ทรรศนะเรื่องการล้างบาปในศาสนาคริสต์

วันที่ 01 กย. พ.ศ.2558

 

 ทรรศนะเรื่องการล้างบาปในศาสนาคริสต์

            ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่อยู่ในระดับต้นที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก เป็นศาสนาประเภทเทวนิยม (Monotheism) มีความเชื่อเรื่องการนับถือพระเจ้าองค์เดียว คือ ยะโฮวาห์ (Jehovah) เป็นผู้ทรงสร้างโลก สร้างมนุษย์ และสรรพสิ่งในสากลจักรวาล เป็นผู้ประทานข้อบัญญัติแก่มนุษย์ โดยผ่านทางศาสดาพยากรณ์ (Prophets) และศาสนทูตต่างๆ ในแต่ละยุค แต่ละสมัย เรื่อยมาตั้งแต่โมเสสจนถึงพระเยซู เรื่องการล้างบาปในศาสนาคริสต์นั้น สืบเนื่องมาจากคำสอนของศาสนาที่สอนให้คนมีความเชื่อและศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างแรงกล้า และมีความเชื่อเรื่องการไถ่บาป และล้างบาป เพราะเหตุที่พระเจ้าเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ และมีพระเยซูเป็นบุตรของพระเจ้าที่ลงมารับโทษทัณฑ์เพื่อไถ่บาปแทนมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์เกิดมาพร้อมกับบาปที่ติดมาจากอาดัมกับอีวา จึงจำเป็นต้องมีการล้างบาปเกิดขึ้น

 

            ศาสนาคริสต์มีพิธีกรรมที่สำคัญ ที่เรียกว่า พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ 5 ประการ แต่ในที่นี้จะนำเสนอเฉพาะศีลที่เกี่ยวข้องและมีเนื้อหาในเรื่องการล้างบาปเท่านั้น พิธีรับศีลล้างบาป หรือศีลจุ่ม (Baptism) คือ พิธีกรรมที่ทำเมื่อตอนเป็นทารก หรือเมื่อเข้าเป็นคริสตศาสนิกชน พิธีนี้กระทำตามแบบของพระเยซูเมื่อครั้งก่อนที่จะออกเทศนา เพราะเชื่อว่ามนุษย์เกิดมามีบาปติดตัวมาทุกคน ติดบาปมาจากมนุษย์คู่แรกของโลก จึงต้องทำพิธีชำระล้างบาปที่ติดมาแต่กำเนิด กระทำเพียงครั้งเดียวเมื่อเข้าเป็นคริสตศาสนิกชน ในนิกายคาทอลิกปัจจุบัน ไม่จุ่มตัวในน้ำ แต่ใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ เทบนศีรษะเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการล้างบาป ศีลนี้สำคัญที่สุด ผู้ใดไม่ได้รับศีลล้างบาป จะไม่ได้ชีวิต นิรันดร นอกจากนี้ในศาสนาคริสต์ยังมีความเชื่อว่า คริสตศาสนิกชนที่ทำผิดพระบัญญัติหรือผิด พระประสงค์ของพระเจ้าถือว่าเป็นบาป จะต้องประกอบพิธีศีลแก้บาป เพื่อจะได้รับการอภัยบาปจากพระเจ้าและเพื่อความบริสุทธิ์ของตนเอง

 

            พิธีศีลแก้บาป (Penance) คือ พิธีสารภาพบาป หรือล้างบาปด้วยวิธีสารภาพบาปที่ตนทำไว้แก่บาทหลวง โดยสารภาพว่าตนได้ทำผิดอะไรบ้าง และสัญญาว่าจะไม่ทำผิดอีกต่อไป ในนิกายคาทอลิก สำหรับผู้ที่กระทำบาป ประสงค์จะได้รับการอภัยบาป ต้องไปสารภาพบาปนั้นต่อนักบวชด้วยความสำนึกผิดอย่างแท้จริง เพราะถือว่านักบวชได้รับอำนาจในการยกบาปโดยตรงจากพระสันตปาปา ซึ่งเป็นผู้แทนของพระเยซูคริสต์ นักบวชจะอำนวยพรยกบาป ตลอดจนตักเตือนสั่งสอนมิให้ทำบาปอีก และจะกำหนด กิจศาสนาให้กระทำเพื่อใช้โทษ แต่หากผู้ใดสารภาพด้วยความไม่จริงใจหรืออำพรางบาป ถือว่าเป็นบาปอย่างหนัก พิธีกรรมเริ่มด้วยคำอธิบายว่า บาปกรรมใดๆ ที่กระทำไว้จะปลดเปลื้องออกไปด้วยการสารภาพต่อผู้อื่น ผู้ที่จะเข้ารับคำสารภาพ จะต้องตั้งอยู่ในความเมตตากรุณา ยอมรับความผิดที่คนอื่นมาสารภาพแก่ตน แล้วยกความผิดนั้นให้ เช่นเดียวกับการตัดสินคดีในศาลหลวง ถ้าจำเลยผู้มีความผิดได้สารภาพผิด ศาลจะลดโทษให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย แต่ในทางศาสนา ซึ่งผิดจากศาลหลวง คือถ้าสารภาพแล้ว ผู้รับสารภาพก็ยอมยกโทษให้

            พิธีสารภาพบาปมีอธิบายตามตำนานว่า ครั้งหนึ่งพระเยซูเสด็จไปรักษาโรคให้แก่คนเป็นโรคเรื้อน และคนตาบอดด้วยอำนาจจิต คนไข้หายจากโรคร้าย คนตาบอดก็กลับเปิดตาได้ อาการรักษาโรคของ พระเยซู กำหนดว่า พระองค์ทรงเมตตาต่อคนทั้งหลายไม่เลือกหน้า ผู้เจ็บไข้ก็ดี ผู้ตาบอดก็ดี ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีบาปอันกระทำไว้แล้ว พระเจ้าทรงลงโทษให้มีบาป พระเจ้านั่นเองจะเป็นผู้ประทานโทษยกบาปให้ ตามตำนานอ้างคำพูดของพระเยซูที่มีปรากฏในคัมภีร์มัทธาย เมื่อทรงรักษาโรคให้แก่คนไข้ว่า

“    บาปของเจ้า เราได้ยกโทษให้แล้ว”

 

ความในคัมภีร์มัทธาย ยังปรากฏอีกตอนหนึ่งว่า

“    ความตายและการเสด็จมาเกิดใหม่ (การฟื้นชีพขึ้นมา) ของพระองค์ สามารถจะชำระล้างบาปของดวงวิญญาณที่มีบาปให้หมดบาปนั้นได้ ขอพระองค์ทรงโปรดยกหนี้ให้แก่พวกเราทั้งหลายด้วย”

 

           การสารภาพบาป แต่ก่อนทำในเวลาที่ต้องการเปลื้องบาปเมื่อมีบาป นับตั้งแต่ พ.ศ.1758 เป็นต้นมา ให้ประสกสีกาเข้าทำพิธีสารภาพบาปปีละครั้ง ฝ่ายออร์ธอดอกบางสาขา ทำปีละ 4-5 ครั้งก็มี และไม่นิยมทำรวมกัน ต่างฝ่ายต่างทำ ผู้สารภาพจะนั่งคุกเข่าลงตรงหน้าแท่น พระผู้รับสารภาพบาปเข้ามานำผ้าคลุมของท่านวางลงบนไหล่ผู้สารภาพ แล้วประกาศความบริสุทธิ์ แสดงว่าผู้สารภาพหมดบาป ฝ่ายนิกายคาทอลิก พระผู้รับคำสารภาพบาปจะปล่อยให้ผู้สารภาพกล่าวคำสารภาพอยู่ตามลำพัง พระยืนเฝ้าชำเลืองดูอยู่ห่างๆ ไม่ต้องทำพิธีอันใดให้แก่ผู้สารภาพ บางทีผู้สารภาพอยู่นอกม่าน พระฟังเสียงสารภาพอยู่ในม่าน เปล่งเสียงรับรู้คำสารภาพให้ทะลุม่านออกไปว่า

“    พระจิต ได้รับบาปของท่านแล้ว บาปที่ท่านทำให้แก่ผู้อื่นก็ได้ยกโทษให้แล้ว”

 

คาทอลิกที่มีศรัทธาแก่กล้าบางคน ทำพิธีสารภาพบาปกันอาทิตย์ละครั้ง

ฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์ ใช้วิธีสารภาพเป็นหมู่คณะ มานั่งพร้อมกันหน้าแท่นบูชา แล้วกล่าว คำสารภาพว่า

“    ขอให้เปลื้องโทษให้แก่พวกข้าพเจ้า ขอให้ยกบาปทั้งหมดของพวกข้าพเจ้า”

 

ต่อจากนั้น พระสารภาพบาปแทนกลุ่มชนว่า

“    พวกข้าพเจ้า มิได้กระทำในสิ่งที่ควรกระทำ ได้ทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ข้าแต่พระองค์ พระองค์เป็นผู้ทรงพระกรุณาแก่พวกข้าพเจ้า”

 

           เป็นอันเสร็จพิธี ในส่วนของพิธีกรรมหรือหลักการปฏิบัติในแต่ละนิกายหรือในแต่ละแห่งอาจจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง ในที่นี้ขอกล่าวโดยรวมๆ อาจจะไม่สมบูรณ์ทั้งหมด

-------------------------------------------------------------------

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.058816417058309 Mins