ความประณีตแห่งอรูปฌาน

วันที่ 07 สค. พ.ศ.2558

 

ความประณีตแห่งอรูปฌาน

อรูปฌานเหล่านี้ มีอยู่ 4 ระดับ โดยการล่วงอารมณ์แต่ละอย่าง ดังนี้คือ

อรูปฌานที่ 1 โดยการก้าวล่วงรูปนิมิต

อรูปฌานที่ 2 โดยก้าวล่วงอากาศ

อรูปฌานที่ 3 โดยก้าวล่วงวิญญาณที่เป็นไปอยู่ในอากาศ

อรูปฌานที่ 4 โดยก้าวล่วงความไม่มีแห่งวิญญาณที่เป็นไปอยู่ในอากาศ

 

            อรูปฌานนี้จะไม่มีการละองค์ฌานในแต่ละขั้นเพื่อให้ถึงฌานที่สูงกว่าเหมือนกับใน รูปฌาน เพราะองค์ฌานของอรูปฌานทุกระดับ คือ อุเบกขาและเอกัคคตาแม้ว่าองค์ฌานแต่ละระดับจะเป็นตัวเดียวกัน แต่อรูปฌานในขั้นที่สูงกว่าย่อมมีความประณีตกว่าอรูปฌานในขั้นที่ต่ำกว่า การที่อรูปฌานทั้ง 4 มีความประณีตมากกว่ากันและกันนั้น มีอุปมาดังนี้คือ

อุปมาที่ 1

            ในพื้นชั้นล่างแห่งปราสาท 4 ชั้น กามคุณ 5 ที่ประณีตด้วยเครื่องบำรุงบำเรอ มีการฟ้อนรำ ขับร้อง และบรรเลงดนตรี เครื่องหอมและพวงดอกไม้ อาหาร ที่นอนและเครื่องนุ่งห่มเหมือนของที่เป็นทิพย์ เป็นต้น ทุกสิ่งจัดไว้ครบ แต่ในชั้นที่ 2 กามคุณ 5 จัดไว้ประณีตกว่าชั้นล่าง ในชั้นที่ 3 ประณีตกว่านั้นไปอีก ในชั้นที่ 4 ประณีตกว่าชั้นอื่นๆ แม้ว่าพื้นทั้ง 4 ชั้นจะเป็นพื้นปราสาทเหมือนกัน แต่ก็มีความแปลกจากกันโดย พื้นปราสาทชั้นบนจะประณีตกว่าชั้นล่าง เพราะความสมบูรณ์แห่งกามคุณ 5 ต่างกัน

 

อุปมาที่ 2

            มณฑปหลังหนึ่งตั้งอยู่ในที่ไม่สะอาด คราวนั้น ชายผู้หนึ่งมาที่นั่น เกลียดที่ไม่สะอาด จึงโหนอยู่ที่มณฑปเหมือนถูกแขวนไว้ ต่อมาชายคนหนึ่งมาอาศัยเกาะที่ชายคนแรก ต่อมามีชายอีกคนหนึ่งมาถึง และคิดว่า “    ชายคนที่เกาะมณฑปและชายคนที่เกาะอาศัยชายคนแรกนั้น ย่อมลำบากและอาจจะตกจากมณฑปแน่ เราจะอยู่ข้างนอกนี่ล่ะ” ชายคนที่สามนี้ ไม่อาศัยเกาะใครๆ แต่ยืนอยู่ข้างนอกมณฑป ต่อมามีชายอีกคนหนึ่งมาพบเข้า จึงคิดว่า “    เราอาศัยชายคนที่ยืนอยู่ข้างนอกดีกว่า” เหตุการณ์ของชายทั้ง 4 นี้ เปรียบเสมือนอรูปฌานทั้ง 4 ดังนี้คือ 

  • อากาสานัญจายตนฌาน มีอากาศเป็นอารมณ์ เพราะเกลียดรูปนิมิต เหมือนชายคนที่เกาะมณฑปโหนอยู่ เพราะเกลียดที่ที่ไม่สะอาด
  • วิญญาณัญจายตนฌาน ปรารภอากาสานัญจายตนะ ที่มีอากาศเป็นอารมณ์ เปรียบเหมือนชายคนที่อาศัยเกาะชายที่เกาะมณฑป
  • อากิญจัญญายตนฌาน ไม่ทำอากาสานัญจายตนะ ให้เป็นอารมณ์ แต่เอาความไม่มีวิญญาณนั้นเป็นอารมณ์ เปรียบเหมือนคนที่คิดเห็นความไม่ปลอดภัยของชายทั้งสองคนนั้น จึงไม่อาศัยเกาะทั้งสองคน แต่ยืนอยู่ข้างนอก
  •  การที่ชายคนที่สี่ไปแอบอิงคนที่สามอยู่นั้น มิใช่เห็นว่าดี เพียงแต่ไม่สามารถหาผู้อื่นได้ดีกว่านั้น เปรียบกับการปฏิบัติเพื่อให้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แม้จะเบื่อหน่ายในอารมณ์ของอากิญจัญญายตนฌาน แต่ก็ต้องนำมาใช้ เพราะไม่มีสิ่งอื่นมาใช้แทน ดุจประชาชนจำต้องอาศัยพระราชาที่ไม่ดี เพราะต้องเลี้ยงชีพ เนวสัญญานาสัญญายตนะจำต้องทำอากิญจัญญายตนะ ที่มีโทษปรากฏอยู่ว่าสมาบัตินี้มีข้าศึกคือวิญญานัญจายตนมาเป็นฐานให้เป็นอารมณ์ เพราะไม่มีอารมณ์อื่น เปรียบเหมือนประชาชนเมื่อไม่สามารถเลี้ยงชีพในประเทศอื่นได้ ก็ต้องอาศัยพระราชาองค์หนึ่งซึ่งไม่สนใจในศีล มีความประพฤติทราม เมื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ได้อารมณ์อื่นก็จำต้องทำอากิญจัญญายตนะ แม้มีโทษปรากฏอยู่ให้เป็นอารมณ์เช่นกัน เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ย่อมเกาะเอาอากิญจัญญายตนะไว้ เพราะไม่มีอะไรจะเกาะเหมือนคนขึ้นบันไดยาว ถึงขั้นบนแล้วย่อมยึดหัวบันไดไว้ เพราะไม่มีอะไรจะยึด เหมือนคนขึ้นเขาดินปนหินถึงที่สุดแล้ว ก็ยึดยอดมันไว้ เพราะไม่มีอะไรจะยึด หรือเหมือนคนขึ้นเขาโขดหินถึงที่สุดแล้ว ก็ยันเข่าของตนไว้เพราะไม่มีอะไรจะยึดยันเช่นกัน

----------------------------------------------------------------------------

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026960980892181 Mins