ชาดก 500 ชาติ รวมนิทานชาดกพร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ชาดก 500 ชาติ : ชาดก 500ชาติรวมชาดก 500 ชาติพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ชาดก คือ เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า คือ สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิตที่พระองค์ทรงประสงค์ เรียกเรื่องในอดีตของพระองค์นี้ว่า ชาดก ชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่า นิทานชาดก

ชาดก 500 ชาติ :: สัตติคุมพะชาดก ชาดกว่าด้วยเรื่องการคบหาคนพาล

ชาดก 500 ชาติ

สัตติคุมพะชาดก ชาดกว่าด้วยเรื่องการคบหาคนพาล

 

 
นกแขกเต้าบุปผกะซึ่งถูกเลี้ยงดูจากพระฤาษี
 
                       สารัตถะแห่งพระพุทธศาสนาข้อสำคัญที่ประจักษ์แจ้งทั่วกันอย่างหนึ่งก็คืออนิจจัง ความไม่เที่ยงไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง ในแผ่นดินมคธ ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปักธงชัยประกาศศาสนาไว้ ก็ไม่พ้นจากความจริงจากข้อนี้ได้
 
 
บ้านเมืองในยามที่สิ้นอำนาจพระเจ้าพิมพิสาร
 
                         เมื่อสิ้นอำนาจพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าอชาตศัตรูผู้ทำปิตุฆาตขึ้นครองมคธตามคำยุยงของพระเทวทัตก็สร้างพุทธสถานใหม่ขึ้นที่คยาสีสะแยกสงฆ์ออกเป็นสองส่วน ภิกษุบวชใหม่เกือบทั้งหมดกับเครื่องบริขารออกเดินตามหลังพระเทวทัตไปจำพรรษา ณ พระอารามใหม่นั้น
 
 
ภิกษุบวชใหม่เกือบทั้งหมดได้จำพรรษา ณ พระอารามใหม่
  
                         มอบตัวเป็นศิษย์และปฏิบัติตามคำสอนที่พระเทวทัตบัญญัติขึ้นใหม่อย่างหลงผิด “ข้าวของเครื่องใช้ที่อำนวยความสะดวกทั้งหลายเราเก็บมาหมดแล้วพระพุทธเจ้าค่ะ เมื่อไปอยู่ที่ใหม่คงสะดวกสบายขึ้นเยอะนะพระพุทธเจ้าค่ะ”
 
 
พระอัครสาวก
 
                          กาลต่อมาแม้ว่าพระอัครสาวกเบื้องขวาเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะจะนำกลับมาได้ทั้งหมด แต่ปริศนาอันเป็นข้อวิพากษ์อยู่ไม่คลายเกี่ยวกับภิกษุสงฆ์ที่ไปใกล้ชิดพระเทวทัตก็คือยังจะมีพระธรรมวินัยและจิตรธรรมครบถ้วนอยู่หรือไม่
 
 
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเล่าชาดก
 
                           สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงมีบุพเพนิวาสานุสติญาณหยั่งรู้ในสรรพชีวิตทุกภพชาติจึงทรงมีพระกรุณาธิคุณตรัสเล่าชาดกแสดงโทษของการคบหาคนพาลขึ้นในสัตติคุมพะชาดกว่า
 
 
ในยุคสมัยพระเจ้าปัญจาละทรงครองประเทศอุตตรปัญจาละ
 
                           กาลครั้งหนึ่งยุคสมัยที่พระเจ้าปัญจาละครองประเทศอุตตรปัญจาละ ยังมีนกแขกเต้าพี่น้องสองตัวถูกพายุกรรโชกพัดออกไกลจากรังที่อาศัย นกแขกเต้าทั้งสองปลิวคว้างมาตามแรงลมและผลัดแยกออกจากกันตั้งแต่บัดนั้น
 
 
นกแขกเต้าสองพี่น้องถูกลมพายุพัดร่วงหล่นไปคนละทาง
 
                           “โอ้ย ลมแรง ลมพัดแรงเหลือเกิน โอ้ย..” “พี่ๆ ๆ ท่านพี่เราต้องจากกันเพราะลมนี้หรือนี่” นกตัวพี่ถูกลมพัดร่วงหล่นไปในป่าอันเขียวขจีร่มเย็นทางทิศเหนือ ที่นี่เป็นสถานบำเพ็ญธรรมของเหล่าฤาษี นกแขกเต้าร่วงหล่นลงมาบนกองดอกไม้แท่นบูชา
 
 
นกแขกเต้าตัวพี่ถูกลมพัดมาตกลงบนแท่นบูชาหน้าอาศรมฤาษี
 
                         “ฮะ..เจ้านกน้อยโชคดีของเจ้านะเนี่ยที่ตกลงบนดอกไม้พอดี ไม่งั้นเจ้าคงต้องบาดเจ็บแน่ๆ มามะ มาเถิดเราจะดูแลเจ้าเอง” พระฤาษีเก็บนกตัวนั้นเลี้ยงดูไว้ใกล้อาศรมตั้งชื่อให้ว่า บุปผกะ บุปผกะได้ฟังธรรมะและคำสอนซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ดีมีคุณต่อตนและผู้อื่น ทุกวันจิตใจก็เยือกเย็นอยู่ในกระแสธรรม
 
 
ฤาษีได้สอนธรรมะและคำสอนที่ดีงามแก่นกแขกเต้าตัวพี่
 
                         “อันบาปกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ แม้แต่การคิดร้ายต่อบุคคลอื่นกรรมนั้นก็จะทำให้เรามีจิตใจไม่สงบ ดำรงจิตใจอันหม่นหมอง” “ดีนะท่านฤาษีที่ท่านสอนให้ผมกินแต่ผลไม้ ไม่กินหนอนเหมือนตัวอื่นๆ ไม่งั้นผมคงต้องทำบาปทำกรรมกับเจ้าหนอนพวกนั้น”
 
 
นกแขกเต้าตัวน้องได้ถูกลมพัดมาตกที่รังโจรเคราดำ
 
                           ส่วนนกแขกเต้าผู้เป็นน้อง ถูกกระแสลมส่งมาตกในโรงเก็บอาวุธภายในรังโจรเคราดำผู้ดุร้าย “อ้าวนกแขกเต้านี่น่ามาตกอยู่ตรงนี้ได้ไงนี่ ดีนะที่ไม่ตกลงมาโดนคมหงอกนะ ไหนๆ ก็ ไหนๆแล้ว ข้าจะช่วยเลี้ยงแกก็ได้ เผื่อจะมีประโยชน์มั่ง”
 
 
นกแขกเต้าตัวน้องนาม "สัตติคุมพะ" ได้เติบโตในชุมชนของโจร
 
                           นกแขกเต้าผู้น้องเติบโตขึ้นในชุมชนโจร ได้รู้เห็นแต่การกระทำชั่ว ได้ยินแต่คำพูดไม่ดีตลอดมาก็จดจำเป็นนิสัย “ชื่อสัตติคุมพะก็แล้วกัน เพราะข้าเจอแกในกองอาวุธนี่น่า เหมาะกับแกเลยนะเนี่ย มาอยู่กับข้านะ ข้าจะสอนแกปล้น จี้ เจ้านกสัตติคุมพะ”
 
 
พระเจ้าปัญจาละทรงเสด็จประพาสป่าล่ากวาง
 
                          ต่อมาอีกไม่นานป่าไม่ชายแดนบริเวณนี้ก็มีขบวนประพาสป่าล่ากวางของพระเจ้าปัญจาละผ่านมา พระราชาปัญจาละเสด็จมายังป่าใกล้รังโจรโดยไม่รู้พระองค์ เพราะทรงติดตามรอยกวางมาอย่างสำราญพระทัย
 
 
กวางตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้าพระพักตร์พระเจ้าปัญจาละ
 
                        “ตามไปทางนั้นซิทหาร เราว่าเจ้ากวางต้องวิ่งหนีไปทางนั้นแน่ๆ” “ข้างหน้านั่นรึพระเจ้าค่ะ” “นั่นไงในป่าโป่งข้างหน้านะ มีหญ้าอ่อนอยู่ แสดงว่าต้องมีกวางให้ยิงแน่ๆ ทุกคนฟังนะหากแม้นว่าไล่ต้อนกวางจนมันหนีออกมาแล้ว หากผู้ใดปล่อยให้กวางหนีออกไปทางตนเองได้เราจะลงโทษอย่างหนัก”
 
 
พระเจ้าปัญจาละทรงสั่งทหารให้ล้อมจับกวางให้ได้
 
                            เมื่อพระเจ้าปัญจาละตรัสจบก็มีกวางเจ้ากรรมวิ่งผ่านพระพักตร์เหมือนจะลองดี “เฮ้ยเจ้ากวาง โธ่เอ้ยหนีไปทางนั้นซะได้ ทหารรีบล้อมจับกวางตัวนั้นไว้ หนอยแน่..ท้าทายเราใช่มะ ไม่รอดแน่เจ้ากวางเอ๋ย”
 
 
พระเจ้าปัญจาละทรงควบม้าไล่ตามกวางไปอย่างรวดเร็ว
 
                         ด้วยขัตติยมานะของราชา พระเจ้าปัญจาละก็ควบขับม้าทรงตามไล่กวางนั้นไปอย่างเร็ว จนข้าทหารทุกคนไม่มีใครเสด็จได้ทัน “เฮ้ยเจ้ากวางตัวนี้วิ่งเร็วน่าดู แต่จะหนีม้าเร็วของเราไปได้อย่างไร แบบนี้มันต้องเจอกันหน่อยซะแล้ว”
 
 
ขุนศึกวัยชราขี่ม้าติดตามพระราชาจนพบ
 
                         มีแต่ขุนศึกวัยชราเท่านั้นที่ขี่ม้าติดตามพระราชาจนพบ ทั้งสองตามรอยกวางขาวตัวนั้นจนเหนื่อยล้า แต่ก็ไม่เห็นแม้เงากวาง “ข้างหน้ามีต้นไม้ใหญ่ประทับพักที่นั่นก่อนเถิดพระเจ้าค่ะ” “ดีเหมือนกันเราชักจะเหนื่อยแล้ว”
 
 
พระเจ้าปัญจาละทรงประทับนั่งใต้โคนไม้ใหญ่
 
                         พระเจ้าปัญจาละประทับยังโคนไม้นั่งอยู่ไม่นานนักก็ไม่อาจพักอย่างสำราญได้ เพราะรำคาญพระทัยกับเสียงนกตัวหนึ่ง “โอ้ ทอง เพชร พลอย ถอดมาๆๆๆ เอามาเร็วเข้านะ เอามาๆๆ เร็ว” “เฮ้อรำคาญจริงๆ เสียงใครที่ไหนเนี่ย”
 
 
นกสัตติคุมพะบินมาเห็นพระราชาซึ่งพระวรกายประดับไปด้วยเพชรพลอย
 
                         นกตัวนี้คือสัตติคุมพะ ซึ่งอาศัยอยู่กับโจรป่า พฤติกรรมต่างๆ จึงเหมือนกับเหล่าโจร “ปล้น ปล้นมันเลย ฆ่ามันๆ ฆ่ามันให้หมด” สัตติคุมพะบินดูลาดเลาจนพอใจแล้วก็รีบกลับมารังโจร เพื่อไปนำทางพรรคพวกมาปล้นทรัพย์ แต่บังเอิญทุกคนออกไปปล้นชิงกันหมด คงเหลือเพียงพ่อครัวคนหนึ่งเท่านั้น
 
 
นกสัตติคุมพะกลับมารายงานโจรเพื่อให้ออกไปปล้นเหยื่อที่ตนเห็น
 
                               “เร็วเข้าๆ ปล้นมันเร็ว ฆ่ามันเลย ฆ่ามันให้หมด ปล้นมัน” “เอ้..เจ้านกนี่มันบอกให้ไปปล้นใครวะเนี่ย เห็นของดีเข้าละซิ สัญชาติญาณนกโจรจริงนะเจ้านี่ ไป ๆๆๆ ไปดูก็ได้”  “นั่นไงใต้ต้นไม้นั่นไง ปล้นเลย ปล้นเอามาชิงเอาทองมันมาให้หมดเลย เอาทองมา เอามาเลย”
 
 
สัตติคุมพะได้นำโจรไปหาเหยื่อที่ตนเห็น โจรจึงได้ทราบว่าเป็นพระราชา
 
                           “เอาแล้วไง งานเข้าแล้วไม๊ละ โอ้ยเจ้านกเอ้ย นั่นมั่นพระราชากับขุนพลนะเว้ยอย่าหาที่ตายเลยแก่ ไปกลับกันเถอะ” “เอาทองมาๆ ปล้นมัน ปล้นมันเร็ว เอาทองมา” เสียงนกแขกเต้าดังจนเล็ดลอดมาให้พระเจ้าปัญจาละจับพิรุจและรู้พระองค์จนได้
 
 
ขุนศึกทูลเชิญให้พระราชาเสด็จจากที่ประทับซึ่งเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย
   
                              “เสด็จไปจากที่นี่เถอะพระเจ้าค่ะ ใครโผล่มาข้าพระองค์เตรียมลูกศรไว้ให้มันแล้ว” “นั่นซิ คงจะเป็นโจรแถวนี้ละมั้ง” “นั่นไงเสียงมาจากทางนั้นพระเจ้าค่ะ” “เฮ้ย ที่แท้ก็เป็นเสียงนกนั่นเอง โธ่เอ้ยเจ้านกปากเปราะ ไป๊ ไปให้ไกล รำคาญจริงเชี่ยว”
 
 
ขุนศึกเห็นนกสัตติคุมพะ จึงทราบที่มาของเสียง
 
                             “เฮ้ยๆ เหยื่อหนีแล้ว จับมันเร็วจับมัน ปลดทรัพย์มันเร็ว ปลดมันเลย” “ไอ้เจ้านกตัวนี้ไม่รู้จักที่ตายรึไง เดี๋ยวเฮอะ..พ่อจะยิงแทนกวางซะเลย” สัตติคุมพะอยู่ใกล้คนพาล จึงติดนิสัยก้าวร้าวหยาบคาย จนกลายเป็นนกแขกเต้าที่น่ารังเกียจไปอย่างน่าเสียดาย “เอาทองมาเร็ว ปลดทรัพย์ของเจ้ามา เจ้าคนขี้ขลาด ต้องตายตายซะ”
 
 
นกสัตติคุมพะถูกเลี้ยงมาด้วยโจรจึงมีนิสัยก้าวร้าวพูดจาหยาบคาย
 
                           ด้านพระเจ้าปัญจาละนั้นเมื่อทรงม้าผ่านป่าจนไกลจากรังโจรออกมาชั่วเวลาหนึ่ง พระทัยก็แช่มชื่นเพราะได้สดับเสียงไพเราะแว่วมาจากพุ่มไม้ใกล้ “กุลบุตรหรือธิดาใครนะพูดจาดีมีสัมมาคารวะ น่ารู้จักคบหานัก เราเข้าไปดูกันเถอะขุนพล” 
 
 
พระราชาได้ยินเสียงที่ไพเราะแว่วมาจากพุ่มไม้ เลยเสด็จเข้าไปดู
 
                          เมื่อพระราชาเสด็จมาถึงก็พบอาศรมพระฤาษีและนกแขกเต้าบุปผกะเกาะอยู่บนคอน “เชิญท่านผู้เดินทางเข้ามาพักภายในอาศรมก่อนเถิด สนทนาธรรมกันพอชื่นใจ” “เอ้า ที่แท้ก็เสียงนกแขกเต้าตัวนี้นี่เอง อึม..ช่างน่าฟังแท้ ไม่เหมือนนกตัวเมื่อกี้ เราเข้าไปคุยกับนกตัวนี้กันเถอะท่านขุนพล”
 
 
พระราชาทรงพบ นกบุปผกะ ผู้เป็นที่มาของเสียงที่ไพเราะ
 
                            พระเจ้าปัญจาละประทับใจในวาจาและกิริยาของนกแขกเต้าตัวใหม่นี้ ทรงดำเนินไปสนทนาด้วยอย่างรักใคร่ “เจ้านกเอ๋ย คนเลี้ยงดูเจ้าเป็นใคร ผู้อบรมสั่งสอนเป็นใคร ยังมีสิ่งใดเจรจาให้เรารื่นเริงอีกหรือไม่”
 
 
นกบุปผกะเชื้อเชิญพระราชาให้ประทับในที่อันควร
 
                           “มหาบพิตรข้าน้อยนะ ชื่อว่าบุปผกะ เป็นบุตรพระดาบสซึ่งบัดนี้ออกไปหาผลไม้ในป่า ความรื่นเริงมีถวายก็แต่ทางจิตใจพระเจ้าค่ะ” บุปผกะเชื้อเชิญพระราชาให้ประทับในที่อันควรเพื่อรอขอพรจากพระดาบสซึ่งกำลังกลับมา
 
 
พระราชาทรงอิ่มเอมพระทัยในธรรมะที่ได้รับฟังยิ่งนัก
 
                           ระหว่างนี้นกแขกเต้าที่ถูกเลี้ยงโดยนักบวชบัณฑิตก็ถวายธรรมข้ออานิสงส์จากการทำทานรักษาศีล เจริญภาวนาด้วยวาทะไพเราะ พระราชาก็อิ่มเอมพระทัยจนย่ำเย็น “ไม่น่าเชื่อว่าการที่เรามาคุยกับเจ้าที่เป็นแค่นก จะทำให้เราสบายใจได้มากขนาดนี้”
 
 
พระราชาได้ถวายสัตย์ต่อฤาษีว่าจะเลิกล่าสัตว์และจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม
 
                           เมื่อพระฤาษีกลับมา ก็ถวายพระพรให้พระเจ้าปัญจาละเจริญในทศพิราชธรรม พระราชานักล่ากวางดื่มด่ำในธรรมรสนั้น จึงถวายสัตย์ต่อท่านผู้ทรงศีล ว่าจะเลิกล่าสัตว์ตัดชีวิตและจะจัดการให้อุตตระปัญจาละกลายเป็นแผ่นดินธรรมอันร่มเย็น
 
 
ฤาษีถวายนกแขกเต้า บุปผกะ แก่พระราชา
 
                           “ถวายพระพร จงทรงพระเจริญเถิดมหาบพิตร” พระฤาษีถวายนกแขกเต้าบุปผกะแก่พระราชาเป็นสิ่งเตือนใจในมงคลชีวิตข้อสำคัญข้อหนึ่ง คือการคบบัณฑิตนำสุขมาให้ “ดังเช่นนกแขกเต้าตัวผู้น้องถูกลมพัดไปอยู่กับโจร ย่อมมีกิริยาและความคิดติดไปทางร้าย ดั่งที่มหาบพิตรประสบมานั่นแหละ”
 
 
พระเจ้าปัญจาละทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม บ้านเมืองรุ่งเรืองประชาชนเป็นสุข
 
                         เมื่อพระเจ้าปัญจาละเสด็จกลับมาถึงพระนครก็โปรดให้ออกพระราชกฤษฎีกาห้ามฆ่าห้ามขังสัตว์ทุกชนิด ทรงทำนุบำรุงให้ความรู้การศึกษาแก่พลเมืองเป็นภูมิคุ้มกันความชั่ว รู้จักความชั่ว และไม่เกลือกกลั้วคบหาคนชั่ว อุตตระปัญจาละก็เจริญรุ่งเรือง  ประชาชนเป็นสุขตลอดอายุขัยของพระองค์
 
 
พุทธกาลต่อมานกแขกเต้าบุปผกะ กำเนิดเป็น ภิกษุ
นกแขกเต้าสัตติคุมพะ กำเนิดเป็น ภิกษุผู้หลงเชื่อเทวทัต
หัวหน้าโจร กำเนิดเป็น พระเทวทัต
พระฤาษี เสวยพระชาติเป็น พระพุทธเจ้า
 
 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

* * ชาดก 500 ชาติ แนะนำ * *

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล