การเจริญเมตตาให้ถึงขั้นสีมสัมเภท
เมื่อผู้เจริญเมตตาได้พยายามบรรเทาความโกรธในคนที่เป็นศัตรูให้ระงับลงได้ด้วยอุบายวิธีต่างๆ ดังที่กล่าวมา จิตของผู้นั้นก็จะแผ่ไปน้อมไปแม้ในคนที่เป็นศัตรูนั้น ด้วยวิธีแห่งเมตตาภาวนาเช่นเดียวกับในคนที่รักเคารพ คนที่รักใคร่มาก และคนที่เป็นกลางๆ ต่อจากนั้นให้เจริญเมตตาให้บ่อยขึ้น แล้วทำเมตตาให้เป็นสีมสัมเภท ผู้อบรมการแผ่เมตตาที่ปรารถนาให้ถึงระดับฌาน จะต้องแผ่เมตตาจนให้สำเร็จถึงสีมสัมเภท1 ด้วยว่าสีมสัมเภทนี้ จัดว่าเป็น ปฏิภาคนิมิต ของเมตตากัมมัฏฐาน เพราะมีลักษณะคล้ายกับปฏิภาคนิมิตในกัมมัฏฐานอื่นๆ คือในกัมมัฏฐานอื่นๆ เช่น กสิน 10 ปฏิภาคนิมิตจะปรากฏให้เห็นเป็นดวง ที่เรียกว่าดวงกสิน เมื่อปฏิภาคนิมิตปรากฏก็เท่ากับว่าได้อุปจารสมาธิ ส่วนในเมตตากัมมัฏฐานไม่มีปฏิภาคนิมิตปรากฏให้เห็น แต่ว่าในระดับของสีมสัมเภทที่บรรลุถึง นิวรณ์ 5 ประการ ได้ถูกข่มไว้ได้กิเลสทั้งหลายที่อยู่ในฐานะเดียวกับนิวรณ์ก็สงบลงหมด จิตก็ตั้งมั่นด้วยดีในระดับของอุปจารสมาธิ สีมสัมเภทจึงเป็นปฏิภาคนิมิตของเมตตาภาวนา ด้วยประการฉะนี้
ลักษณะของสีมสัมเภท26) ในเรื่องของเมตตาที่เป็นสีมสัมเภทนั้น มีตัวอย่างแสดงไว้ว่า สมมติว่าขณะที่ผู้เจริญเมตตากำลังนั่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่รักใคร่ คนที่รู้สึกเฉยๆ คนที่เป็นศัตรู ได้มีพวกโจรเข้ามาล้อมแล้วบอกว่าจะจับไปฆ่าบูชายัญคนหนึ่ง โดยถามว่าจะให้จับใครไป ในกรณีนี้ถ้าบอกให้จับศัตรูหรือจับผู้ที่รู้สึกเฉยๆ ไม่รักไม่ชังไป ก็ไม่ชื่อว่าทำเมตตาให้เป็นสีมสัมเภท แม้ตนเองจะยอมรับกรรมนี้เสียเองโดยให้พวกโจรจับไป อย่างนี้ก็นับว่าไม่ถึงซึ่งสีมสัมเภทอยู่นั่นเอง เพราะเมตตานั้นยังมีขอบเขตอยู่ ต่อเมื่อมีจิตเสมอภาคจนชี้ไม่ได้ว่าจะให้จับใครไป เช่นนี้จึงจะกล่าวได้ว่าทำเมตตาให้เป็นสีมสัมเภทอันสงเคราะห์หรือนับเนื่องเข้าในปฏิภาคนิมิต สมดังที่โบราณจารย์ได้กล่าวเอาไว้ว่า
ภิกษุผู้เจริญเมตตากัมมัฏฐานนั้น ตราบใดที่ยังเห็นความแตกต่าง กันอยู่ในบุคคล 4 จำพวก คือ ตน, คนที่รัก, คนที่เป็นกลางๆ และคนที่ เกลียดชัง ในคนใดคนหนึ่ง เรียกได้เพียงว่า เธอเป็นผู้มีจิตปรารถนาดี ในสัตว์ทั้งหลาย แต่ยังไม่จัดว่าเป็นผู้ที่มีเมตตาแท้ หรือเป็นผู้มีกุศลอัน ประเสริฐ ต่อเมื่อใด ภิกษุนั้นทำลายขอบเขตแห่งเมตตา คือ บุคคล
-----------------------------------------------------------------------------
26) สีมสัมเภท แปลว่า ทำลายขอบเขตของเมตตา หมายความว่า ผู้สำเร็จในสีมสัมเภทนั้น ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตเสมอภาค ไม่เอนเอียงไปในบุคคล คือ อัตตะ ตนเอง, ปิยะ ผู้ที่รักใคร่, มัชฌัตตะ ผู้ที่ไม่รักและก็ไม่ชัง, เวรี ผู้ที่เป็นศัตรู.
MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี