ตัวอย่างบุคคลที่เจริญอสุภกัมมัฏฐาน
ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างบุคคลที่เจริญอสุภกัมมัฏฐาน จนใจหยุดนิ่งบรรลุธรรมหลายท่าน ในที่นี้จึงยกมาเป็นตัวอย่าง ดังต่อไปนี้
1.พระมหากาลบรรลุอรหัตต์เพราะดูศพไหม้ไฟ
มหากาลมีจิตเลื่อมใสในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อออกบวชแล้วได้บำเพ็ญธุดงค์ข้อโสสานิกธุดงค์ ต้องอยู่ในป่าช้า และได้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน ในคราวนั้นมีหญิงสาว คนหนึ่ง ได้ป่วยเสียชีวิตลงในเวลาเย็น ร่างกายยังเต่งตึง สดอยู่ พวกญาติได้หามศพหญิงสาวคนนั้นไปสู่ป่าช้า พร้อมด้วยเครื่องเผาต่างๆ มีฟืนและน้ำมัน เป็นต้น ได้ให้ค่าจ้างแก่หญิงเฝ้าป่าช้า เพื่อให้ทำการเผาศพให้แล้วหลีกไป คนเฝ้าป่าช้าได้เปลื้องผ้าห่มของหญิงสาวคนนั้นออกแล้ว เห็นร่างกายซึ่งตายเพียงครู่เดียวนั้น งดงาม จึงคิดว่า “ ร่างกายนี้ควรจะแสดงแก่พระผู้คุณเจ้า” จึงเข้าไปหา พระเถระแล้วกล่าวว่า “ ท่านเจ้าข้า อารมณ์เห็นปานนี้มีอยู่ ขอพระคุณเจ้าพึงไปพิจารณาเถิด”
พระเถระรับคำแล้วได้ไปพิจารณาซากศพ โดยให้เลิกผ้าห่มออกแล้ว พิจารณาตั้งแต่ฝ่าเท้าถึงปลายผมแล้ว พูดว่า “ รูปนี้ประณีตยิ่งนัก มีสีดุจทองคำ นางพึงใส่รูปนั้นในไฟ ในกาลที่รูปนั้น ถูกเปลวไฟลวกแล้ว จึงบอกแก่อาตมา” ดังนี้แล้วจึงกลับไปยังที่อยู่ของตน นางทำอย่างนั้นแล้ว จึงแจ้งแก่พระเถระ พระเถระไปพิจารณา ในที่ถูกเปลวไฟเผาไหม้แล้ว สีแห่งร่างกายได้เป็นดัง แม่โคด่าง เท้าทั้งสองงอหงิกห้อยลง มือทั้งสองกำเข้า หนังที่หน้าผากได้ลอกออก พระเถระพิจารณาว่า “ สรีระนี้เป็นธรรมชาติทำให้ไม่วายกระสันแก่บุคคลผู้แลดูอยู่ในบัดเดี๋ยวนี้เอง แต่ บัดนี้ (กลับ) ถึงความสิ้น ถึงความเสื่อมไป” แล้วกลับไปที่พักกลางคืน นั่งพิจารณาถึงความสิ้นและความเสื่อมอยู่ กล่าวคาถาว่า
“ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อม ดับไป ความสงบแห่งสังขารนั้นเป็นสุข” เจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย3)
2.พระยสกุลบุตรเจริญอสุภสัญญาไว้ในชาติอดีตทำให้บรรลุธรรมในชาติปัจจุบัน
ยสกุลบุตรเกิดในตระกูลเศรษฐี มีสมบัติมากมาย ได้รับการบำรุงบำเรอด้วยกามคุณอย่างพร้อมพรั่ง ในคืนวันหนึ่งได้ตื่นขึ้นกลางดึก ได้เห็นนางฟ้อนและคนรับใช้ของตนกำลังนอนหลับ ไร้สติ ผ้าผ่อนหลุดลุ่ย ผมยุ่งเหยิง บางคนก็นอนน้ำลายไหล บางคนก็นอนละเมอบ่นเพ้อ เพียงได้เห็นเท่านี้ ก็เกิดความรู้สึกเหมือนตนอยู่ในป่าช้าที่เต็มไปด้วยซากศพ จึงทำให้เกิดความ เบื่อหน่าย และเปล่งอุทานว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ ได้เดินออกจากบ้าน และได้ไปพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ยสกุลบุตรจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็น พระโสดาบัน ต่อมาจึงได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ และออกบวชเป็นพระภิกษุ พ่อแม่ ภรรยาและเพื่อนๆ อีก 55 คนได้อาศัยพระยสะก็ได้บรรลุธรรมตามไปด้วย เหตุที่ยสกุลบุตรได้อสุภสัญญา เกิดขึ้นในนางฟ้อนและคนรับใช้ ก็เพราะเหตุที่ตนสั่งสมอุปนิสัยการเจริญอสุภะมาในอดีตชาติ กล่าวคือ
ในอดีตชาติ ยสกุลบุตร และเพื่อนๆ 55 คน มักชอบทำบุญร่วมกัน ทั้งหมดเห็นว่า การช่วยจัดการศพของคนอนาถาเป็นบุญ จึงช่วยกันจัดการศพคนอนาถา วันหนึ่งพวกเขาพบ หญิงมีครรภ์เสียชีวิต จึงคิดว่า จักเผาศพ และได้นำศพนั้นไปยังป่าช้า พวกเขารออยู่ที่ป่าช้า 5 คน ช่วยกันเผา ส่วนที่เหลือพากันเข้าบ้าน ยสะแทงและพลิกศพนั้นให้ไหม้อยู่ ก็ได้อสุภสัญญา เขาได้แสดงแก่อีก 4 คนด้วยว่า ผู้เจริญจงเห็นของไม่สะอาด น่าเกลียดนี่ อีก 4 คนนั้นก็ได้อสุภสัญญา ในศพนั้น เขาทั้ง 5 พากันไปบ้านแล้วบอกแก่สหายที่เหลือ ยสะไปบ้านแล้วได้บอกแก่มารดาบิดาและภรรยา ชนเหล่านั้นทั้งหมดได้เจริญอสุภสัญญาบ้าง เพราะบุพกรรมในอดีตนี้เองทำให้ ยสะเกิดอสุภสัญญาในนางฟ้อนและคนรับใช้ว่าเป็นดังป่าช้า และด้วยอุปนิสัยสมบัตินั้น ความ บรรลุธรรมพิเศษจึงได้เกิดแก่ทุกคน4)
3.พระเถระได้อสุภสัญญาในร่างกายของหญิงบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
หญิงสะใภ้ในตระกูลหนึ่งทะเลาะกับสามี ได้ตกแต่งร่างกายสวยงาม ออกจากบ้านไปสู่บ้านของญาติ ในระหว่างทางได้พบพระมหาติสสเถระกำลังเดินบิณฑบาต เกิดจิตวิปลาสจึงหัวเราะดังขึ้น พระเถระจึงเหลียวไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น เห็นฟันของหญิงนั้น จึงเกิดอสุภสัญญาในฟันนั้นแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ด้วยว่าปกติพระเถระได้เจริญอัฏฐิกกัมมัฏฐาน ดังนั้นเมื่อเห็นฟันของหญิง อัฏฐิกสัญญาจึงเกิดขึ้นทันที หลังจากนั้นสามีของหญิงนั้นเดินติดตามหญิงนั้นมา พบพระเถระเข้าจึงถามว่า “ ท่านผู้เจริญ ท่านเห็นหญิงคนหนึ่งผ่านมาทางนี้บ้างหรือเปล่า” พระเถระกล่าวตอบว่า “ อาตมาไม่ทราบว่าหญิงหรือชายเดินไปจากที่นี่ แต่ว่าร่างกระดูกนั่นกำลังเดินไปในทางใหญ่”
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของบุคคลผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน จนกระทั่งจิตเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ใจรวมหยุดนิ่งถูกส่วนบรรลุธรรมไปตามลำดับ
-----------------------------------------------------------------------------
3) ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 40 หน้า 97-99.
4) วินัยปิฎก มหาวรรค, มก. เล่ม 6 ข้อ 31 ข้อ 382 หน้า 70-71.
MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี