การเจริญอุเบกขาพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย
อานิสงส์ของการเจริญพรหมวิหารกัมมัฏฐาน
ในการเจริญพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา นั้น ย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับอานิสงส์ 11 ประการ คือ
1.หลับเป็นสุข คือ บรรดาคนทั้งหลายที่ไม่ได้เจริญพรหมวิหาร เมื่อนอนก็ไม่ได้นอนตะแคงข้างขวาแต่เพียงทางเดียว นอนกลิ้งไปกลิ้งมารอบตัว และนอนกรน การนอนอย่างนี้ ชื่อว่านอนเป็นทุกข์ ส่วนผู้เจริญพรหมวิหารจะไม่นอนด้วยอาการอย่างนั้น เวลานอนก็หลับอย่างสนิทเหมือนเข้าสมาบัติ กายเบาใจเบามีความเบิกบานสดชื่น มีลักษณะท่าทางเรียบร้อยงดงามน่าเลื่อมใส
2.ตื่นเป็นสุข คือ ผู้ที่ไม่ได้เจริญพรหมวิหาร ด้วยเหตุที่นอนเป็นทุกข์ไม่ได้ความสุขจากการหลับ เมื่อตื่นขึ้นแล้วจึงทอดถอนหายใจ สยิ้วหน้า บิดไปบิดมาข้างโน้นทีข้างนี้ที ส่วนบุคคลผู้เจริญเมตตาตื่นขึ้นมาแล้วไม่เป็นทุกข์เหมือนอย่างนั้น ตื่นขึ้นมาอย่างสบายไม่มีอาการ อันน่าเกลียด มีหน้าตาแช่มชื่นเบิกบานเหมือนดอกบัวที่กำลังแย้มบาน มีความเบิกบานคล้ายๆ กับว่าเพิ่งออกจากในแหล่งที่มีความสดชื่นมีความสุข
3.ไม่ฝันร้าย คือ ผู้ที่เจริญพรหมวิหารเป็นปกติจะฝันเห็นแต่สิ่งที่ดีงามมีสิริมงคล เช่น ฝันว่าไปไหว้พระเจดีย์ ได้ไปทำการบูชาพระรัตนตรัย หรือได้ฟังพระธรรมเทศนา ส่วนบุคลลผู้ที่ไม่ได้เจริญย่อมฝันเห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว เช่น ฝันว่าตนถูกพวกโจรรุมล้อม ถูกพวกสุนัขป่าไล่ขบกัดหรือตกลงไปในเหว เป็นต้น
4.เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย คือ ย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจของมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนสร้อยไข่มุกที่สวมอยู่ที่คอ หรือเหมือนพวงดอกไม้ที่ประดับอยู่บนศีรษะ ย่อมเป็นที่เจริญใจของคนทั้งหลาย
5.เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย คือ เป็นที่รักใคร่เจริญใจของมนุษย์ทั้งหลาย ฉันใด แม้พวกอมนุษย์ก็มีความรักใคร่อย่างนั้นเหมือนกัน ดังเรื่องของพระเถระชื่อว่าวิสาขะ
เล่ากันมาว่า พระวิสาขะนั้น เดิมเป็นคหบดีอยู่ในเมืองปาฏลีบุตร ต่อมาเขาได้ยินข่าวว่า ลังกาทวีปเป็นประเทศที่ประดับประดาสง่างามไปด้วยพระเจดีย์ มีความรุ่งเรืองเหลืองอร่ามไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ ในลังกาทวีปนั้น มีความสะดวกสบายปลอยภัยทุกอย่าง จะนั่งจะนอนตรงไหนก็ได้ตามความประสงค์ มีความสัปปายะในเรื่องของอากาศ เสนาสนะ บุคคล และธรรมะ อันเอื้อต่อการสร้างบุญสร้างกุศลทุกประการ
ท่านคหบดีจึงได้มอบทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้บุตรและภรรยา มีทรัพย์ขอดติดชายผ้าอยู่เพียงกหาปณะเดียว ออกจากบ้านแล้วได้ไปคอยเรืออยู่ที่เมืองท่าประมาณเดือนหนึ่ง ระหว่างนั้นด้วยความที่ท่านเป็นคนมีปัญญาฉลาดในทางโวหารจึงได้ซื้อของจากที่นี้แล้วไปขายในที่ต่างๆ รวบรวมทรัพย์ได้หนึ่งพันกหาปนะภายในเวลาหนึ่งเดือน ต่อมาเขาได้ไปถึงวัดมหาวิหารในลังกาทวีปแล้วได้ขอบวชที่วัดแห่งนั้น
เมื่อพระอุปัชฌาย์พาเขาไปยังโบสถ์เพื่อจะบวชให้ เขาได้ทำห่อทรัพย์พันกหาปณะร่วงจากชายพกตกลงไปที่พื้น พระอุปัชฌาย์จึงถามว่านั้นอะไร เขาเรียนว่า ทรัพย์จำนวนหนึ่งพัน กหาปนะขอรับ พระอุปัชฌาย์จึงแนะนำว่า ทรัพย์นี้ นับตั้งแต่เธอบวชแล้วไม่อาจใช้จ่ายได้อีก จงใช้จ่ายเสียเดี๋ยวนี้ วิสาขอุบาสกจึงคิดในใจว่า คนทั้งหลายที่มาในงานบวชของเราอย่าได้มีมือเปล่ากลับไปเลย จึงได้แก้ห่อทรัพย์นั้นแล้วหว่านโปรยทานไปในโรงอุโบสถ จากนั้นจึงบรรพชาอุปสมบท
เมื่อบวชได้ 5 พรรษา ท่านก็สามารถท่องจำมาติกา 2 มาติกาได้อย่างคล่องเเคล่ว ปวารณาออกพรรษาแล้วได้เรียนกัมมัฏฐานที่เหมาะสมกับตนแล้วก็ได้ไปๆ มาๆ หมุนเวียน สับเปลี่ยนไปอยู่วัดต่าง วัดละ 4 เดือน วันหนึ่งท่านได้เห็นสถานที่ร่มรื่นในระหว่างป่าแห่งหนึ่ง จึงได้นั่งเข้าสมาบัติอยู่ที่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งในที่นั้น เมื่อออกจากสมาบัติแล้วได้ยืนพิจารณา ตรวจดูคุณธรรมของตนด้วยความปีติโสมนัส เมื่อจะบรรลือสีหนาทจึงได้กล่าวคำภาษิตออกมาว่า
“ ตลอดระยะเวลาที่ได้อุปสมบทมา ตลอดระยะเวลาที่เราได้มาอยู่ ณ ที่นี้ ความประมาทพลาดพลั้งของเรา ในระหว่างนี้ไม่มีเลย ช่างเป็นลาภ ของเราแท้ๆ หนอ ท่านผู้นิรทุกข์”
ขณะที่เดินทางไปยังวัดจิตตลบรรพต ถึงทางสองแพร่ง ได้ยืนคิดว่า ทางที่จะไป จิตตลบรรพตเป็นทางนั้นหรือทางนี้หนอ รุกขเทวดาที่สิงสถิตย์อยู่ที่ภูเขาได้เหยียดหัตถ์ออก ชี้บอกทางแก่ท่านว่า ทางนี้เจ้าข้า พระเถระไปถึงวัดจิตตลบรรพตแล้วได้อยู่ที่นั่น 4 เดือน ในคืนสุดท้ายได้ตั้งใจว่า พรุ่งนี้เราจะต้องไปแต่เช้า แล้วจึงเตรียมตัวจำวัด ขณะนั้นรุกขเทวดาตนหนึ่งซึ่งสิงอยู่ที่ต้นแก้วตรงปลายทางจงกรมได้มานั่งร้องไห้อยู่ที่ขั้นบันใด พระเถระจึงถามว่านั่นใคร เทวดาตอบว่า ดิฉันมณิลิยาเจ้าข้า ท่านถามต่อว่า เธอร้องไห้ทำไม เทวดาตอบว่า เพราะอาศัยเหตุที่พระผู้เป็นเจ้าจะจากไปเจ้าข้า พระเถระจึงถามว่า เมื่อฉันอยู่ ณ ที่นี้ เป็นประโยชน์อะไรแก่พวกเธอหรือ เทวดาตอบว่า ท่านคะ เมื่อพระผู้เป็นเจ้าอยู่ พวกเทวดาและอมนุษย์ทั้งหลายต่างก็ได้มีเมตตาอารีต่อกันและกัน เจ้าค่ะ แต่บัดนี้ เมื่อ พระผู้เป็นเจ้าจะจากไปเสียแล้ว พวกเทวดาและอมนุษย์ก็คงจะทำการทะเลาะวิวาท จะกล่าวคำ หยาบคายแก่กันและกันเป็นแน่เจ้าค่ะ พระเถระจึงได้บอกแก่เทวดาว่า ถ้าฉันอยู่ที่นี้แล้ว ทำให้ พวกเธอมีความสุขสำราญกัน ฉันรู้สึกดีใจมาก แล้วท่านก็ได้อยู่ที่วัดนั้นต่อไปอีก 4 เดือน เมื่อครบ 4 เดือนก็คิดที่จะไปเหมือนอย่างเดิมอีก เทวดาก็ได้มานั่งร้องให้อย่างนั้นอีก ด้วยเหตุนี้พระเถระเลยอยู่ที่วัดแห่งนั้นจนกระทั่งปรินิพพาน บุคคลผู้เจริญเมตตาย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจของอมนุษย์ทั้งหลายอย่างนี้
6.เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา คือ เทวดาทั้งหลายย่อมคอยตามรักษาเหมือนบิดามารดาที่คอยตามรักษาบุตรธิดา
7.ไฟ ยาพิษ ศาสตรา ย่อมไม่กล้ำกราย ต่อผู้นั้น คือ ไฟไม่อาจทำอันตรายบุคคล ผู้เจริญเมตตา เช่น ตัวอย่างของอุบาสิกาอุตตรา หรือยาพิษไม่อาจกำซาบเข้าไปในร่างกาย ดังตัวอย่างของพระจูฬสีวะเถระผู้ชำนาญสังยุตตนิกาย หรือศาสตราไม่อาจทำอันตรายได้ ดังเช่นตัวอย่างของสังกิจจสามเณร เป็นต้น โดยเฉพาะข้อว่าศาสตราอาวุธทำอันตรายไม่ได้จะขอยกตัวอย่างของแม่โคนมตัวหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า
ในครั้งนั้น มีแม่โคนมตัวหนึ่งกำลังยืนให้ลูกกินนมอยู่ ขณะนั้นนายพรานคนหนึ่งได้เดินถือหอกมาเจอเข้า คิดว่าเราจะฆ่ามัน แล้วได้ตวัดมือพุ่งหอกเข้าใส่ทันที แต่ว่าพอหอกพุ่งไปถึงลำตัวของแม่โคเท่านั้น ก็ม้วนพับเหมือนกับใบตาล ท่านได้อธิบายว่า ที่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่เป็นเพราะกำลังของอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิเลย แต่เป็นเพราะความรักที่มีต่อลูกอันมีกำลังรุนแรงอย่างเดียว เมตตามีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ดังตัวอย่างที่ยกมานี้
8.จิตของผู้นั้นย่อมเป็นสมาธิตั้งมั่นได้เร็ว คือ เมื่อได้เจริญภาวนาเมื่อไหร่ใจจะ หยุดนิ่งได้เร็ว ปล่อยอารมณ์ภายนอกได้เร็วเพราะว่าไม่มีความโกรธกับใครไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร มีแต่ความปรารถนาดีกับทุกๆ คนในโลก จิตจึงสำเร็จเป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิได้เร็ว
9.สีหน้าผู้นั้นย่อมผ่องใส คือ หน้าตามีผิวพรรณวรรณะเปล่งปลั่งสดใส เหมือน ลูกตาลสุกที่หล่นจากขั้วใหม่ๆ
10.ในเวลาใกล้ตายย่อมเป็นผู้มีสติ ไม่หลงทำกาละ คือ ตอนใกล้จะละโลกจิตจะผ่องใสมีความสุขเเม้จะละโลก ไม่หวาดหวั่นในมรณะภัย มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส ไม่หลงตาย คล้ายกับนอนหลับไปเฉยๆ
11.เมื่อมรณะแล้ว ถ้ายังไม่แทงตลอดธรรมอันยวดยิ่ง(บรรลุพระอรหันต์) ย่อมเป็นผู้เข้าถึงสุคติอย่างสูงสุดถึงพรหมโลกได้ทันที เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น คือ ผู้เจริญ พรหมวิหารเมื่อยังไม่สามารถที่จะบรรลุถึงซึ่งพระอรหันต์ เมื่อตายจากมนุษย์ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกทันทีเหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น
อานิสงส์ทั้งหลายมีหลับเป็นสุขเป็นต้นในพรหมภาวนานี้ แม้ผู้เจริญภาวนาทั้งหลาย ผู้ได้สำเร็จฌานสมาบัติด้วยอำนาจกัมมัฏฐานอื่นนอกเหนือจากพรหมวิหารนี้ ก็ย่อมได้รับ เช่นเดียวกัน ดังคาถาประพันธ์ที่พระโบราณาจารย์ท่านได้แสดงไว้ว่า
มุนีทั้งหลาย ผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในอารมณ์กัมมัฏฐานในภายในย่อมนอนเป็นสุข พระสาวกทั้งหลายของพระโคดมพุทธเจ้า ย่อมตื่นชนิดที่ตื่นด้วยดีในกาลทุกเมื่อ ฉะนี้
แม้จะกล่าวไว้เพียงสั้นๆ เพียงเท่านี้ แต่ผู้สำเร็จพรหมวิหารทั้งหลาย ย่อมได้รับอานิสงส์ครบทั้ง 11 ประการ ทั้งนี้เพราะพรหมวิหารเป็นข้าศึกโดยตรงกับนิวรณ์ทั้งหลายมีพยาบาท เป็นต้น เนื่องจากการนอนเป็นทุกข์ ฯลฯ ย่อมเกิดด้วยอำนาจของนิวรณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อมีพรหมวิหารอันเป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์เหล่านั้น อานิสงส์ทั้งหลาย มีการนอนเป็นสุข ฯลฯ ก็ชื่อว่า อยู่ในเงื้อมมือแล้ว ด้วยประการฉะนี้
การเจริญพรหมวิหาร มีอานิสงส์มาก และเป็นวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมกับการ นำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ดังนั้น ขอให้นักศึกษาได้นำวิธีการเจริญพรหมวิหารมาปฏิบัติจนกระทั่งเกิดผลดีทั้งต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง และจะได้สร้างความรู้สึกรักและปรารถนาดี ให้เกิดขึ้นกับทุกๆ คนโลก
----------------------------------------------------------------------------
MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี