ชาดก 500 ชาติ
มุณิกชาดก-ว่าด้วยผู้มีอายุยืน
ใน 16 แคว้นที่ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎกของชมพูทวีปนั้น โกศลคือชนอารยันที่ยิ่งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่ามคธรัฐซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเลือกเป็นดินแดนตรัสรู้และประกาศพระพุทธศาสนามาก่อน และสงฆ์สภาในพระอารามเชตวันแห่งมหานครสาวัตถีนครหลวงของโกศลก็คงความยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในจำนวนพุทธสถานทั้งหมดเช่นกัน
พระพุทธศาสดาทรงตรัสชาดกหลายพระชาติที่นี่ ชาดกแต่ละเรื่องมักจะมีเหตุมาจากพระสงฆ์สาวก แล้วทรงมีพระมหากรุณาธิคุณประทานแก้ไขเหตุนั้นให้ ดังพุทธกาลสมัยนี้ มีภิกษุในพระพุทธศาสนารูปหนึ่งอุปสมบทมานานหลายปี เกิดรุ่มร้อนต้องการลาสึกไปวิวาห์มีครอบครัว
ภิกษุรูปนี้ถูกกิเลสแห่งอิสตรีเข้าครอบงำจิตใจ จนนอนนั่งมิเป็นสุข แม้ยับยั้งชั่งใจด้วยสำนึกดีชั่วรู้หมดก็ยังอดใจไม่ไหว “เฮ้อ....ไม่ว่าจะเป็นธรรมะข้อใด ก็ไม่อาจลบน้องนางออกไปจากใจได้เลย” ด้วยสตรีตัวต้นเหตุซึ่งเป็นสาวแก่ที่หลงเหลือจากการแต่งงานมิได้ลดราผูกปฏิพัทธ์ต่อท่านเลยสักเวลา
“ใกล้เวลาทำวัตรเย็นแล้ว น้องจำใจกลับบ้านก่อนนะจ๊ะ หลวงพี่พรุ่งนี้น้องจะมาใหม่นะจ๊ะ” เปรียบได้ว่าตะวันขึ้นเมื่อใด นางนั้นก็ออกมาหายพร้อมแสงตะวันเมื่อนั้น เหตุนี้ทำความกระสับกระส่ายแก่ภิกษุท่านนี้ยิ่งนัก “เช้านี้จะได้เจอกับน้องหญิงอีกแล้ว ดีใจจังเลย” “อ้าวๆๆๆ ขันติไว้หน่อยๆๆ หลวงน้องเอ้ย”
“หลวงพี่ขา น้องจัดหาภัตตาหารให้เรียบร้อยแล้ว เพลนี้ไม่ต้องฉันในโรงทานนะจ๊ะ เดี๋ยวน้องถวายที่กุฏิเอง รับรองอร่อยกว่าที่ตักบาตรเช้านี้แน่ๆ จ๊ะ” “ผู้หญิงอาไร้ไม่รู้จักดีชั่ว น่าตำหนิจริงๆ เลย” ความวุ่นวายใจเป็นมารร้ายของการปฏิบัติพระธรรม เหตุดังนี้พระพุทธเจ้าสดับแล้วทรงประทานพุทธโอวาทแก่ภิกษุนั้นว่า
“ดูก่อนภิกษุมิใช่แต่บัดนี้ที่หญิงผู้นี้ทำเธอพินาศ เมื่อก่อนนั้นเธอถึงกับสิ้นชีวิตในวันวิวาห์ของหญิงนี้มาแล้ว” บัดนั้นองค์พระศาสดาทรงตรัสมุณิกะชาดกขึ้นแสดงให้เห็นบูรพกรรมไว้ดังนี้ ในชนบทนิคมหนึ่งเมื่ออดีตชาติยังมีชาวนากับบุตรสาวเลี้ยงชีพอยู่ด้วยการทำนาและกสิกรรมอย่างขยันขันแข็ง
โดยมีโคใหญ่คู่หนึ่งเป็นกำลังสำคัญ “พ่อจ๋า...ลูกเตรียมข้าวไว้ให้พ่อทานกลางวันเรียบร้อยแล้วนะจ๊ะ” “จ้า เดี๋ยวพ่อจะเอาหญ้าให้โคก่อนแล้วก็จะออกไปแล้ว เจ้าน่ะ วางไว้ตรงนั้นเถอะ” โคสีนิลเป็นผู้พี่ชื่อ มหาโลหิต โคสีน้ำตาลเป็นน้องชื่อ จุฬโลหิต ทั้งสองใช้แรงงาน แบกบรรทุก ทำไร่ไถนา ช่วยเหลือชาวนามิได้เกียจคร้าน
“ไปเจ้าโคทั้งสองถึงเวลาทำงานของเราแล้ว” โคทั้งสองออกจากคอกไปยังทุ่งนาพร้อมเจ้าของตั้งแต่เช้าตรู่และจะทำงานอยู่กลางทุ่งกว้างนั้นอย่างเหน็ดเหนื่อยจนตะวันตกดิน เมื่อเหนื่อยล้าโคสีน้ำตาลผู้น้องจะบ่นตัดพ้อในความอยุติธรรมของชาวนาทุกครั้ง “ตะวันจะตกดินแล้ว ไป๊ ไป กลับบ้านกันเถอะ เดี๋ยวข้าจะหาหญ้าอ่อนอร่อยๆ ให้พวกเจ้ากินนะ” “เฮ้ย เหนื่อยจริงๆ เลยทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำเนี่ย เกิดเป็นโคนี่มันลำบากจริงๆ” “เจ้าอย่าบ่นไปเลยน่า มันเป็นหน้าที่ของเรา ทำไปเถอะ” บางวันหากยังต้องบรรทุกสินค้ากลับบ้านอีก จุลโลหิตก็มักต่อว่าต่อขานกระทบไปถึงสัตว์เลี้ยงของชาวนาอีกตัวหนึ่งอยู่เสมอ
“เจ้านายเราก็จริงๆ เลย ไม่มีความยุติธรรม พี่ดูซิ เรารึ ทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ เสร็จงานเราต้องแบกของกลับบ้านอีก แต่เจ้านั่นนะ สบายทั้งวัน วันๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย ได้กินดีอยู่ดีกว่าเราซะอีก” “เรากับเขาก็เป็นสัตว์คนละชนิด เจ้าจะเอาไปเทียบกันได้ยังไง”
“พี่ก็ดูเอาเถอะ เราทั้งสองนะ ทำงานหนักเทียบตาย หาเลี้ยงทุกคนแต่มีอาหารแค่หญ้าแห้งๆ ให้กิน มันไม่ยุติธรรมเลย” “ทำไมเจ้าคิดอย่างนั้นล่ะ จุลโลหิต อะไรคือความไม่ยุติธรรมรึ” “ก็ เจ้าหมู มุณิกะ นะซิ วันๆ เอาแต่นอนหลับ ได้กินข้าวกินถั่ว มันน่าน้อยใจเจ้านายมั๊ยล่ะ ใช้งานเราแต่เช้าจนมืดค่ำ ไม่เคยให้กินอาหารดีๆ สักมื้อเดียว”
มุนิกะ เป็นสัตว์เลี้ยงอีกตัวที่ชาวนาเลี้ยงไว้ด้วยอาหารและการดูแลที่ดีกว่าโคทั้งสอง “อู๊ดๆ เป็นหมูนี่สบายจริงๆ เลยเราไม่ต้องทำงานหนักเหมือนเจ้าโคทั้งสอง นี่แหละน๊า บุญพาวาสนาส่ง ของอย่างนี้มันแข่งกันไม่ได้หรอกนะจ๊ะ” มุณิกะได้รับการบำรุงจนอวบอ้วนและโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ยิ่งโตมันก็ยิ่งกินอาหารมากขึ้นสิ้นเปลืองขึ้น แต่ทั้งชาวนาและลูกสาวก็ไม่ได้บ่นหรือตำหนิมันเลยแม้แต่น้อย “อูยอิ่ม กินไม่ไหวแล้ว นอนดีกว่า นายหญิงนี่ดีกับเราจริงๆ เล้ย หาอาหารดีๆ มาให้กินทุกวัน งานการก็ไม่เคยใช้ สบ๊ายสบาย” ความเป็นอยู่ของหมูมุณิกะแตกต่างจากความเป็นอยู่ของโคทั้งสองยิ่งนัก
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จุลโลหิตเกิดความไม่พอใจ แต่โคผู้พี่ก็เตือนสติน้องให้ลดความทุกข์ความริษยาไปในคืนหนึ่ง “น้องพี่ อย่าได้อิจฉาเจ้ามุณิกะมันเลย อาหารดีๆ นั่นนะ มันไม่ได้กินเพื่ออยู่แต่กำลัง มันกินเพื่อตาย” “จริงเหรอพี่” “จริงซิ เจ้าคอยดูเถอะ พรุ่งนี้จะมีงานหมั้นของคุณหนู เค้าต้องยิ่งปรนเปรอเจ้ามุนิกะให้อ้วนขึ้นไปอีก”
“เค้าคงเตรียมไว้เป็นอาหาร ฉลองงานแต่งวันข้างหน้าแน่ๆ วุ๊ย..คิดแล้วเสียวไส้” เมื่อถึงเวลาเช้า คุณหนูบุตรสาวของชาวนาก็เข้าพิธีหมั้นกับบุตรชายคฤหบดีของนิคมชนบทนั้น มีแขกมาร่วมงานไม่มากนัก เสร็จพิธีแล้วก็พากันกลับไป “วิวาห์ของเราใกล้เข้ามาแล้วนะ” “จ๊ะพี่ น้องตื่นเต้นจังเลย” “ใกล้ถึงวันแต่งลูกสาวเราแล้ว ต้องขุนเจ้ามุณิกะให้อ้วนกว่านี้อีกหน่อย”
ยิ่งใกล้วันวิวาห์บุตรสาวชาวนาก็ยิ่งบำรุงเจ้ามุณิกะเป็นการใหญ่ “โอ๊ย..อิ่มจนท้องจะแตกอยู่แล้ว นายหญิงนี่น่ารักจริงๆ เลย หานั่นหานี่มาให้กินตลอด นายหญิงจ๋า มุณิกะรักนายจังเลย”
ไม่กี่วันหลังการขุนมาอย่างดีหมูของชาวนาก็อ้วนพีจนเต็มที่ เจ้ามุณิกะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ลูกสาวชาวนาคอยหาอาหารดีๆ มาบำรุง คอบอาบน้ำขัดถูให้ทุกครั้งที่อากาศร้อน “มามะเจ้ามุณิกะมาอาบน้ำนะ เนื้อตัวเจ้าจะได้สะอาดสะอ้าน” “อ้า...เย็นสบายจัง ชาติก่อนเราต้องเคยมีบุญคุณกับนายหญิงแน่ๆ เลย เค้าถึงตอบแทนเราขนาดนี้ ฮ่ะๆๆ สบายตัว เย็นๆๆๆ”
และแล้ววันหนึ่งมุณิกะก็ถูกปล่อยออกมาจากคอก วันนี้คือวันเตรียมอาหารเพื่องานวิวาห์ในวันรุ่งขึ้นนั่นเอง “เอ๊ะทำไมวันนี้เราถึงถูกปล่อยออกมาจากคอกละ หรือว่านายหญิงจะพาเราไปเที่ยวนะ” “ผูกมุณิกะไว้กับเสาแล้วใช่มั๊ยลูก” “จ๊ะพ่อ” “โอ้โห..ตัวขาวอวบน่ากินนะเนี่ย เชือดได้เลยมั๊ยจ๊ะนาย”
“นี่มันวันอะไรกัน ทำไมคนมากันมากมาย แล้วต้มน้ำร้อนกันทำไมเนี่ย ว๊ายแล้วนั่นนายใหญ่กับนายหญิงพาใครมา น่ากลัวจังเลย” และแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นจริงตามคำพูดของโคมหาโลหิตที่บอกไว้แก่น้อง มุณิกะถูกจับมัดกับหลักเชือดหมู ด้วยมือนายหญิงที่มันรักนักหนานั่นเอง หมูอ้วนของชาวนากรีดร้องตั้งแต่ถูกพันธนาการอย่างเสียใจ จนกระทั่งร้องสุดชีวิตในนาทีเจ็บปวดจากคมมีดของคนฆ่าหมู
“เจ้ามุณิกะนี่ ร้องเสียงดังจังเลยแสบแก้วหูไปหมดแล้วเนี่ย” “โอ๊ย..นายหญิง ทำไมนายหญิงทำกับมุณิกะอย่างนี้” และแล้วเนื้อและไขมันของมุณิกะก็กลายเป็นอาหารหลายชนิดสำหรับงานฉลองพิธีวิวาห์ในวันต่อมา นับว่าเป็นประโยชน์เดียวที่ตอบแทนนายผู้เลี้ยงดูมันอย่างแสนจะคุ้ม “อื้อหือ อร่อยๆ อาหารนี่รสเยี่ยมมากเลย” “หมูนี่ก็นุ่มลิ้นกำลังดีเลย อร่อยจริงๆ”
“เออ..กินเต็มที่เลยนะเพื่อนยังมีอีกเยอะ” “เห็นโทษของการกินมากๆ หรือยัง บัดนี้มุณิกะกินจนวิบัติไปแล้ว เราจงพอใจหญ้าแห้งที่เหมาะสมกับเราเถอะ อายุจะได้ยืนยาว” “จ๊ะพี่ จะว่าไปหญ้าแห้งนี่มันก็อร่อยเหมือนกันเนอะ”
โคจุฬโลหิตผู้น้องเห็นสัจธรรมที่หมายถึงความจริงอันเป็นธรรมดาดังนี้ ก็ไม่มีทุกข์น้อยใจชาวนาอีกต่อไป โคทั้งสองตั้งใจทำงานตอบแทนชาวนา และบุตรสาวอย่างปกติสุขจนหมดอายุขัยสิ้นชีวิตตามกันไป ตามวาระกรรม เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงมุณิกะจบลง ก็ทรงเทศนาอริยสัจ 4_ให้ภิกษุที่ถูกกิเลสจากสตรีรุกรานเข้าใจเข้าถึงและพัฒนาความทุกข์ให้กลายเป็นสิ่งธรรมดา บรรลุโสดาบันคือแจ่มแจ้งในความจริงข้อนี้ได้ในบัดนั้น
ในพุทธกาลสมัย สุกรชื่อมุณิกะ กำเนิดเป็น ภิกษุผู้พ่านกิเลสรูปนี้
โคจุฬโลหิต กำเนิดเป็น พระอานนท์พุทธอนุชา
โคมหาโลหิต เสวยพระชาติเป็น พระพุทธเจ้า
มามุณิกัสสปิ อาตุรันนานิ ภุญชะติ
อัปโปสสุโก ภุสังขาทะ เอตัง ฑีฆายุลักขะณัง
เจ้าอย่าริษยาหมูมุณิกะเลย
มันกินอาหารอันทำเดือดร้อน
จงเป็นผู้ขวนขวาย น้องกินแต่แกลบหญ้าแห้งเถิด
นี่เป็นลักษณะแห่งความเป็นผู้อายุยืน