การเจริญอรูปกัมมัฏาฐานในวิชชาธรรมกาย
การเจริญอรูปกัมมัฏฐานได้ ต้องเข้าถึงกายอรูปพรหมเสียก่อน แล้วอาศัยกายอรูปพรหม นั้นเจริญอรูปกัมมัฏฐานตามที่ได้กล่าวมา ทั้งรูปฌานและอรูปฌานที่อยู่ในกายต่างๆ ถ้าใช้กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม เข้าฌาน เรียกว่า โลกียฌาน ผลที่ได้ คือ อภิญญา 5 ได้แก่ ตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้วาระจิต ทำฤทธิ์ได้หลายอย่าง ยังอยู่ในภูมิของสมถะ แต่ถ้าใช้กายธรรมเข้าฌาน เรียกว่า โลกุตตรฌาน เป็นบาทเพื่อก้าวเข้าสู่ภูมิของวิปัสสนา ดังที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้อธิบายไว้ในวิธีการเข้าฌานสมาบัติ หนังสือคู่มือสมภารว่า
ดูดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ที่ศูนย์กลางกายมนุษย์ให้เห็นเป็นดวงใส แล้วขยายให้กว้างออกไป วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 2 วา หนา 1 คืบ วัดโดยรอบ 6 วา สัณฐานกลม (ไม่ใช่กลมรอบตัวเป็นดวง ลักษณะคล้ายเขียง) ใสเหมือนกระจกส่องหน้า นี่เป็นปฐมฌานแล้วกายธรรมนั่งบนนั้น ดังนี้เรียกว่า กายธรรมเข้าปฐมฌาน
แล้วเอาตาธรรมกายที่นั่งบนฌานนั้น เพ่งดูดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายทิพย์ให้เห็นเป็น ดวงใส แล้วขยายส่วนเท่ากันนั้น นี่เป็นทุติยฌาน ธรรมกายน้อมเข้าทุติยฌานนั้นแล้วปฐมฌานก็หายไป ทุติยฌานมาแทนที่ ธรรมกายนั่งบนนั้น นี้ชื่อว่า ธรรมกายเข้าทุติยฌาน แล้วเอาตาธรรมกายที่นั่งบนฌานนั้น เพ่งดูดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายรูปพรหมให้เห็นเป็นดวงใส แล้วขยายส่วนเท่ากันนั้น นี่เป็นตติยฌาน ธรรมกายน้อมเข้าตติยฌานนั้นแล้ว ทุติยฌานก็หายไป ตติยฌานมาแทนที่ ธรรมกายนั่งบนนั้น นี้ชื่อว่า ธรรมกายเข้าตติยฌาน
แล้วเอาตาธรรมกายที่นั่งบนฌานนั้น เพ่งดูดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายอรูปพรหม ให้เห็นเป็นดวงใส แล้วขยายส่วนเท่ากันนั้น นี่เป็นจตุตถฌาน ธรรมกายน้อมเข้าจตุตถฌานนั้นแล้ว ตติยฌานก็หายไป จตุตถฌานมาแทนที่ ธรรมกายนั่งบนนั้น นี้ชื่อว่า ธรรมกายเข้าจตุตถฌาน (เหล่านี้เป็นรูปฌาน)
ต่อจากนี้ไปให้ใจธรรมกายน้อมไปใน “ เหตุว่างของปฐมฌาน” เห็นเป็นดวงใสเท่าจตุตถฌาน ธรรมกายก็นั่งบนนั้น เมื่อธรรมกายนั่งอยู่บน อากาสานัญจายตนฌาน ดังนี้แล้ว ใจธรรมกายน้อมไปในรู้ ใน “ เหตุว่างของทุติยฌาน” อากาสานัญจายตนฌานก็จางหายไป เกิดวิญญานัญจายตนฌาน (ใสยิ่งกว่านั้น) ธรรมกายนั่งอยู่บนวิญญานัญจายตนฌานนั้น ใจธรรมกายน้อมไปในที่รู้ละเอียด ใน “ เหตุว่างของตติยฌาน” วิญญานัญจายตนฌานก็จางหายไป เกิด อากิญจัญญายตนฌาน (ใสยิ่งขึ้นไปอีก) ธรรมกายนั่งอยู่บนอากิญจัญญายตนฌาน ใจธรรมกาย น้อมไปในรู้ก็ใช่ ไม่รู้ก็ใช่ ใน “ เหตุว่างของจตุตถฌาน” อากิญจัญญายตนฌานก็จางหายไป เกิด เนวสัญญานาสัญญายตนฌานแทนที่ รู้สึกว่าละเอียดจริงประณีตจริง ธรรมกายนั่งอยู่บน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน (นี่เป็นส่วนอรูปฌาน) เหล่านี้ เรียกว่าเข้าฌาน 1-8 โดย “ อนุโลม”แล้วย้อนกลับจับแต่ฌานที่ 8 นั้น ถอยหลังลงมาหาฌานที่ 7, 6, 5, 4, 3, 2, 1 เรียกว่า “ ปฏิโลม” ผลของการเข้าโลกุตตรฌาน คือ อภิญญา 6 ได้แก่ อภิญญา 5 และ อาสวักขยญาณ คือ การกำจัดกิเลส
นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับอรูปกัมมัฏฐานแล้ว เนื่องจากการปฏิบัติในข้อนี้เป็นวิธีการปฏิบัติขั้นสูง ดังนั้นนักศึกษาจึงควรทำความเข้าใจในบทเรียนพอเป็นแนวทางในภาคทฤษฎี ส่วนการเจริญอรูปกัมมัฏฐานในวิชชาธรรมกาย ขอให้เป็นผลแห่งปฏิเวธ ที่รอการพิสูจน์จากนักศึกษาที่ได้ผ่านการปฏิบัติจนได้เข้าถึงพระธรรมกายและใช้พระธรรมกายไปศึกษาต่อไป
----------------------------------------------------------------------------
MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี