อรรถกถา ทัททรชาดก
ว่าด้วย ไม่ควรถือตัวในที่ที่เขาไม่รู้จัก
เช้าวันหนึ่ง ณโรงธรรมสภา มีกลุ่มภิกษุกำลังนั่งจับกลุ่มสนทนากันอยู่ ขณะเดียวกันภิกษุรูปหนึ่งเดินเข้ามายังวงสนทนา จนกระทั่งเพื่อนเอ่ยถาม "ท่านเป็นอะไรทำไมมีสีหน้าไม่ดีเช่นนี้" "เราถูกพระรูปนั้นตะคอกใส่" "อ่อ รูปนั้นเองท่านมีชื่อเสียงดังด้านนี้อยู่นะ แล้วท่านไปทำอีท่าไหนมาล่ะ" "ไม่รู้เหมือนกัน" "อย่าไปถือสาเลยท่าน" พระภิกษุอีกรูปเอ่ยขึ้น "ท่านมักเป็นเช่นนั้นเสมอ ชอบพาลใส่คนอื่นเป็นประจำ ไม่ใช่แค่ท่านเท่านั้น เราและเพื่อนก็เจอเช่นกัน" "อย่างนั้นหรือ" "ใช่ ปล่อยวางเถิด หวังว่าศาสนาจะช่วยให้ใจเย็นลงได้" "พวกท่านคุยเรื่องอะไรกันอยู่หรือ" พระศาสดาที่กำลังเสด็จผ่านมาตรัสถามขึ้น "เรื่องพระภิกษุขี้โมโหพะย่ะข้า พฤติกรรมของพระภิกษุรูปนั้นกระทบต่อพวกกระหม่อม"
จากนั้นพระศาสดาจึงรับสั่งให้เรียกภิกษุผู้นั้นมาพบ แล้วตรัสถามว่า "ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นคนขี้โกรธจริงหรือ" "พระเจ้าข้า" "ไม่ใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนนี้ก็เป็นคนขี้โกรธเหมือนกัน ก็เพราะความเป็นคนขี้โกรธของเธอ ทำให้ได้ไปอยู่ในพื้นที่เปื้อนของปฏิกูลนานถึงสามปี" แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดเป็นโอรสของพระยาทัททรนาคราชผู้ครองราชสมบัติอยู่ในทัททรนาคภพ อยู่ ณ เชิงเขาทัททรบรรพต
พระโพธิสัตว์มีน้องชายอยู่คนหนึ่งที่มีชื่อว่าจุลลทัททระ เมื่อนาคทั้งสองเติบโตขึ้น ผู้เป็นพ่อเกิดความหนักใจเรื่องนิสัยใจคอ ของลูกชายคนเล็กพยายามหาทางแก้ด้วยวิธีต่างๆ แต่สุดท้ายก็ยังคงเป็นเช่นเดิม อยู่มาวันหนึ่ง ในวันที่อากาศแจ่มใส คลื่นในท้องทะเลเงียบสงบ จู่ๆก็เกิดเสียงที่ไม่ปรารถนาดังขึ้น "ปัง" "ปัง" "ปัง" เสียงโครมครามดังขึ้นภายในห้องนอนของนาคผู้เป็นน้องชาย ก่อนจะตามมาด้วยเสียงตะโกนโวยวาย "โอ้ย..! ข้าไม่น่าปล่อยเจ้าพวกนั้นไปเลย ปากดีอย่างนี้ ถ้าเจอครั้งหน้าจะหั่นออกเป็นชิ้นๆโยนให้จระเข้กินให้หมด ฮึ้ย...มันน่าโมโหนัก!" เสียงบ่นอย่างหัวเสีย ดังขึ้นเป็นระยะ ขณะเดียวกันผู้เป็นพี่ชายเปิดประตูเข้ามาอย่างรวดเร็ว "เจ้าไปทำอะไรมา ทำไมถึงโวยวายเช่นนี้" "ก็พวกอริของน้องไงล่ะ นาคฝั่งตรงข้าม มากวนประสาทน้องก่อนเลยใช้ดาบฟันจนตัวหัวโจกขาดสองท่อน ซะใจจริงๆโว้ย...แต่เสียดายที่ฆ่าได้ไม่หมด พวกลูกน้องวิ่งหนีหางจุกตูดหนีรอดกันไปก่อน" "แล้วโมโหเพื่ออะไร" "ก็น้องฆ่าเจ้าพวกนั้นไม่หมดไง น่าเสียดายจริงๆ" "เจ้านี่หนอ เรื่องมันไม่ได้ใหญ่เลย กลับทำให้ใหญ่โตไปได้ แล้วตกลงเจ้า ไปฆ่าเขาทำไม" "ก็เจ้าพวกนั้นหยามเกียรติน้องไงพี่" "เฮ้อ..เจ้านี่นะ" คนเป็นพี่ที่ได้ฟังคำตอบของน้องชาย ถึงกับกุมขมับ เจ้านี่หนอช่างเป็นเด็กน้อยจริงๆ
จากนั้นไม่นานผู้เป็นพ่อก็ได้ยินวีรกรรมที่ลูกของตน ถึงกับกุมขมับ "เอาอีกเเล้วไอ้ลูกชายตัวแสบ สงสัยคงต้องดัดนิสัยเสียหน่อยจะได้หลาบจำ" จึงมีคำสั่งให้ นาคผู้เป็นน้องคนสุดท้องนั้นออกจากนาคภพไป ในขณะนั้นนาคผู้เป็นพี่ชาย เข้าไปห้ามผู้เป็นพ่อ "ท่านพ่อ ท่านจะไล่น้องชายออกไปจากเมืองจริงๆหรือครับ" "อื้ม" "อย่าพึ่งไล่น้องออกไปได้ไหม" "แล้วจะให้ข้าทำอย่างไรน้องของเจ้าชักเหิมเกริมมากขึ้นทุกที" "แต่พ่อครับ นั้นคือลูกของพ่อนะ" "พ่อเข้าใจ...."มหาทัททระ พยายามยกเหตุผลทั้งห้า เพื่อทัดทานการตัดสินใจครั้งนี้ จนผู้เป็นพ่ออ่อนใจ ยอมเลื่อนออกไปก่อน
แต่แล้วจุลลทัททระไม่มีวี่แววที่จะทำตัวดีขึ้นแม้แต่น้อย ยังคงทำตัวเกเร หาเรื่องนาคตัวอื่นเรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่งพระยาทัททรนาคราช ผู้เป็นพ่อทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของลูกตน จึงไล่ทั้งคู่ออกจากเมืองไป "เจ้าเป็นพี่ชายต้องรับผิดชอบความผิดของน้องชายด้วยเจ้าจงไปอยู่เมืองพาราณสี แถวพื้นที่มีแต่เศษปฏิกูลเป็นเวลาสามปี เมื่อครบกำหนดแล้ว พ่อจะให้พวกเจ้าทั้งสองกลับมาที่นี่อีกครั้ง"
เมื่อทั้งสอง ได้ยินคำสั่งของผู้เป็นพ่อจึงได้แต่รำพึงรำพันในใจ นาคสองพี่น้องได้แต่เศร้าใจ ก่อนจะเดินทางมาอาศัยบริเวณเมืองพาราณสีทันที
วันหนึ่ง ขณะที่นาคสองพี่น้องกำลังหาเหยื่ออยู่แถวชายน้ำ มีกลุ่มเด็กที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งได้เห็นเข้า จึงชี้ไม้ชี้มือพร้อมกับตะโกน "เฮ้ยนั้นตัวอะไร" "ไหนๆ" "นั้นไงตัวแดงๆเขียวๆ" ด้วยความสงสัยและอยากรู้อยากเห็น จึงหยิบ หิน ก้อนดิน กว้างลงไปยังที่พญานาคทั้งสองว่ายน้ำอยู่ "ฮ่าๆดูดิ ตัวอะไรก็ไม่รู้ แปลกๆหัวใหญ่หางเล็ก ตั้งแต่เกิดมาข้าไม่เคยเห็นตัวแบบนี้เลย น่าตลกชะมัด แถมมาหากินกบกินเขียดแถวที่ถ่ายอุจจาระ น่าขยะแขยง" หนึ่งในกลุ่มเอยขึ้นอย่างสนุกปาก
ด้านพญานาคผู้โชคร้าย โดนหินขนาดเหมาะมือเข้าไปเต็มรัก "โอ้ย ข้าเจ็บนะเจ้าเด็กบ้า" แต่ก่อนที่นาคผู้น้องจะสติขาด "จุลลทัททรนาค หยุดเถิดอย่าทำแบบนี้เลย" "พี่ทัททระ เจ้าเด็กนั่นมันว่าเราทั้งสองนะ ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ข้าแค่หายใจเจ้าเด็กเหลือขอพวกนั้นก็ตายหมดแล้ว" "จุลลทัททรเราทั้งสองถูกขับไล่ออกจากเมือง ตอนนี้เราอยู่ต่างถิ่น เก็บคำสบถของเจ้าไว้เถิด" "แต่ว่าท่านพี่" คนเป็นน้องยังมีท่าทีดึงดัน
"น้องเอ๋ยบุคคลอยู่ในหมู่ชนผู้ไม่รู้จักตน ไม่ควรทำการถือตัว ในที่ที่ไม่มีคนรู้จักตน โดยชาติหรือโดยวินัย บุคคลผู้มีปัญญาแม้เปรียบเสมอด้วยไฟ เมื่อไปอยู่ต่างถิ่นไกล พึงอดทนแม้คำขู่ตะคอกของทาส"
จากนั้นนาคพี่น้องทั้งสองนั้นอยู่ ณ ที่นั้น สิ้นกำหนด ๓ ปี ด้วยอาการอย่างนี้ ลำดับนั้น พระยานาคผู้บิดาให้เรียกนาคพี่น้องทั้งสองนั้นมา ตั้งแต่นั้นมา นาคพี่น้องทั้งสองนั้น ก็สิ้นมานะการถือตัว
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้มักโกรธได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า
จุลลทัททรนาคในครั้งนั้น ได้เป็น ภิกษุผู้มักโกรธในบัดนี้
ส่วนมหาทัททรนาคในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.