ขั้นตอนการเจริญกรุณา

วันที่ 05 สค. พ.ศ.2558

 

ขั้นตอนการเจริญกรุณา

            การเจริญกรุณาภาวนา ผู้ปฏิบัติต้องทำการแผ่กรุณาแท้ กรุณาเทียมใช้ไม่ได้ การแผ่ต้องแผ่ไปในสัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์ เป็นความทุกข์ที่เกิดจากความพินาศ 5 อย่าง (ความพินาศในทรัพย์ ยศ หมู่ญาติ สุขภาพ คุณความดี) อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในปัจจุบัน หรือที่จะต้องได้รับทุกข์นั้นในกาลข้างหน้าอันเป็นทุกข์ที่เห็นได้ง่าย ส่วนทุกข์ที่เห็นได้ยากคือ วัฏฏทุกข์ (มี ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์) สัตว์ทั้งหลายล้วนต้องเผชิญกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ได้รับความทุกข์ชนิดใด ทุกข์จากความพินาศในทรัพย์ ยศ หมู่ญาติมิตร สุขภาพพลานามัย และ คุณธรรมความดี หรือทุกข์จากวัฏฏะก็ตาม แล้วนำมาเป็นอารมณ์ในการเจริญกัมมัฏฐานชนิดนี้ได้ทั้งสิ้น แม้แต่สัตว์ที่เคยได้รับความทุกข์ในอดีต สัตว์ที่อยู่ในอบายภูมิก็นำมาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานได้

            เมื่อจะทำการแผ่กรุณาให้ทำบุพกิจเบื้องต้นให้เสร็จเสียก่อน นับตั้งแต่ตัดปลิโพธความกังวลทั้ง 10 ประการ ตลอดถึงการนั่งบนอาสนะให้เรียบร้อย เหมือนที่ได้แสดงไว้แล้วในเมตตาภาวนา จากนั้นให้พิจารณาถึงโทษของวิหิงสา คือ ความเบียดเบียนและอานิสงส์ของกรุณาเสียก่อน เมื่อเห็นโทษและอานิสงส์อย่างเด่นชัดแล้ว จึงเริ่มเจริญกรุณาพรหมวิหารเป็นลำดับต่อไป

 

1.พิจารณาโทษของวิหิงสาและอานิสงส์ของกรุณา

            ในการพิจารณาให้เห็นโทษของวิหิงสาให้พิจารณาอย่างนี้ว่า คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้ชอบเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายมีทั้งการทำร้ายทุบตีด้วยมือ ด้วยการใช้อาวุธประหัตประหาร หรือด้วยวิธีการอื่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นอย่างนั้น วิบากกรรมอันเผ็ดร้อนรุนแรงย่อมตามสนองเขาทั้งในโลกนี้และในโลกหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย

            เป็นความจริงที่ว่า ผู้ใดเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยการทำให้สิ้นชีวิตบ้าง ด้วยการตัดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งให้ได้รับความทุกข์ทรมานบ้าง ด้วยการทำให้เสียทรัพย์บ้าง ด้วยการทำให้เสื่อมลาภบ้าง ด้วยการทำให้พลัดพรากจากคน สัตว์ สิ่งของ อันเป็นที่รักบ้าง ด้วยการทำให้เสื่อมจากยศบ้าง ด้วยการทำให้เก้อเขินในที่ประชุมบ้าง แม้ที่สุดด้วยการคอยจ้องจับผิดตามความจริงในความประมาทพลาดพลั้งของผู้อื่น การกระทำทั้งหลายดังที่กล่าวมานี้ ย่อมส่งผลให้ ไม่ได้ลาภที่ยังไม่ได้ ลาภที่ได้มาแล้วก็เสื่อมไป ชื่อเสียงอันเลวทรามอันเกิดจากการเบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น ย่อมแพร่สะพัดไปทั่ว เมื่อเข้าสู่สมาคมจะไม่แกล้วกล้า ไม่สง่าผ่าเผย ครั้นเมื่อถึงคราวตายเขาจะเป็นคนหลงตาย หลังจากตายไปแล้วก็มีทุคติภูมิเป็นที่ไป ภายหลังเมื่อพ้นจากการเสวยวิบากกรรมได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เขาจะได้เกิดในตระกูลคนชั้นต่ำ จะเป็นคนมี ผิวพรรณทรามน่าเกลียดน่าชัง จะเป็นคนมีโรคมาก ตกทุกข์ได้ยากมีข้าวปลาอาหารบกพร่อง เขาจะเป็นคนมีอายุสั้น มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ไม่นาน

            ผู้ปฏิบัติเมื่อได้พิจารณาอย่างนี้ ก็จะเห็นโทษของวิหิงสา คือ การเบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่นอย่างปราศจากความกรุณา ครั้นแล้วก็จงพิจารณาให้เห็นอานิสงส์ของกรุณา คือ ความสงสาร โดยประการที่ตรงกันข้ามกับโทษของวิหิงสาตามที่ได้พรรณนามาแล้ว เมื่อเห็นโทษและคุณชัดเจนแล้วจึงเริ่มลงมือเจริญกรุณากัมมัฏฐานด้วยวิธีการดังจะได้แสดงต่อไปนี้

 

2.บุคคลที่ควรเว้นในการเจริญเป็นอันดับแรก

            เมื่อจะเริ่มเจริญกรุณากัมมัฏฐานนั้น อย่าได้เจริญไปในบุคคล 5 จำพวกนี้ เป็นอันดับแรก คือ คนที่รัก เพื่อนที่รักมาก คนที่รู้สึกเฉยๆ คนที่เกลียดชัง คนคู่เวร เพราะว่าคนเป็นที่รักก็ย่อมตั้งอยู่ในฐานะคนเป็นที่รัก เพื่อนที่รักมากก็ย่อมตั้งอยู่ในฐานะเพื่อนที่รักมาก คนที่รู้สึก เฉยๆ ก็ตั้งอยู่ในฐานะคนที่รู้สึกเฉยๆ คนที่เกลียดชังก็ตั้งอยู่ในฐานะคนที่เกลียดชัง และคนที่เป็น คู่เวรก็ตั้งอยู่ในฐานะคนที่เป็นคู่เวรอยู่อย่างเดิม ไม่อยู่ในวิสัยจะทำให้เกิดความกรุณาเป็นอันดับแรกได้นั่นก็คือ เมื่อเจริญกรุณาไปในคนที่รักนั้น ภาวะแห่งความรักยังไม่ได้พรากออกไปจากใจ เมื่อความรักยังไม่พรากออกไป กรุณาก็ไม่สามารถแทรกเข้ามาในใจได้ แม้บุคคลจำพวกอื่นนอกจากนี้ก็ทำนองเดียวกัน เพราะเหตุนั้น จึงห้ามไม่ให้เจริญกรุณาไปเป็นอันดับแรกในบุคคล 5 จำพวกดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนเพศตรงข้ามกับคนที่ตายแล้ว ไม่ควรนำมาเป็นอารมณ์ในการเจริญกรุณากัมมัฏฐาน ด้วยเหตุผลดังที่แสดงไว้แล้วในเมตตาภาวนา

 

3. คนที่ควรเจริญกรุณาอันดับแรก

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแสดงไว้เป็นแนวทางในการเจริญกรุณาภาวนาไว้ว่า

ภิกษุผู้ประกอบด้วยกรุณาย่อมแผ่กรุณาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่นั้นคือ ทำอย่างไร ภิกษุผู้ประกอบด้วยกรุณา ย่อมแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งปวงทุกๆ จำพวก เหมือนอย่างที่ได้เห็นคนอื่น ซึ่งเข็ญใจได้ทุกข์ ซ้ำประกอบด้วยบาป กรรมทำชั่วคนหนึ่งแล้วพึงเกิดความกรุณาขึ้นฉะนั้น27)

 

            ดังนั้นผู้ปฏิบัติเมื่อเห็นใครก็ตามที่เป็นคนน่าสงสารได้ประสบกับความทุกข์ยากลำบาก เป็นคนเข็ญใจตกทุกข์ได้ยาก ประกอบกรรมทุจริต เป็นคนกำพร้าขาดแคลนอาหารต้องเที่ยวขอทานเลี้ยงชีพนั่งอยู่ในโรงพักคนอนาถามีหมู่หนอนไต่ออกมาจากแผลที่มือและเท้า ส่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญพร่ำพิไรรำพันอยู่อย่างน่าเวทนา เมื่อเห็นอย่างนั้น พึงยังกรุณาจิตให้ เป็นไปใน คนเช่นนั้นเป็นอันดับแรก ด้วยบทภาวนาว่า

กิจฺฉํ วตายํ สตฺโต อาปนฺโน, อปฺเปว นาม อิมมฺหา ทุกฺขา มุจฺเจยฺย สัตว์ผู้นี้ประสบความลำบากแท้หนอ ขอจงพ้นจากทุกข์นี้เสียเถิดหนา

 

อีกบทหนึ่งว่า

อยํ สตฺโต ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ ขอสัตว์ผู้นี้จงพ้นจากทุกข์เสียเถิด

 

สำหรับตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปภาวนาว่า

สพฺเพ สตฺตา ทุกฺขา มุจฺจนฺตุ ขอสัตว์ทั้งหลายจงพ้นจากทุกข์เสียเถิด

 

            ด้วยการภาวนาอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติจงพยายามภาวนา โดยส่งจิตอันประกอบด้วยกรุณาไปพร้อมกับบทภาวนานั้นๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนความกรุณาเกิดขึ้นในใจอย่างเด่นชัด จนสำเร็จถึงขั้นอัปปนาสมาธิในที่สุด ทำนองเดียวกับเมตตาภาวนาที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น

            ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติไม่ได้พบเห็นคนเข็ญใจได้ทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐานเป็นอันดับแรก ก็ให้เจริญกรุณาไปแม้ในบุคคลผู้มีความสุขแต่ยังชอบทำ บาปกรรมอยู่ โดยยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับคนที่กำลังจะถูกประหารชีวิต พิจารณาว่า

 

            เจ้าหน้าที่จับโจรพร้อมของกลางได้แล้ว เมื่อมีคำสั่งให้ประหารชีวิตจึงมัดโจรนั้นแล้ว ลงแส้ครั้งละ 4 เส้น จนถึงร้อยครั้ง แล้วนำไปสู่ที่ประหาร ขณะนั้นคนทั้งหลายเห็นแล้วพากันให้ของเคี้ยวบ้าง อาหารอย่างอื่นบ้าง ให้ดอกไม้ของหอมเครื่องไล้ทาและหมากพลูบุหรี่บ้างแก่โจรนั้น แม้โจรนั้นจะเคี้ยวกินอยู่ บริโภคใช้สอยสิ่งของเหล่านั้นอยู่ ดูคล้ายๆ คนกำลังมีความสุขที่เพียบพร้อม ไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติ แต่ไม่มีใครเลยที่จะรู้สึกว่า โจรนี้มีความสุขมีโภคทรัพย์มาก มีแต่ความกรุณาสงสารเขาแต่อย่างเดียว ด้วยรู้ว่า เจ้าโจรนี้จะต้องตายในไม่ช้าแล้ว เพราะเขาใกล้ ความตายเข้าไปทุกๆ ย่างก้าวที่เขาก้าวไปสู่ที่ประหาร

            แม้ผู้ปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน พึงส่งกรุณาจิตไปยังคนที่มีความสุขแต่เป็นผู้ที่ชอบทำบาปทำกรรม อย่างนี้ว่า คนผู้นี้ถึงแม้ขณะนี้เขาจะมีความสุขเพียบพร้อมไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติก็ตาม แต่เขาจะต้องได้เสวยความทุกข์กายทุกข์ใจอย่างแสนสาหัสในอบายภูมิทั้งหลาย เพราะเหตุที่เขาไม่ได้สร้างบุญกุศลด้วยกาย วาจา ใจ ไว้เลยแม้แต่อย่างเดียว เป็นอันว่า คนที่ควรเจริญภาวนาเป็นอันดับแรกนั้นมี 2 จำพวก คือ คนเข็ญใจได้ทุกข์และคนที่มั่งมีศรีสุขแต่ชอบทำบาปกรรม

 

4. คนที่ควรเจริญกรุณาอันดับต่อไป

            เมื่อผู้ปฏิบัติได้เจริญกรุณาไปในบุคคลจำพวกแรกแล้ว ต่อจากนั้นพึงเจริญภาวนาไปในบุคคลตามลำดับดังนี้คือ คนที่รัก ถัดจากนั้น คนเป็นกลางๆ สุดท้ายคือ คนที่เป็นศัตรูหรือ คู่เวรกัน ในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติพึงยกเอาแต่ส่วนที่เป็นความทุกข์ของคนที่เรารักซึ่งปรากฏให้เห็นในปัจจุบันหรือที่จะเกิดขึ้นแก่เขาในชาติต่อๆ ไป แล้วจึงเจริญกรุณาให้เป็นไปในคนที่เรารัก ต่อจากนั้นจึงเลือกยกเอาส่วนที่เป็นความทุกข์ของคนที่เป็นกลางๆ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือที่จะเกิดขึ้นในชาติต่อๆ ไป แล้วจึงเจริญกรุณาไปในคนที่เป็นกลางๆ ต่อจากนั้นจึงเลือกยกเอา แต่ส่วนที่เป็นความทุกข์ของคนที่เป็นศัตรูที่เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือที่จะเกิดขึ้นในชาติต่อๆ ไป แล้วจึงเจริญกรุณาไปยังคนที่เป็นศัตรู

            คน 2 จำพวก ที่ให้เจริญกรุณาเป็นอันดับแรกนั้นเพราะว่าทำให้กรุณาภาวนาสำเร็จได้โดยง่าย แต่ไม่ใช่ว่าให้ผู้ปฏิบัติพึงพอใจเพียงแค่นั้น ต้องทำกรุณาภาวนาในคน 2 จำพวกนั้น ให้คล่องแคล่วจนจิตอ่อนนุ่มนวลควรแก่การงานก่อน คือ ทำให้ชำนาญด้วยวสีทั้ง 5 เสียก่อน ต่อจากนั้น ให้เจริญกรุณาไปในคนที่รัก จากนั้นในคนที่เป็นกลางๆ และสุดท้ายในคนที่เป็นศัตรู ทั้งนี้ก็เพื่อทำกรุณาให้เป็นสีมสัมเภทต่อไป วิธีการเจริญกรุณาในบุคคลตามลำดับนั้น เป็นไปในทำนองเดียวกับที่แสดงไว้ในเมตตากัมมัฏฐานทุกประการ

 

            ส่วนผู้ปฏิบัติที่ไม่มีคู่เวรหรือไม่ได้ผูกเวรกับใครก็ไม่มีคู่เวรที่ต้องแผ่ไปถึง จึงไม่จำเป็น ต้องทำความขวนขวายว่า ตอนนี้จิตของเรานุ่มนวลควรแก่การงานแล้ว บัดนี้เราจะแผ่กรุณา ไปในคนคู่เวร เฉพาะผู้ที่มีคู่เวรเท่านั้นที่ต้องทำอย่างนั้น ในการเจริญกรุณาไปในคนคู่เวร ถ้ามีความโกรธเกิดขึ้นก็ให้แก้ไขด้วยวิธีเดียวกับที่กล่าวไว้ในเมตตาภาวนา คือ ต้องทำความโกรธให้ระงับเสียก่อนด้วยอุบายวิธีต่างๆ เช่น ต้องหวนกลับไปเจริญกัมมัฏฐานในบุคคลจำพวกต้นๆ เสียใหม่ หรือพิจารณาถึงพระพุทธโอวาทต่างๆ เป็นต้น

 

5. เจริญกรุณาในคนที่ทำความดีและมีสุข

            การเจริญกรุณาที่ผ่านมา เป็นการเจริญไปในคนที่ตกทุกข์ได้ยากในชาติปัจจุบัน และคนที่มีความสุขในปัจจุบันแต่ได้ประกอบเหตุที่ทำให้ต้องประสบทุกข์ในชาติหน้า ต่อไปนี้จะได้แสดงวิธีเจริญกรุณาไปในคนที่มีความสุขได้ทำความดีมาตลอดไม่ได้ทำความชั่วเลย

            สำหรับคนที่เพียบพร้อมไปด้วยความสุขและทำความดีมาตลอดชีวิต เมื่อผู้ปฏิบัติได้เห็นเขาประสบกับความสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น สูญเสียญาติ หรือเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดความสูญเสียโภคทรัพย์เป็นต้น แม้ไม่ได้เห็นด้วยตาแต่ได้ทราบข่าวเช่นนั้นก็ตาม พึง เจริญกรุณาในคนคนนั้นคลุมๆ ไปว่า ท่านผู้นี้นับว่าเป็นคนมีทุกข์อยู่เหมือนกัน เพราะถึงแม้เขาจะไม่สูญเสียอะไรๆ เลยสักอย่างเดียวแต่ก็ยังเป็นคนไม่ข้ามพ้นไปจากทุกข์ในวัฏฏสงสารอยู่นั่นเอง

 

----------------------------------------------------------------------------

27) พระอภิธรรม วิภังค์, มก. เล่ม 78 ข้อ 744 หน้า 443.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021713781356812 Mins