อรรถกถา มหาโพธิชาดก
ว่าด้วย ปฏิปทาของผู้นำ(ตอนแรก)
ณ พระเชตวันมหาวิหาร วันหนึ่งพระศาสดาทรงพระตรัสเรื่องปัญญาบารมี โดยมีใจความว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในกาลบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็เป็นผู้มีปัญญาสามารถย่ำยีวาทะของคนอื่นได้เหมือนกัน" จึงทรงนำเอาอดีตนิทานมาตรัสดังนี้ว่า
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงเสวยราชสมบัติในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดขึ้นในตระกูลพราหมณ์ชั้นสูง แคว้นกาสี โดยมีชื่อว่า โพธิกุมาร ครั้นเมื่อเจริญวัยได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์ในเมืองตักกสิลาจนจบ แล้วกลับมาครองเรือนกับคู่หมั้นของตน ต่อมาพระโพธิสัตว์เกิดเบื่อในกาม จึงตัดสินใจเดินทางเข้าไปยังหิมวันตประเทศ บวชเป็นปริพาชก หาหัวมันหัวเผือกผลไม้ในป่ากินอาหาร เมื่อฤดูฝนมาถึง นักบวชจึงเดินทางออกจากป่าหิมพานต์ ธุดงค์ไปเรื่อยๆจนถึงเมืองพาราณสี และได้พักแรมในอุทยานที่ตั้งอยู่ในเมืองพาราณสี
เช้าวันรุ่งขึ้น ปริพาชกเที่ยวเดินบิณฑบาต ไปทั่วจนมาถึงประตูพระราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระราชา ขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่หน้าต่างพอดี ทอดพระเนตรเห็นนักบวชเข้า จึงเกิดความเลื่อมใส ในกิริยาที่สงบเสงี่ยม จากนั้นจึงเอ่ยกับทหารคู่ใจว่า "เจ้าไปนิมนต์บรรพชิตผู้นั้นเข้าในวังหน่อย"
จากนั้น ปริพาชกก็ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับคนที่พระราชาทรงให้ไปเชิญ "มนัสการพระคุณเจ้า ท่านมาจากไหน" "ป่าหิมพานต์ เรานั้นค่อยๆเดินมาเรื่อยๆก่อนจะมาถึงที่นี่" "ท่านเดินทางมาไกลท่าทางจะเหนื่อยน่าดู เชิญนั่งทางนี้ก่อน" จากนั้นองค์กษัตริย์ผายมือไปทางที่อาสนะที่ถูกจัดเตรียมไว้อย่างดี
ระหว่างนั้น ปริพาชกได้เทศเล็กๆน้อยๆ แก่พระราชาและภรรยาเมื่อทั้งสองได้สนทนาธรรมเสร็จแล้ว จึงนำข้าวปลาอาหาร ที่จัดเรียงอย่างดีมาถวายซึ่งประกอบด้วยข้าวสวยที่ถูกหุงอย่างดี กลิ่นหอมชวนกินลอยมาเตะจมูก พร้อมกับน้ำแกงสีสด เนื้อที่ถูกจัดเตรียมมาอย่างดี แค่ได้เห็นโฉมหน้าตาอาหารมื้อนี้ก็รับรู้ได้ถึง ความปราณีตของอาหารมื้อนี้ "พระคุณเจ้าเชิญฉันได้ตามสบายเลย กระผมไม่กวนแล้ว"
ปริพาชกรับภัตตาหารมาแล้ว รำพันว่า "ในอนาคตราชสกุลนี้จะรอบสังหารเรา เพราะเชื่อคนรอบตัว จะทำอย่างไรหนอ " ขณะนั้นเองพระโพธิสัตว์เห็นสุนัขสีเหลืองเข้า จึงหยิบข้าวสุกก้อนใหญ่ ก่อนเอ่ย "มานี่มา" พร้อมกับหันมาทางองค์กษัตริย์ "พระองค์ เจ้าสุนัขตัวนี้ชื่ออะไรหรือ" "โกไลยกะ ขอรับ เจ้านี่เป็นสุนัขแสนรู้ ฉลาดฝึกง่าย" "อย่างนั้นหรือ" จากนั้น นักบวชก็รับถ้วยมาจากบ่าวรับใช้ และเอาข้าวบางส่วนใส่ถ้วย ให้สุนัขสีเหลืองตัวนั้น
เมื่อนักบวชฉันข้าวเรียบร้อยแล้ว พระราชาทรงขอร้องให้พักอาศัยอยู่ที่พาราณสี ด้านปริชาพกได้ให้พระราชารับคำมั่นสัญญา เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จึงสร้างศาลาที่พัก ไว้ในพระราชอุทยาน แล้วทรงถวายเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆสำหรับบรรพชิต นิมนต์ให้ปริพาชกอยู่ประจำ ณ บริเวณนี้
องค์กษัตริย์ทรงถวายภัตตาหารแด่พระโพธิสัตว์เป็นประจำ ซึ่งทุกครั้ง บรรพชิตจะนั่งแท่นที่พระราชาเป็นคนนั่งเสมอ จนเวลาล่วงเลยไปได้ ๑๒ ปี พระองค์ได้แต่งตั้ง อำมาตย์ห้าคนทำหน้าที่สั่งสอนอรรถธรรมให้แก่พระองค์ นอกจากหน้าที่สอนอรรถแล้วยังทำหน้าที่เผยแพร่ ธรรมและคติธรรมแก่ประชาชนด้วย
ในเวลาต่อมา พระราชาทรงไว้ใจ ท่านอำมาตย์ทั้งห้าคนนี้มาก จึงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาคดีแทนพระองค์ เมื่ออำนาจของตนมากขึ้น ผู้ทำหน้าที่สั่งสอนผู้คนให้อยู่ในธรรมกลับไม่อาจต้านทานต่อ กิเลสและตัณหาของตนได้ จึงพากันรับสินบน เงินใต้โต๊ะ ส่งผลให้ชาวบ้านที่มาขอความยุติธรรมต่างๆ พากันรู้สึกแย่ แต่ทำได้เพียงวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น
วันหนึ่งขณะปริพาชกเดินเข้าไปบิณฑบาต ณ พระราชนิเวศน์ มีชายผู้หนึ่งเดินตรงเข้ามาประชิด ก่อนจะนั่งคุกเข่าอ้อนวอน ยกมือไหว้รำพันว่า "พระคุณเจ้ามาฉันในพระราชนิเวศน์หรือ ท่านรู้ไหมพวกอำมาตย์วินิจฉัยคดี ชอบรับสินบนทำให้ชาวเมืองพังพินาศ ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของแท้ๆ แต่กลับถูกพวกอำมาตย์ห้าคน ตัดสินให้เป็นของอีกคน"
ด้วยความสงสารในบุรุษผู้นั้น จึงไปยังโรงวินิจฉัยแล้ว แล้วตัดสินความโดยชอบธรรม ในที่สุดบุรุษผู้ทุกข์ใจในความ ไม่ยุติธรรม ได้กลับมามีความสุขอีกครั้ง เสียงดีใจของเหล่าผู้ได้รับความยุติธรรม ดังไปทั่ว จนพระราชาได้ยินเข้า จึงตรัสถามว่า "นี่เสียงอะไรกันนะ" จึงเสด็จเข้าไปนั่งใกล้ๆ ปริพาชก "วันนี้ พระคุณเจ้าตัดสินคดีความเองหรือ?" "ใช่ เราทำเอง"
"ถ้าอย่างนั้นก็ดีเลย ขอพระคุณเจ้าช่วยตัดสินคดีให้ด้วยเถิด" "พระมหาบพิตร อาตมภาพเป็นบรรพชิต การวินิจฉัยคดีนี้ มิใช่กิจของอาตมภาพเลย" "พระคุณท่านกรุณาในชาวบ้านเถิด ไม่ต้องวินิจฉัยตลอดทั้งวันก็ได้ ในเวลาเช้าออกจากอุทยาน ผ่านมาในที่นี้ กรุณาแวะเข้าไปยังโรงวินิจฉัยคดีแล้ว ตัดสินความสัก ๔ เรื่อง พอฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จะกลับไปยังอุทยาน ถ้าทำได้อย่างนี้ ความเจริญจะเกิดแก่ชาวเมืองพาราณสีแห่งนี้"
ปริพาชกพยายามปฏิเสธเรื่อยมา แต่เมื่อโดนอ้อนวอนบ่อยเข้า จึงยอมทำตาม พวกลูกความที่ติดสินบนทั้งหลายไม่สามารถทำเช่นเดิมได้ รวมถึงฝ่ายพวกอำมาตย์ทั้งห้า ไม่ได้รับสินบน จึงกลายเป็นผู้ขัดสน พากันปรึกษาหาทางเอาตัวรอด หนึ่งในอำมาตย์เอ่ย "ตั้งแต่ที่โพธิปริพาชก เข้ามายุ่งในศาล พวกเราไม่ได้เงินเลย จะทำอย่างไรดี" เพื่อนอีกคนจึงได้เอ่ยขึ้น "เอาอย่างนี้ไหม สร้างเรื่องขึ้นแล้วโยนให้นักบวชนั่น ยุยงพระราชาให้ฆ่าปริพาชกนั้นซ้ะ" "ดีเลย ข้าเหม็นขี้หน้านักบวชนั้นจะแย่แล้ว ชอบมาขัดแข้งขัดขาเป็นประจำ เป็นบรรพชิตก็อยู่ส่วนนั้นไปสิ จะมายุ่งเรื่องของข้าทำไม"
เมื่อทุกคนตกลงกันได้เรียบร้อยแล้วจึงพากันมาเข้าเฝ้าพระราชาแล้ว กราบทูลว่า "ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บัดนี้โพธิปริพาชกปรารถนาจะทำความพินาศต่อพระองค์" เมื่อพระราชาได้ยินดังนั้น ทรงหัวเราะอย่างขบขัน "เจ้าจะบ้าหรอ โพธิปริพาชกนั้นเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยความรู้ จะไม่ทำเช่นนั้นเด็ดขาด" "ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ประชาชนชาวเมืองถูกปริพาชกชักจูงให้อยู่ในเงื้อมมือของตนเรียบร้อยแล้ว ยกเว้นพวกกระหม่อมทั้งห้า ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อ ในเวลาที่โพธิปริพาชกมาที่นี่ พระองค์ทอดพระเนตรดูชาวเมืองพาราณสีเถิด"
"ได้ ข้าจะคอยดู" พระราชาทรงรับปาก ขุนนางทั้งห้า เช้าวันต่อมาพระองค์ประทับยืนอยู่ที่บริเวณหน้าต่างชั้นบน ทอดพระเนตรดูปริพาชกนั้นกำลังเดินมา ทรงเห็นว่ามีชาวบ้านเดินล้อมหน้าล้อมหลังนักบวช เมื่อพระราชาเห็นภาพเหล่านั้นเข้า จึงเข้าใจว่านั่นคือบริวารของ พระโพธิสัตว์
จากนั้นพระราชาได้รับสั่งให้ พวกอำมาตย์มาเข้าเฝ้า ก่อนจะเอ่ยถาม "พวกเราจะทำอย่างไรกัน?" "ขอเดชะ ขอพระองค์จงมีรับสั่งให้จับปริพาชกนั้นเถิด" "เรายังมองไม่เห็นความผิด จะสั่งให้จับเขาได้อย่างไร?" "ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงมีรับสั่งให้ลดการอุปัฏฐากอย่างที่เคยทำตามปกติแก่ปริพาชกนั้นลงเสียบ้าง บรรพชิตเป็นบัณฑิต พอเห็นการบำรุงค่อยๆ ลดลง คงจะไม่ยอมบอกใครๆ แล้วแอบหนีไปเอง" "ดีละ" แล้วตรัสสั่งให้ลดการบำรุงพระโพธิสัตว์
ในวันแรก ปริพาชกถูกจัดให้นั่งบนบัลลังก์เปล่า เมื่อเห็นดังนั้นก็รู้ทันทีว่า พระราชาเสื่อมศรัทธาเราเสียแล้ว "กลับไปยังที่พักก่อนไหม ไม่ได้เราต้องรู้ความจริงให้ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น" แม้ใจอยากจะกลับแต่ เพื่อรู้ความจริง ปริพาชกไม่หลีกหนีไป
ครั้นในวันรุ่งขึ้น อาหารที่ถวายแด่นักบวช บัดนี้ถูกคลุกปนกัน ในวันที่ ๓ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสู่ห้องใหญ่ มีสิทธิเพียงแค่อยู่ตรงเชิงบันไดเท่านั้น ในวันที่ ๔ พระโพธิสัตว์ยืนอยู่ที่ปราสาทชั้นล่าง อาหารที่ถวาย ถูกหุงด้วยปลายข้าว ชั้นเลว
เมื่อเห็นว่านักบวชไม่มีทีท่าว่าจะหายไป พระราชาจึงเรียกอำมาตย์ทั้งห้าเข้าพบอีกครั้ง "มหาโพธิปริพาชก ยังไม่ยอมไป พวกเราจะทำอย่างไรดี" "ฆ่าทิ้งเลยไหมพ่ะย่ะข้า เดี๋ยวพรุ่งนี้พวกกระหม่อมจะจัดการเอง" "เป็นความคิดที่ดี พรุ่งนี้พวกท่านจงยืนซุ่มอยู่ที่ระหว่างประตู จงฟันศีรษะแล้วช่วยกันสับให้เป็นชิ้น อย่าให้ใครรู้ แล้วเอาไปทิ้งไว้ในหลุมอุจจาระ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วค่อยกลับมา"
ในคืนนั้น ณ ห้องบรรทม จู่ๆความทรงจำด้านคุณงามความดีของบรรพชิตก็ผุดขึ้นในความคิดขององค์กษัตริย์ น้ำใสๆค่อยๆไหลออกมาช้าๆ ด้านพระมเหสีที่อยู่ไม่ไกลเห็นเข้าจึงได้เอ่ยถาม "ท่านพี่เป็นอะไร ถึงร้องไห้ออกมาเช่นนี้ หรือเป็นเพราะน้อง" "เธอไม่มีความผิดอะไรหรอก" "แล้วถ้าไม่ใช่ความผิดของน้องแล้วทำไมท่านพี่ถึงร้องไห้เช่นนี้?"
"โพธิปริพาชกกลายเป็นศัตรูต่อพวกเราไปแล้ว" "ห้ะ!ท่านพี่พูดจริงหรือ" หญิงสาวใช้มือป้องปากด้วยสีหน้าตกใจ "พี่จึงสั่งให้อำมาตย์ทั้งห้า จัดการในวันพรุ่งนี้" "ท่านพี่เดี๋ยวก่อนนะเพคะ น้องขอถามอะไรหน่อย ท่านแน่ใจมากแค่ไหน" "ไม่รู้เหมือนกัน อำมาตย์ทั้งห้ามาเล่าให้ฟัง" "ท่านพี่ยังไม่เห็นกับตา ได้ยินกับหู แล้วไปฆ่าเขาเนี่ยนะคะ" "เอ่อออ..." พระราชาไม่อาจจะปัดป้องความผิดได้แต่นิ่งเงียบ "โพธิปริพาชกแสดงธรรมแก่พวกเราตลอดเวลา ๑๒ ปี แม้แต่ความผิดน้องยังมองไม่เห็นแม้แต่น้อย ท่านก็สั่งให้ฆ่าแล้วหรือ"
หญิงผู้เป็นภรรยาได้แต่อ่อนใจ "ถ้าปริพาชกเป็นศัตรูจริงเหตุใดถึงเศร้าเช่นนี้ล่ะพี่? ขึ้นชื่อว่าศัตรูถึงจะเป็นลูกก็ต้องฆ่า เพื่อความสวัสดิภาพแก่ตน พระองค์อย่าได้เศร้าโศกไปเลย" เพราะถ้อยคำของพระนางจึงได้รับความเบาพระทัย ก่อนจะบรรทมหลับไป
ในขณะนั้น สุนัขสีเหลืองได้ยินเข้า จึงมีความคิดว่า "พรุ่งนี้เราควรจะช่วยชีวิตโพธิปริพาชก" เช้าวันรุ่งขึ้น สุนัขจึงลงจากปราสาทแต่เช้าตรู่ มายังประตูใหญ่ นอนเอาหัวพาดบนธรณีประตู คอยมองดูพระโพธิสัตว์ ด้านพวกอำมาตย์ ทุกคนต่างถือดาบยืนแอบอยู่ตรงที่ซอกประตู
ต่อมาไม่นานพระโพธิสัตว์เดินจากอุทยานตรงมายังประตูวัง เจ้าสุนัขโกไลยกะ เห็นปริพาชกเข้า จึงอ้าปากแยกเขี้ยว ร้องขึ้นด้วยเสียงดังว่า "ท่านไม่ได้อาหารในที่อื่นแล้วหรือ พระเจ้าแผ่นดินของเรา ทรงให้อำมาตย์ทั้งห้าสังหารท่าน อย่ามารับความตายนี้เลย จงรีบกลับไปเสีย"
เมื่อได้ยินดังนั้น ปริพาชิกจึงหันหลังกลับไปยังอุทยาน เก็บข้าวของทันที ฝ่ายพระราชาประทับยืนอยู่ที่ริมหน้าต่าง ทอดพระเนตรรอดูเหตุการณ์ แต่ผ่านไปนานนักบวชก็ยังไม่มา จึงเสด็จตรงไปยังอุทยานทันที
ขณะนั้นได้พบเข้ากับพระโพธิสัตว์เข้า พระองค์ปรี่เข้าไปขวางก่อนเอ่ย "นมัสการ พระคุณเจ้า เพราะเหตุใด จึงรีบร้อนถือข้าวของออกไปเช่นนี้ "
พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้ว ก็เข้าใจว่า พระราชาองค์นี้ยังไม่รู้สึกถึงกรรมที่ตนเองได้ทำไว้ จึงพูดกับพระราชาว่า "ตลอดเวลา ๑๒ ปี ที่อาตมภาพอยู่ในสำนักของมหาบพิตรนี้ ไม่เคยรู้จักเสียงที่สุนัขสีเหลืองมันคำราม สุนัขมันแยกเขี้ยวขาว เห่าราวกับว่าไม่เคยรู้จักกัน เพราะมันได้ยินถ้อยคำของมหาบพิตรกับพระชายาผู้สิ้นศรัทธาจึงกล่าวกะอาตมภาพเช่นนี้"
เมื่อพระราชาได้ยินดังนั้น ความรู้สึกผิดได้ถาโถมเข้ามาในหัว "ข้าแต่ท่านบรรพชิต นั้นคือความจริงตามที่ท่านกล่าว ข้าพเจ้านี้เลื่อมใสยิ่งนัก ขอท่านจงอยู่เถิด อย่าไปเลย"
"ธรรมดาว่าบัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่อยู่ร่วมกับข้าศึก ผู้ไม่พิจารณาให้รอบคอบ เช่นอย่างพระองค์ "
"ถ้าพระคุณเจ้าไม่รับการกราบขอโทษ กระผมจะให้บริวารทั้งหมดมาอ้อนวอน ได้โปรดกลับมาอยู่เถิด" "แยกกันอยู่ดีกว่าพระองค์ แบบนี้ดีที่สุดแล้ว" พระโพธิสัตว์กล่าวเสร็จจึงแสดงธรรมแก่พระราชา "ดูก่อนมหาบพิตร ขอพระองค์จงอย่าทรงประมาท" จากนั้นปริพาชกจึง กลับไปพักหิมวันตประเทศตามเดิม
นับตั้งแต่ปริพาชกจากไป อำมาตย์พากันรีดไถประชาชนอย่างสบายมือ วันหนึ่งเหล่าอำมาตย์พากันปรึกษา เรื่องพระโพธิสัตว์ "ถ้านักบวชกลับมาอีก ชีวิตของพวกเราคงไม่มีแน่ ควรกำจัดให้หมด" "ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่สามารถจะละถิ่นฐานที่ตนติดอยู่ได้" "แล้วฐานที่มหาโพธิปริพาชกนั้นติดอยู่ในที่นี้คืออะไรล่ะ?" หนึ่งในอำมาตย์ได้เอ่ยขึ้น "จะมีใครได้ ก็พระมเหสีไง" "ใช่ ข้าคิดว่าอย่างนั้น" เหล่าอำมาตย์จึงปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรที่ จะกำจัดเสี้ยนหนามออกให้หมด
จากนั้นจึงพากันกราบทูลแด่พระราชาว่า "หลายวันมานี้ พวกข้าพระองค์ได้ยินเรื่องหนึ่งมา พะย่ะข้า" "เรื่องอะไรกันหรือ?" "เล่าลือกันว่า มหาโพธิปริพาชกและพระราชเทวี ส่งสาสน์คุยกันขอรับ" "เรื่องอะไรหรือ" "พระเทวีว่างแผนจะปลงพระชนม์ แล้วยกฐานะกษัตริย์ให้ท่านบรรพชิต พะเจ้าข้า" "เจ้านั้นคิดมากไปเอง ภรรยาของข้าไม่มีทางเป็นเช่นนี้เด็ดขาด"
ครั้นพวกอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลอยู่บ่อยๆ พระราชาก็ทรงเชื่อ สั่งให้อำมาตย์ ฆ่าภรรยาของตนซ้ะ ข่าวพระเทวีถูกปลงพระชนม์ เลื่องลือไปทั่วพระนครจนไปเข้าหูของพระโอรสทั้งสี่ จึงโกรธแค้นพ่อของตน พระโพธิสัตว์ได้ทราบเรื่องราวทั้งหมด จึงอยากจะช่วยไม่ให้พระกุมารกระทำเช่นนี้
ในวันรุ่งขึ้น ปริพาชกเดินทางเข้าปัจจันตคาม ฉันเนื้อวานรที่ชาวบ้านนำมาถวายแล้วขอหนัง นำเอามาตากแห้งไว้ที่อาศรม จากนั้นได้ถือหนังวานรเดินทางตรงไปยังพาราณสีทันที
ครั้นพระโพธิสัตว์เข้าไปหาพระกุมารทั้งสี่ ทูลตักเตือน "กรรมจากการฆ่าพระบิดา เป็นกรรมที่ร้ายแรง พวกท่านไม่สมควรทำเช่นนี้ สัตว์ที่จะไม่แก่ไม่ตายไม่มี เรามาที่นี่ด้วยความหวังว่า จะไกล่เกลี่ยให้พวกท่านมีความสามัคคีกันไว้" เมื่อสั่งสอนพระกุมารเสร็จ จึงเดินตรงไปยังอุทยานใช้หนังวานรปูบนพื้น
ขณะนั้น คนเฝ้าสวนเห็นเข้า ก็รีบไปกราบทูลแด่พระราชา เมื่อรับฟังข่าวนั้นแล้ว ก็บังเกิดความยินดี จึงพาอำมาตย์ทั้งห้าไปในอุทยาน ทรงนมัสการพระโพธิสัตว์ แล้วประทับนั่ง ปรารภจะกล่าวทักทาย
ส่วนพระมหาสัตว์มิได้รื่นเริงกับพระราชานั้น ลูบคลำหนังวานรเฉยๆ พระราชาจึงตรัสกับพระโพธิสัตว์ว่า "ท่านผู้เจริญ ไม่ยอมพูดจากับข้าพเจ้า มัวลูบคลำหนังวานรอยู่ได้ หนังวานรของท่านมีอุปการะมากกว่าข้าพเจ้าหรือ" "เป็นเช่นนั้น มหาบพิตร วานรนี้มีอุปการะมากแก่เรา เรานั่งบนหลังของมันเที่ยวไป วานรนี้นำหม้อน้ำมาให้แก่เรา กวาดที่อยู่ให้เรา ได้ทำอภิสมาจาริกวัตรปฏิบัติแก่เรา แต่เรากลับกินเนื้อของมันเสียแล้ว เอาหนังตากให้แห้งไว้ปูนั่งบ้าง ปูนอนบ้าง เพราะว่าตนมีใจอ่อนแอ จึงเป็นดั่งที่ท่านเห็นเช่นนี้"
พวกอำมาตย์เหล่านั้นได้ฟังคำนั้นแล้วกล่าวว่า "ท่านกระทำฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว" จึงพากันปรบมือทำการหัวเราะเยาะว่า "ดูก่อนท่านผู้เจริญ พวกท่านจงดูกรรมของบรรพชิตเถิด ได้ยินแล้วใช่ไหมว่า บรรพชิตนี้ฆ่าลิงกินแล้ว ยังถือเอาหนังเที่ยวไป"
พระโพธิสัตว์เห็นพวกอำมาตย์เหล่านั้นกระทำการเช่นนั้น จึงคิดว่า "พวกอำมาตย์เหล่านี้ยังไม่รู้ว่า เราเอาหนังวานรมา เพื่อต้องการจะทำลายวาทะของตน เราจักให้พวกเขารู้เสียบ้าง"
ขั้นแรกจึงเรียกอำมาตย์แล้ว ถามว่า "ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ท่านหัวเราะเยาะ เราเพราะเหตุไร" "เพราะท่านกระทำกรรม คือการประทุษร้ายต่อมิตร และยังพรากชีวิตด้วย"
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า ก็บุคคลใดเชื่อถืออำมาตย์เหล่านั้นด้วยคติและด้วยทิฏฐิแล้วทำตามอย่างนั้น จะมีอะไรที่จะพึงกล่าวว่า บุคคลนั้นกระทำความชั่ว
โปรดติดตามตอนต่อไป