ขั้นตอนการเจริญอุเบกขาภาวนา

วันที่ 06 สค. พ.ศ.2558

 

ขั้นตอนการเจริญอุเบกขาภาวนา

             ในการเจริญอุเบกขานี้ มีข้อที่แตกต่างจากการเจริญพรหมวิหารสามอย่างข้างต้น คือ พรหมวิหารสามอย่างข้างต้น ไม่มีการจำกัดบุคคล ใครจะปฏิบัติก็ได้และสามารถทำได้สำเร็จ ถึง ขั้นตติยฌาน ส่วนการเจริญอุเบกขาภาวนา ผู้เจริญจะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการปฏิบัติ เมตตา กรุณา มุทิตา อย่างใดอย่างหนึ่งมาก่อนจนกระทั่งบรรลุเป็นฌานลาภีบุคคล จึงจะเจริญอุเบกขาภาวนา ต่อไปได้ และสามารถปฏิบัติให้สำเร็จผลถึงรูปฌานขั้นสูงสุด คือ จตุตถฌาน ส่วนจตุตถฌานที่เกิดจากกัมมัฏฐานชนิดอื่น เช่น การเพ่งกสิณ อานาปานสติ ไม่สามารถอุดหนุนการเจริญอุเบกขาให้สำเร็จถึงขั้นฌานได้เพราะเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานคนละชนิด อีกทั้งมีสภาพไม่ถูกกัน(วิสภาคะ) นั่นคือ กสิณบัญญัติ หรือ อานาปานสติบัญญัติ เป็นอารมณ์ที่เน้นให้เห็นความไม่มีตัวตน เป็นของจำแนกแยกแยะ ส่วนสัตว์บัญญัติในอัปปมัญญาพรหมวิหาร เน้นความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จึงมีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถอุดหนุนกันได้

 

1. กิจเบื้องต้นก่อนการเจริญอุเบกขา

  • ก. ฌานลาภีบุคคลผู้มีความปรารถนาจะเจริญอุเบกขาพรหมวิหารนั้น ก่อนลงมือปฏิบัติ จะต้องเข้าสู่ตติยฌานที่ได้ทำจนชำนาญด้วยวสีทั้ง 529) ซึ่งมาจากการเจริญเมตตา กรุณา หรือมุทิตา อย่างใดอย่างหนึ่ง
  • ข. เมื่อออกจากตติยฌานแล้ว จากนั้นพิจารณาให้เห็นโทษของเมตตา กรุณา และมุทิตา ว่า กัมมัฏฐานทั้งสามนั้น มีสภาพไม่ประณีต เนื่องจากในองค์ฌานยังประกอบด้วย โสมนัสเวทนาอยู่ จิตใจยังสาละวนวุ่นวายยินดีรักใคร่ในเหล่าสัตว์ ทั้งยังประพฤติเป็นไปใกล้ต่อความรักและความชัง จิตใจไม่ละเอียดสุขุม ต่างก็ยังสาละวนวุ่นวายอยู่กับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอยู่ ด้วยการส่งจิตไปว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขเถิด เป็นต้น ยังเป็นภาวนาที่อยู่ใกล้กับ ความรักความชังอยู่ ทั้งยังมีอาการเป็นไปใกล้ต่อความดีใจในการที่จะต้องส่งจิตไปว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขเถิด (เมตตา) ขอสัตว์ทั้งหลายจงพ้นจากทุกข์เสียเถิด (กรุณา) ขอสัตว์ทั้งหลายจงเจริญเถิด (มุทิตา) ยังประกอบด้วยองค์ฌานที่หยาบ คือ ยังประกอบด้วยโสมนัสเวทนาอยู่
  • ค. พิจารณาให้เห็นอานิสงส์ของอุเบกขาว่า เป็นสภาพที่ละเอียดสุขุม ประณีต ห่างไกลจากกิเลสมาก และมีผลอันไพบูลย์ดีงามกว่าพรหมวิหาร 3 ข้อข้างต้นด้วย

 

2. บุคคลที่ควรเจริญอุเบกขาเป็นอันดับแรก

  • ต่อจากนั้นให้ทำใจเป็นกลางๆ ในบุคคลเป็นกลางๆ โดยพิจารณาว่าคนทุกคนรวมทั้งตัวเราด้วย เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน คนผู้นี้เมื่อเขามาเกิดในโลก เขาก็มาด้วยกรรมของเขาเอง เมื่อเขาจะจากโลกนี้ไป เขาก็ต้องไปด้วยอำนาจของกรรมที่เขาทำ แม้ตัวเราก็เหมือนกัน เมื่อจะมาสู่โลกนี้หรือเมื่อต้องไปสู่โลกอื่นก็ด้วยอำนาจของกรรมที่เราได้กระทำไว้ทั้งสิ้น การที่เราจะช่วยนำเอาความสุขใจมาให้หรือจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ใจออกให้แก่คนผู้นี้ด้วยความพยายามของเรานั้น ไม่ใช่วิสัยที่จะเป็นไปได้ และการที่จะต้องคอยวุ่นวายอยู่กับสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการแผ่เมตตาจิตบ้างกรุณาจิตบ้างมุทิตาจิตบ้างไปถึงเขาผู้นี้ ไม่ใช่เป็นการกระทำที่ถูกต้องตรงตามความมุ่งหมายที่แท้จริง แต่ว่าการวางใจเป็นกลางๆ ในสัตว์ทั้งหลายต่างหาก เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนินมาแล้ว และเป็นปฏิปทาที่ตรงเป้าหมายในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติพึงส่งใจไปในบุคคลนั้น ด้วยบทภาวนาว่า

 

อยํ สตฺโต กมฺมสฺสโก โหติ สัตว์ผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน

ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปใช้ว่า

เอเต สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน

หรือว่า

สพฺเพ สตฺตา กมฺมสฺสกา โหนฺติ สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน

 

            ภาวนาในใจไปอย่างนี้บ่อยๆ หลายครั้ง จนกว่าความเป็นกลางๆ ในบุคคลนั้นจะปรากฏขึ้นในใจอย่างชัดเจน เมื่อพยายามปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ความวางใจเป็นกลางๆ อย่างเป็นปกติในบุคคลนั้นก็จะตั้งขึ้นอย่างแน่วแน่ กิเลสทั้งหลายก็สงบลงไปชั่วขณะ ต่อจากนั้นให้เจริญอุเบกขาไปยังคนอื่นๆ ต่อไป มีคนที่รัก เป็นต้น

 

3. บุคคลที่ควรเจริญอุเบกขาเป็นอันดับต่อไป

  • เมื่อได้เจริญอุเบกขาให้เกิดขึ้นในคนเป็นกลางๆ จนสมาธิแน่วแน่ดีแล้ว ให้เจริญไปยังบุคคลอื่นๆ มีคนเป็นที่รัก ฯลฯ ต่อไป ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้เป็นแบบอย่าง มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์วิภังค์ว่า

          ผู้มีอุเบกขาจิตแผ่ไปในบุคคลทั้งปวง เหมือนอย่างได้เห็นบุคคลที่พอใจก็ไม่ใช่ ไม่พอใจก็ไม่ใช่ แล้ววางเฉยอยู่อย่างนั้น30)

            เพราะฉะนั้น เมื่อได้เจริญอุเบกขาให้เกิดขึ้นในบุคคลที่เป็นกลางๆ จนกระทั่งจิตมีลักษณะนุ่มนวลควรแก่งานจนได้ที่ดีแล้ว จากนั้นจึงเจริญอุเบกขาไปยังบุคคลที่รัก ต่อจากนั้นเป็นคนที่เป็นเพื่อนรักมากหรือสหายนักเลง สุดท้ายจึงเจริญอุเบกขาไปในคนที่เป็นคู่เวร

----------------------------------------------------------------------------

29) วสี แปลว่าความชำนาญคล่องแคล่ว วสีทั้ง 5 คือ ชำนาญคล่องแคล่วในการนึกตรวจดูองค์ฌานที่ตนได้ออกมาแล้ว ชำนาญในการเข้าฌาณได้รวดเร็ว ชำนาญในการรักษาจิตไม่ให้ตกภวังค์ ชำนาญในการออกจากฌานตามที่ตนต้องการ ชำนาญในการทวนองค์ฌาน.
30) อภิธรรม วิภังค์, มก. เล่ม 78 ข้อ 748 หน้า 446.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.044001384576162 Mins