ข้อควรรู้ในอุเบกขาภาวนา
1.ลักษณะ : มีอาการวางใจเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ
2.กิจ : มีการมองดูสัตว์ทั้งหลายด้วยความเท่าเทียมเสมอกัน เป็นกิจ
3.อาการปรากฏ : มีการสงบจากความเกลียด และไม่มีความรักในสัตว์ทั้งหลาย เป็นอาการปรากฏ
4.เหตุใกล้ : มีปัญญาพิจารณาเห็นกรรมเป็นของของตน สัตว์ ทั้งหลายเป็นไปตามกรรมของตนเอง ไม่ใช่มีผู้ใด ผู้หนึ่งกระทำให้ เป็นเหตุใกล้
5.ความสมบูรณ์ : การสงบจากความเกลียดและไม่มีความรักเป็นความสมบูรณ์ของอุเบกขา
6.ความเสื่อมเสีย : ความเสื่อมเสียของอุเบกขา คือ เกิดอุเบกขาชนิดขาดปัญญาด้วยสาเหตุเเห่งกามคุณ
7.ข้าศึกใกล้ : การวางเฉยด้วยอำนาจแห่งโมหะ เป็นข้าศึกใกล้
8.ข้าศึกไกล : ราคะ และ โทสะ เป็นข้าศึกไกล
คู่ปรับของอุเบกขา คือ ราคะ อารมณ์อุเบกขาพรหมวิหาร หรืออุเบกขาภาวนานี้ แตกต่างจากอารมณ์อุเบกขาบารมี ซึ่งเป็นหนึ่งในทศบารมี เพราะอุเบกขาภาวนา คือ วางเฉย ต่อสัตว์ ต่อบุคคล คือ ละความวุ่นวายที่เนื่องด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา จิตใจเข้าถึงความเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย แต่อุเบกขาบารมีเป็นการวางเฉยต่อคนที่ทำไม่ดีต่อเราโดยไม่ยินดียินร้าย ผู้ที่ทำความดีเกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่เราสักเท่าใดๆ ก็มีจิตวางเฉยอยู่ ไม่เอนเอียงหรือคนที่ทำ ไม่ดี ประทุษร้ายเรา เราก็วางเฉยเช่นกัน ในการวางเฉยทั้ง 2 อย่าง คือ อุเบกขาภาวนาและอุเบกขาบารมีนี้ อุเบกขาบารมีบำเพ็ญสำเร็จได้ยากกว่าและประเสริฐกว่า
----------------------------------------------------------------------------
MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี