ชาดก 500 ชาติ
ครหิตชาดก-ชาดกว่าด้วยลิงติเตียนมนุษย์
ครั้งหนึ่งพระพุทธศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชนกลางมหานครสาวัตถี ทรงปรารภพระภิกษุรูปหนึ่ง เป็นภิกษุผู้ถูกเหล่าภิกษุสงฆ์ทั้งปวงกล่าวติเตียน เหตุเพราะท่านผู้นี้ถูกอำนาจกิเลสครอบงำ ให้อยากได้ อยากมี และอยากเป็นเจ้าของทรัพย์สิ่งของต่างๆ ไม่จบสิ้น เครื่องบริขารต่างๆ จึงถูกสะสมไว้เกินความพอเพียง
“ ฮือ งามเหลือเกิน ถ้านับชิ้นนี้ด้วย เราก็สะสมได้สิบชิ้นแล้วสิน่ะ ดีจังเลย ” มิใช่แต่บริขารที่สมควรเท่านั้นที่ภิกษุรูปนี้เก็บสะสมไว้ เขายังเสาะหาสิ่งของมีราคาอื่นๆ ไว้ครองอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน เพียงเพื่อความสุขที่ได้กล่าวว่า นี่ของตน นั่นก็ของตน แค่นั้นเอง
“ ของชิ้นนี้ของเราช่างสวยเหลือเกิน นั่นก็ของเรา นี่ก็ของเรา ของเราทั้งหมด สุขใจจริงๆ ” สิ่งอันน่ารังเกียจและถูกติเตียนของภิกษุรูปนี้อีกประการคือ การชอบแย่งชิงอวดอ้างเอาสิ่งของสาธารณะมาเป็นของตน “ อ้าวท่าน ปล่อยผ้าชิ้นนั้นเลย อาตมาจองไว้ ตั้งแต่เห็นเขาเอามาถวายสังฆทานแล้ว อาตมาเห็นก่อนฉะนั้นก็ต้องเป็นของอาตมา เอามาเลยๆ ไม่ต้องจับ ”
“ อะไรกัน แม้แต่ของที่ผู้ใจบุญเอามาถวาย ยังคิดจับจองเป็นเจ้าของได้อีกหรือนี่ ” นานวันเข้า คำติเตียนเรื่องกิเลสอยากได้อยากครอบครองของภิกษุรูปนี้ ก็ฉาวไปทั้งพระวิหาร ซึ่งแน่นอนว่าต้องรบกวนสู่พระเนตรพระกรรณของพระพุทธเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐด้วย
“ ท่านเป็นภิกษุสงฆ์อยู่ในพระธรรมวินัย ทำไมท่านไม่เคารพกฎของสงฆ์ยึดมั่นในพระธรรมวินัยเลยเล่า ไฉนยังสนใจแต่เรื่องกิเลส ” “ ฮึ อิจฉาที่เรามีของเยอะกว่าละสิ น่าเบื่อจริงๆ เลย ” องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณสงเคราะห์ภิกษุให้พ้นจากเงากิเลสแห่งโลภและหลงนั้น
“ ดูก่อนภิกษุ ธรรมดากิเลสนั้น แม้สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายก็ติเตียนมาแล้ว ในกาลก่อนเธอมีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์ ซ้ำมีวาสนาได้บวชในพระศาสนาเช่นนี้ ไฉนยังกระสันด้วยอำนาจกิเลสที่แม้สัตว์เดรัจฉานก็ติเตียนอีกเล่า ” ครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงตรัสเล่า ครหิตชาดก อบรมภิกษุดังนี้
หิมวันตประเทศอันคลาคล่ำด้วยสรรพชีวิตนักพรตชีไพรในอดีต ยังมีวานรน้อยตัวหนึ่งกำเนิดขึ้นกลางฝูงวานรจำนวนมาก ออกติดตามฝูงหาผลไม้กินจนเติบใหญ่อยู่ในหิมพาน “ เจี๊ยกๆๆ เพื่อนเราหายไปไหนหมดเนี่ย เผลอแปปเดียวเอง ” เคราะห์ร้ายวันหนึ่งวานรตัวนี้ถูกพรานป่าจับได้ จึงนำออกจากป่ามามัดไว้ในหมู่บ้านเพื่อถวายต่อพระเจ้าพรหมทัตกษัตริย์พาราณสี
“ ได้เวลาเดินทางแล้วลิงน้อยเอ๋ย เจ้าจะได้อาศัยพระราชนิเวศน์ อยู่ให้สบาย อย่าโวยวายไปเลย ” “ เจี๊ยกๆๆ ปล่อยๆๆ ปล่อยเราไปเดี๋ยวนี้ เราไม่ไปอยู่ที่ไหนทั้งนั้นแหละ ” วานรตัวนี้มีสติปัญญาติดตัวมาแต่ปางก่อน กุศลกรรมอันดีเช่นนี้เป็นรางวัลของผู้เคยทำบุญทานไว้ ใครพบเห็นก็รักใคร่เมตตา “ เจ้าลิงน้อยนี่ ช่างน่ารักจริงๆ ดูท่าทางฉลาดกว่าลิงธรรมดาเลยนะเนี่ย ขอบใจเจ้ามากที่นำมาให้เรา ทหารนำของรางวัลมามอบให้พรานคนนี้หน่อย มาอยู่กับเรานะ เจ้าลิงน้อย ” “ เจี๊ยกๆๆ ”
พระเจ้าพรหมทัตทรงบัญชาให้พรานดูแลวานรนั้นในพระราชอุทยาน ยามทรงว่างราชกิจ ก็มักสำราญพระทัยกับความฉลาดของลิงตัวนี้อยู่เสมอ “ อ้าว เลือกสิว่า ผลสาลี่ที่เจ้าชอบมันอันไหน เฮอะๆๆ ฉลาดจริงๆ รู้จักซะด้วย ” จากเดือนจนผ่านไปเป็นปี วานรจากหิมพานก็ยิ่งฉลาดใกล้เคียงมนุษย์ขึ้นทุกที “ เจ้าลิงน้อยตัวนี้ รบเร้าที่จะนำผลไม้มาถวายพระองค์พะยะค่ะ ”
“ หึๆ เจ้าลิงน้อยของข้า เจ้ารู้จักนำผลไม้มาถวายเราด้วยรึนี่ มา มา มะ น่ารักจริงๆ เลย เจ้านี่ฉลาดขึ้นทุกวัน” ด้วยความที่วานรนั้นมักนำผลไม้มาถวายอยู่เสมอๆ
วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงระลึกได้ “ ชะรอยลิงน้อยคงสำนึกรักบ้านเกิด การนำมันมาใช้สอยในวัง คงลำบากแก่มันไม่น้อย เอาล่ะเราจะปล่อยเจ้าให้มีอิสระ เจ้าคงอยากใช้ชีวิตกับญาติๆ ของเจ้ามากกว่าละสิ ”
พระเจ้าพรหมทัตทรงหลั่งอุทกให้ชีวิตเป็นทาน ปล่อยวานรนั้นสู่ป่าหิมพานต์บ้านเกิดในเวลาต่อมา “ ไปเถิดเจ้าลิงเอ๋ย เราจะปล่อยให้เจ้าเป็นอิสระ นั่นคงทำให้เจ้ามีความสุขมากกว่าอยู่ที่นี่สินะ นายพรานเจ้าจงเป็นธุระนำสัตว์ผู้ร่วมทุกข์ตัวนี้กลับสู่มาตุภูมิของมันด้วยเถิด ” ไม่นานต่อมานายพรานก็เดินทางถึงกลางป่าหิมพานใกล้ถิ่นเดิมที่เคยจับตัวลิงน้อยได้ จึงมอบอิสรภาพแก่กันตรงนั้น “ ลาก่อนเจ้าลิงน้อยหวังว่าคงจำทางกลับบ้านของเจ้าถูกนะ ”
เวลานั้นหิมวันตประเทศเขตวานรนิวาสก็ครึกครื้นด้วยความยินดีในการกลับมาของลิงในฝูงผู้จากไปนับปี “ เร็วๆๆ เจ้าลิงน้อยนั่นกลับมาแล้วนะ ไปต้อนรับกันเถอะพวกเรา ไปๆๆ ” “ จริงเหรอ ดีจังเลย ไม่รู้เค้าไปไหน มามะ รีบไปกันเถอะ ข้าจะให้ลิงน้อยนั่นเล่าให้ฟังซะหน่อย ” เหมือนอาคันตุกะมาเยือน ลิงผู้คืนสู่เหย้าจึงได้รับเกียรติให้นั่งที่โล่งแจ้งเป็นจุดเด่น
“ สวัสดี เราจากที่นี่ไปนาน แต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิมเลยนะ เราคิดถึงพวกท่านมากเลย พวกท่านเป็นยังไงกันบ้าง สบายดีกันใช่ไหม ” วานรผู้กลับสู่บ้านเกิดบอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ในพาราณสีจนหมด แต่กับความประพฤติของมนุษย์กลับไม่อยากพูดถึง “ ทำไมละ ทำไมเจ้าถึงไม่อยากเล่าเรื่องความประพฤติของมนุษย์ให้เราฟังละ ” “ นั้นนะสิ เราอยากรู้จังว่า มนุษย์พวกนั้นเขาเป็นยังไงกัน ” “ เล่ามาเถอะนะ เล่ามาเถอะ ข้าอยากจะรู้ ”
ลิงตัวอื่นๆ รบเร้าอยู่นาน วานรน้อยนี้ก็ไม่ยอมปริปากเล่าเรื่องนี้แต่อย่างใด จนถึงกับมีลิงอาวุโสขึ้นมาขอร้อง ลิงตัวสำคัญของพระเจ้าพรหมทัตจึงจำใจบอกเล่าเรื่องมนุษย์ให้ฟัง “ เล่ามาเถิด เจ้าลิงน้อย ถือว่าเป็นการให้ความรู้แก่พวกเราชาวลิง ”
“ ความจริง เราไม่อยากพูดถึงผู้มีชีวิตพวกนี้เลย มันไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่หากพวกท่านอยากรู้จริงๆ เราจะเล่าให้ฟังทุกๆ คนไม่ว่าวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ หรือพ่อค้า แต่ละคนทั้งหลายนั้น ต่างไม่เคยเพียงพอในสิ่งที่พวกเขามีอยู่ ต่างพากันกล่าวแต่ว่า สิ่งนั้นของเรา ตั้งแต่พูดได้จนตายลง ตั้งแต่เราไปอยู่ที่นั่น เราก็ได้ยินคำนี้มาตลอด จนกระทั่งถึงวันที่เราถูกปล่อยตัวออกมา แม้แต่ตัวของเราเองก็กลายเป็นของสิ่งนั้นของเขาเหมือนกัน พวกเขากลุ่มหนึ่ง ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยที่ชอบสนุกสนานเอาประโยชน์กับการฆ่าฟันผู้อื่น ทำลายผู้อื่นเพื่อความอยู่ต่อไปของตน ” “ ฮ่าๆ นั่นไงฝีมือข้า ลูกธนูโดนลำตัวลานั้นเต็มๆ ” “ โอ้ย ของเจ้ายิงตั้งหลายดอกถึงจะถูก ของข้านี้ ดอกเดียว ครั้งเดียว ปักคอเล้ย ฮ่าๆๆ ”
พวกมนุษย์มักฉ้อฉลเอาเปรียบกันในประโยชน์โชคลาภเป็นอาจิณ มนุษย์ลักขโมยกันตลอดเวลา โดยไม่เคยนั่งคิดทบทวนถูกผิด “ เฮ้ย อันนี้ข้าจะยักยอกไว้เอง เจ้ารีบเอาไปซ่อนไว้ด้านโน้นเร็วเข้า เดี๋ยวจะมีใครมาเห็นของดีเลยนะเนี่ย ” “ การครองเรือนมีคู่ของชายหญิงก็มีไม่น้อย ที่พวกเขาไม่สื่อสัตย์ต่อกัน หญิงหนึ่งอาจร่ำลาสามีประหนึ่งอาวรณ์ห่วงใย แต่ในเวลาเดียวกันก็มีชายอื่นมาสำรองระเริงชู้กัน ” “ พี่จ๊ะ อย่าไปนานนักนะจ๊ะ น้องกลัวจะอยู่คนเดียวไม่ได้ (ฮึ ไปเลย ไปหลายวันเลยก็ดี จะได้มีเวลาอยู่กับชู้รัก) ”
“ ชายอันเป็นชู้กับสตรีของคนอื่น ก็มีสตรีอีกคนเป็นเจ้าของอยู่แล้วเช่นกัน ” “ น้องจ๋า พี่ต้องไปต่างจังหวัดสัก 2-3 วัน เจ้าอยู่คนเดียวระวังตัวด้วยนะจ๊ะ พี่เป็นห่วงเหลือเกิน (ฮึๆ มีเวลาตั้ง 2-3 วัน แอบไปหาชู้รักของเราดีกว่า) ” มนุษย์มีกามเป็นอาภรณ์ แม้สวดมนต์ภาวนาสักเท่าใด ก็ไม่อาจเข้าถึงพระธรรมบริสุทธิ์ได้จริง อีกผู้คนยังห่างธรรมะแทบทั้งแผ่นดินก็ยังประพฤติผิดทางวาจา “ นายข้าเป็นคนดีมากเลย เจ้าไว้ใจเถอะ ลงคะแนนให้นายข้า แล้วเจ้าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้แน่ เอาๆ นี่เงินเล็กน้อยเอาเก็บไว้ใช้ถ้านายข้าได้รับเลือก เจ้าจะได้มากกว่านี้อีก ”
“ อีกทั้งยังมีคนบาปผู้อ่อนแอที่ใช้น้ำเมาเป็นที่พึ่งแก่ตน พวกเขาดื่มเพื่อให้ลืมเกรงกลัวเจ้านาย ลืมเกลียดกลัวภรรยาชั่วขณะ พวกเขาทำลายบุคลิกและสุขภาพตนเองด้วยน้ำเมากันเป็นนิจ “ ฮึ ดื่มเข้าไปเถอะเหล้านี่ ดื่มแล้วมีอะไรดีขึ้นมาบ้างไหม งานก็โดนไล่ออก หนี้สินอีกก็ล้นพ้นตัว ไม่รู้จักหางงหางานทำ ชั้นละเซ็งจริงๆ กับแก่เนี่ย ” “ โอ้ เมียจ๋า อย่าโกรธไปเลยนะจ๊ะ เดี๋ยวแก่เร็ว อย่างน้อยเหล้าเนี่ยก็ทำให้พี่มองน้องสวยขึ้นนะจ๊ะ ” “ ที่สำคัญมนุษย์ยังแบ่งแยกหมู่เหล่ากัน โดยยกตนและพวกตนว่าถูกต้อง ว่าดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ” “ นายข้าถูก นายเจ้าล่ะผิด ” “ นายของเจ้านั่นแหละที่โกงกิน นายของข้าดีกว่า ”
“ ชาติพันธ์ของมนุษย์คืนสูญสลายไปแบบล้างเผ่ากันมาแล้วหลายกัปหลายกัลป์เพราะการถือกิเลสตัณหาของเราๆ นี่แหละ เพื่อนลิงทั้งหลายเอ๋ย ด้วยเหตุนี้ยังไงละเราถึงไม่อยากกล่าวถึงมนุษย์นัก ” วานรทั้งฝูงเมื่อได้รู้ถึงพฤติกรรมของมนุษย์เช่นนั้นก็พากันติเตียน บ้างก็ชำระล้างหูของตน แล้วร่วมใจกันย้ายถิ่นฐานให้ไกลจากมนุษย์เข้าไปในป่าลึกสุดๆ ของหิมพานต์ “ จึ๋ย เจี๊ยก ถ้าเรารู้ว่าพฤติกรรมของมนุษย์เลวร้ายเช่นนี้นะ เราไม่ขอให้เจ้าเล่าให้ฟังดีกว่า ฟังแล้วขนลุกเลย เจี๊ยก ” “ น่าเกลียด น่ากลัวจริงๆ เลย ชาตินี้ขอละนะ อย่าให้พบให้เจอกันเลย ”
พระพุทธศาสดาแสดงพระธรรมเทศนา ครหิตชาดกนี้จบแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมเป็นอริยสัจภิกษุผู้มีกรรมแต่ปางบรรพ์ ก็ตั้งจิตมั่นในโสดาปัตติผล คือเข้าใจพระธรรมบรรลุโสดาบัน
ในพุทธกาลต่อมา ฝูงวานรแห่งหิมพานต์ กำเนิดเป็น พุทธบริษัท
วานรผู้เลิศปัญญา เสวยพระชาติเป็น พระพุทธเจ้า