ชาดก 500 ชาติ
มัจฉทานชาดก-ชาดกว่าด้วยการให้ข้าวเป็นทานแก่ปลา
ณ แคว้นโกศล ทุกเช้าในตลาดกลางหมู่บ้านจะคึกคักด้วยผู้คน ชาวบ้านชาวเมืองที่ออกมาจับจ่ายใช้สอย บ้างก็ซื้อของเพื่อทำอาหาร บ้างก็สนทนาทักทายพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน บางครั้งก็จะมีพ่อค้าจากต่างเมืองนำของมาขาย ซึ่งมักจะเป็นที่สนใจของชาวบ้านอยู่เสมอ
เพราะของเหล่านั้นล้วนเป็นของหายาก ครั้งนั้นได้มีพ่อค้าคนหนึ่งได้นำผ้าจากต่างเมืองมาขาย ผู้หญิงทั้งวัยสาววัยใหญ่เดินมาเลือกหยิบดูอย่างสนใจ “ เชิญเลยครับ เชิญมาเลือกซื้อเลือกหากันได้เลย ผ้าสวย ๆ เนื้องาม ๆ จากต่างเมือง มาซื้อครั้งนี้ก็ต้องชวดไปอีกหลายเดือนเลยนะครับพ่อแม่พี่น้อง มีของดีหายากมากมายให้เลือกกันแล้ว ”
“ เธอ ๆ ดูนี่ซิ ผ้าผืนนี้สวยจังเลยเนอะ สีสวยถูกใจ เนื้อผ้าน่าจะใส่สบายน่ะ เธอว่าฉันใส่สีนี้แล้วจะสวยไหม ” “ อือ ก็สวยดีนะ แต่ผืนนั้นก็สวยเหมือนกันนะ เธอใส่แล้วน่าจะสวยแล้วฉันล่ะ ควรจะเอาสีไหนดีล่ะ พ่อค้าแต่ราคามันสูงไปหรือเปล่า ” “ โอ้ย เนื้อผ้าดีอย่างนี้ก็ถูกสุด ๆ แล้วจ้า ซื้อไปเถอะ นี่กำไรนิดหน่อยเป็นค่าเดินทางแค่นั้นเอง ”
พ่อค้าขี้โกงรายนี้ มักจะหาผ้าราคาถูก ๆ บ้างก็เป็นผ้าเก่าที่ขายไม่ได้ นำมาย้อมสีใหม่ ตกแต่งให้ดูสวย แล้วมาตีราคาให้เป็นผ้าเนื้อดี หลอกลูกค้าว่าเป็นผ้าจากต่างเมืองเนื้องามหายาก ตั้งราคาไว้สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้เค้าได้กำไรมากมาย ผ้าพวกนั้นเมื่อคนซื้อไปแล้ว บ้างซักแล้วก็สีตก บางผืนเมื่อใส่ได้ 2-3 ครั้งก็ยับยู่ยี่ บ้างก็หดบ้างก็ยืดไม่ได้คุณภาพสมราคาเลยสักผืน
ลูกค้าที่ซื้อไปต่างไม่พอใจกันสักราย ครั้นจะนำไปคืนหรือต่อว่าพ่อค่ารายนี้ก็สายไปเสียแล้ว เพราะพ่อค้าอยู่ขายผ้าในแต่ละเมืองแค่ไม่กี่วัน เค้าก็เดินทางไปขายต่อที่อื่นอยู่เรื่อย ๆ “ พ่อค้าขายผ้าคนนั้นย้ายไปขายเมืองอื่นแล้วเหรอ แหมมันน่านักเชียว หลอกให้เราซื้อผ้าตั้งแพง ดูสิใส่ไป 2-3 วัน ผ้าก็หด ไม่ได้รูปเลย น่าโมโหนัก ” “ นั่นนะสิ ของฉันยังไม่ได้ใส่เลย เอาไปซักสีตกน่าเกลียด เอามาใส่แทบไม่ได้ คอยดูนะถ้ามาอีกเนี่ย แม่จะด่าให้ดูเลย ” 3-4 เดือนผ่านไปพ่อค้าขี้โกงคนเดิมก็เข้ามาขายของในแควันโกศลอีกครั้ง
แต่ทว่าครั้งนี้เขาเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเสียใหม่ สินค้าที่นำมาขายก็เปลี่ยนไป ทำให้ชาวบ้านที่เคยโดนหลอกให้ซื้อของแพงจำไม่ได้ “ เครื่องประดับสวย ๆ งาม ๆ จากต่างเมืองจ้า เชิญเลือกเข้ามาดูกันได้เลยนะจ๊ะ ไม่ซื้อไม่ว่า แต่ขอให้เข้ามาดูกันก่อนนะจ๊ะ สวย ๆ ทั้งนั้น ใส่แล้วก็ทำให้คนใส่สวยไปด้วยนะจ๊ะ เชิญเข้ามาดูกันก่อนเลยจ้า ”
ครั้งนี้พ่อค้าขี้โกงก็ค้าขายได้ผลกำไรงามได้อีกเช่นเคย ไม่มีใครข้องใจในตัวเขาเลยแม้แต่น้อย “ ชาวบ้านแถวนี้นี่โง่จริง ๆ เลย มาที่ไรก็หลอกได้ทุกที ฮ่า ฮ้า ฮ่า กำไรงามดีนัก ครั้งหน้าจะเอาอะไรมาหลอกขายดีน่ะ รีบนอนดีกว่าพรุ่งนี้ต้องรีบออกเดินทางแต่เช้า เดี๋ยวเกิดแม่สาวที่ซื้อเครื่องประดับพวกนั้นจำได้ว่าเราเอาของปลอมมาขายมีหวังจบเห่แน่ ”
เมื่อพ่อค้าขี้โกงเดินทางออกจากเมืองไปแล้ว ก็ตระเวนไปหลอกขายของจากที่อื่น ๆ อีก เมื่อผ่านไป 2-3 เดือนก็กลับมาขาย ณ ที่เดิมอีก วนเวียนอยู่หลายครั้งจนชาวบ้านนำมาเล่าแล้วบอกต่อ ๆ กัน เพื่อป้องกันการโดนหลอกอีก ครั้งนั้นพระศาสดาเสด็จประทับในพระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศลได้ทราบเรื่องราวของพ่อค้าขี้โกงคนนี้จึงได้ตรัสอดีตนิทาน มัจฉทานชาดก ดังต่อไปนี้
กาลครั้งหนึ่ง ณ เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ยังมีมานพสองพี่น้องเกิดในตระกูลพ่อค้า เมื่อเติบโตขึ้นมาก็เป็นพ่อค้าเช่นเดียวกับตระกูล เขาทำงานเก็บออมเงินทองไว้ตามอย่างผู้เป็นบิดา มานพหนุ่มผู้เป็นพี่ ทำการซื้อขายอย่าซื่อสัตย์สุจริต นำของดีมีคุณภาพมาขายในราคายุติธรรม
ทำให้มีลูกค้าประจำมาซื้อของจากเขามากมาย แม้กำไรที่ได้ต่อชิ้นจะมามากมายนัก แม่เมื่อมีลูกค้ามาซื้อมากมายและต่อเนื่องจึงทำให้เขาค้าขายได้ดี มีเงินเก็บออมมากมาย
ส่วนคนน้องนั้นเล่า เป็นพ่อค้าขี้โกง มักจะเอาเปรียบลูกค้า ด้วยการค้าขายเกินกำไร เอาของราคาถูกไม่มีคุณภาพมาขาย บ้างก็ตีราคาสินค้าสูงเกินคุณภาพ จึงทำให้เขาได้กำไรมากมายในการขายของแต่ละครั้ง แต่ไม่มีใครที่จะเป็นลูกค้าเจ้าประจำของเขาเลยสักราย ต่อมาบิดาของมานพทั้งสองตายไป มานพทั้งสองได้จัดฌาปนกิจศพบิดาจนเสร็จ แล้วก็ช่วยกันจัดการค้าขายในบ้านต่อจากผู้เป็นบิดาต่อไป เมื่อจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ในบ้านจนเข้าที่แล้ว มานพผู้พี่ก็คิดถึงหนี้สินเรื่องต่าง ๆ ที่มีคนมาขอยืมจากผู้เป็นบิดา จึงคิดจะไปทวงคืน
“ บัดนี้บิดาเรา เพิ่งมาตายไปใหม่ ๆ ผู้คนยังจำเรื่องราวยืมเงินจากบิดาไปได้ ถ้าปล่อยเวลาไปเนิ่นนานผู้คนก็จะลืมหนี้สินของบิดาไปสิ้น เราควรจะรีบไปเก็บเงินพวกนั้นจากชาวบ้านพวกนั้นเสีย ” เมื่อคิดได้ดังนั้นมานพผู้พี่ก็ชวนน้องชายไปทวงหนี้ของบิดา หนี้อยู่ตำบลอื่น
สองพี่น้องจึงลงเรือไปยังบ้านตำบลนั้น “ บิดาของพวกท่านเสียแล้วหรือนี่ น่าเสียดายจริง ๆ ที่เราไม่มีโอกาสได้เคารพศพ ท่าน เงินที่เราได้ยืมจากพ่อของท่านทั้งสองเราได้เตรียมมาคืนให้แล้วนะ พร้อมดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ ก็ ๑ พันกหาปณะพอดี ” “ ขอบใจจ้า งั้นฉันกับน้องลากลับก่อนนะ ต้องเดินทางอีกไกล ”
เมื่อทวงหนี้ได้แล้ว มานพสองพี่น้องนำเงินห่อไว้อย่างเรียบร้อย ขณะเดินทางกลับได้แวะจอดเรือที่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง ขึ้นจากเรือไปหาอาหารกินกันอย่างอิ่มหน่ำสำราญ “ อาหารร้านนี้อร่อยถูกปากนักนะพี่ ราคาก็ไม่แพงด้วย นี่ถ้าเป็นน้องขายละก็ คิดแพงกว่านี้แน่ ราคาแค่นี้กว่าจะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ไม่ต้องขายกันเป็นปี ๆ เหรอ ” “ เจ้าก็ค้าขายเอากำไรเกินเหตุ ขายได้กำไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็พอแล้ว ขายแพงคนเขาก็ไม่อยากกิน กินแค่ครั้งสองครั้ง เขาก็เข็ดไม่อยากมากินอีก พี่ว่านะ สู้ขายกันไปนาน ๆ ดีกว่า ”
พ่อค้าผู้พี่เมื่อทานข้าวเสร็จแล้ว ได้นำข้าวสุกที่เหลือเอามาหว่านให้แก่ฝูงปลาเป็นทาน แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เทพยดาฟ้าดินที่สิงสถิตอยู่ในแม่น้ำแห่งนี้ “ มา มา มา เจ้าปลาทั้งหลายมากินข้าวนี้เถิด ” “ เอ จะเอาข้าวไปให้ปลามันทำไม เสียดายแทนที่จะกินให้หมด ๆ ปลามันอยู่ในน้ำ เดี๋ยวมันก็หากินเองในน้ำนั้นแหละ เฮ้อ ทำอะไรเสียเวลาจัง พี่เนี่ย ” “ เอาน่า พี่จะให้มันก็เรื่องของพี่ เจ้าไม่ให้ก็อย่าพูดอะไรมากน่ะ ”
เมื่อมานพผู้พี่เอาเศษอาหารให้ปลาแล้ว ก็ตั้งจิตอธิษฐานอุทิศส่วนกุศลให้แก้เทพยดาฟ้าที่สิงสถิตอยู่ในแม่น้ำแห่งนี้ ส่วนเทวดาผู้รักษาน้ำได้อนุโมทนารับส่วนกุศล ที่มานพผู้พี่อุทิศมาให้ ลาภยศอันเป็นทิพย์ก็บังเกิดขึ้นแก่ตน พ่อค้าผู้พี่เมื่ออุทิศส่วนกุศลเรียบร้อยแล้วก็เอาผ้าห่อปูริมแม่น้ำลงนอนพักหลับไป
ส่วนน้องชายผู้มีจิตใจละโมบโลภมากอยากได้เงิน ๑ พันกหาปณะเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียวจึงคิดวางแผนฮุบเงินนั้นเสียด้วยอุบายแยบยล “ พี่เอ๋ย หลับให้สบายเถอะเดี๋ยวน้องจะเฝ้าถุงเงินนี้ให้เอง ฮะฮ่า เรื่องอะไรเราจะจะแบ่งเงินนี้ให้ท่าน เอาเก็บไว้ใช้คนเดียวดีกว่า ”
พ่อค้าน้อง เมื่อเห็นพี่ชายนอนหลับสนิทก็นำเอาก้อนกรวดมาผูกไว้ในผ้าให้เหมือนกับห่อผ้ากหาปณะ แล้วเอาไปเปลี่ยนแทนที่ห่อเงินนั้น ถือเอาห่อเงินจริง ๆ มาซ่อนไว้เสีย “ หึ แผนแรกสำเร็จ ต่อไปแผนสอง รอให้พี่ตื่นมาเสียก่อน ฮิ ฮิ ”
เมื่อมานพพี่ชายตื่นขึ้นแล้ว ก็ชวนน้องชายล่องเรือกลับสู่บ้านเรือนของตน ขณะที่เรือมาถึงยังกลางแม่น้ำ น้องชายทำเรือให้โครงเครงแล้วแกล้งทำห่อเงินปลอมตกน้ำไปแต่กลับหยิบผิด กลับเอาห่อเงินจริงทิ้งลงน้ำไปเสีย “ โอ้ย ๆ ๆ ตายแล้วพี่ชาย เรือโครงเครงไปมา ห่อกหาปณะเลื่อนตกน้ำเสียแล้ว เราจะทำอย่างไรดีล่ะพี่ ” “ เฮ้อ น้องเอ๋ย ห่อเงินตกในน้ำแล้วแบบนี้ พวกเราจะทำอะไรได้ล่ะ แม่น้ำทั้งกว้างและใหญ่และลึกเหลือเกิน ครั้นจะกระโดดลงไปหาก็คงยาก เจ้าอย่าอาลัยเสียใจไปเลย ตัดใจเสียเถอะเรารีบกลับบ้านกันดีกว่า ” “ แหมมันน่าเสียดายนะพี่ ตั้ง ๑ พันกหาปณะ เฮ้ย แต่ก็อย่างว่าแหละพี่ เราจะทำอะไรได้ ก็คงต้องปล่อยให้มันตกน้ำไป ” (ฮิฮิ เสร็จเรา)
เทวดาผู้รักษาน้ำเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงคิดช่วยเหลือทดแทนส่วนบุญที่พ่อค้าผู้พี่ได้อุทิศมาให้ “ ตัวเราได้อนุโมทนาส่วนบุญที่พ่อค้าผู้พี่ชายอุทิศให้ เราจึงเจริญด้วยลาภยศอันเป็นทิพย์ นับว่าพ่อค้าผู้นี้มีบุญคุณต่อเรา เราควรจะต้องรักษาทรัพย์ที่ตกน้ำนั้นไว้ให้เขา ” เทวดาได้บันดาลให้ปลาตัวใหญ่มาหุบเอาห่อเงินกลืนกินเข้าไปในท้อง จากนั้นเทวดาก็ติดตามรักษาปลาตัวนั้น เพื่อหาลู่ทางในการนำเงินมาคืนพ่อค้าผู้พี่ได้ในสักวัน
เมื่อพ่อค้าทั้งสองกลับมาถึงบ้านแล้ว พ่อค้าผู้น้องรีบเข้าเรือนตน ปิดประตูให้เรียบร้อยมั่นเหมาะ แอบเอาห่อเงินที่ซ่อนไว้เปิดออกดู ครั้นเห็นมีแต่กรวดก็รู้ว่าหยิบห่อผิดทิ้งลงน้ำเสียแล้ว จึงเกิดความเสียใจได้แต่นอนซมเซาบนเตียงเศร้าโศกตรอมใจจนร่างกายผ่ายผอม หน้าตาเศร้าหมองเหมือนคนไข้หนัก
ในเวลาเดียวกันนั้น ชาวประมงทอดแหจับปลาตัวใหญ่ได้ นำปลาตัวใหญ่ออกเร่ขายในราคา ๑ พันกหาปณะกับอีก ๗ มาสก ผู้คนที่พบเห็นพอทราบราคาปลาก็ทำท่าหัวเราะ “ อะไรกันพ่อค้า ปลาตัวใหญ่ก็จริงแต่ราคาขนาดนั้น ใครจะซื้อ ปลาอะไรตัวตั้งพันกหาปณะ กับ ๗ มาสก ลดให้ฉันเหลือแค่ ๗ มาสก ได้ไหมล่ะ ” “ เราลดให้ท่านไม่ได้หรอก สำหรับท่าน ราคาต้องเท่านี้เท่านั้นจ๊ะ ท่านไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราเอาไปขายที่อื่นต่อ ”
พ่อค้าปลาเร่ขายปลาราคาเช่นนั้นจนมาถึงบ้านพ่อค้าผู้พี่ชายเมื่อมานพผู้พี่ ออกจากเรือนมาดูปลา ชาวประมงจึงเชื้อเชิญให้มานพผู้พี่นี้ซื้อปลาจากเขา “ ท่านจงซื้อปลาตัวนี้จากเราไปเถิด เราขายให้ท่านเพียง ๗ มาสก เท่านั้นเอง ” “ แล้วถ้าท่านขายให้ผู้อื่นล่ะ ราคาเท่าไหร่ ” “ ถ้าขายให้ผู้อื่นเราจะต้องขายในราคา ๑ พันกหาปณะกับอีก ๗ มาสก แต่สำหรับท่านเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เราจะขายเพียง ๗ มาสก ”
มานพผู้พี่ได้ซื้อปลาตัวนั้นจากพ่อค้าแล้วก็นำมาให้ภรรยานำมาปรุงเป็นอาหาร เมื่อภรรยาผ่าพุงปลาแลเห็นถุงเงินจึงรีบมาบอกสามี ครั้นมานพผู้พี่ไปดูเห็นถุงเงินนั้นมีรอยตราเป็นเล็บของตนก็รู้ว่าเป็นถุงเงินที่ตกลงไปในแม่น้ำนั้นเอง “ เจ้าของปลา เมื่อขายปลาให้กับผู้อื่น เรียกราคาปลา ๑ พันกหาปณะกับอีก ๗ มาสก ครั้นขายให้เราเรียกราคาเพียง ๗ มาสก เท่านั้น ดูเหมือนเขาต้องการจะนำเงิน ๑ พันกหาปณะซึ่งเป็นของเราเอามาคืนเรา เหตุการณ์น่าอัศจรรย์จริงหนอ เพราะเหตุใดเราจึงได้ทรัพย์นี้คืนมาน่ะ
” เทพยดารักษาน้ำอยู่ตรงนั้นแต่ไม่แสดงกายให้ปรากฎเปล่งเสียงว่า “ เราคือเทพยดาที่รักษาแม่น้ำ เราได้อนุโมทนาส่วนบุญที่ท่านได้ข้าวสุกแก่ปลา และอุทิศให้เรา ทำให้เราได้ลาภและยศอันเป็นทิพย์ เรารู้คุณท่าน จึงช่วยรักษาทรัพย์ที่ตกน้ำ และบันดาลให้ทรัพย์นั้นกลับคืนมายังท่านในบัดนี้ อนึ่งน้องชายของท่านเป็นคนโกง ประพฤติชั่ว ต้องการหุบเอาเงินบิดาท่านไว้กับตนเพียงคนเดียว จึงแกล้งเอาห่อกาหาปณะปลอมโยนทิ้งแม่น้ำ แต่หยิบผิด หยิบเอาห่อกหาปณะจริงทิ้งไปเสีย บัดนี้ได้นอนกอดห่อก้อนกรวด นอนซบเซาตรอมใจอยู่บนเตียง ท่านไม่ควรแบ่งเงินนี้ให้แก่น้องชายท่าน โกงขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีจิตทุจริต ประทุษร้ายไม่ซื่อตรงแล้ว ย่อมไม่มีความสุขความเจริญทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ใช่แต่เท่านั้น แม้เทวดาทั้งหลายก็ไม่พิทักษ์รักษาผู้มีจิตประทุษร้าย อนึ่งผู้ใดเป็นผู้กระทำกรรมอันชั่วช้า คิดยักยอกทรัพย์อันเป็นมรดกของบิดามารดาเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่ปรารถนาจะแบ่งให้กับพี่ชาย เทพยดาทั้งหลายก็ไม่รักษา ไม่บูชาผู้นั้น แลไม่อยากให้ผู้นั้นเลย ”
เทวดาเมื่อพูดเสร็จแล้วก็จากไป มานพผู้พี่ด้วยความสงสารน้องและเห็นแก่ความยุติธรรม เขาไม่อาจทำตามถ้อยคำของเทวดาได้ จึงแบ่งเงิน ๕๐๐ กหาปณะให้น้องชายไป แต่นั้นมามานพผู้พี่ก็ทำมาค้าขึ้น เป็นที่รักเจริญใจของผู้คบหาสมาคมด้วย เมื่อสิ้นอายุขัยต่างคนต่างไปตามกรรมของตน
พ่อค้าที่เป็นน้องชายในครั้งนั้น คือพ่อค้าชาวโกศลที่ขี้โกงในคราวนี้
พ่อค้ามานพผู้พี่ เสวยพระชาติเป็น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า