากความยึดติด และเป็นหนทางแห่งการพัฒนาจิตเพื่อมุ่งสู่อริยภูมิต่อไป

 

----------------------------------------------------------------------------

2) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่ม 19 ข้อ 446 หน้า 176.
3) อเนสนกรรม คือ การแสวงหาเลี้ยงชีพของพระภิกษุที่ไม่สมควร ไม่ชอบ ตามพระธรรมวินัย เช่น ดูหมอ ทำยาขาย เป็นต้น.
4) สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่ม 26 หน้า 59.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026553984483083 Mins