ขั้นตอนการเจริญมุทิตา

วันที่ 06 สค. พ.ศ.2558

 

 

ขั้นตอนการเจริญมุทิตา

            การเจริญมุทิตาภาวนา ต้องใช้มุทิตาแท้ และแผ่ไปยังสัตว์ทั้งหลายที่กำลังมีความสุขอยู่หรือที่จะมีในเวลาข้างหน้า ผู้ปฏิบัติเมื่อมีความประสงค์จะเจริญมุทิตาพรหมวิหารนั้น ในเบื้องต้นให้เตรียมทำ บุพกิจให้เสร็จเสียก่อน นับตั้งแต่ตัดปลิโพธทั้ง 10 ประการ จนไปถึงนั่ง ณ อาสนะที่เตรียมไว้อย่างเรียบร้อย เหมือนอย่างที่แสดงไว้ในเมตตาภาวนาทุกประการ จากนั้นจึงเจริญมุทิตาภาวนาต่อไป

1. บุคคลที่ควรเว้นในการเจริญมุทิตาเป็นอันดับแรก

            เมื่อจะเจริญมุทิตานั้น มีบุคคล 3 จำพวกที่ห้ามเจริญไปถึงเป็นอันดับแรก คือ คนที่รัก คนเป็นกลางๆ คนคู่เวร เพราะว่า คนที่รักไม่ได้เป็นฐานของมุทิตาจิต เพียงแต่เป็นที่รักเท่านั้น นั่นก็คือ คนที่เป็นที่รักกันอย่างธรรมดาแต่ขาดคุณสมบัติพิเศษประจำตัว เช่น ความเป็นผู้มีหน้าตาแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ เป็นผู้ฉลาดทักทายก่อน ความเป็นคนพูดจาไพเราะ มีมารยาทเรียบร้อยอ่อนโยน และความสนุกสนานร่าเริง ผู้ที่ขาดคุณสมบัติดังกล่าวแม้ว่านับเนื่องอยู่ในกลุ่มของคนที่รักนับถือก็ตาม ก็ไม่พอที่จะทำให้มุทิตาพรหมวิหารเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติเป็นอันดับแรกได้ ยิ่งคนที่เป็นกลางๆ และคนคู่เวรด้วยแล้ว ยิ่งห่างไกลความเป็นที่ตั้งให้เกิดมุทิตาภาวนาขึ้นเป็นอันดับแรกมากขึ้นไปอีก ส่วนเพศตรงข้าม กับคนที่ตายแล้ว จะเอามาเป็นอารมณ์ของมุทิตากัมมัฏฐานไม่ได้เลย สาเหตุก็เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้แล้วในเมตตาภาวนา

 

2. คนที่ควรเจริญมุทิตาเป็นอันดับแรก

            เมื่อจะทำการแผ่มุทิตา บุคคลที่เป็นที่ตั้งให้มุทิตาเกิดขึ้นได้ในอันดับแรก คือ ผู้เป็นเพื่อนที่รักมากหรือที่ในอรรถกถาเรียกว่าสหายนักเลง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยสนุกสนานรื่นเริง พบกันก็ ยิ้มก่อนแล้วค่อยพูดเสมอ ผู้ปฏิบัติสามารถแผ่มุทิตาให้สหายที่รักยิ่งก่อนก็ได้ หรือได้ยินข่าวว่า คนที่รักได้รับความสุข สมบูรณ์พร้อมไปด้วยเครื่องบำรุงบำเรอต่างๆ อย่างครบครันก็ได้เช่นเดียวกัน ให้เจริญมุทิตาไปยังบุคคลเหล่านั้นก่อนที่จะเจริญไปยังบุคลอื่น คือ พึงเจริญด้วยบทภาวนาว่า

โมทติ วตายํ สตฺโต อโห สาธุ, อโห สุฏฺฐุ สัตว์ผู้นี้ร่าเริงจริงหนอ, ขออนุโมทนาด้วยเถิดหนา

 

หรืออีกแบบหนึ่งว่า

อยํ สตฺโต ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉตุ ขอสัตว์ผู้นี้จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย

 

ถ้าตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ใช้บทภาวนาว่า

เอเต สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉตุ ขอสัตว์เหล่านี้จงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย

 

หรือว่า

สพฺเพ สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉตุ ขอสัตว์ทั้งหลายจงอย่าได้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้วเลย

 

            ผู้ปฏิบัติพึงนึกในใจตามบทภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมุทิตาปรากฏชัดขึ้นในใจและได้บรรลุอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิตามลำดับ ในการเจริญมุทิตาพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงแนวทางในการเจริญภาวนาซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์วิภังค์ปกรณ์ ความว่า

ภิกษุผู้มีจิตประกอบด้วยมุทิตา ย่อมแผ่มุทิตาจิตไปทางทิศ หนึ่งอยู่ นั้นคือทำอย่างไร ภิกษุผู้ประกอบด้วยมุทิตาย่อมแผ่มุทิตาจิตไปยัง สัตว์ทั้งปวงทุกๆ จำพวกเหมือนอย่างที่ได้เห็นคนอื่น ซึ่งเป็นที่รักใคร่เป็นที่ เจริญใจ คนหนึ่งแล้วพึงพลอยโมทนายินดีด้วยฉะนั้น28)

 

            ถ้าหากว่าสหายที่รักยิ่งของผู้ปฏิบัติ เมื่อก่อนเขาเป็นคนมีความสมบูรณ์พูนสุข แต่ ตอนนี้เขากลายเป็นคนตกทุกข์ได้ยาก ก็ควรนึกถึงความสุขที่เขาได้รับในอดีต แล้วยึดเอา ความสุข ที่เขาได้รับในอดีตเป็นอารมณ์ในการทำมุทิตาให้เกิดขึ้น โดยพิจารณาว่า คนผู้นี้เมื่อครั้งในอดีตเขาเป็นคนมีทรัพย์มากมีบริวารมาก เป็นคนสนุกสนานร่าเริงอยู่เสมอ ดังนี้แล้วเจริญมุทิตาให้เป็นไปในเขาคนนั้น แม้อาการในอนาคตก็ควรยกขึ้นมาพิจารณาว่า ต่อไปในภายภาคหน้า เขาจะได้สมบัติเล่านั้นกลับคืนมาอีกครั้ง เขาจะได้บริโภคใช้สอยทรัพย์สมบัติอย่างมีความสุขเป็นแน่ แล้วเจริญมุทิตาไปยังบุคคลผู้นั้น

 

3. คนที่ควรเจริญมุทิตาเป็นอันดับต่อไป

            เมื่อได้เจริญมุทิตาไปยังบุคคลที่รักดังที่กล่าวมาแล้ว ถัดจากนั้นให้เจริญไปยังบุคคลตามลำดับ คือ คนที่เป็นกลางๆและคนคู่เวร มีวิธีปฏิบัติดังนี้

เมื่อได้เจริญมุทิตาให้เกิดมีในเพื่อนที่รักมากหรือสหายนักเลงแล้ว พึงทำให้คล่องแคล่ว ให้อ่อนนิ่มนวลควรแก่การงานเสียก่อน แล้วจึงเจริญมุทิตาไปยังคนที่รัก ครั้นคล่องแคล่วเชี่ยวชาญดีแล้วจึงเจริญมุทิตาไปในคนที่เป็นกลางๆ เมื่อทำกัมมัฏฐานในคนเป็นกลางๆ ได้คล่องแคล่วเชี่ยวชาญอ่อนนุ่มนวลควรแก่การงานดีแล้วถัดจากนั้นจึงเจริญไปในคนที่เป็นคู่เวร

            ถ้าหากว่าในขณะเจริญมุทิตาไปในคนคู่เวร ความโกรธแค้นได้เกิดขึ้น ก็ให้พยายามบรรเทาความโกรธแค้นนั้นด้วยวิธีการเช่นเดียวกับที่แสดงไว้แล้วในเมตตาภาวนา ความโกรธแค้นก็จะสงบระงับไป

 

----------------------------------------------------------------------------

28) อภิธรรม วิภังค์, มก. เล่ม 78 ข้อ 746 หน้า 444.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015053582191467 Mins