วิธีพิจารณาโดยพิสดาร

วันที่ 10 สค. พ.ศ.2558

วิธีพิจารณาโดยพิสดาร

มีวิธีการพิจารณาตามลำดับดังต่อไปนี้

1) พิจารณาโดยสสัมภารสังเขป

            คือ พิจารณาโกฏฐาสทั้งหลายเข้าเป็นหมู่ๆตามอาการของธาตุนั้นๆ โดยให้กำหนดเอาอาการแข้นแข็งในโกฏฐาส 20 ว่า ปฐวีธาตุ กำหนดเอาอาการซึมซาบอันเป็นความเหลวกล่าวคือเป็นน้ำในโกฏฐาส 12 ว่า อาโปธาตุ กำหนดเอาความร้อนอันเป็นเครื่องเผาไหม้ในโกฏฐาส 4 ว่า เตโชธาตุ กำหนดเอาอาการพัดไปมาในโกฏฐาส 6 ว่า วาโยธาตุ เมื่อกำหนดอยู่อย่างนั้น ธาตุทั้งหลายจะปรากฏได้ ผู้ปฏิบัติต้องพินิจพิจารณาธาตุ ทั้งหลายนั้นแล้วๆ เล่าๆ อุปจารสมาธิจะเกิดขึ้นตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล แต่เมื่อใดเจริญไปอย่างนั้น กัมมัฏฐานยังไม่สำเร็จ พึงเจริญโดยสสัมภารวิภัติต่อไป

 

2) พิจารณาโดยสสัมภารวิภัติ

            คือ พิจารณาจำแนกโกฏฐาสแห่งธาตุนั้นออก กำหนดอาการไปทีละอย่าง โดยชั้นแรกพึงทำอุคคหโกศล 7 ประการ และมนสิการโกศล 10 ประการ ที่กล่าวแล้วในกายคตาสติกัมมัฏฐานนั้นทุกอย่าง ตั้งต้นแต่สาธยายด้วยวาจา ซึ่งอาการทั้งหลาย มีอาการหมวดตจปัญจกะ เป็นต้น ในอาการ 32 ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม ส่วนความแตกต่างกัน คือ แม้พิจารณาอาการทั้งหลายมีผม เป็นต้น โดยสี สัญฐาน ทิศ โอกาส และปริเฉท แต่ในกายคตาสติ ต้องตั้งจิตไว้ทางปฏิกูล ในธาตุววัฏฐานนี้ ต้องตั้งจิตไว้ทางธาตุ เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติ ครั้นพิจารณาอาการทั้งหลายมีผม เป็นต้น อย่างละ 5 ส่วน โดยสีเป็นต้นแล้ว ในที่สุดควรพิจารณาแต่ละโกฏฐาสดังนี้

 

1. ปฐวีโกฏฐาส 1.1เกสา : ผมทั้งหลาย

ผมทั้งหลายนี้ เกิดที่หนังหุ้มกะโหลกศีรษะ ในหนังหุ้มกระโหลกศีรษะกับผมทั้งหลายนั้น หนังหุ้มกะโหลกศีรษะหารู้ไม่ว่าผมทั้งหลายเกิดที่เรา ผมทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดที่หนังหุ้มกะโหลกศีรษะ เปรียบเหมือนในหญ้ากุณฐะทั้งหลายอันเกิดอยู่ที่ยอดจอมปลวก ยอดจอมปลวกหารู้ไม่ว่าหญ้ากุณฐะทั้งหลายเกิดที่เรา หญ้ากุณฐะเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดที่ยอดจอมปลวก สิ่งทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ผมทั้งหลาย เป็น โกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

 

1.2 โลมา : ขนทั้งหลาย

ขนทั้งหลายเกิดที่หนังหุ้มสรีระ ในหนังหุ้มสรีระกับขนทั้งหลายนั้น หนังหุ้มสรีระหารู้ไม่ว่าขนทั้งหลายเกิดอยู่ที่เรา ขนทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่ที่หนังหุ้มสรีระ เปรียบเหมือน ในหญ้าแพรกทั้งหลายอันเกิดอยู่ในที่บ้านร้าง ที่บ้านร้างหาทราบไม่ว่าหญ้าแพรกเกิดอยู่ที่เรา หญ้าแพรกเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่ในที่บ้านร้าง สิ่งทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ขนทั้งหลายเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

 

1.3 นขา : เล็บทั้งหลาย

เล็บทั้งหลายเกิดที่ปลายนิ้วทั้งหลาย ในนิ้วกับเล็บทั้งหลายนั้น นิ้วทั้งหลายหารู้ ไม่ว่าเล็บเกิดที่ปลายของเรา เล็บทั้งหลายก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่ที่ปลายนิ้วทั้งหลาย เปรียบเหมือน เมื่อเด็กทั้งหลายใช้ไม้หลายอันเสียบเม็ดมะซางเล่นอยู่ ไม้ทั้งหลายหารู้ไม่ว่าเม็ดมะซางติดอยู่ที่เรา เม็ดมะซางเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราติดอยู่ที่ไม้ทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อันเล็บทั้งหลายเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิดเป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

 

1.4 ทนฺตา : ฟันทั้งหลาย

ฟันทั้งหลายเกิดที่กระดูกคาง ในกระดูกคางกับฟันทั้งหลายนั้น กระดูกคางหารู้ไม่ว่าฟันทั้งหลายเกิดอยู่ที่เรา ฟันทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่ที่กระดูกคาง เปรียบเหมือนใน เสาเรือน ที่ช่างไม้ทั้งหลายพันโคนด้วยยางเหนียวบางชนิดแล้ว ยกตั้งลงในหลุมหินทั้งหลาย หลุมทั้งหลายหารู้ไม่ว่าเสาทั้งหลายตั้งอยู่ในเรา เสาทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ในหลุมฉะนั้น สิ่งทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ฟันทั้งหลายเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

 

1.5 ตโจ : หนัง

หนังหุ้มสรีระทั้งสิ้นตั้งอยู่ในสรีระกับหนังนั้น สรีระหารู้ไม่ว่า เราถูกหนังหุ้ม หนังเล่าก็หารู้ไม่ว่า สรีระเราหุ้มไว้ เปรียบเหมือนในพิณใหญ่ที่หุ้มด้วยหนังโคสด พิณใหญ่หารู้ไม่ว่า เราถูกหนังโคสดหุ้ม หนังโคสดก็หารู้ไม่ว่า พิณใหญ่ เราหุ้มไว้ สิ่งทั้งหลายปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน หนังนั้น เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

 

1.6 มํสํ : เนื้อ

เนื้อ ฉาบทาติดอยู่ตามโครงกระดูก ในเนื้อกับโครงกระดูกนั้น โครงกระดูกหารู้ไม่ว่า เราถูกเนื้อต่างอย่าง 900 ชิ้นฉาบอยู่ เนื้อเล่าก็หารู้ไม่ว่า โครงกระดูกถูกเราฉาบไว้ เปรียบเหมือน ในฝาเรือนที่พอกไว้ด้วยดินเหนียวก้อนใหญ่ๆ ฝาหารู้ไม่ว่า เราถูกดินเหนียวก้อนใหญ่พอกดินเหนียวก้อนใหญ่เล่าก็หารู้ไม่ว่า ฝาถูกเราพอก สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน เนื้อนั้นเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ

 

1.7 นฺหารู : เอ็นทั้งหลาย

เอ็นทั้งหลาย รัดรึงกระดูกทั้งหลายไว้อยู่ภายในสรีระ ในกระดูกกับเอ็นทั้งหลายนั้น กระดูกทั้งหลายหารู้ไม่ว่า เราถูกเอ็นทั้งหลายรัดรึง เอ็นทั้งหลายก็หารู้ไม่ว่า กระดูกทั้งหลาย เรารัดรึงไว้ เปรียบเหมือนในไม้เชิงฝาที่เขามัดด้วยเถาวัลย์ทั้งหลาย ไม้เชิงฝาหารู้ไม่ว่า เราถูกเถาวัลย์มัด เถาวัลย์เล่าก็หารู้ไม่ว่า ไม้เชิงฝา ถูกเรามัดไว้ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน เอ็นทั้งหลายเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ

 

1.8 อฎฺฐี : กระดูกทั้งหลาย

ในกระดูกทั้งหลาย กระดูกส้นเท้าค้ำกระดูกข้อเท้าตั้งอยู่ กระดูกข้อเท้าค้ำกระดูกแข้งตั้งอยู่ กระดูกแข็งค้ำกระดูกขาตั้งอยู่ กระดูกขาค้ำกระดูกสะเอวตั้งอยู่ กระดูกสะเอวค้ำกระดูกสันหลังตั้งอยู่ กระดูกสันหลังค้ำกระดูกคอตั้งอยู่ กระดูกคอค้ำกระดูกศีรษะตั้งอยู่ กระดูกศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอๆ ตั้งอยู่บนกระดูกสันหลังๆ ตั้งอยู่บนกระดูกสะเอวๆ ตั้งอยู่บนกระดูกขาๆ ตั้งอยู่บนกระดูกแข้งๆ ตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้าๆ ตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า ในกระดูกเหล่านั้น กระดูก ส้นเท้าหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกข้อเท้าตั้งอยู่ กระดูกข้อเท้าหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกแข้งตั้งอยู่ กระดูกแข้งหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกขาตั้งอยู่ กระดูกขาหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกสะเอวตั้งอยู่ กระดูกสะเอว หารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกสันหลังตั้งอยู่ กระดูกสันหลังหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกคอตั้งอยู่ กระดูกคอ หารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกศีรษะตั้งอยู่ กระดูกศีรษะก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกคอๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง ๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกสะเอวๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกขา ๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกแข้งๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า เปรียบเหมือนในกองวัตถุที่วางซ้อนๆ กัน มีอิฐไม้ และโคมัย แห้ง เป็นต้น อันล่างๆ หารู้ไม่ว่า เราค้ำอันบนๆ ตั้งอยู่ อันบนๆ เล่า ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนอันล่างๆ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อันกระดูกเป็นโกฏฐาส แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ

 

1.9 อฎฺฐิมิญฺชํ : เยื่อในกระดูก

เยื่อในกระดูก ตั้งอยู่ในส่วนในของกระดูกนั้นๆ ในกระดูกกับเยื่อนั้น กระดูกทั้งหลาย หารู้ไม่ว่า เยื่อตั้งอยู่ในภายในของเรา เยื่อเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในภายในของกระดูกทั้งหลาย เปรียบเหมือนในหน่อไม้ทั้งหลาย มีหน่อหวายที่นึ่งแล้วเป็นต้น ที่บุคคลสอดเข้าไว้ในภายในของปล้องไม้มีปล้องไผ่เป็นต้น ปล้องไผ่เป็นต้น หารู้ไม่ว่า หน่อหวายเป็นต้นเขาสอดไว้ในเรา หน่อหวายเป็นต้นเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในปล้องไผ่เป็นต้น ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน เยื่อในกระดูกเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ

 

1.10 วกฺกํ : ไต

ไต เป็นก้อนเนื้อคู่ ติดอยู่กับเอ็นใหญ่ ซึ่งโคนเป็นเส้นเดียวแล่นออกจากหลุมคอไปหน่อย แตกเป็นสองเส้นโอบเนื้อหัวใจอยู่ ในเอ็นใหญ่กับไตนั้น เอ็นใหญ่หารู้ไม่ว่า ไตติดอยู่กับเรา ไตก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่กับเอ็นใหญ่ เปรียบเหมือนในผลมะม่วงคู่อันติดอยู่กับขั้วเดียวกัน ขั้วหารู้ไม่ว่า ผลมะม่วงคู่ติดอยู่กับเรา ผลมะม่วงคู่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่กับขั้ว สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ไตเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ

 

1.11 หทยํ : หัวใจ

หัวใจ อาศัยตรงกลางซี่โครงกระดูกอกตั้งอยู่ในภายในสรีระในภายในซี่โครงกระดูกอกกับหัวใจนั้น ภายในซี่โครงกระดูกอกหารู้ไม่ว่า หัวใจอาศัยเราอยู่ หัวใจเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอาศัยภายในซี่โครงกระดูกอกตั้งอยู่ เปรียบเหมือนในชิ้นเนื้อที่คนวางแอบไว้ภายในซี่โครงกระดูกอก ตั้งอยู่ เปรียบเหมือนในชิ้นเนื้อที่คนวางแอบไว้ภายในซี่กรงคานหามเก่าๆ ภายในซี่กรงคานหามเก่าหารู้ไม่ว่าชิ้นเนื้อเขาวางแอบเราไว้ ชิ้นเนื้อเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราถูกเขาวางแอบไว้ภายในซี่กรงคานหามเก่า สิ่ง ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน หัวใจเป็นเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ

 

1.12 ยกนํ : ตับ

ตับ ตั้งอยู่ติดสีข้าง ข้างขวาในส่วนในของนมทั้งสองภายในสรีระ ในสีข้าง ข้างขวาในส่วนในของนมกับตับนั้น สีข้างๆ ขวาในส่วนในของนมหารู้ไม่ว่า ตับตั้งติดเราอยู่ ตับเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งติดสีข้างๆ ขวาในส่วนในของนมอยู่ เปรียบเหมือนในชิ้นเนื้อคู่อันติดอยู่ที่ข้างของกระเบื้องหม้อ ข้างของกระเบื้องหม้อหารู้ไม่ว่า ชิ้นเนื้อคู่ติดอยู่ที่เรา ชิ้นเนื้อคู่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่ที่ข้างของกระเบื้องหม้อ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

 

1.13 กิโลมกํ : พังผืด

ในพังผืดทั้งหลาย พังผืดชนิดปกปิด ล้อมหุ้มทั้งหัวใจและไตอยู่ พังผืดชนิดเปิดเผยหุ้มยึด กล้ามเนื้ออยู่ใต้หนังทั่วสรีระในไต หัวใจและกล้ามเนื้อทั่วสรีระกับพังผืดนั้น ไต หัวใจและกล้ามเนื้อทั่วสรีระหารู้ไม่ว่า เราถูกพังผืดปิดหุ้ม พังผืดเล่าก็หารู้ไม่ว่า ไต หัวใจ และกล้ามเนื้อทั่วสรีระถูกเราปิดหุ้ม เปรียบเหมือนในชิ้นเนื้อที่เขาห่อไว้ด้วยผ้าขี้ริ้ว เนื้อหารู้ไม่ว่า เราถูกห่อไว้ด้วยผ้าขี้ริ้ว ผ้าขี้ริ้วเล่าก็หารู้ไม่ว่า เนื้อเขาห่อไว้ด้วยเรา สิ่งทั้งหลายนั่นปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน พังผืดเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ

 

1.14 ปิหกํ : ม้าม

ม้าม อยู่ติดด้านบนแห่งเพดานท้องข้างซ้ายของหัวใจ ในด้านบนแห่งเพดานท้องกับม้ามนั้น ด้านบนแห่งเพดานท้องหารู้ไม่ว่าม้ามติดเราอยู่ ม้ามเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดด้านบนแห่งเพดานท้องอยู่ เปรียบเหมือนในก้อนโคมัยที่ติดด้านบนแห่งยุ้งข้าวอยู่ ด้านบนแห่งยุ้งข้าวหารู้ไม่ว่า ก้อนโคมัยติดเราอยู่ ก้อนโคมัยเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดด้านบนแห่งยุ้งข้าวอยู่ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ม้าม เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ

 

1.15 ปปฺผาสํ : ปอด

ปอด ห้อยคลุมทั้งหัวใจและตับอยู่ในระหว่างนมทั้งสองในส่วนในของสรีระ ในส่วนในของสรีระกับปอดนั้น ส่วนในของสรีระหารู้ไม่ว่า ปอดห้อยอยู่ที่เรา ปอดก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ในส่วนในของสรีระมีรูปอย่างนั้น เปรียบเหมือนในรังนกที่ห้อยอยู่ในภายในของยุ้งข้าวเก่าๆ ส่วนภายในของยุ้งเก่าหารู้ไม่ว่า รังนกห้อยอยู่ในเรา รังนกเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ในภายในของยุ้งเก่า สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ปอด เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

 

1.16 อนฺตํ : ไส้ใหญ่

ไส้ใหญ่ อยู่ในภายในของสรีระ มีปลายอยู่ที่ต้นคอ และที่ทวารหนัก ในภายในของสรีระกับไส้ใหญ่นั้น ภายในของสรีระหารู้ไม่ว่า ไส้ใหญ่อยู่ในเรา ไส้ใหญ่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในภายในของสรีระ เปรียบเหมือนในซากงูเรือนหัวขาดที่เขาขดวางลงไว้ในรางเลือด รางเลือดหารู้ไม่ว่า ซากงูเรือนอยู่ในเรา ซากงูเรือนเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในรางเลือด สิ่งทั้งหลายนั่นปราศจาก ความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ไส้ใหญ่ เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็งเป็นปฐวีธาตุ

 

1.17 อนฺตคุณํ : ไส้น้อย

ไส้น้อย พันขนดไส้ใหญ่ซึ่งขดไปขดมา 21 ขด อยู่ในระหว่างของไส้ใหญ่ ในไส้ใหญ่กับไส้น้อยนั้น ไส้ใหญ่หารู้ไม่ว่า ไส้น้อยพันเราอยู่ ไส้น้อยเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราพันไส้ใหญ่อยู่เปรียบเหมือนในเชือกเล็กทั้งหลาย ที่ร้อยขดเชือกใหญ่ สำหรับเช็ดเท้าอยู่ ขดเชือกใหญ่ สำหรับเช็ดเท้าหารู้ไม่ว่า เชือกเล็ก ร้อยเราอยู่ เชือกเล็ก เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราร้อยขดเชือกใหญ่ สำหรับเช็ดเท้าอยู่ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน ไส้น้อยเป็นเป็น โกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

 

1.18 อุทริยํ : อาหารใหม่

อาหารใหม่ คือสิ่งที่กินดื่มเคี้ยวลิ้มเข้าไปอยู่ในท้อง ในท้องกับอาหารใหม่นั้น ท้องหารู้ไม่ว่า อาหารใหม่อยู่ในเรา อาหารใหม่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในท้อง เปรียบเหมือนในรากสุนัขที่อยู่ในรางสุนัข รางสุนัขหารู้ไม่ว่า รากสุนัขอยู่ในเรา รากสุนัขเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในรางสุนัข สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อาหารใหม่เป็นโกฏฐาส แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

 

1.19 กรีสํ : อาหารเก่า

อาหารเก่า อยู่ที่ปลายลำไส้ใหญ่ สัณฐานดังปล้องไม้ไผ่ ยาวประมาณ 8 นิ้ว ในกระเพาะอุจจาระกับอาหารเก่านั้น กระเพาะอุจจาระหารู้ไม่ว่า อาหารเก่าอยู่ในเรา อาหารเก่าเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกระเพาะอุจจาระ เปรียบเหมือนในดินสีเหลืองอย่างละเอียด ที่เขาอัดบรรจุลงไปในปล้องไม้ไผ่ ปล้องไม้ไผ่หารู้ไม่ว่า ดินเหลืองอยู่ในเรา ดินเหลืองเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในปล้องไม้ไผ่ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อาหารเก่าเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

 

1.20 มตฺถลุงคํ : เยื่อในสมอง

มันสมอง อยู่ในภายในของกะโหลกศีรษะ ในภายในของกะโหลกศีรษะกับมันสมองนั้น ภายในของกะโหลกศีรษะหารู้ไม่ว่า มันสมองอยู่ในเรา มันสมองเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในภายในของกะโหลกศีรษะ เปรียบเหมือนในก้อนแป้งที่เขาบรรจุลงในกะโหลกน้ำเต้าเก่าๆ กะโหลกน้ำเต้าหารู้ไม่ว่า ก้อนแป้งอยู่ในเรา ก้อนแป้งเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกะโหลกน้ำเต้า สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน เยื่อในสมองเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

 

2. อาโปโกฏฐาส 2.1 ปิตฺตํ : ดี

ในดีทั้งหลาย ดีชนิดไม่ติดที่ เป็นของเนื่องอยู่กับชีวิตินทรีย์ เอิบอาบอยู่ทั่วสรีระ ดีชนิดติดที่อยู่ในถุงน้ำดี ในสรีระกับดีไม่ติดที่ และถุงน้ำดีกับดีติดที่ สรีระหารู้ไม่ว่าดีไม่ติดที่อาบเราอยู่ ดีไม่ติดที่เล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอาบสรีระอยู่ เปรียบเหมือน ในน้ำมันที่ซาบขนมอยู่ ขนมหารู้ไม่ว่าน้ำมันซาบเรา อยู่ น้ำมันเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราซาบขนมอยู่ ถุงน้ำดีหารู้ไม่ว่าดีติดที่อยู่ในเรา ดีติดที่เล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในถุงน้ำดี เปรียบเหมือนในรังบวบขมที่เต็มด้วยน้ำฝน รังบวบขมหารู้ไม่ว่าน้ำฝนอยู่ในเรา น้ำฝนเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในรังบวบขม สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิด คำนึง และความไตร่ตรองถึงกันและกัน น้ำดีเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

 

2.2 เสมฺหํ : เสมหะ

เสมหะ มีประมาณเต็มบาตร 1 อยู่ที่เพดานท้อง ในเพดานท้องกับเสมหะนั้น เพดานท้องหารู้ไม่ว่าเสมหะอยู่ที่เรา เสมหะเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ที่เพดานท้อง เปรียบเหมือนในบ่อน้ำโสโครกที่มีแผ่นฟองเป็นฝาเกิดในเบื้องบน บ่อน้ำโสโครกหารู้ไม่ว่าแผ่นฟองเกิดที่เรา แผ่นฟองเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดที่บ่อน้ำโสโครก สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และความไตร่ตรองถึงกันและกัน เสมหะ เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

 

2.3 ปุพฺโพ : น้ำหนอง น้ำเหลือง

บุพโพ ไม่มีที่อยู่ประจำ ในตำแหน่งแห่งร่างกายใดๆ ที่ใดที่ถูกตอตำหนามยอกและถูกเปลวไฟลวก หรือฝีและต่อมเป็นต้นเกิดขึ้น มันก็มาอยู่ในตำแหน่งแห่งร่างกายนั้นๆ ในตำแหน่งแห่งร่างกายที่ถูกตอและหนามเป็นต้นกระทบกับหนองนั้น ตำแหน่งแห่งร่างกายที่ถูกตอและหนามเป็นต้นกระทบ หารู้ไม่ว่าหนองมาอยู่ในเรา หนองก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในตำแหน่งแห่งร่างกายทั้งหลายนั้น เปรียบเหมือน ในต้นไม้ที่มียางไหลด้วยอำนาจแห่งการฟันด้วยขวานเป็นต้น ตำแหน่งตรงที่ถูกฟันเป็นต้นของต้นไม้ หารู้ไม่ว่ายางมาอยู่ในเรา ยางเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในตำแหน่งที่ถูกฟันเป็นต้นของต้นไม้ สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน บุพโพเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

 

2.4 โลหิตํ : เลือด

ในโลหิตทั้งหลาย สังสรณโลหิด (โลหิตเดิน) ซาบซ่านไปอยู่ทั่วสรีระ ดังน้ำดี (ชนิดไม่ติดที่) สันนิจิตโลหิต (โลหิตขัง) ขังอยู่เต็มส่วนล่างที่อยู่ของตับ มีประมาณเต็มบาตร 1 ยังไต หัวใจ ตับ และปอด ให้ชุ่มอยู่ ในโลหิต 2 อย่างนั้น สังสรณโลหิต ก็เช่นเดียวกับดีชนิดไม่ติดที่ ส่วนในโลหิตอีกอย่างคือสันนิจิตโลหิต เหมือนในน้ำที่บุคคลเทลงในกระเบื้องหม้อเก่า ทะลุ หยด ลงไป ทำก้อนดินและก้อนกรวดเป็นต้น ที่อยู่ข้างล่างให้เปียกด้วย ก้อนดินและก้อนกรวดเป็นต้น หารู้ไม่ว่าเราถูกน้ำทำให้เปียกอยู่ น้ำเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราทำก้อนดินและก้อนกรวดเป็นต้นให้เปียก ฉันใด ที่ส่วนล่างของตับก็ดี ไตเป็นต้นก็ดี หารู้ไม่ว่าโลหิตขังอยู่ในเรา หรือว่าโลหิตทำเราให้ ชุ่มอยู่ โลหิตเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราขังอยู่ เต็มที่ส่วนล่างของตับ ทำไตเป็นต้นให้ชุ่มอยู่ ฉันนั้น เหมือนกัน สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน โลหิตเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

 

2.5 เสโท : เหงื่อ

เหงื่อขังอยู่เต็มช่องขุมผมและขนบ้าง ไหลออกมาในเวลาที่ร้อนเพราะไฟเป็นต้นบ้าง ในช่องขุมผมและขนกับเหงื่อนั้น ช่องขุมผมและขนทั้งหลายหารู้ไม่ว่า เหงื่อไหลออกจากเรา เหงื่อเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราไหลออกจากช่องขุมผมและขนทั้งหลาย เปรียบเหมือนในกำเง่าบัวและสายบัว พอถูกถอนขึ้นจากน้ำ ช่องในกำเง่าบัวเป็นต้น หารู้ไม่ว่าน้ำไหลออกจากเรา น้ำที่กำลังไหลออกจากช่องในกำเง่าบัวเป็นต้นเล่า ก็หารู้ไม่ว่าเราไหลออกจากช่องในกำเง่าบัวเป็นต้น สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน เหงื่อ เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

 

2.6 เมโท : มันข้น

มันข้น คือมันแข้น ที่แผ่ไปอยู่ทั่วสรีระของคนอ้วน ติดอยู่ตามกล้ามเนื้อ มีปลีน่องเป็นต้นของคนผอม ในกล้ามเนื้อกับมันข้นนั้น กล้ามเนื้อในสรีระทั้งสิ้น ของคนอ้วนก็ดี ในอวัยวะ มีแข้ง เป็นต้นของคนผอม ก็ดี หารู้ไม่ว่ามันข้นติดเราอยู่ มันข้นเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดกล้ามเนื้อ อยู่ในสรีระทั้งสิ้นของคนอ้วน หรือในอวัยวะมีแข้งเป็นต้นของคนผอม เปรียบเหมือนในก้อนเนื้อที่เขาปิดไว้ด้วยผ้าเก่าสีขมิ้น (เหลืองหม่น) ก้อนเนื้อหารู้ไม่ว่าผ้าเก่าสีขมิ้นติดเราอยู่ ผ้าเก่าสีขมิ้นเล่า ก็หารู้ไม่ว่า เราติดก้อนเนื้ออยู่ สิ่งทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน มันข้น เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

 

2.7 อสฺสุ : น้ำตา

น้ำตา เกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นมันก็ขังอยู่เต็มเบ้าตาบ้าง ไหลออกมาบ้าง ในเบ้าตากับน้ำตานั้น เบ้าตาหารู้ไม่ว่าน้ำตาอยู่ในเรา น้ำตาเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในเบ้าตา เปรียบเหมือนในเบ้าตาลอ่อนที่เต็มด้วยน้ำ เบ้าตาลอ่อนหารู้ไม่ว่าน้ำอยู่ในเรา น้ำในเบ้าตาลอ่อนเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในเบ้าตาลอ่อน สิ่งทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน น้ำตาเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

 

2.8 วสา : มันเหลว

มันเหลว คือมันที่ละลายอยู่ตามฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้า หลังเท้า ดั้งจมูก หน้าผาก และจะงอยบ่า ในเวลาที่ร้อนเพราะไฟเป็นต้น ในตำแหน่งแห่งร่างกายมีฝ่ามือเป็นต้นกับมันเหลวนั้น ตำแหน่งแห่งร่างกายมีฝ่ามือเป็นต้น หารู้ไม่ว่ามันเหลวท่วมเราอยู่ มันเหลวเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราท่วมตำแหน่งแห่งร่างกายมีฝ่ามือเป็นต้นอยู่ เปรียบเหมือนในข้าวตังอันมีน้ำมันที่คนราดไว้ ข้าวตังหารู้ไม่ว่าน้ำมันท่วมเราอยู่ น้ำมันเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราท่วมข้าวตังอยู่ สิ่งทั้งหลายนั่นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน มันเหลวเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

 

2.9 เขโฬ : น้ำลาย

น้ำลาย เมื่อปัจจัยให้น้ำลายออกอย่างนั้นมีอยู่ มันลงจากกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างมาอยู่ที่แผ่นลิ้น ในแผ่นลิ้นกับน้ำลายนั้น แผ่นลิ้นหารู้ไม่ว่า น้ำลายลงจากกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างมาอยู่ที่เรา น้ำลายเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราลงจากกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างมาอยู่ที่แผ่นลิ้น เปรียบเหมือนในหลุมริมฝั่งแม่น้ำ อันมีน้ำซึมออกไม่ขาด พื้นหลุมหารู้ไม่ว่าน้ำอยู่ในเรา น้ำเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในพื้นหลุม สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน น้ำลายเป็น โกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

 

2.10 สิงฺฆาณิกา : น้ำมูก

น้ำมูก เกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นมันก็ขังเต็มโพรงจมูกอยู่บ้าง ไหลออกมาบ้าง ในโพรงจมูกกับน้ำมูกนั้น โพรงจมูกหารู้ไม่ว่าน้ำมูกอยู่ในเรา น้ำมูกเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในโพรงจมูก เปรียบเหมือนในเปลือกหอยโข่งที่เต็มด้วยนมส้มเสีย เปลือกหอยโข่งหารู้ไม่ว่านมส้มเสียอยู่ในเรา นมส้มเสียเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในเปลือกหอยโข่ง สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน น้ำมูก เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

 

2.11 ลสิกา : ไขข้อ

ไขข้อ ทำกิจคือการทาที่ต่อแห่งกระดูกทั้งหลายให้สำเร็จอยู่ในที่ต่อแห่งกระดูกประมาณ 180 แห่ง ในที่ต่อ 180 แห่งกับไขข้อนั้น ที่ต่อ 180 แห่งหารู้ไม่ว่า ไขข้อทาเราติดอยู่ ไขข้อเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราทาที่ต่อ 180 แห่งติดอยู่ เปรียบเหมือนในเพลาที่คนทาด้วยน้ำมัน เพลา หารู้ไม่ว่าน้ำมันทาเราติดอยู่ น้ำมันเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราทาเพลาติดอยู่ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน ไขข้อเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็น อาโปธาตุ

 

2.12 มุตฺตํ : น้ำมูตร

น้ำมูตร อยู่ข้างในกระเพาะปัสสาวะ ในกระเพาะปัสสาวะกับน้ำมูตรนั้น กระเพาะปัสสาวะหารู้ไม่ว่าน้ำมูตรอยู่ในเรา น้ำมูตรเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ เปรียบเหมือนในหม้อดินเนื้อหยาบ ที่คนโยนลงไปคว่ำอยู่ในหลุมโสโครก หม้อดินเนื้อหยาบ หารู้ไม่ว่าน้ำโสโครกอยู่ในเรา น้ำโสโครกเล่าก็หารู้ไม่ว่าอยู่ในหม้อดินเนื้อหยาบ สิ่งทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน น้ำมูตร เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็น อาโปธาตุ

 

3. เตโชโกฎฐาส

            ในการพิจารณาในเตโชโกฎฐาสทั้งหลายมีวิธีการพิจารณาดังนี้ คือ

  • ร่างกายย่อมเร่าร้อนเพราะไฟใด ไฟนี้ (สันตัปปนเตโช) เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ มีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุ
  • ร่างกายย่อมทรุดโทรมเพราะไฟใด ไฟนี้ (ชีรณเตโช) เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ มีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุ
  • ร่างกายย่อมกระสับกระส่ายเพราะไฟใด ไฟนี้ (ทหนเตโช) เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณมีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุ
  • ของที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มเข้าไปแล้ว ย่อมถึงความย่อยไปด้วยดีเพราะไฟใด ไฟนี้ (ปาจกเตโช) เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ มีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุ

 

4. วาโยโกฏฐาส

            การกำหนดอุทธังคมวาต โดยเป็นลมขึ้นเบื้องบน กำหนดอโธคมวาต โดยเป็นลมลงเบื้องล่าง กำหนดกุจฉิสยวาต โดยเป็นลมอยู่ในท้อง กำหนดโกฏฐาสยวาต โดยเป็นลมอยู่ในภายในลำไส้ กำหนดอังคมังคานุสาริวาต โดยเป็นลมแล่นไปตามอังคาพยพใหญ่น้อย กำหนดจับอัสสาสะปัสสาสะ โดยเป็นลมหายใจเข้าและหายใจออก แล้ว ยังมนสิการให้เป็นไปในวาโยโกฏฐาสทั้งหลายอย่างนี้ว่า

4.1ลมขึ้นเบื้องบนทั้งหลาย เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณมีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ

4.2ลมลงเบื้องล่างทั้งหลาย เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณมีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ

4.3ลมอยู่ในท้อง (นอกลำไส้) ทั้งหลาย เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ มีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ

4.4ลมอยู่ในลำไส้ทั้งหลาย เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณมีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ

4.5ลมแล่นไปตามอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งหลาย เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณมีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ

4.6ลมหายใจเข้าและหายใจออกทั้งหลาย เป็นโกฎฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นของกลางๆ ว่างเปล่า ไม่มีวิญญาณ มีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ

ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏแก่นักปฏิบัตินั้น ผู้มีมนสิการเป็นไปอย่างนี้ เมื่อเธอพิจารณาซึ่งธาตุเหล่านั้น แล้วๆ เล่าๆ อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้น

 

แต่เมื่อนักปฏิบัติเจริญไปอย่างนั้น กัมมัฏฐานยังไม่สำเร็จ นักปฏิบัติผู้นั้นพึงเจริญโดยสลักขณสังเขปต่อไป

3) เจริญโดยสลักขณสังเขป

            คือ พิจารณาโกฏฐาสทั้งหลายเข้าเป็นหมู่ๆ ตามลักษณะของธาตุนั้น โดยกำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็งในโกฏฐาส 20 ว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบได้ในโกฏฐาส 20 นั้นว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในโกฏฐาส 20 นั้นว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ในโกฏฐาส 20 นั้นว่า ธาตุลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบในโกฏฐาส 12 ว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในโกฏฐาส 12 นั้นว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ในโกฏฐาส 12 นั้นว่า ธาตุลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็งในโกฎฐาส 12 นั้นว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในโกฎฐาส 4 ว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ ที่แยกออกจากธาตุไฟนั้นไม่ได้ ว่า ธาตุลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็ง ที่แยกออกจากธาตุไฟนั้นไม่ได้ว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบที่แยกออกจากธาตุไฟนั้น ไม่ได้ว่า ธาตุน้ำ

            พึงกำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ในโกฏฐาส 6 ว่า ธาตุลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็งในโกฏฐาส 6 นั้นแหละว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบได้ในโกฏฐาส 6 นั้นแหละว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในโกฏฐาส 6 นั้นแหละว่า ธาตุไฟ เมื่อนักปฏิบัตินั้นกำหนดไปอย่างนั้น ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้นแก่เธอพิจารณาธาตุทั้งหลายนั้นแล้วๆ เล่าๆ แต่เมื่อนักปฏิบัติผู้ใดแม้เจริญไปอย่างนั้น กัมมัฏฐานก็ยังไม่สำเร็จ นักปฏิบัติผู้นั้นพึงเจริญโดยสลักขณวิภัติต่อไป

 

4) เจริญโดยสลักขณวิภัติ

            คือ พิจารณาจำแนกโกฏฐาสแห่งธาตุนั้นๆ ออก กำหนดลักษณะไปทีละอย่าง โดยพิจารณาเอาโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวมาก่อนในสลัมภารวิภัตินั้นมากำหนดดูลักษณะที่แข้นแข็งในผมว่า ธาตุดิน พึงกำหนดดูลักษณะที่ซึมซาบในผมนั้นแหละว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดดูลักษณะที่ร้อนในผมนั้นแหละว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดดูลักษณะที่เขยื้อนได้ในผมนั้นแหละว่า ธาตุลม พึงกำหนดดูธาตุ 4 ในโกฏฐาสหนึ่งๆ ไปทุกโกฏฐาสอย่างนี้ เมี่อเธอกำหนดไปอย่างนั้น ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้นแก่เธอผู้พิจารณาธาตุทั้งหลายนั้น แล้วๆ เล่าๆ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล

             เมื่อสรุปการพิจารณาธาตุ 42 ที่มีอยู่ในร่างกาย โดยความเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และ สี กลิ่น รส โอชา แล้ว ผู้ปฏิบัติก็พึงรู้ได้ดังนี้ คือ ความเป็นธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รวม 3 นี้ รู้ได้โดยอาศัยการสัมผัสทางกาย ความเป็นธาตุน้ำรู้ได้โดยอาศัยการนึกคิดทางใจ ความเป็นสีรู้ได้โดยอาศัยการเห็นทางตา เป็นกลิ่นรู้ได้โดยอาศัยการดมทางจมูก ความเป็นรส รู้ได้โดยอาศัยการชิมทางลิ้น ความเป็นโอชารู้ได้โดยอาศัยการนึกคิดทางใจ

 

ถ้าผู้เจริญได้ทำการพิจารณาธาตุ 42 โดยเฉพาะๆ ไปตามลำดับดังกล่าวแล้ว แต่ ธาตุนิมิตก็ไม่ปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องทำการพิจารณาต่อไปโดยอาการ 13 ดังต่อไปนี้

1. วจนตฺถโต โดยความหมายแห่งศัพท์ คือ ดินที่เรียกว่า ปฐวี เพราะแผ่ไป น้ำที่เรียกว่า อาโป เพราะเอิบอาบให้ชุ่มอยู่ หรือให้เต็มอยู่ ไฟ เรียกว่า เตโช เพราะทำให้ร้อน ลมเรียกว่า วาโย เพราะพัดให้ไหว ทุกศัพท์ถูกเรียกว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน และเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เป็นที่ก่อให้เกิดทุกข์

2. กลาปโต โดยความเป็นกอง ปฐวีธาตุ มี 20 กอง มีผมเป็นต้น อาโปธาตุมี 12 กอง มีน้ำดี เป็นต้น ผมที่ปรากฏเป็นกองก็เพราะการประชุมรวมกันของธรรม 8 อย่าง คือ สี กลิ่น รส โอชา และธาตุทั้ง 4 มารวมตัวกัน เราจึงสมมติกันเรียกว่าเป็นผม เมื่อแยกกันออกแล้ว ก็ย่อมไม่เรียกว่า ผม

 

3. จุณฺณโต โดยความแยกละเอียด กล่าวคือ ร่างกายนี้ประกอบด้วยส่วนย่อย ต่างๆ นับไม่ถ้วนในรูปแบบเป็นเซล และเป็นกล้ามเนื้อซึ่งเป็นปฐวีธาตุ สามารถลดลงเป็นส่วนเล็กที่สุด ดุจธุลีละเอียด เมื่อตวงดูจะได้ประมาณ 20-30 ลิตร แต่ที่เราเห็นเป็นรูปร่างก็เพราะ ปฐวีธาตุ มีอาโปธาตุเกาะกุมยึดไว้ ให้เป็นรูปเป็นร่าง มีเตโชธาตุเลี้ยงรักษาไว้ วาโยธาตุคอยค้ำจุนให้ตั้งมั่น จึงไม่กระจัดกระจาย และทำให้ปรากฏ เป็นเพศหญิง เพศชาย อ้วนบ้าง ผอมบ้าง สูงบ้าง เตี้ยบ้าง แข็งแรงบ้าง อ่อนแอบ้าง

อาโปธาตุในร่างกายนี้ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบตั้งอยู่ในธาตุดิน มีธาตุไฟตามรักษา มีลมประคับประคอง ทำให้ไม่หยด ไม่ไหลไป ไม่เรี่ยราดกระจัดกระจาย น้ำย่อมสร้างเนื้อหนังคือลักษณะรูปร่างทั้งหมดขึ้นมา

เตโชธาตุในร่างกาย มีลักษณะร้อน ตั้งอยู่ในธาตุดิน มีน้ำยึดให้ติดอยู่ด้วยกัน มีลมประคับประคอง ย่อยสิ่งที่คนรับประทานและดื่มเข้าไป ทำให้ร่างกายอบอุ่น เจริญเติบโต และ เป็นเหตุแห่งความงามของร่างกาย และเมื่อมีธาตุไฟนี้ ร่างกายก็จะไม่เน่าเปื่อย

วาโยธาตุในร่างกายนี้ ตั้งอยู่ในธาตุดิน มีน้ำเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีไฟตามรักษา มีลักษณะเคลื่อนไหว และประคับประคอง ซ่านไปตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้กายนี้ เคลื่อนไหวได้ และประคับประคองร่างกายให้ตั้งตรงและไม่ล้มลง ธาตุลมนี้ช่วยทำให้ร่างกาย ยืน เดิน นั่ง นอนได้ เหยียดแขนเข้า ออก ทำให้มือและเท้าเคลื่อนไหวได้ ร่างกายนี้จึงเป็นเหมือนเครื่องจักรกล ซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ล่อลวงคนทั้งหลายโดยความเป็นหญิง เป็นชาย ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้เห็นว่า เพราะร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุ 4 จึงเป็นร่างกายอยู่ได้

4. ลกฺขณาทิโต โดยลักษณะ3) รส4) ปัจจุปัฏฐาน5) กล่าวคือ

ปฐวีธาตุ มีความแข็งเป็นลักษณะ มีการทรงอยู่ เป็นกิจ มีการรองรับรูปอื่นเป็นอาการปรากฏ อาโปธาตุ มีการไหลหรือเกาะกุมเป็นลักษณะ ทำให้รูปที่เกิดร่วมด้วยมีความเจริญ เป็นกิจ มีความเกาะกุมรูปที่เกิดร่วมกันให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นอาการปรากฏ เตโชธาตุ หรือ เตโชรูป มีความอบอุ่นเป็นลักษณะ ทำให้รูปเกิดร่วม สุกงอม เป็นกิจ ทำให้รูปที่เกิดร่วมด้วย ให้อ่อนนิ่ม เป็นอาการปรากฏ วาโยธาตุ มีความเคร่งตึง เป็นลักษณะ มีการไหว เป็นกิจ มีการเคลื่อนย้าย เป็นอาการปรากฏ

5. สมุฏฺฐานโต โดยสมุฏฐาน หรือโดยกำเนิดทั้ง 4 ดังนี้คือ กรรม จิต ฤดูและ อาหาร โดยในส่วนของร่างกายต่างๆ 32 ส่วน อาหารใหม่ อาหารเก่า หนอง มูตร เกิดจากฤดู น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก เกิดจากฤดูและจิต ไฟซึ่งเป็นตัวย่อยอาหารที่บริโภค(ปาจกเตโช) เป็นต้น เกิดจากกรรม ลมหายใจเข้าออก เกิดจากจิต ที่เหลือทั้งหมดเกิดจากกำเนิดทั้ง 4 อย่าง

6. นานตฺตเอกตฺตโต โดยความต่างกันและเหมือนกัน ธาตุทั้งหมดต่างกันโดยลักษณะ คือ ปฐวีธาตุก็มีลักษณะ รส และปัจจุปัฏฐานต่างจากอาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ แต่เหมือนกันโดยเป็นรูป มหาภูต ธาตุ ธรรม และเป็นของไม่เที่ยง เป็นต้น ธาตุทั้งหมดชื่อว่าเป็นรูป เพราะธาตุทั้งปวงไม่ล่วงพ้นจากลักษณะความทรุดโทรมไปได้ ชื่อว่ามหาภูต เพราะเป็นรูปร่างที่แปลกประหลาด คือ ธาตุเหล่านี้แสดงตัวให้ปรากฏโดยการเปลี่ยนสภาพให้แตกต่างจากสภาพที่แท้จริง คือ ตัวเองไม่ได้เป็นสีเหลืองก็แสดงสภาพเป็นสีเหลืองได้ ไม่ได้เป็นสีแดงก็แสดงสภาพเป็นสีแดงได้ ไม่ได้เป็นสีขาวก็แสดงรูปเป็นสีขาวได้ เปรียบเหมือนนักเล่กล เอาน้ำซึ่งไม่ได้เป็นแก้วมณีมาทำให้เป็นแก้วมณี ทำก้อนหินที่ไม่ใช่ทองให้เป็นทอง แสดงตัวเองเป็นยักษ์ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ยักษ์ ธาตุทั้งหลายก็ฉันนั้น แม้ว่าจะไม่ใช่สีคราม สีเหลือง สีแดง แต่ก็ปรากฏเป็นสีเหล่านั้นได้ แม้จะไม่ใช่มนุษย์หรือสัตว์ แต่ก็ปรากฏรูปเหล่านั้นได้

ชื่อว่าธรรม เพราะทรงลักษณะธรรมชาติของตนและเข้าไปทรงอยู่ได้ชั่วขณะอัน สมควรแก่ตนชื่อว่า ไม่เที่ยง เพราะจะต้องเสื่อมสลายไปชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นสภาพมีอันตรายชื่อว่า มิใช่ตน เพราะหาสาระมิได้

7. วินิพฺโภคาวินิพฺโภคโต โดยความแยกออกจากกันได้และแยกไม่ได้ กล่าวคือ ธาตุเหล่านี้แบ่งแยกได้เฉพาะแต่ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน แต่อวินิพโภครูป คือ สี กลิ่น รส โอชา ปฐวี อาโป เตโช วาโย แยกไม่ได้

8. สภาควิสภาคโต โดยความเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ คือ ปฐวีและอาโปธาตุ เข้ากันได้โดยเป็นของหนักเหมือนกัน เตโชและวาโยธาตุ เข้ากันได้โดยเป็นของเบาเหมือนกัน 2 ธาตุตอนต้นกับ 2 ธาตุตอนหลังเข้ากันไม่ได้ เพราะพวกหนึ่งหนัก พวกหนึ่งเบา

9. อชฺฌตฺติกพาหิรวิเสสโต โดยความแปลกกันแห่งธาตุภายในกับธาตุภายนอก คือ ธาตุที่เกิดอยู่ในร่างกายสัตว์ทั้งหลายนี้เป็นที่อาศัยของปสาททั้ง 5 (จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท) อินทรีย์ (อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์) วิญญัติรูป 2 (กายวิญญัติ วจีวิญญัติ) ประกอบไปด้วยอิริยาบถทั้ง 4 และเกิดจากสมุฏฐานทั้ง 4 ครบบริบูรณ์ (อัชฌัตติกวิเสส) ส่วนธาตุทั้ง 4 ที่เกิดภายนอกสัตว์ มิได้เป็นที่อาศัยเกิดของรูปต่างๆ ดังกล่าว ไม่ประกอบด้วยอิริยาบถใหญ่น้อย สมุฏฐานมีไม่ครบ 4 มีแต่อุตุสมุฏฐานอย่างเดียว (พาหิรวิเสส)

10. สงฺคโห โดยความรวมเข้ากันได้ คือ กำหนดเอาธาตุทั้ง 4 ที่มีสมุฎฐาน เหมือนกันรวมไว้ในหมวดเดียวกัน เช่น ปฐวีธาตุที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน นับสงเคราะห์ ไว้พวกเดียวกับธาตุอื่นๆ ที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเหมือนกัน ธาตุที่เหลือทั้ง 3 ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน แยกไปตามสมุฏฐานที่เหลือ ทั้ง จิต อุตุ อาหาร

11.ปจฺจยโต โดยความเป็นปัจจัยของกันและกัน คือ ธาตุดินซึ่งติดกันอยู่โดยอาศัยธาตุน้ำ มีธาตุไฟช่วยรักษาไว้ มีธาตุลมเป็นตัวช่วยพยุงไว้ เป็นปัจจัยโดยความเป็นที่อยู่ของ ธาตุทั้ง 3 ธาตุน้ำตั้งอยู่ในธาตุดิน มีธาตุไฟช่วยรักษาไว้ มีธาตุลมเป็นตัวตัวช่วยพยุงไว้เป็น ปัจจัยโดยความเป็นเครื่องยึดให้ติดกันแห่งธาตุทั้ง 3 นอกจากนี้ไว้ด้วยกัน ธาตุไฟซึ่งอยู่บน ธาตุดิน มีธาตุน้ำยึดให้ติดกัน มีธาตุลมช่วยพยุงไว้ เป็นปัจจัยโดยความเป็นเครื่องทำให้อุ่นแห่งธาตุ 3 อย่างนอกนี้ ธาตุลม ตั้งอยู่บนธาตุดิน มีธาตุน้ำยึดให้ติดกัน มีธาตุไฟเป็นตัวทำให้อุ่น เป็นปัจจัยโดยเป็นเครื่องพยุงไว้แห่งธาตุ 3 อย่างนอกนี้ ดังนั้นควรพิจารณาเห็นว่าธาตุเหล่านี้โดยเป็นปัจจัยของกันและกัน

12. อสมนฺนาหารโต ในบรรดาธาตุทั้ง 4 ปฐวีธาตุย่อมไม่รู้ว่า เราคือปฐวีธาตุ หรือว่าเราเป็นที่ตั้งเป็นปัจจัยแห่งธาตุทั้ง 3 แม้ธาตุนอกนี้ก็ไม่รู้ว่า ปฐวีธาตุเป็นปัจจัยเป็นที่ตั้งของพวกเรา ในธาตุทั้งปวงก็มีนัยเช่นเดียวกัน

13. ปจฺจยวิภาคโต โดยการจำแนกปัจจัยธรรมของธาตุนั้นๆ คือ ร่างกายของสัตว์ทั้งหลายปรากฏมีขึ้น เนื่องมาจากสมุฏฐานทั้ง 4 คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร6) บางส่วนมีกรรมเป็นประธานของสมุฏฐานอีก 3 อย่าง เป็นสิ่งอุดหนุนให้เกิด เรียกว่า กัมมชรูป ถ้ามีจิตเป็นประธาน เรียก จิตตชรูป ถ้ามีอุตุเป็นประธานเรียก อุตุชรูป ถ้ามีอาหารเป็นประธาน เรียกว่าอาหารชรูป

เมื่อนักปฏิบัติกำหนดโดยอาการ 13 แล้ว ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ เมื่อนึกหน่วง ธาตุเหล่านั้นเนืองๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดขึ้น

 

----------------------------------------------------------------------------

3) ลักษณะ คือ สภาพที่มีอยู่โดยเฉพาะประจำตัวของธรรมนั้นๆ.
4) รส คือ หน้าที่การงานขิงธรรมนั้นๆ พึง กระทำตามลักษณะของตน หรือเรียกว่า กิจ.
5) ปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฎจากรสนั้น.
6) กรรม คือ กุศลและอกุศลที่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น จิต หมายถึง จิตอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น อาหาร หมายถึง อาหารภายใสตนที่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ฤดู หมายถึง ฤดูอย่างใดอย่างหนึ่ง.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03546701669693 Mins