ชาดก 500 ชาติ
เนรุชาดก-ชาดกว่าด้วยอานุภาพของเนรุบรรพต
ครั้งเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปักธงชัยขึ้นในชมพูทวีป พระอริยสัตว์อันกระจ่างจริงพิสูจน์ได้มีผลชัด ก็กลายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่มหาชนพากันชื่นชมศรัทธาอย่างที่สุด ส่งสาวกทางพระพุทธศาสนาจาริกไปที่แห่งใดที่แห่งนั้นจะกลายเป็นสถานที่อันวิเศษ
เป็นที่รวมเหล่าศรัทธาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ภิกษุบวชใหม่รูปหนึ่งออกธุดงค์ไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แล้วได้ทำรุขมูลปฏิบัติอยู่ในหมู่บ้านแห่งนั้น “ ที่นี่ช่างสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมยิ่งนัก เอาล่ะ เรานั่งวิปัสสนาใต้ต้นไม้ใหญ่นี่ดีกว่า ”
ภิกษุหนุ่มปฏิบัติธรรมอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่อย่างเคร่งครัด ชาวบ้านที่ผ่านมาพบเห็นก็เกิดเลื่อมในอิริยาบทของภิกษุรูปนี้จึงคิดจะสร้างบรรณศาลาถวาย “ ดูสิ ภิกษุรูปนี้กิริยาท่าทางช่างน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ” “ ข้าว่าเราสร้างบรรณศาลาในหมู่บ้านให้ท่านใช้ปฏิบัติธรรมดีกว่า ”
วันหนึ่งหลังจากที่ภิกษุบวชใหม่เดินจงกลมเสร็จ นายบ้านของหมู่บ้านแห่งนั้นก็เข้ามากราบนิมนต์ “ อาราธนาท่านผู้เจริญ ” “ เจริญพรโยมมีอะไรรึ ” “ กระผมและชาวบ้านนิคมนี้เห็นวัตรปฏิบัติของท่านแล้วก็เกิดศรัทธายิ่งนัก จึงได้ช่วยกันสร้างบรรณศาลาถวาย ขอพระคุณเจ้าเก็บเครื่องบริขารไปใช้เป็นเสนาสนะจนพ้นฤดูพรรษาเถิด ”
ภิกษุหนุ่มรับนิมนต์แล้วจึงย้ายไปปฏิบัติธรรมยังบรรณศาลาที่ชาวบ้านสร้างถวาย ยิ่งผ่านไปหลายวันชาวบ้านก็ยิ่งชื่นชมในอิริยาบทงดงามของภิกษุรูปนี้ การถวายภัตตาหารคาวหวานทั้งเช้าและเพลก็มิได้ขัดสน คณะศรัทธาพากันเปลี่ยนเวียนกันนำมาถวายมิได้ขาด “ พรุ่งนี้ท่านอยากฉันอะไรก็บอกได้นะครับ ” “ อะไรก็ได้แล้วแต่โยมเถิด เมื่อเราครองเพศบรรพชิตแล้วย่อมไม่เลือกอาหาร ” “ งั้นพวกเรามาทำหลาย ๆ อย่างดีกว่า ท่านจะได้เลือกฉันได้ ”
ย่ำสนธยาชาวบ้านต่างพากันมาฟังพระธรรมเทศนาเป็นประจำทุกคืน ซึ่งภิกษุหนุ่มก็บรรยายตามคำสอนของพระพุทธองค์ได้ไม่ผิดเพี้ยน แต่ความไม่เพียรย่อมเกิดขึ้นได้ทุกขณะ การดำเนินพระธรรมเทศนาที่มีขึ้นทุกค่ำคืนนั้นก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงไป
“ วันนี้ข้าทำงานเหนื่อยทั้งวัน คืนนี้ว่าจะนอนแต่หัวค่ำคงไม่ได้ไปฟังธรรมแล้วล่ะ ” “ ข้าก็เหมือนกัน ฟังธรรมจนเริ่มเบื่อแล้วอยู่ฟังเมียบ่นบ้างดีกว่า ” ข่าวการอุปัฏฐากพระสงฆ์ของคนในหมู่บ้านครั้งนี้ได้แพร่ออกไปทั่วทำให้นักบวชคณะอื่น ๆ ถือโอกาสเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากชาวบ้าน เริ่มจากพวกสัสตวาสที่ชุมนุมกันอยู่ทั่วไปนอกนครสาวัตถีและชายแดนโกศลรัฐ
“ เชิญท่านนักบวชมาพำนักในบรรณศาลาก่อน ” “ ฮิ ฮิ สบายจริง ๆ มีที่พักแล้วยังมีอาหารดีดีให้กินอีกด้วย ” “ อย่าตะกละให้ชัดเจนนักสหายเดี๋ยวชาวบ้านจะสงสัยในความเป็นนักบวชของเรา ”
ชาวบ้านได้ต้อนรับสัสตวาสไว้ที่เดียวกันกับภิกษุเถรวาท และทำการนับถือกราบไหว้แทนเถรวาท “ คำสอนของเราคือ ยึดอัตตาเป็นสรณะเอาตัวตนเป็นหลักทั้งโลกนี้และโลกหน้า ” “ หือ น่าเลื่อมใส ต่อไปพวกเราทั้งหลายจะหันถวายสักการะพวกท่านกันทั้งหมด ” ต่อมาเมื่อคณะอุจเฉทวาทผ่านมา
ชาวบ้านก็เชิญชวนให้มาอาศัยยังบรรณศาลาและพากันนับถือแทนลัทธิสัสตวาสอีก “ เชิญท่านนักบวชพักผ่อนดื่มกินกันให้เต็มที่เลย ” “ หลักปฏิบัติของลัทธิเราคือยึดอัตตาตัวเองแค่ชาตินี้เท่านั้น ” “ ยึดอัตตาตัวเองแค่ชาตินี้เท่านั้น ดีกว่าหวังชาติหน้าที่มองไม่เห็นพวกข้านับถือท่านนักบวชยิ่งนัก ”
แม้แต่พวกอเจลกวาทชีเปลือยศิษย์พระมหาวีระต่างก็ได้รับการต้อนรับดูแลเป็นอย่างดีจากชาวบ้าน “ ฮ่า ฮ่า ฮ่า ชาวบ้านพวกนี้ช่างโง่เขลานัก ดูสิกราบไหว้พวกเราราวกับเป็นเทพเจ้าแน่ะ ” “ นั่นสิ นักบวชอย่างเราได้รับการยกย่องและได้อาศัยร่วมสำนักกับศิษย์พระศากยโคดมเชียว ฮะ ฮ่า ฮ่า ”
ในขณะที่นักบวชอื่น ๆ ต่างพึงพอใจที่ได้อาศัยใต้ชายคาเดียวกับสาวกของพระศาสดา ภิกษุหนุ่มกลับต้องจำยอมอยู่อย่างไม่สงบใจในสำนักร่วมกับนักบวชเหล่านี้ “ หลวงพี่ไม่สนใจมานั่งร่วมวงฉันข้าวกับพวกข้ารึ ” “ เป็นบุญของพวกข้าจริง ๆ ที่ได้อยู่ร่วมชายคากับศิษย์พระศากยโคดม ”
ครั้นออกพรรษาปวารนาแล้วภิกษุหนุ่มจึงได้ออกจากเสนาสนะนั้นกลับไปเฝ้าสมเด็จพระพุทธศาสดา ณ พระเชตวันมหาวิหาร และกราบทูลสิ่งที่เกิดขึ้นให้ทรงวินิจฉัย สมเด็จพระพุทธศาสดาสดับเหตุดังกล่าวแล้วทรงตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัณฑิตในอดีตกาลก่อนแม้กำเนิดในสกุลต่ำทรามยังไม่ยอมอยู่ร่วมกับผู้ไร้คุณธรรมแม้สักวันเดียว ” เมื่อเหล่าสาวกทรงทูลประทานขอให้ทรงเล่านั้น ก็ทรงสาทกเนรุชาดกดังนี้
ในอดีตชาติเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี ณ ภูเขาจิตกูฏปลายทุ่งข้าวสาลีริมป่าหิมพานต์ยังมีหงส์ทองครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่
วันหนึ่งขณะหงส์สองพี่น้องกำลังบินท่องเที่ยวอยู่หิมพานต์ได้เห็นสีสันสวยงามทอประกายมาจากภูเขาลูกหนึ่งไกลๆ “ ท่านพี่ดูนั่นสิภูเขาลูกนั้นสีทองเหลืองอร่ามสวยงามจริง ๆ ” “ ภูเขาที่มีสีทองประกายสวยงามลูกนั้นนะรึ อือ ต้องมีอะไรแน่ ๆ ลองบินไปดูกันดีกว่า ”
ด้วยความสงสัยพญาหงส์และหงส์ผู้น้องจึงบินไปยังภูเขาลูกนั้น เมื่อเข้าไปใกล้พญาหงส์ผู้พี่รำลึกได้ว่าภูเขาลูกนี้คือเนรุบรรณพตนั้นเอง “ ท่านพี่ดูสิ สัตว์ที่นี่ต่างมีสีสันดังทองงดงามนัก ” “ เนรุบรรพตแห่งนี้เป็นภูเขาวิเศษสัตว์ใด ๆ ก็ตามเมื่อเข้ามาอยู่ที่นี่จะมีสีสันสวยงามดั่งทองทุกตัว ”
เหล่านกแร้ง นกกา หมาใน หมาจิ้งจอก แมวป่า ตะกวด อีกทั้งเสือสางต่าง ๆ พากันมาชุมนุมกันมากมายเพราะชื่อเสียงของเนรุบรรพตแห่งนี้ สัตว์ทุกตัวเมื่อเข้ามาอยู่ในอาณาเขตเนรุบรรพตแห่งนี้ต่างมีสีกายเป็นสีทองงดงามทุกตัว
“ กา กา ไม่ได้มีแค่หงส์ทอง กาอย่างข้าก็ยังสีทองได้ ” “ ราชสีห์ก็ราชสีห์เหอะ หมาจิ้งจอกสีทองอย่างข้าก็ดูสง่าไม่แพ้กันละน่า ” “ โอ้โหแม้แต่หนูสกปรกเมื่ออยู่ที่นี่ยังดูสวยงามปานนั้น ”
“ น้องเอ๋ย สัตว์สกุลใด จิตและพฤติกรรมก็ย่อมเป็นไปตามสัญชาติญาณตนไม่อาจเปลี่ยนสีได้อย่างภายนอกหรอก ” “ เจ้ากา เจ้าขโมยแก้วจากรังของข้ารึ เจ้านี่มันขี้ขโมยจริงๆ ” “ ใครจะขโมยของเจ้า เจ้าหนูสกปรก ใครจะขโมยของเจ้ากัน ”
“ อีกาแม้ขนสวยดุจหงส์ทองแต่มิอาจเลิกนิสัยขโมย และหนูผู้สะสมของสกปรกก็มิอาจเปลี่ยนพฤติกรรมตามสีของมันเช่นกัน ”
“ จริงของท่านพี่ หมาไนและจิ้งจอกแม้ในรัศมีวิเศษของเนรุบรรพตก็มิอาจเลิกวิสัยสุนัขได้ ” “ เนรุบรรพตแห่งนี้แม้จะมีความวิเศษ แต่ก็ไม่สามารถทำให้สัตว์ดีเหมือนกันได้ สัตบุรุษนั้นไม่บังควรคบหาผู้ทุศีลเลย ” และแล้วพญาหงส์ทั้งสองก็ชวนกันกลับไปยังเขาจิตกูฏอยู่กับหมู่หงส์ของตนต่อไป
พระพุทธองค์ทรงจบพระธรรมเทศนานี้แล้ว ทรงประกาศสัจจธรรมให้ภิกษุนั้นดำรงโสดาปัตติผล
ในพุทธกาลสมัย หงส์ผู้น้องกำเนิดเป็น พระอานนท์
พญาหงส์ผู้พี่เสวยพระชาติเป็น พระพุทธเจ้า