องค์แห่งปฏิจจสมุปบาท

วันที่ 20 สค. พ.ศ.2558

 

องค์แห่งปฏิจจสมุปบาท

            ปฏิจจสมุปบาท มีองค์ประกอบซึ่งเป็นหลักการสำคัญทั้งหมด 12 ข้อ แต่ละข้อมีประเด็นควรศึกษาให้ทราบไว้เป็นเบื้องต้น ดังนี้

1.อวิชชา หมายถึง ความไม่รู้ ตรงข้ามกับวิชชา ความไม่รู้ในที่นี้คือ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์) ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ (ความดับแห่งทุกข์) ความไม่รู้ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งทุกข์)

2.สังขาร หมายถึง ความคิดปรุงแต่ง ความจงใจที่ประกอบด้วยเจตนาอันแสดงออกทางกาย เรียกว่า กายสังขาร(สภาวะที่ปรุงแต่งกาย) แสดงออกทางวาจา เรียกว่า วจีสังขาร(สภาวะที่ปรุงแต่งวาจา) แสดงออกทางใจ เรียกว่า จิตตสังขาร(สภาวะที่ปรุงแต่งใจ) ความคิดที่ปรุงแต่งเกิดขึ้นนี้อาจจะมีทั้งที่เป็นส่วนดี เป็นบุญ เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร ส่วนที่ไม่ดี เป็นบาป เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร ความคิดที่ปรุงแต่งจิตอันมั่นคงของผู้ที่ได้บรรลุอรูปสมาบัติ เรียกว่า อาเนญชาภิสังขาร ซึ่งความคิดที่ปรุงแต่งกายสังขารและวจีสังขาร เป็นปุญญาภิสังขาร และอปุญญาภิสังขาร แต่ในจิตตสังขารเป็นสังขารได้ทั้ง 3 ประการ

3.วิญญาณ หมายถึง ความรู้แจ้งอารมณ์ต่างๆ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และสัมผัสทางใจ ตามติดให้เกิดการรับรู้ต่างๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

 

วิญญาณมี 6 ประการ คือ

1.จักขุวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา)

2.โสตวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู)

3.ฆานวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางจมูก)

4.ชิวหาวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น)

5.กายวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย)

6.มโนวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ)

            ในวงจรปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพข้ามชาติ มีปรากฏในคัมภีร์อภิธรรมและคัมภีร์อรรถกถารุ่นหลัง เช่น วิสุทธิมรรค แบ่งวิญญาณออกเป็น 2 ชนิด คือ วิถีวิญญาณ ได้แก่ วิญญาณ 6 ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปวัตติวิญญาณ และวิญญาณอีกชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เชื่อมต่อ ภพ เรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ10)

 

4.นามรูป คือ นามธรรม 5 อย่าง ได้แก่

  • เวทนา (ความเสวยอารมณ์)
  • สัญญา (ความจำได้หมายรู้)
  • เจตนา (ความจงใจ)
  • ผัสสะ (ความกระทบหรือสัมผัส)
  • มนสิการ (ความกระทำไว้ในใจ) หรือนามขันธ์ 3 คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ (เจตนา ผัสสะ มนสิการ จัดเป็น สังขารขันธ์)

 

รูป ได้แก่ มหาภูตรูป 4 และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป (อุปาทายรูป) 24

มหาภูตรูป 4 คือ ธาตุ 4 ได้แก่

ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน มีลักษณะแข้นแข็ง

อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ มีลักษณะเหลว

เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ มีลักษณะร้อน

วาโยธาตุ คือ ธาตุลม มีลักษณะพัดไปมา

 

5.สฬายตนะ คือ แดนติดต่อ 6 แดน ดังนี้

1.จักขวายตนะ (อายตนะคือตา)

2.โสตายตนะ (อายตนะคือหู)

3.ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก)

4.ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น)

5.กายายตนะ (อายตนะคือกาย)

6.มนายตนะ (อายตนะคือใจ)

ที่ต่อ 6 อย่างนี้ เรียกว่า อายตนะภายใน เพื่อต่อกับอายตนะภายนอก 6 คือ ตาต่อกับรูป หูต่อกับเสียง จมูกต่อกับกลิ่น ลิ้นต่อกับรส กายต่อกับสัมผัส ใจต่อกับธรรมารมณ์

 

6.ผัสสะ คือ ความถูกต้องหรือกระทบ หมายถึง อาการที่จิตหรือวิญญาณถูกต้องหรือกระทบกับอารมณ์คือสิ่งเร้าแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเฉยๆ

ผัสสะมี 6 อย่าง คือ

1.จักขุสัมผัส (ความกระทบทางตา)

2.โสตสัมผัส (ความกระทบทางหู)

3.ฆานสัมผัส (ความกระทบทางจมูก)

4.ชิวหาสัมผัส (ความกระทบทางลิ้น)

5.กายสัมผัส (ความกระทบทางกาย)

6.มโนสัมผัส (ความกระทบทางใจ)

ความสัมผัส 3 อย่างนี้ จะต้องมีธรรม 3 อย่างมาประจวบกัน เช่น จักขุสัมผัสจะต้อง มีจักขุปสาท รูป และจักขุวิญญาณ มาประจวบกัน ถ้าเป็นแต่เพียงจักขุปสาทกระทบกับรูปเฉยๆ ยังไม่เกิดจักขุวิญญาณ ก็ยังไม่เป็นผัสสะ ผัสสะอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน

 

7.เวทนา หมายถึง ความเสวยอารมณ์ คือ ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือรู้สึกเฉยๆ การเสวยอารมณ์นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากผัสสะ เมื่อองค์ทั้ง 3 มาประจวบกัน จึงเกิดผัสสะ ต่อ จากผัสสะก็เกิดเวทนา คือ การเสวยอารมณ์ที่ต่อจากสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

เวทนาดังกล่าวนั้นมี 6 ประการตามแดนที่เกิด คือ

1.จักขุสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางตา)

2.โสตสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางหู)

3.ฆานสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางจมูก)

4.ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางลิ้น)

5.กายสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางกาย)

6.มโนสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางใจ)

 

ว่าโดยลักษณะเวทนามี 5 คือ

1.ความรู้สึกเป็นสุขทางกาย (สุขเวทนา)

2.ความรู้สึกเป็นสุขทางใจ (โสมนัสเวทนา)

3.ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย (ทุกขเวทนา)

4.ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางใจ (โทมนัสเวทนา)

5.ความรู้สึกเฉยๆ คือ รู้สึกเป็นกลางๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ (อุเบกขาเวทนา)

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เวทนามี 2 อย่าง คือ เวทนาทางกายและเวทนาทางใจ

 

8.ตัณหา คือ ความทะยานอยาก เมื่อแบ่งตามแดนที่เกิดแล้ว มี 6 ประการ คือ

1.รูปตัณหา (ความทะยานอยากได้ในรูป)

2.สัททตัณหา (ความทะยานอยากได้ในเสียง)

3.คันธตัณหา (ความทะยานอยากได้ในกลิ่น)

4.รสตัณหา (ความทะยานอยากได้ในรส)

5.โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากได้ในโผฏฐัพพะ)

6.ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากได้ในธรรมารมณ์)

เมื่อว่าโดยอาการที่เกิด แบ่งเป็น 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

 

9.อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาที่ชอบหรือชัง จนเกิดความหลงติด มี 4 ประการ คือ

1.กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม

2.ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในทิฏฐิ เช่น ยึดมั่นในความเห็นว่าบุญไม่มี บาปไม่มี

3.สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลพรต ในข้อวัตรปฏิบัติของตน

4.อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา คือ ถือว่าขันธ์ 5 มีอัตตา เป็น ตัวตน เที่ยงแท้ เป็นต้น

 

10.ภพ แปลว่า ความมีความเป็น ในที่นี้หมายถึง ภาวะแห่งชีวิต คือ ความมีขันธ์หรือมีนามรูป เพราะชีวิตต้องตกอยู่ในภพทั้ง 3 อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ คือ

1.กามภพ ภพที่เป็นกามาวจร

2.รูปภพ ภพที่เป็นรูปาวจร

3.อรูปภพ ภพที่เป็นอรูปาวจร

นอกจากนี้ในอภิธรรม ยังกล่าวถึงอุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดกรรมภพ และอุปปัตติภพ11)

กรรมภพ แปลว่า ภพคือกรรม ได้แก่ เจตนาและธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนา มีอภิชฌา (ความละโมบ) เป็นต้น อันได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร หรือจะกล่าวให้ง่ายก็คือ กรรมภพนั้น ได้แก่ กุศลกรรม และอกุศลกรรม อันจะนำไปสู่กามภพ รูปภพ อรูปภพ

อุปปัตติภพ แปลว่า ภพคือภาวะที่เกิดขึ้น ปรากฏขึ้น ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ซึ่งก็หมายถึง ภพทั้ง 3 นั้นเอง

 

11.ชาติ คือ ความเกิด ว่าโดยสมมติได้แก่ความเกิดของสัตว์ โดยปรมัตถ์ ได้แก่ ความปรากฏแห่งขันธ์ หรือความเกิดขึ้นครั้งแรกของขันธ์ สรุปแล้วชาติในที่นี้มีความหมายได้ 2 นัย คือ หมายถึงการเกิดของขันธ์ 5 ในแต่ละขณะจิต คือการเกิดปรากฏของอุปปัตติภพใหม่ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งถือว่าเป็นวิบาก หลังจากกรรมภพ คือ การทำความดีความชั่วสิ้นสุดลง การเกิดแบบนี้ปรากฏขึ้นในทุกขณะจิต ภาษาอภิธรรม เรียกว่า อุปปาทะ และหมายถึงการเกิดของขันธ์ 5 ในแต่ละภพแต่ละชาติ ได้แก่ การเกิดปรากฏเป็นตัวตนมีรูปร่างในภพภูมิต่างๆ เช่น เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ทั้งนี้แล้วแต่ผลของกรรม มีอายุยืนบ้าง สั้นบ้าง การเกิดแบบนี้ ภาษาอภิธรรม เรียกว่า ปฏิสนธิ

 

12.ชราและมรณะ ชรา คือ ความแก่ ความเฒ่า ความคร่ำคร่าของสัตว์ มีอาการที่ปรากฏ เช่น ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น หย่อนยาน อายุและกำลังวังชาลดน้อยถอยลง12) แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ ความเสื่อมโทรมของขันธ์ 5 ในแต่ละขณะจิต และความเสื่อมโทรมของขันธ์ 5 ในแต่ละภพแต่ละชาติ

ความเสื่อมโทรมของขันธ์ 5 ในแต่ละขณะจิต หมายถึง ความตั้งอยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งของอุปปัตติภพใหม่หลังจากการเกิดปรากฏ แล้วก่อนที่จะดับ กล่าวคือ ในแต่ละขณะจิต ขันธ์ 5 เมื่อปรากฏแล้วก็จะคงอยู่ได้ชั่วแวบหนึ่งแล้วก็จะดับลง ขณะที่คงอยู่ ภาษาอภิธรรมเรียกว่า ฐิติ แต่ก็ใช่ว่าจะคงที่อยู่อย่างนั้น มีความเสื่อมโทรมอันเป็นตัวแปรนำไปสู่ความแตกดับกำกับแทรกซ้อนอยู่ด้วย

ความเสื่อมโทรมของขันธ์ 5 ในแต่ละภพแต่ละชาติ หมายถึง ความแก่ของรูปที่ปรากฏออกมาในลักษณะ อวัยวะหย่อนยาน หนังเหี่ยวย่น หูตาฝ้าฟาง ความแก่ของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ปรากฏออกมาในลักษณะ การรับรู้ต่างๆ ไม่ชัดเจน ความจำเสื่อม ความคิดไม่แจ่มชัด

มรณะ คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย13)

ความแตกทำลายของขันธ์ 5 ซึ่งมี 2 อย่าง คือ ความแตกดับของขันธ์ 5 ในแต่ละขณะจิต และความแตกดับของขันธ์ 5 ในแต่ละภพแต่ละชาติ

ความแตกดับในแต่ละขณะจิต หมายถึง ความแตกดับของอุปปัตติภพใหม่หลังจากเกิดขึ้น และตั้งอยู่แล้วชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งภาษาอภิธรรม เรียกว่า ภังคะ

ความแตกดับของขันธ์ 5 ในแต่ละภพแต่ละชาติ หมายถึง ความตาย กล่าวคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แตกสลาย ไม่สามารถประชุมกันเป็นชีวิตเดิมได้อีก ภาษาอภิธรรม เรียกว่า จุติ14)

------------------------------------------------------------

10) อภิธรรมปิฎก วิภังค์, มก. เล่มที่ 77 ข้อ 487.
11) อภิธรรมปิฎก วิภังค์, มก. เล่มที่ 77 ข้อ 265 หน้า 435.
12) , 13) อภิธรรมปิฎก วิภังค์, มก. เล่มที่ 77 ข้อ 267 หน้า 436.
14) บรรจบ บรรณรุจิ, กระบวนธรรมเพื่อความเข้าใจชีวิต ปฏิจจสมุปบาท, กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2535, หน้า 82.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011313835779826 Mins