อากิญจัญญายตนฌาน
ผู้ต้องการเจริญสมถภาวนาเพื่อให้ได้ อากิญจัญญายตนฌาน จะต้องเป็นวิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคล ผู้มีวสีในวิญญาณัญจายตนฌานนั้นจนชำนาญคล่องแคล่ว ทั้ง 5 ประการ
การเจริญให้ถึงอากิญจัญญายตนฌานก็มีนัยเป็นทำนองเดียวกับวิญญาณัญจายตนฌาน กล่าวคือ
ชั้นต้น ต้องเลิกพะวงถึงการเอาอากาสานัญจายตนฌานมาเป็นอารมณ์ พยายามพรากอารมณ์ที่เป็นอากาสานัญจายตนฌานนั้นให้ได้ ด้วยการหน่วงเอา นัตถิภาวบัญญัติ หรือ อภาวบัญญัติ คือ ความไม่มีอะไร มาเป็นอารมณ์โดยบริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิ นตฺถิ กิญฺจิ นิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มี ถือเอาความไม่มีมาเป็นอารมณ์ มีความหมายว่า ไม่มีอากาสา-นัญจายตนฌานมาเป็นอารมณ์ แม้แต่สักนิดเดียวก็ไม่มี อันเป็นการพยายามก้าวล่วงอารมณ์ของ ทุติยารุปปฌานซึ่งเป็นธรรมเนียม เป็นภาวะตามธรรมชาติของอรูปฌานชั้นที่สูงกว่า ย่อมก้าวล่วงอารมณ์ของอรูปฌานชั้นที่ต่ำกว่า ตามลำดับไป
เมื่อได้พยายามบริกรรม นัตถิ กิญจิ อยู่เรื่อยๆ ไป จนจิตใจปราศจากความติดใจยินดีในอากาสานัญจายตนฌาน ครั้นเจริญภาวนาต่อไปจนอากาสานัญจายตนฌานที่เป็นนิมิต-กัมมัฏฐานสูญหายไปจากใจ ก้าวล่วงอารมณ์ที่เป็นอากาสานัญจายตนฌาน ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้แล้วในเวลาใด เวลานั้นเองนัตถิกิญจิก็ปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นมาแทน จิตที่มีนัตถิกิญจิเป็นอารมณ์ ก็คือ อากิญจัญญายตนฌาน เป็นฌานที่มีความไม่มีเป็นอารมณ์ นักปฏิบัติที่ได้ ที่ถึงอากิญจัญญายตนฌาน เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล
อากิญจัญญายตนฌาน เรียกว่า ตติยารุปปฌาน ก็ได้ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นการ ได้ถึงฌานที่มีอารมณ์อันมิใช่รูป คือ อรูปฌาน เป็นอันดับที่ 3 เป็นขั้นที่ 3
----------------------------------------------------------------------------
MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี