วิธีการเจริญกัมมัฏฐาน
การพิจารณาธาตุทั้ง 4 ที่มีในกายตนนี้ มี 2 ประการ คือ โดยย่อและโดยพิสดารใน 2 ประการนี้ ผู้ที่เป็นติกขบุคคล หรือมีปัญญาแก่กล้า ทำการพิจารณาเพียงแต่โดยย่อ ธาตุทั้ง 4 ก็ปรากฏแจ่มแจ้ง ขจัดความเห็นว่าเป็น หญิง ชาย เรา เขา สัตตะ ชีวะ ลงได้ ส่วนมันทบุคคล หรือ ผู้มีปัญญาไม่แก่กล้า นั้นต้องทำ การพิจารณาโดยพิสดาร ธาตุทั้ง 4 จึงจะปรากฏแจ่มแจ้ง ขจัดความเห็นว่าเป็นหญิง ชาย ฯลฯ ให้หายไป
วิธีพิจารณาโดยย่อ
วิธีพิจารณาโดยย่อมาในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนให้พิจารณาโดยอุปมาเหมือนคนฆ่าโคขาย เมื่อฆ่าเสร็จแล้วย่อมต้องเชือดชำแหละแยกส่วนต่างๆ ของร่างกายโค ออกวางไว้เป็นอย่างๆ ตัดออกเป็นชิ้นๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง นั่งขาย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
“ เมื่อคนฆ่าโคเลี้ยงโคอยู่ก็ดีนำโคไปยังที่ฆ่าก็ดี นำมาผูกไว้ที่ฆ่าก็ดี กำลังฆ่าก็ดี มองดูโคที่ฆ่าตายแล้วก็ดีความสำคัญว่าโค ยังไม่หายไปตราบเท่าที่เขายังไม่ได้ชำแหละโคนั้นออกเป็นส่วน ๆ ต่อเมื่อเขาชำแหละแบ่งออกแล้ว ความสำคัญว่าโคก็หายไป กลับสำคัญเนื้อโคไป เขามิได้คิดว่า เราขายโค คนเหล่านี้ซื้อไป ที่แท้ เขาคิดว่า เราขายเนื้อโค คนเหล่านี้ซื้อเนื้อโค เปรียบฉันใด แม้ภิกษุนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันเมื่อครั้งเป็นปุถุชนผู้เขลา เป็นคฤหัสถ์ก็ดี บรรพชิตก็ดี ความสำคัญว่าสัตว์หรือบุคคล ยังไม่หายไปก่อนตราบเท่าที่ยังไม่พิจารณาเห็นกายนี้นี่แล ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ แยกออกจากก้อน โดยความเป็นธาตุ ต่อเมื่อเธอพิจารณาเห็นโดยความเป็นธาตุ ความสำคัญว่าสัตว์จึงหายไป จิตก็ตั้งอยู่ด้วยดีโดยความเป็นธาตุอย่างเดียว
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่าภิกษุพิจารณาเห็นกายอันนี้นี่แล ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฯลฯ วาโยธาตุ ดังนี้ ฉันนั้น ก็พระโยคาวจร เปรียบเหมือนคนฆ่าโค ความสำคัญว่าสัตว์ เปรียบเหมือนความสำคัญว่าโค อิริยาบถทั้ง 4 เปรียบเหมือนทางใหญ่ 4 แพร่ง ความพิจารณาเห็นโดยความเป็นธาตุ เปรียบเหมือนการที่คนฆ่าโคนั่งแบ่งออกเป็นส่วนๆ”2)
หรือผู้ปฏิบัติจะทำการพิจารณาด้วยใจตามหลักที่พระสารีบุตรได้กล่าวแนะนำไว้ คือ ให้พิจารณาด้วยใจว่า บรรดาที่อาศัยต่างๆ อันชาวโลกทั้งหลายกล่าวเรียกกันว่า เป็นเคหสถานบ้านเรือนเหล่านี้ หาใช่อะไรอื่นไม่ แท้ที่จริงนั้นก็ได้แก่ ไม้ อิฐ ปูน ทราย รวมกันปรากฏขึ้น โดยส่วนล่างมีแผ่นดินรองรับ ส่วนบนและรอบบริเวณมีอากาศล้อมรอบ ข้อนี้ฉันใด ร่างกายของ เรานี้ก็ได้แก่ กระดูก 300 ท่อนเศษ เส้นเอ็น 900 ก้อนเนื้อ 900 ผิวหนังทั่วกายใหญ่ประมาณ เท่าเมล็ดมะขามป้อม มีอยู่เพียงเท่านี้เอง ควบคุมกันเข้าเป็นรูปร่างสัณฐานปรากฏขึ้นในที่ที่มีอากาศ ล้อมรอบกายที่มีแต่กระดูก เส้นเอ็น ก้อนเนื้อ ผิวหนัง ควบคุมกันอยู่นี้เมื่อจะค้นคว้าหาสิ่งที่มีจริงและปรากฏชัดแล้ว ก็มีแต่เพียง 4 อย่าง คือ สิ่งที่แข็งกระด้างเป็นปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) สิ่งที่เกาะกุมเหนียวและเอิบอาบซึมซาบไหลเป็นอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) สิ่งที่ทำให้สุกโดยอาการให้ร่างกายเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาว หนังเหี่ยวย่นแก่หง่อมลงและความเย็นร้อนในกายทั่วไปเป็นเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) สิ่งที่ทำให้อิริยาบถใหญ่น้อยเคร่งตึงตั้งมั่นและเคลื่อนไหวไปมาได้เป็น วาโยธาตุ (ธาตุลม) จากนี้ก็มีการพิจารณาทั้งทางวาจาและใจพร้อมกันไป มีดังนี้
ยถา ปฏิจฺจ กฏฺฐาทึ อาคารนฺติ ปวุจฺจติ เอวํ ปฏิจฺจ อฏฺฐยาทึ สรีรนฺติ ปวุจฺจติ ฯ
อาศัยไม้เป็นต้น แล้วเรียกว่าบ้าน กุฏี ศาลา อาคารต่างๆ ฉันใด อาศัยกระดูก เส้นเอ็น เนื้อ หนัง แล้วเรียกว่าร่างกาย ก็ฉันนั้น
อฏฺฐึ นหารุญฺจ มํสญฺจ จมฺมญฺจ จตุกํ ปติ ปริวาริโต อากาโส สงฺขยํ รูปนฺติ คจฺฉติ ฯ
ช่องอากาศที่ล้อมรอบโดยอาศัยบริวาร 4 อย่าง มีกระดูก 300 เศษ เส้นเอ็น 900 ก้อนเนื้อ 900 หนังหนาและผิวหนังรวมกันอยู่ ได้ชื่อว่า ร่างกาย
โย อิมสฺมึ กาเย ถทฺธภาโว วา ขรภาโว วา อยํ ปฐวีธาตุ, โย อาพนฺธนภาโว วา ทฺรวภาโว วา อยํ อาโปธาตุ, โย ปริปาจนภาโว วา อุณหฺภาโว วา อยํ เตโชธาตุ, โย วิตฺถมฺภนภาโว วา สมุทีรณภาโว วา อยํ วาโยธาตุ ฯ
ในร่างกายนี้ ส่วนที่แข็งหรือกระด้าง ส่วนนั้นเป็นปฐวีธาตุ ส่วนที่เกาะกุมเหนียว เอิบอาบซึมซาบไหล ส่วนนั้นเป็นอาโปธาตุ สิ่งที่ทำให้สุกโดยอาการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาว หนังเหี่ยวย่นแก่หง่อมลงก็ดี ความเย็นร้อนในกายทั่วไปก็ดี เหล่านี้เป็นเตโชธาตุ สิ่งใดทำให้ อิริยาบถใหญ่น้อยเคร่งตึงตั้งมั่นก็ดี ทำให้เคลื่อนไหวไปมาได้ก็ดี เหล่านี้เป็น วาโยธาตุ
----------------------------------------------------------------------------
2) ทีฆนิกาย มหาวรรค อรรถกถา, มก. เล่ม 14 หน้า 304.
MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี