วังวนแห่งชีวิต
“ อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
คหการกํ คเวสนฺโต ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ
คหการก ทิฏฺโฐสิ ปุน เคหํ น กาหสิ
สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ
วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา.1)
เราแสวงหาช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ (การเกิด)
ไม่ใช่เพียงชาติเดียว ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน
เราพบท่านแล้ว ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้ ซี่โครงทุกซี่ของท่านเราหักเสียแล้ว
ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเราถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว
เพราะเราบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว”
พุทธวจนะบทนี้ เป็นคำตรัสรับรองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ธรรมชาติของสรรพสัตว์เมื่อเกิดแล้วก็ต้องตาย หนีไม่พ้น ซึ่งก็วนเวียนสู่การเกิดการตายกันมาแล้วอย่างมากมาย ไม่ใช่เกิดตายเพียงครั้งเดียวแต่นับไม่ถ้วน เพราะแม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ผู้ทรงฤทธิ์เดช เหาะเหิน เดินอากาศ สามารถขจัดกิเลสอาสวะได้ ก็ยังต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่นาน กว่าจะพ้นจากชีวิตในสังสารวัฏ แม้ภพชาติสุดท้ายของท่านเหล่านี้ก็ยังจะต้องเผชิญกับกฎแห่งกรรม อีกทั้งยังทำให้ทราบถึงความมีอยู่ของสังสารคือการเวียนเกิดเวียนตายและผู้ที่สามารถคอยควบคุมบังคับบัญชาให้สรรพสัตว์เวียนว่ายอยู่ในวังวนแห่งชีวิตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ต่างอะไรกับคุกที่ใช้สำหรับคุมขังนักโทษผู้กระทำผิดกฎที่กำหนดไว้ เมื่อทำแล้วก็มีผลคือต้องไปรับผลของการกระทำในภพภูมิต่างๆ โดยกรรมของตนที่กระทำไว้จะนำเจ้าของกรรมนั้นไปเกิด ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงและไม่อาจเลือกได้ วงจรนี้เรียกว่า สังสารวัฏ บางทีก็เรียกว่า วัฏสงสาร หรือวังวนแห่งชีวิต คือ วงจรชีวิตหลังความตายของสรรพสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดไปสู่ปรโลก ซึ่งวงจรนี้เองที่เราจะต้องทราบความเป็นมาของมันอย่างถ่องแท้ตามแบบอย่างที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติ สังสารวัฏเป็นวงจรเฉพาะของผู้ที่ยังมีกิเลส มีความพอใจยินดีอยากได้อยากมี มีความยึดติดกับรูปลักษณ์สัมผัสกับสิ่งของที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระของชีวิต ไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรคือถูกผิด(ผิดคือไม่รู้ว่าผิดแต่ทำเพราะพลาดพลั้ง) ดีชั่ว(ชั่วคือรู้ว่าไม่ดีแต่ก็จะทำ) ควรไม่ควร มีวินิจฉัยเสียเพราะถูกกิเลส 3 ตระกูลครอบงำ ก่อให้เกิดความตรึกครุ่นคิดอยู่ในเรื่องกามราคะ ความพยาบาทปองร้าย เบียดเบียน เป็นเหตุให้จิตฝ่ายอกุศล บังคับบัญชาให้สรรพสัตว์สร้างกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ2) โดยมีตัณหาคือความทะยานอยากควบคุมให้สร้างกรรมเพิ่มก่อให้เกิดภพชาตินี้ชาติหน้าเวียนเกิดเวียนตายต่อไปไม่รู้จบ3) ทำให้เสพคุ้นยึดถือยึดติดเป็นอาสวะหรือตะกอนที่นอนเนื่องอยู่ในกมลสันดาน เปรียบเหมือนการสร้างเรือนต่อเติมตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อยจนเรือนนั้นเต็มไปด้วยโครงสร้างที่ซับซ้อนมากมาย ฉันใด ผู้ที่ประกอบกรรมดีชั่วไว้มากเท่าไร ผลกรรมก็มากตามไปด้วย ฉันนั้น
กรรมของแต่ละบุคคลที่สั่งสมกันมาถ้าจะนับเป็นจำนวนก็มากมายมหาศาล เพราะเวียนเกิดเวียนตายกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน หากนับตั้งแต่เกิดจนตาย สมมติว่าเราทำกรรมทั้งดีและชั่วไว้พันครั้ง วิบากกรรมก็มีพันครั้ง เมื่อกรรมให้ผลครั้งหนึ่งสามารถเผล็ดผลเพิ่มขึ้นได้มากมาย4) ยกตัวอย่างเช่น เราปลูกลำไยหนึ่งต้น เมื่อถึงเวลาออกดอกออกผล ลำไยต้นหนึ่งสมมติว่าให้ผลได้ปีละหนึ่งพันเมล็ด ถ้าอายุของ ต้นลำไยนี้สิบปี ฉะนั้นลำไยต้นนี้จะให้ผลถึงหมื่นเมล็ด นั่นแสดงให้ทราบว่า เราจะต้องรับผลกรรมที่เข้าแถว รออีกจำนวนมาก ยังต้องเวียนเกิดเวียนตายไปในภพ 3 อีกยาวนานมากเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า การจะหลบหนีออกจากวังวนแห่งชีวิตขณะเสวยวิบากกรรมนั้นไม่อาจเป็นไปได้ เพราะยังมีอำนาจกรรมของตนเป็นตัวควบคุม อีกทั้งไม่สามารถให้ใครรับผลกรรมแทนได้ กรรมและผลกรรมเป็นของเฉพาะตน เป็นสิ่งเที่ยงแท้แน่นอนที่ผู้ใดกระทำผู้นั้นคือผู้รับ
หากจะหนีออกจากวังวนแห่งชีวิตนี้ จะต้องทำในภพชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ และจะต้องได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วนำมาปฏิบัติอย่างตั้งใจ จนบรรลุมรรคผลนิพพาน เหมือนดังพระองคุลิมาลที่สามารถบรรลุธรรมสิ้นอาสวกิเลสเป็นพระอรหันตสาวกแล้ว จึงไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป เพราะถ้าท่านไม่หมดกิเลส ท่านจะต้องรับผลกรรมปาณาติบาตจากการที่เคยฆ่าคนมามาก ซึ่งจะทำให้ท่านต้องเวียนเกิดเวียนตายอีกยาวนาน และในระหว่างที่เกิดนั้นก็ยังสามารถสร้างกรรมเพิ่มขึ้นได้อีกมากมาย จึงเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่การแตกแยกย่อยอะตอมของระเบิดปรมาณู (ATOMIC BOMB)
ความเชื่อเรื่องภพชาตินี้ภพชาติหน้า ชีวิตหลังความตาย ตายแล้วไม่ขาดสูญ ตายแล้วยังต้องเวียนตายเวียนเกิดใหม่ เหล่านี้เป็นหลักความเชื่อที่มีความสำคัญและสัมพันธ์ต่อการดำรงชีวิตในภพชาตินี้ ภพชาติหน้าและภพชาติถัดไป ทั้งยังเป็นเหตุปัจจัยกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของผู้นั้นว่าจะมีความสุขสบายหรือทุกข์ยาก เพราะเป็นความเชื่อที่ส่งผลต่อการกระทำ สิ่งที่กระทำส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของชีวิตให้พลิกผันไปในทิศทางที่ผู้นั้นได้กำหนดเอง เพราะว่าสัตวโลกมีความเป็นอยู่และเป็นไปตามกรรม5) ทำอย่างไรได้คืนอย่างนั้น ทำดีก็ได้รับผลดีมีสุขสบาย ทำชั่วก็ได้รับผลชั่วเป็นทุกข์ยากแค้นแสนลำบาก6) เหมือนปลูกต้นถั่วได้ผลเป็นถั่ว ปลูกงาก็ได้ผลเป็นงา ไม่ใช่ปลูกต้นถั่วแต่ได้ผลเป็นงา
ความเป็นมาของคำว่า สังสารวัฏ หรือวัฏสงสาร เป็นการประกอบคำเพื่อให้เกิดความหมายที่เด่นชัดเข้าใจง่ายสำหรับคนรุ่นหลัง แต่เดิมจะใช้ คำว่า สังสาร หรือวัฏฏะ เฉพาะคำใดคำหนึ่ง ภายหลังจึงใช้คำทั้งสองควบกัน แต่ยังคงความหมายเดิม แปลว่า การท่องเที่ยวไป การเดินทาง การหมุนเวียนหมายถึง การท่องเที่ยวไป การเดินทางไกล การเวียนเกิดเวียนตายจากภพนี้ไปสู่ภพหน้าและภพต่อๆ ไป เวียนว่ายตายเกิดไปจนกว่าจะดับกิเลสหมดสิ้น ตัวอย่างเช่น ชาตินี้เกิดเป็นมนุษย์ เมื่อละโลกไปเกิดในสุคติภูมิ แต่เมื่อหมดอายุของชาวสวรรค์ ก็ต้องจุติบังเกิดใหม่ทันที อาจจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือไม่ก็อาจจะพลัดไปเกิดในทุคติภูมิ อย่างนี้เรียกว่า เวียนว่ายตายเกิด เวียนเกิดเวียนตายไปเรื่อยๆ ซ้ำไปซ้ำมาไม่ขาดสาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าปรารถนา เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า สัตว์เวียนว่ายไปยังสังสาร ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์ และทุกข์เป็นภัยใหญ่คุกคามเขา7) ปัจจุบันภาษาไทยเอาคำว่า สังสาร มาใช้เป็นคำว่า สงสาร ซึ่งให้ความหมายที่ผิดแผกแตกต่างไปจากความหมายเดิมมาก เป็นคำที่ใช้แสดงความเห็นอก เห็นใจต่อผู้อื่นที่ประสบทุกข์ เช่น ได้โปรดเถอะ สงสารกันหน่อยได้ไหม จึงควรทำความเข้าใจคำว่าสังสารให้ดีจะได้ไม่เห็นผิดพลาดคลาดเคลื่อนซึ่งอาจจะมีผลต่อการกระทำผิดได้ เหมือนองศาที่จุดเริ่มต้นเบี่ยงเบนผิดไปเพียงเสี้ยวแต่เมื่อห่างไกลมากเข้าค่าองศาจะเบี่ยงเบนมากขึ้นไปเรื่อยๆ
เมื่ออ่านตำราทางพระพุทธศาสนามักจะพบคำว่า สัตว์8) เสมอๆ คำนี้ แปลว่า ผู้ติดข้องพอใจยินดีอยู่ในขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่มีกายและวิญญาณ ได้แก่ มนุษย์ เทวดา พรหม มาร เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน และสัตว์นรก ทั้งหมดนี้เรียกรวมว่า หมู่สัตวโลก ฉะนั้นเมื่อนักศึกษาพบคำนี้ก็ให้ทราบว่าเป็นคำกลางๆ ไม่เจาะจงแต่เพียงสัตว์เดรัจฉาน
การสืบค้นหาจุดกำเนิดเริ่มต้นของสังสารจนถึงวันสิ้นสุดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะกำหนดหากันได้ง่ายๆ เพราะตราบใดที่สรรพสัตว์ยังมีอวิชชาคือไม่รู้บดบังปิดกั้นความรู้จริงเอาไว้ ตราบนั้นกิเลสตัณหาคือความเศร้าหมองเพราะความทะยานอยากก็จะไม่สิ้นสุด การเวียนเกิดเวียนตายของแต่ละชีวิตก็ยังคงดำเนินต่อไป ปัจจุบันศาสตร์สมัยใหม่ต้องการค้นพบสิ่งอื่นนอกเหนือจากโลกของเราด้วยการเดินทาง แนวความคิดนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยพุทธกาล กล่าวคือ โรหิตัสสเทพบุตร อดีตเคยเป็นฤาษีมีฤทธิ์ พยายามค้นหาที่สุดของโลกตลอดชีวิตถึงร้อยปี ไม่หยุดพักดื่มกินขับถ่าย ฤาษีท่านนี้สามารถย่างเท้าก้าวหนึ่งจากขอบมหาสมุทรทิศตะวันออกไปจรดขอบมหาสมุทรทิศตะวันตกแต่ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จเพราะจบสิ้นชีวิตเสียก่อน เทพบุตรท่านนี้จึงทูลถามเรื่องจะทำอย่างไรจึงไม่เกิด แก่ เจ็บ ตาย การจุติ การอุบัติ และสามารถบรรลุที่สุดโลกด้วยการเดินทางได้หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสตอบเทพบุตรนั้นว่า9)
“ ดูก่อนผู้มีอายุ ณ โอกาสใดบุคคลไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย
ไม่จุติ ไม่อุบัติ เราไม่เรียกโอกาสนั้นว่าที่สุดของโลก ที่ควรรู้
ควรเห็น ควรบรรลุ ด้วยการเดินทาง หากเรายังไม่บรรลุถึง
ที่สุดของโลกแล้ว จะไม่กล่าวถึงการกระทำที่สุดทุกข์
แต่เราบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางให้ถึง
ความดับโลก ในเรือนร่าง มีประมาณวาหนึ่งนี้ และพร้อมทั้ง
สัญญา พร้อมทั้งใจครอง
แต่ไหนแต่ไรมา ยังไม่มีใครบรรลุถึงที่สุดโลกด้วย
การเดินทางและเพราะที่ยังบรรลุถึงที่สุดโลกไม่ได้ จึงไม่พ้นไป
จากทุกข์ เหตุนั้นแลคนมีปัญญาดี รู้แจ้งโลกถึงที่สุดโลกได้
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว รู้ที่สุดโลกแล้วเป็นผู้สงบแล้ว จึงไม่
หวังโลกนี้และโลกอื่น ”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอุปมาเปรียบเทียบความยาวนานของการเวียนเกิดเวียนตายกับเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่เราประสบไว้ใน อนมตัคคสังยุต10) ดังนี้
1. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนบุรุษตัดหญ้า ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีป11)นี้ มารวมกันแล้วทำให้เป็นมัดๆ ละ 4 นิ้ว โดยสมมติว่า มัดนี้เป็นมารดาของเรา มัดนี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับนับจนหมด แต่ก็ไม่สามารถนับมารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นได้หมดสิ้น
2. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนบุรุษคนหนึ่งปั้นดินทั้งแผ่นดินเป็นก้อนเล็กๆ เท่าเม็ดกระเบาจนหมด แล้วนับดินก้อนที่หนึ่งแทนบิดา นับดินก้อนต่อๆ มาแทนบิดาของบิดา ไปเรื่อยๆ จนดินหมดก็ยังไม่สามารถนับบิดาของบิดาแห่งบุรุษนั้นได้หมดสิ้น
3. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนน้ำตาที่หลั่งออกเพราะร้องไห้เสียใจกับการสูญเสียมารดา บิดา พี่น้อง ญาติมิตร บุตรธิดา ความเสื่อมโภคสมบัติ เจ็บปวดเพราะโรคภัย นั้นมีจำนวนมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4
4. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนน้ำนมของมารดาที่ดื่มมาแล้ว ยังมีมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4
5. ทรงอุปมาว่า ภูเขาหินแท่งทึบที่มีความกว้าง ยาว สูง อย่างละ 1 โยชน์ ทุกๆ 100 ปี มีบุรุษนำผ้าบางเบามาลูบจนภูเขาสึกราบเรียบ ความพยายามนี้ยังเร็วกว่าซึ่งความยาวของกัปหนึ่ง
6. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนเมืองที่ล้อมด้วยกำแพงเหล็กมีขนาด กว้าง ยาว สูง อย่างละ 1 โยชน์ บรรจุเต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด ทุกๆ 100 ปี บุรุษพึงหยิบเมล็ดพันธุ์ผักกาดออกจากเมือง 1 เมล็ดจนหมด เพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่าความยาวนานของกัปหนึ่ง
7. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนพระสาวก 4 รูป แต่ละรูปมีอายุยืนครบ 100 ปี สามารถระลึกชาติได้วันละแสนกัป แม้ระลึกชาติทุกวันจนครบอายุ 100 ปี ก็ยังระลึกชาติได้ไม่หมดสิ้น
8. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนเม็ดทรายที่มีในแม่น้ำคงคาตั้งแต่ต้นสายจนสุดที่ปากอ่าวลงมหาสมุทร แต่กัปที่ผ่านมาแล้วนั้นมีจำนวนมากกว่าเม็ดทรายที่มีอยู่ในแม่น้ำคงคา
9. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนบุคคลโยนท่อนไม้ขึ้นบนอากาศ บางครั้งโคนตกลงถึงพื้นก่อน บางครั้งปลายตกลงถึงพื้นก่อน และบางครั้งตกลงทางขวาง ฉันใด ชีวิตของสัตว์ที่เวียนตายเวียนเกิดก็ไม่แน่นอน ฉันนั้น บางชาติเกิดเป็นมนุษย์ บางชาติเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
10. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนบุคคลเวียนตายเวียนเกิดตลอด 1 กัป12) เมื่อนำโครงกระดูกมากองรวมกัน กองกระดูกนั้นใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้ ก็ไม่พึงหมดไป
11. ทรงอุปมาว่า เปรียบเหมือนโลหิตของบุคคลที่ไหลออกจากการถูกตัดศีรษะขณะที่เกิดเป็นมนุษย์บ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง ยังมีจำนวนมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4
12. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนการหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นมารดา มิใช่หาได้ง่าย เคยเกิดเป็นกันมาแล้วทุกอย่าง ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็นมารดา
13. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนการหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นบิดา กล่าวคือ เคยเกิดเป็นกันมาแล้วทุกอย่าง ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็นบิดา
14. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนการหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นพี่ชายน้องชาย มิใช่หาได้ง่าย เคยเกิดเป็นกันมาแล้วทุกอย่าง ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็นพี่ชายน้องชาย
15. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนการหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นพี่สาวน้องสาว มิใช่หาได้ง่าย เคยเกิดเป็นกันมาแล้วทุกอย่าง ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็นพี่สาวน้องสาว
16. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนการหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นลูกชาย มิใช่หาได้ง่าย เคยเกิดเป็นกันมาแล้วทุกอย่าง ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็นลูกชาย
17. ทรงอุปมาว่า เปรียบเสมือนการหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นลูกสาว มิใช่หาได้ง่าย เคยเกิดเป็นกันมาแล้วทุกอย่าง ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะหาสัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็นลูกสาว
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสอุปมายกตัวอย่างมากมาย จากการศึกษาพบว่า กระบวนการหรือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดสังสารวัฏนั้น คือ
กิเลส แปลว่า ความเศร้าหมอง หมายถึง ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์ เมื่อถูกกิเลสครอบงำทำให้สัตว์นั้นไม่เป็นตัวของตัวเองตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกิเลสควบคุมบังคับสัตว์ให้ไปสร้างไปทำสิ่งต่างๆ ได้แก่ กิเลสกาม หมายถึง ความชั่วที่แฝงอยู่ในใจผลักดันให้ทำสิ่งที่ผิดเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ปรารถนา และวัตถุกาม หมายถึง วัตถุอันน่าใคร่น่าปรารถนามี 5 อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
กรรม แปลว่า การกระทำ หมายถึง การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทั้งดีและชั่ว
วิบาก แปลว่า ผลที่เกิดขึ้น หมายถึง ผลแห่งกรรม
บางทีก็ใช้ว่า ไตรวัฏฏ์ หมายถึง การเวียนเกิดเวียนตายเพราะเหตุปัจจัย 3 ประการ ซึ่งพระองคุลิมาลได้ยืนยันเรื่องไตรวัฏฏ์นี้อย่างชัดเจนว่า
“ เมื่อครั้งที่เราเป็นโจร ถูกกิเลสครอบงำ จึงทำกรรมชั่วไว้มาก ซึ่งจะต้องไปรับผลกรรมนั้นในทุคติภูมิยาวนาน แต่เพราะได้รับการแนะนำสั่งสอนจากพระพุทธองค์ จึงทำให้สิ้นกิเลสหลุดพ้นจากสังสารวัฏนี้ ไม่หวนกลับมาสู่การเกิดและการตายอีกต่อไป”13)
จากตรงจุดนี้แสดงให้ทราบว่า กิเลสคือต้นเหตุที่ควบคุมให้เกิดการกระทำทางกาย วาจา และใจ เมื่อประกอบกรรมแล้วมีผลกรรมทันทีไม่ว่าจะมากหรือเล็กน้อย เหมือนไม้ขีดเพียงก้านเดียวแต่สามารถเผาผลาญทั้งเมืองได้
แผนผังไตรวัฏฏ์
⇒ กิเลส ⇒
⇑ ⇓
วิบาก กรรม
⇑ ⇐ ⇓
รูปแบบการถือกำเนิดกายหยาบของสรรพสัตว์ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้มีอยู่ด้วยกัน 4 แบบ โดยกรรมจำแนกให้ถือกำเนิดแบบต่ำต้อยด้อยคุณภาพ หรือให้ถือกำเนิดแบบละเอียดอ่อนมีคุณภาพ14) ได้แก่
1. แบบชลาพุชะ คือ ถือกำเนิดในครรภ์
2. แบบอัณฑชะ คือ ถือกำเนิดในฟองไข่
3. แบบสังเสทชะ คือ ถือกำเนิดในเหงื่อไคล ของเน่าเสีย ของโสโครก
4. แบบโอปปาติกะ คือ ถือกำเนิดแล้วเติบโตทันที
เมื่อเหล่าสัตว์ถือกำเนิดตามรูปแบบโดยจำแนกไปตามกรรมของตนแล้ว ระหว่างการดำรงชีวิตยังประกอบกรรมมากมายทั้งดีและชั่วสลับกัน เมื่อละโลกแล้วจะแยกขอบเขตภพภูมิที่รองรับการเวียนเกิดเวียนตายของสรรพสัตว์ในสังสารวัฏออกเป็น 2 คติ คือ
1. สุคติภูมิ คือ สถานที่รองรับผู้ที่กระทำความดี มีความเป็นอยู่สุขสบายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ผู้ที่จะมาบังเกิดในภพภูมินี้จะต้องเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล15) คือ มีความเห็นถูกในเรื่องกฎแห่งกรรม มีจิตใจสูงส่งเป็นกุศลธรรม จึงชักนำให้ประกอบกุศลกรรม 3 ทาง ได้แก่ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อละโลก ด้วยอานิสงส์ผลบุญที่ประกอบไว้ขณะมีชีวิต จะไปบังเกิดอยู่ในสุคติภูมิ ได้แก่ มนุษยภูมิ เทวภูมิ แต่ก็ยังเป็นภพภูมิของสัตว์ที่ยังไม่สิ้นกิเลสยังต้องเวียนเกิดเวียนตาย ซึ่งอาจจะพลาดพลั้งเผลอสติทำอกุศลกรรมได้ แต่ถ้าว่าสามารถทำลายกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นได้ก็จะเข้าสู่พระนิพพาน ไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในภพ 3 คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ อีกต่อไป กิเลสไม่สามารถครอบงำ กรรมที่รอส่งผลจำนวนมากก็จะไม่สามารถให้ผลได้อีกต่อไป เพราะกิเลสจะครอบงำได้เฉพาะสัตว์ที่บังเกิดในภพ 3
พระพุทธองค์ตรัสว่า แม้จะได้บังเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา แล้วก็ตาม แต่การจะได้กลับมาเกิดในสุคติภูมิเช่นนี้อีกยากมาก และก็มีน้อยมาก ทรงอุปมาดังต่อไปนี้ คือ
ทรงอุปมา สัตว์ที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เปรียบเหมือนฝุ่นในเล็บมือมีปริมาณน้อยกว่าฝุ่นทั้งแผ่นดิน ฉันใด สัตว์ที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมมีน้อยเหมือนฝุ่นในเล็บมือ ส่วนสัตว์ที่จะไปเกิดในอบายมีมากเหมือนฝุ่นทั้งแผ่นดิน ฉันนั้น16)
ทรงอุปมา มนุษย์และเทวดาจะจุติกลับมาเกิดเป็นมนุษย์และเทวดาอีกนั้นมีน้อย เหมือนฝุ่นในเล็บมือ แต่มนุษย์และเทวดาที่จุติแล้วไปบังเกิดในอบายภูมิมีมากกว่า เหมือนฝุ่นทั้งแผ่นดิน17)
แผนผังไตรวัฏฏ์ของผู้มีความเห็นถูก
⇒ กุศลธรรม ⇒
⇑ ⇓
กุศลวิบาก กุศลกรรม
⇑ ⇐ ⇓
2. ทุคติภูมิ คือ สถานที่อยู่ของผู้ที่กระทำความชั่ว มีความเป็นอยู่ทุกข์ยากทั้งในโลกนี้และโลกหน้า กล่าวคือ ผู้ที่จะมาบังเกิดในภพภูมินี้จะต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล18) คือ มีความเห็นผิดในเรื่องกฎแห่งกรรม มีจิตใจตกต่ำเป็นอกุศลธรรม จึงชักนำให้ประกอบอกุศลกรรม 3 ทาง ได้แก่ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อละโลก ด้วยอานิสงส์ผลบาปที่ประกอบไว้ขณะมีชีวิต จึงได้มาบังเกิดอยู่ในทุคติภูมิ คือ อบายภูมิ 4 ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นภพภูมิที่เสวยวิบากกรรมชั่วล้วนๆ นับว่าเป็นสัตว์อาภัพประเภทหนึ่ง ไม่สามารถบรรลุคุณธรรมความดีทั้งเบื้องต้นและเบื้องสูงได้ ไม่สามารถเห็นแจ้งในอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์
พระพุทธองค์ตรัสว่า สัตว์เหล่านี้เมื่อไปบังเกิดในอบายภูมิแล้วยากที่จะกลับมาเป็นมนุษย์ ทรงอุปมาว่า ทุกร้อยปีๆ เต่าตาบอดตัวหนึ่งจะโผล่หัวสวมเข้าพอดีกับบ่วงขนาดเท่าหัวของตนที่ลอยอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งในมหาสมุทร19)
แผนผังไตรวัฏฏ์ของผู้มีความเห็นผิด
⇒ อกุศลธรรม ⇒
⇑ ⇓
อกุศลวิบาก อกุศลกรรม
⇑ ⇐ ⇓
นับจากวันที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จนถึงวันดับขันธปรินิพพาน ตลอดระยะเวลา 45 ปี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสัตวโลก ทรงทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรแนะนำสั่งสอนให้สัตวโลกทั้งหลายรู้จักเป้าหมายสูงสุดของชีวิต หมู่สัตว์จำนวนมากที่ได้เข้าเฝ้าต่อเบื้องพระพักตร์ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ด้วยความไตร่ตรองพินิจพิจารณา แล้วนำมาปฏิบัติอย่างใส่ใจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีพยานในการตรัสรู้ธรรมคือพระอริยบุคคลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากที่สามารถตัดวังวนแห่งชีวิตในสังสารวัฏของตนเองให้ลดน้อยลง ย่นย่อระยะทางเข้าใกล้สู่พระนิพพานมากยิ่งขึ้น อันได้แก่20)
พระโสดาบัน 2 ระดับ ท่านจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเพียงชาติเดียว หรืออีกไม่เกิน 7 ชาติ ก็สามารถทำลายอาสวกิเลสหมดสิ้น เพราะท่านละกิเลสสังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน) วิจิกิจฉา (ความเคลือบแคลงสงสัยในกุศลธรรม) สีลัพพตปรามาส (ความยึดถือเพียงศีลพรตก็หลุดพ้นได้)
พระสกทาคามี ท่านจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเพียงชาติเดียวก็จะทำลายอาสวกิเลสได้หมดสิ้น เพราะท่านละกิเลสสังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ประการ และกำจัดราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบาง
พระอนาคามี 5 ระดับ ท่านจะไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เพราะท่านละกิเลสสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ประการ และละสังโยชน์เบื้องสูง 2 ประการ คือ กามราคะ(กำหนัดในกิเลสกาม) และปฏิฆะ(ความขุ่นเคือง) เมื่อละโลกแล้วจะไปบังเกิดเป็นพรหมชั้นสุทธาวาสและปรินิพพานในพรหมโลกนั้นเลย
พระอรหันต์ คือ พระอริยบุคคลขั้นสูงสุด การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารของท่านจบสิ้นลงแล้ว กรรมและวิบากทั้งปวงที่รอส่งผลในอนาคตกาลยุติแล้ว กิเลสอาสวะยุติการครอบงำบังคับบัญชา เพราะว่าท่านดำรงอยู่ในสภาวะที่ดับสิ้นแห่งกิเลสอาสวะ นั่นคือ พระนิพพาน
-------------------------------------------------------------------
1) ชราวรรค, ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 42 ข้อ 21 หน้า 141.
2) สนทานสูตร, สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มก. เล่ม 26 ข้อ 356 หน้า 430.
3) ปฐมชนสูตร, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มก. เล่ม 24 ข้อ 167 หน้า 277.
4) อรรถกถาบุพเพนิวาสานุสติญาณนิทเทส, ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค, มก. เล่ม 68 หน้า 993.
5) สัมปสาทนียสูตร, ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, มก. เล่ม 15 ข้อ 89 หน้า 202
6) จุลลนันทิยชาดก, ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 57 ข้อ 294 หน้า 389.
7) ปฐมชนสูตร, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 167 หน้า 277.
8) พระธรรมกิติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. 9, ราชบัณฑิต), คำวัด 5 ,(กรุงเทพ : เลี่ยงเชียง, 2546), หน้า 115.
9) โรหิตัสสสูตร, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 298 หน้า 382.
10) อนมตัคคสังยุต, สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่ม 26 ข้อ 421-455 หน้า 506-532.
11) ชมพูทวีป เป็นหนึ่งในทวีปทั้ง 4 อันเป็นภพภูมิมนุษย์ของพวกเรานี้ ตั้งอยู่ตรงไหล่ภูเขาสิเนรุทางทิศใต้.
12) กัป คือ ระยะเวลาความเป็นไปของโลก 4 ช่วง นับเป็น 1 กัป เริ่มตั้งแต่ กำเนิดโลก โลกตั้งอยู่ โลกถูกทำลาย โลกว่างเปล่า.
13) อังคุลิมาลสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 21 ข้อ 534 หน้า 152.
14) จูฬกัมมวิภังคสูตร, มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่ม 23 ข้อ 580 หน้า 251.
15) สามัญญผลสูตร, ทีฆนิกาย สีลขันขันธวรรค, มก. เล่ม 11 ข้อ 137 หน้า 332.
16) นขสิขสูตร, สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่ม 26 ข้อ 663 หน้า 727.
17) อามกธัญญเปยยาล, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 1792 หน้า 503.
18) สามัญญผลสูตร, ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค, มก. เล่ม 11 ข้อ 137 หน้า 332.
19) ปฐมฉิคคฬสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 1743 หน้า 475.
20) สัมปสาทนียสูตร,ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, มก. เล่ม 15 ข้อ 85 หน้า 197.
ดังนั้น สังสารวัฏเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพงศ์วงตระกูล ต้องศึกษาทำความเข้าใจ ไม่รู้ไม่ได้ เพราะถ้าไม่รู้ การดำเนินชีวิตจะไม่ปลอดภัยจากกิเลสอกุศล เมื่อเข้าใจเรื่องสังสารวัฏจะทำให้เห็นช่องทางปฏิบัติเพื่อนำพาตนเองไปสู่ทางหลุดพ้นยกตนออกจากกองทุกข์ ถือว่าเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ยากสำหรับการได้เกิดเป็นมนุษย์อย่างเราท่านทั้งหลาย เพราะเป็นสภาวะเดียวที่เหมาะสมต่อการสร้างกรรมได้เต็มที่ ไม่ว่ากรรมดี หรือกรรมชั่ว มนุษยโลกจึงเปรียบเสมือนศูนย์กลางแห่งการทำกรรมดี กรรมชั่วทั้งปวง เนื่องจากมนุษย์มีรูปกายแข็งแรงทรหดอดทนเหมาะแก่การสร้างกรรมอันเป็นเสบียงสำหรับการเดินทางในสังสารวัฏ ถ้าสร้างกรรมดีก็เสวยสุขในสุคติภูมิยาวนาน แต่บุญกุศลที่สั่งสมไว้ก็หมดได้หากไม่หมั่นสร้างบุญเพิ่มเติม ถ้าสร้างกรรมชั่วก็เสวยทุกข์ในทุคติภูมิยาวนานเช่นกัน และบาปอกุศลที่สั่งสมไว้ก็มีสิทธิ์จะหมดได้เช่นกัน ถ้าไม่สร้างบาปเพิ่มเติม