ชาดก 500 ชาติ
การันทิยชาดก-ชาดกว่าด้วยการทำที่เหลือวิสัย
ครั้งหนึ่งในพุทธกาลสมัยยังมีเรื่องราวอันเป็นเหตุให้ต้องบอกบอกศีล สอนธรรมะแก่ฆราวาสผู้ครองเรือนขึ้นในพระเชตวันอารามหลวงแห่งสาวัตถีเพื่อไม่ให้ภิกษุสงฆ์กระทำสิ่งอันเหลือวิสัยนั้น ปฐมเหตุเรื่องนี้เกิดขึ้นในกรุงราชคฤห์ ซึ่งพระสารีบุตรเถระได้เจริญธรรมสั่งสอนศิษย์และโปรดชาวมคธอยู่ที่นั้น
พระธรรมเสนาบดีมีเมตตาสูงจึงให้ศีลแก่ชาวเมืองโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ที่สำคัญคือ ท่านไม่ได้เลือกอาชีพของคนเหล่านั้นเลย คนไร้คุณธรรมเช่นนักพนันและนักเลงดุร้ายจึงปฏิเสธการรับศีลจากพระสารีบุตรไม่ได้
“ ก็เพราะเคารพและเกรงใจท่านนี้แหละ เลยยอมเสียสละแล่เนื้อกวางเลยนะเนี่ย ” “ ฮ่า ฮ่า ฮ่า ข้าเองก็เหมือนกันหยุดหาเรื่องชาวบ้าน มาฟังธรรมจากพระเถระ เกรงใจท่าน อุตส่าห์มาโปรด ” ภิกษุสงฆ์ในสำนักท่านรู้ว่าคนเหล่านั้นรับศีลแล้วไม่รักษายังคงทำบาปกรรมอยู่ต่อไปจึงไม่อาจนิ่งเฉยได้
“ พระคุณท่านเหล่านั้นเขาไม่ได้รักษาศีล ดังที่รับศีลไว้เลยนะขอรับ ” “ แต่นี้ต่อไปขอพระธรรมเสนาบดี จงหยุดให้ศีลแก่ผู้ไม่พอใจรับอีกเลย พวกพรานใจบาปนักเลงหัวขโมยพวกนั้น ไม่อาจขัดขืนถ้อยคำพระเถระเจ้า จึงรับศีลไป แต่จิตใจมิได้ยอมรับตามเลยแม้แต่น้อย ”
ศิษย์ทั้งหลายของพระสารีบุตรกล่าวขอดังนี้อยู่หลายครั้ง แต่มิได้ทำให้การศีลหยุดลงแต่ประการใด “ ไม่เป็นไรหรอกรับศีลไปทุกวัน สักวันหนึ่งเขาก็คงประพฤติปฏิบัติศีลได้เอง ” พระเถระผู้เลิศทางปัญญายังคงมีเมตตาบอกศีลแก่คนทั่วไปอยู่เช่นนั้น “ จงเป็นคฤหัตถ์รักษาศีล ปฏิบัติพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด ” “ พระเจ้าค่ะ ” เมื่อสงฆ์สาวกจาริกมาสู่พระอารามใหญ่เชตวันยังโกศลรัฐ ในกาลต่อมาเรื่องการบอกศีลแก่เหล่าชนผู้ไม่ต้องการศีลของพระธรรมเสนาบดีฝ่ายขวาก็เป็นที่โจษจันสันทนาการขึ้นในโรงธรรมสภา
“ อาตมาขอบิณฑบาตไว้ แต่มหาเถระก็ไม่ฟัง เฮ้อ ” อันเมื่อความปรากฎต่อพระกรรณสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ธรรมศาลาในพระเชตวันมหาวิหารพระองค์ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้ในการก่อน สารีบุตรนี้ก็เคยให้ศีลแก่คนที่ประสบพบเห็น แม้ไม่ได้ขอศีลนั้นมาแล้ว แล้วองค์พระศาสดาก็ทรงตรัสเล่า การันทิยชาดกขึ้นดังนี้ ”
ในอดีตชาติหนึ่งยังมีบุตรพราหมณ์มีนามว่า การันทิยะ เจริญวัยขึ้นในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์และแตกฉานสรรพวิทยาและไตรเพทคัมภีร์พราหมณ์ตั้งแต่ยังหนุ่ม การันทิยะเป็นที่ไว้วางใจของอาจารย์ทิศาปาโมกข์อย่างยิ่ง
ต่อมาจึงได้เลื่อนอันดับเป็นอันเตวาสิกะ คือเป็นหัวหน้าคณะศิษย์ทั้งปวง “ หลักคำสอนนี้ เป็นอย่างนี้นี่เอง พระธรรมช่วยทำให้จิตใจเราสงบสุขได้แท้ ๆ ” ศิษย์ผู้นี้ยังได้รับความเมตตาได้ร่ำเรียนมนต์พิธีจนสามารถอ่านพระเวทเป็นเจ้าพิธีกรรมแทนอาจารย์อยู่เนื่อง ๆ
เพราะในวัยชราอาจารย์ทิศาปาโมกข์ต้องการปลีกตัวจาริกไปในที่ต่าง ๆ เพื่อบอกศีลแก่หมู่ชนนั้นเอง และการออกไปบอกศีลแก่หมู่ชนนั้นเอง กลายเป็นเหตุให้คณะศิษย์ซึ่งนำโดยการันทิยะต้องขอร้องไม่ให้ท่านกระทำอีก
“ คนไม่มีคุณธรรมเหล่านั้นไม่ต้องการศีลหรอก อาจารย์โปรดอย่าให้ศีลแก่พวกเขาเลย คนเหล่านั้นเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ จับสัตว์และลักขโมย บางคนปล้นชิงทำร้ายผู้อื่น เขาจำใจรับศีลเพราะเกรงบารมีอาจารย์แท้ ๆ ”
“ เจ้าค่ะ รับศีลเจ้าค่ะ ฮิ ฮิ รับแล้วไปล่าสัตว์ต่อ นี่แหละชีวิตพรานอย่างเรา ” “ แม้หมู่ชนบางคนจะยอมรับศีลอย่างตั้งใจสมาทาน ดังคำให้ศีลที่อาจารย์พร่ำบอก จงรับศีลเถิด จงรับศีลเถิดก็เป็นเพียงแต่หน้าเท่านั้น ”
“ กระผมรับศีลเจ้าค่ะ ต่อจากนี้ไปก็จะประพฤติตามศีลที่รับไว้ขอรับ…..( รับ ๆ ไว้ก่อนอยู่ต่อหน้ากันอย่างนี้ต้องรับไว้ก่อน ) ” “ กระทั่งบางคนแม้งดเว้นอาหารเย็นถือศีลอุโบสถได้ก็เป็นเพียงคนน้อยนิด เพราะอาชีพของเหล่าชนทั้งหลายล้วนต้องเอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่นเพื่ออาชีพตนจึงมิอาจรับศีลได้จริง ๆ ศิษย์ทั้งหลายเห็นดังนี้จึงกราบขอให้ท่านงดให้ศีลแก่ผู้ไม่ได้อาราธนา ขอเถิด ”
แต่การันทิยะก็ผิดหวังเพราะอาจารย์ทิศาปาโมกข์ไม่ได้ตอบรับ กลับยืนกรานที่จะให้ศีลแก่ทุก ๆ คนที่พบเห็นต่อไป “ ไม่ได้หรอกการให้ศีลให้พรก็ถือเป็นงานของอาจารย์ อาจารย์อยากให้ทุกคนเหล่านั้นรับศีลด้วยใจจริงของเขาสักวัน ”
การบอกศีลแก่คนทั้งหลายดำเนินไปได้ไม่นานนัก การันทิยะก็สบโอกาสทำอุบายได้ในวันหนึ่ง วันนั้นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ต้องอยู่บูชาไฟในสำนัก “ การันทิยะเอ๋ยอย่ามัวแต่ห่วงเรื่องให้ศีลเลย เธอจงนำศิษย์ของเราไปทำพิธีกรรมในหมู่บ้านแทนอาจารย์เถิด ”
เมื่อการันทิยะนำศิษย์ในสำนักไปทำพิธีพราหมณ์แก่ผู้อาราธนาเอาไว้จบสิ้นแล้ว ขากลับได้เดินผ่านเชิงเขาจุดหนึ่ง “ เอ๊ะ เหวลึก โอ้ดีจริง ๆ เรามีอุบายให้อาจารย์หยุดบอกศีลแก่คนทุศีลพวกนั้นแล้ว ” พราหมณ์หนุ่มสั่งคณะศิษย์หยุดพักเพื่อคัดเลือกขอบเหวลึกได้จุดหนึ่ง
“ ตรงนี้แหละเหมาะที่จะทำตามอุบาย ” อุบายของการันทิยะคือ ขนเอาหินน้อยใหญ่ทิ้งลงในเหว “ โอ้ ท่านการันทิยะ ท่านเป็นอะไรไปแล้ว ขนหินไปถมลงเหวทำไมกัน ” “ ลูกพี่เฝ้าไว้อย่าให้ถึงกับกระโดดเหวนะ เดี๋ยวข้าจะรีบไปตามอาจารย์มาดู เฝ้าไว้ให้ดี ๆ ล่ะ ”
“ ได้สิ ๆ เจ้าก็เร็ว ๆ เข้าเถิด ” “ อาจารย์ อาจารย์ครับศิษย์พี่เป็นอะไรไม่รู้ครับ ช่วยด้วยครับ ” อีกไม่นานต่อมาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ถูกตามมาถึงปากเหวที่การันทิยะกำลังถมหินลงไป “ หยุด หยุดก่อน หยุดซะเถิดการันทิยะ นั่นเธอเป็นอะไรไปรึ เหตุใดถึงนำหินไปถมในเหวอย่างนั้น ”
“ อาจารย์ศิษย์เพียงอยากให้เหวนี้ตื้นขึ้น ราบเรียบเสมอแผ่นดินเท่านั้นเองขอรับ จึงพยายามถมโดยการทิ้งหินลงไป หวังว่าสักวันก็คงจะทำสำเร็จ ” “ ฮึ ฮึ ยากนักเจ้าการันทิยะเอ๋ย เจ้าคนเดียวทำอยู่ทั้งชาติก็ไม่อาจทำได้ มันยากนักนะศิษย์เอ๋ยจงหยุดเสียเถิด ”
“ ถ้าเช่นนั้นก็เหมือนกันกับสิ่งที่อาจารย์ทำแก่คนทั่วไป ทั้งที่รู้ว่า ไม่อาจช่วยทุก ๆ คนไปยอมรับปฏิบัติได้ทั้งหมด อุปมาก็ดุจกันกับขนก้อนหินไปถมเหวกระนั้น ” “ อืม เช่นนี้นี่เองอาจารย์เข้าใจแล้ว ขอบใจเจ้านะที่คิดอุบายเปรียบเทียบขึ้นมา ” “ ต่อไปอาจารย์บอกศีลเฉพาะสาธุชนที่อาราธนาขอใช่ไหมขอรับ ”
“ ดูก่อนการันทิยะเอ๋ย เราลืมสัจจะแห่งโลกไปข้อหนึ่ง คือแผ่นดินนั้นมนุษย์ไม่อาจทำให้ราบเรียบได้ทั้งหมดฉันใด เราก็ไม่อาจให้มนุษย์ทั้งหลายให้รู้จักเข้าใจอำนาจแห่งศีลได้ทั้งหมดฉันนั้น ”
เมื่อครบวาระกรรมในโลกมนุษย์ครั้งนั้น พราหมณ์ทั้งหลายก็ไปจุติในพรมโลก ด้วยอานิสงส์แห่งศีลสุดท้ายแห่งกงล้อวัฏสงสาร
ในพุทธกาลต่อมาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ กำเนิดเป็น พระสารีบุตร
ศิษย์พราหมณ์ทั้งหลาย กำเนิดเป็น พระภิกษุสงฆ์
การัยทิยะพราหมณ์ เสวยพระชาติเป็น พระพุทธเจ้า