เศรษฐกิจกับจิตใจ
เศรษฐกิจกับจิตใจมีความเกี่ยวข้องกันอย่างยิ่ง ถ้าเมื่อใดจิตใจของผู้คนขาดความเชื่อมั่น เศรษฐกิจจะตกต่ำทันที เพราะเมื่อผู้คนวิตกกังวลต่ออนาคต ก็จะพากันเก็บเงินเอาไว้ไม่ยอมใช้จ่าย การค้าขายหยุดชะงัก สินค้าขายไม่ออก โรงงานก็ต้องหยุดผลิตสินค้า ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงาน เมื่อคนตกงานก็ยิ่งลดการจับจ่ายใช้สอย เกิดวงจรลบต่อเนื่องไป ตรงกันข้ามถ้าผู้คนมีความเชื่อมั่น มีการจับจ่ายใช้สอย ก็จะมีการผลิต มีการจ้างงาน เกิดรายได้เป็นวงจรบวก การทำความเข้าใจในเรื่อง “ เศรษฐกิจกับจิตใจ ” นั้น ให้เราลองมองภาพของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 2 แห่งเปรียบเทียบกัน เราจะได้ข้อคิดหลายประการทีเดียว แห่งแรกคือสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ของอเมริกาประเทศเดียวมีขนาด 25 เปอร์เศ็นต์ของโลก แห่งที่สองคือ จีน ซึ่งเป็นดาวรุ่งดวงใหม่เศรษฐกิจของจีนกำลังทะยานขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนทั่วโลกจับตามอง และขณะนี้เศรษฐกิจของจีนในแง่ของ GDP ได้แซงประเทศญี่ปุ่น จนขึ้นมาอยู่อันดับสองของโลก เศรษฐกิจของอเมริกานั้นขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น ถ้าเมื่อใดเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหา รัฐบาลจะต้องรีบออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้รัฐบาลจะรีบลดภาษีเพื่อให้คนมีเงินใช้มากขึ้น อีกทั้งเพิ่มการลงทุนภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสร้างความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญมากหากประชาชนขาดความเชื่อมั่นหยุดจับจ่ายใช้สอยเมื่อใด ตลาดหุ้นจะซบเซาเกิดหนี้เสียเป็นลูกโซ่ ความเสียหายจะตามมาอีกมากมาย
ในกรณีสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นประเทศมหาอำนาจ อันดับหนึ่งของโลก มีความโดดเด่นทั้งด้านเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการทหาร อีกทั้งเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศและอำนาจทางสื่อต่างๆ ซึ่งสามารถปลุกกระแสชี้นำชาวโลกได้ แม้กระทั่งการใช้สงครามเป็นเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการสะพัดหมุนเวียน ของเงินจำนวนมหาศาล ในอุตสาหกรรมอาวุธ สหรัฐอเมริกาก็สามารถทำได้ ถึงขนาดมีคำกล่าวว่าเศรษฐกิจอเมริกาคือเศรษฐกิจสงครามเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น แม้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในประเทศ สหรัฐอเมริกาจึงยังคงสามารถประคับประคองให้ผ่านไปได้ โดยใช้ความเป็นมหาอำนาจของตนเองนั้นเอง หากมองย้อนไปในอดีตของสหรัฐอเมริกา เราจะพบว่านับตั้งแต่สร้างชาติ ชาวอเมริกันมาความกล้าหาญมาก เพราะทุกคนล้วนเป็นผู้อพยพทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่อพยพมาจากยุโรป คนที่กล้าอพยพครอบครัวข้ามน้ำข้ามทะเลในยุคทที่การเดินทางเต็มไปด้วยความเสี่ยงภัย เพื่อไปบุกเบิกสร้างชีวิตในดินแดนที่ไม่มีใครรู้จัก ย่อมต้องมีใจเด็ดเดี่ยว กล้าหาญอย่างมาก เพราะแม้ว่าจะสามารถผจญภัยจนขึ้นฝั่งได้ ก็ยังต้องผจญกับอุปสรรคต่างๆ มากมายในการบุกเบิกดินแดนตะวันตกอีกนับร้อย ๆ ปี ชาวอเมริกันจึงมีวิญญาณนักสู้อย่างเต็มเปี่ยม นอกจากนี้ชาวอเมริกันยังเป็นทั้งนักค้นคว้า และนักประดิษฐ์ เพราะความที่เดินทางมาไกลไม่สามารถไปซื้อข้าวของเครื่องใช้จากยุโรปได้ง่ายๆ ดังนั้นหากใครประดิษฐ์คิดค้นอะไรขึ้นมาได้ ก็จะทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์ไปด้วย นักประดิษฐ์จึงได้รับความชื่นชมยกย่องเป็นอย่างมาก เหล่านี้ย่อมกระตุ้นให้คนอเมริกันรักการค้นคว้า รักการประดิษฐ์คิดค้น จนทำให้สหรัฐอเมริกามีความเจริญก้าวหน้า แซงยุโรปขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้ทั้งด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ก็เพราะประเทศของเขาเต็มไปด้วยนักสู้ ผู้บุกเบิกนั่นเอง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นยุคของสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีทุนนิยมที่มีอเมริกาเป็นผู้นำกับโลกคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสหภาพโซวียตเป็นผู้นำ ขณะนั้นเศรษฐกิจของอเมริกา มีขนาดเกือบครึ่งหนึ่งของโลก อเมริกาจึงได้ให้ความช่วยเหลือประเทศพันธมิตรของตนเพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็งจะได้ช่วยกันต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ และอเมริกายังได้ทำสงครามอีกหลายครั้ง เช่นสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ฯลฯ จึงมีการใช้เงินอย่างมาก ประกอบกับประชาชนมีชีวิตแบบบริโภคนิยม จับจ่ายใช้สอยกันอย่างมากมาย สุดท้ายเมื่อเศรษฐกิจของยุโรป และญี่ปุ่นเริ่มฟื้นขึ้นมา อเมริกากลับขาดดุลการค้าและประสบปัญหาทางด้านการเงิน เพื่อที่จะค้ำยันเศรษฐกิจของตนอเมริกาจึงนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ เช่นมีการก่อตั้งกองทุนเฮดฟันด์ต่างๆ ขึ้นมามุ่งหากำไรจากการค้าเงิน สร้างความเสียหายให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังเช่นเหตุการณ์เมื่อครั้งที่กองทุนเฮดฟันด์เหล่านี้มาซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจของไทย ในช่วงภาวะฟองสบู่แตก ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจของเราหนักหนากว่าที่ควรจะเป็นหลายเท่าตัว
อเมริกาเองก็อยู่ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ หนี้สินของประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลการค้ามหาศาลทุกปี แต่ที่ยังอยู่ได้เพราะอาศัยการกู้เงินจากต่างประเทศเข้าไปค้ำยัน แท้จริงแล้วเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศจะขาดดุลบัญชีการค้า ขาดดุลบัญชีงบประมาณอย่างต่อเนื่องสะสมไปเรื่อยๆ สักวันต้องมีจุดจบ อเมริกาปัจจุบันอยู่ได้เพราะสร้างภาพความเชื่อมั่นเป็นหลัก ซึ่งความเชื่อมั่นเช่นนี้ถือเป็นความเชื่อมั่นที่ไม่มั่นคง เหมือนคนที่ไปกู้เงินเขามาใช้ อาจแก้ปัญหาชั่วครั้งชั่วคราวได้ แต่ถ้าจะกู้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ย่อมเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายหนี้สินต้องล้นพ้นตัว ส่วนเศรษฐกิจของจีนเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ แม้ว่าจีนจะมีจำนวนประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน คิดเป็นหนึ่งใน 5 ของโลก ทั้งมีภูมิประเทศกว้างใหญ่ และทรัพยากรมากมาย แต่ย้อนหลังไปเพียงไม่กี่สิบปี ประเทศจีนมีแต่ความยากจนและล้าหลัง จนกระทั่งเติ้งเสี่ยวผิงตัดสินใจเปิดประเทศ เศรษฐกิจจีนจึงมีการเติบโตอย่างมาก จีนมีรากฐานทางประวัติศาสตร์มายาวนาน หลายพันปี จึงมีความสุขุมรอบคอบ และเชี่ยวชาญในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะมีเรื่องราวในประวัติศาสตร์เป็นคติสอนใจ แต่ละย่างก้าวของจีนจึงเต็มไปด้วยความระมัดระวัง ผลก็คือ จีนสามารถรักษาการเจริญเติบโตมาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปี
นอกจากนี้ จีนยังมีการออมสูงมาก เนื่องจากคนจีนมีนิสัยประหยัด เมื่อธนาคารมีเงินมาก จึงปล่อยกู้ได้มาก เกิดการลงทุนผลิตสินค้ามากยิ่งขึ้นไปอีก สินค้าที่ผลิตขึ้นมาจึงต้องส่งออกเป็นส่วนใหญ่ เพราะคนจีนเองไม่ค่อยนิยมจับจ่ายใช้สอย ทำให้จีนได้ดุลการค้าอย่างมหาศาลในแต่ละปี โดยมีบางปีสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ สิ่งที่ตามมาก็คือ เกิดแรงเสียดทานด้านการค้ามากขึ้น ประเทศต่างๆ เช่นอเมริกาและประเทศทางแถบยุโรปไม่พอใจ จึงกดดันให้จีนปล่อยค่าเงินหยวนให้แข็งตัวขึ้น เพื่อสินค้าจีนจะได้มีราคาแพง ขายได้น้อยลง ดุลการค้าก็จะลดลง จีนจึงต้องยอมให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นบ้าง แต่ก็ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่บุ่มบ่ามจีนถือเสถียรภาพเป็นหลัก คนจีนเริ่มเชื่อมั่นแต่บางคนยังขาดความรับผิดชอบต่อสังคม นึกถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน และพรรคพวกของตน เพื่อมุ่งเอารัดเอาเปรียบ หวังประโยชน์เฉพาะหน้า ผลก็คือเกิดปัญหาการผลิตสินค้า ที่ไม่มีคุณภาพ มีสารพิษปลอมปนดังที่เป็นข่าวไปทั่วโลก เป็นปัญหาที่รัฐบาลจีนเอง กำลังเร่งหาทางแก้ไขอย่างเต็มที่ ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของจีน คือ ปัญหาความมั่นคงภายใน ซึ่งเกิดจากความไม่เป็นธรรมในสังคม เมื่อใดก็ตามที่คนยากจนคนที่ขาดโอกาสไม่พอใจจนถึงขั้นก่อจลาจล เมื่อนั้นความเชื่อมั่นก็จะหมดไป เศรษฐกิจก็จะทรุด แล้วทุกอย่างก็จะเข้าสู่วงจรลบทันที ฉะนั้นภารกิจหลักของรัฐบาลจีน คือทำอย่างไรจะประคับประคองสถานการณ์ความมั่นคงภายในไว้ให้ได้ ด้วยการกระจายรายได้ให้เกิดความเท่าเทียมกัน สร้างความเป็นธรรมกันในสังคม มิฉะนั้นสิ่งที่สร้างมาทั้งหมด ก็อาจจะพังครืนเช่นกัน ความเชื่อมั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่ความเชื่อมั่นนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรม มิเช่นนั้นปัญหาที่ตามมา อาจส่งผลกระทบไปทั่วโลกดังเช่นที่ความฟุ้งเฟ้อบริโภคเกินตัวของอเมริกาและการประหยัดเกินไปของจีนนำไปสู่การเสียสมดุลของเศรษฐกิจโลก
เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเน้นการบริโภคแบบอเมริกาก็มีปัญหาการประหยัดอย่างจีนก็มีปัญหา จึงมีคำถามว่า แล้วโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ต้องทำอย่างไร คำตอบคือ ควรประหยัดในการใช้ทรัพยากรโดยใช้อย่างคุ้มค่า แต่ทรัพย์สินส่วนเกินนั้นไม่ใช้เก็บไว้เพื่อส่วนตนอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักนำทรัพย์นั้นมาช่วยเหลือแบ่งปันกัน ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขของส่วนรวม ดังสมัยพุทธกาล ผู้ที่มีทรัพย์มากจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นำทรัพย์ออกมาใช้ประโยชน์ เช่นมีการตั้งโรงทานทั้ง 4 มุมเมืองเพื่อช่วยเหลือเจือจุนผู้ที่มีทรัพย์น้อย อีกทั้งค่านิยมในสังคม จะให้การยกย่องเศรษฐีผู้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตรงกันข้าม แม้เป็นผู้มีทรัพย์มากแต่ถ้าหากมีความตระหนี่ สังคมก็ไม่ยอมรับ ในโลกปัจจุบันก็เช่นกัน การพัฒนาเศรษฐกิจย่อมเป็นไปด้วยดี ถ้าสามารถปลูกฝังจิตสำนึกของผู้ที่มีกำลัง มีฐานะ มีโอกาสมากกว่า ให้มีความเกื้อกูลต่อผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่า ทรัพย์สินที่มีอยู่จะไม่ถูกเก็บเอาไว้เฉยๆ แต่จะถูกนำมาใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อสาธารณะ เป็นประโยชน์ต่อทุกๆคน เป็นการโอบอุ้มสังคมทั้งสังคม ให้ก้าวไปพร้อมๆกัน ในการประกอบกิจการต่างๆ ก็ต้องมีจิตสำนึกของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนา เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สำหรับผู้บริโภคอีกทั้งต้องดูแลพนักงานทุกระดับให้มีสวัสดิการที่ดี เมื่อองค์กรต่างๆ รู้จักการให้และร่วมรับผิดชอบต่อสังคมเช่นนี้ ก็ย่อมจะมีภาพลักษณ์ที่ดีและได้รับการยอมรับด้วยเช่นกัน ส่วนในระดับบุคคล เมื่อแต่ละคน หาทรัพย์มาได้ก็ต้องรู้จักการให้ เป็นการให้เพราะอยากช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่น มิใช่เพราะกฎหมายบังคับ อีกทั้งรู้จักการใช้จ่ายอย่างมีคุณค่า ไม่ผลาญทรัพยากรโลกเพียงเพื่อสนองความอยากของตน เมื่อทุกคนคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ปัญหาความรุนแรงในสังคมก็จะคลี่คลายด้วยน้ำใจที่มีต่อกัน นี่คือการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพราะเศรษฐกิจกับจิตใจได้พัฒนาไปพร้อมกัน
หันมามองประเทศไทยกันบ้าง ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่ประเทศในโลกที่มีความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งทางภูมิศาสตร์และรัฐศาสตร์ ประเทศเราไม่มีภัยธรรมชาติที่ร้ายแรง แต่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ ความมีน้ำใจ และอัธยาศัยอันดีของคนไทย เป็นที่ประทับใจชาวต่างชาติ จนได้รับสมญานามว่า สยามเมืองยิ้ม แต่สิ่งที่เราขาดอยู่คือ ยุทธศาสตร์การวางแผนระยะยาว เนื่องจากไทยเรามีทุกอย่างค่อนข้างพร้อม จะขยันมากขยันก็มีกินหาเช้ากินค่ำได้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศเมืองหนาวที่อย่างน้อยต้องหาปีกินปี ไม่สามารถหาเช้ากินค่ำ เพราะถ้าไม่เตรียมตัวล่วงหน้า ในฤดูหนาวอาจอดตาย หรือหนาวตาย สภาพธรรมชาติบังคับให้ต้องมีการวางแผนระยะยาว สำหรับประเทศไทย การที่จะรวมพลังของผู้คนทั้งประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกันจำเป็นต้องมีการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ดี เศรษฐกิจของประเทศไทยเราก็สามารถโดดเด่นขึ้นมาได้ เพราะเรามีความพร้อมมีศักยภาพ ทั้งสติปัญญาของชาวไทย ก็ไม่ได้ด้อยกว่าใคร สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การทำงานเป็นทีม ขอยกตัวอย่างถึงสังคมจีนด้วยเหตุที่คนจีนมีการแก่งแย่งแข่งขันกันสูง จึงมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มๆเป็นแซ่ เป็นสมาคม เป็นหมู่บ้าน เพราะมีประวัติศซาสตร์เป็นบทเรียน คนจีนผ่านศึกสงครามมากมาย ถึงคราวเกิดการแก่งแย่งชิงดีทางการเมืองขึ้นเมื่อใด ฝ่ายแพ้จะถูกฆ่าล้างตระกูลเลยเขาจึงต้องสามัคคีกันเพราะมีชะตากรรมร่วมกัน ครั้นถึงคราวต้องพัฒนาประเทศเขาก็สามารถรวมกลุ่มพัฒนากันได้ เช่นบางตำบลรวมกลุ่มกันผลิตไฟแช็คได้ถึง 80% ของโลก เพียงแต่การรวมตัวของคนจีนยังมีลักษณะเป็นกลุ่มเป็นเหล่า และบางครั้งยังมีการเบียดเบียนกลุ่มอื่นพวกอื่นอยู่บ้าง ในขณะที่คนไทยนั้นมีน้ำใจ แต่ยังขาดการรวมกลุ่มกัน ถ้าเราพัฒนาการทำงานเป็นทีมได้ เศรษฐกิจไทยก็จะพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วจนน่าอัศจรรย์ทีเดียว เมื่อถึงเวลานั้นจุดเด่นในเรื่องความมีน้ำใจของเราจะยิ่งแสดงศักยภาพชัดเจน ดังนั้นเราจะต้องอาศัยแรงจูงใจด้านบวก ให้ทุกคนเห็นถึงประโยชน์ คุณภาพของความสามัคคีทำงานเป็นทีม และการมองการณ์ไกล เราจะสามารถมองคุณสมบัติที่โดดเด่น ของปัจเจกบุคคลมารวมกันเข้าเป็นพลังของหมู่คณะ เป็นพลังของประเทศชาติ เป็นตัวอย่างให้ชาวโลกเห็นว่า ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองเพราะเศรษฐกิจกับจิตใจพัฒนาไปคู่กันมีธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ
ดังเช่น การเกิดขึ้นของวัดพระธรรมกาย ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปเพื่อพัฒนาจิตใจผู้คน เราจะได้เห็น การช่วยเหลือแบ่งปัน การทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ความสมัครสมานสามัคคี รวมใจกันทำหน้าที่กัลยาณมิตร โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือสันติสุขของโลก แม้การผลิตรายการ DMC ขึ้นมาก็เช่นกัน แม้ไม่มีประสบการณ์ในจุดเริ่มต้น แต่ทุกคนทำด้วยหัวใจ ใครมีความสามารถด้านไหนก็มาช่วยกันคนละไม้คนละมือผ่านไปเพียง 4 ปี ในปี พ.ศ. 2550 DMC ได้รับรางวัล Telly Award ถึง 12 รางวัล แม้ชาวต่างชาติที่เป็นมืออาชีพก็ยังสนใจเดินมาศึกษาดูงานนับเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ ดังนั้น ถ้าคนไทยทั้งประเทศศึกษาและทำตามหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขยันขันแข็ง ประหยัดมัธยัสถ์ แล้วทุ่มเทเพื่อส่วนรวม ใจที่คิดถึงส่วนรวม จะเป็นใจที่ขยายกว้างใหญ่ แล้วมีอานุภาพ จะเกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างมหาศาล เพราะไม่ใช่ความคิดของคนๆเดียว แต่เกิดจากสิ่งดีๆ จากทุกคนมารวมกัน รวมพลังความรู้ความสามารถนวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดขึ้นมากมาย ประเทศไทยก็จะเป็นผู้นำของโลกที่โดดเด่นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ โดดเด่นทั้งเรื่องจิตใจ ซึ่งเรื่องนี้จะสำเร็จได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคนว่า พร้อมจะนำพาตัวเองและประเทศชาติไปสู่จุดนั้นได้ไหม?
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 3 "
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ