อรรถกถา ลาภครหิกชาดก
ว่าด้วย วิธีการหลอกลวง
ณ พระวิหารเชตวัน มี สัทธิวิหาริกได้เข้าไปหาพระเถระ แล้วเอ่ยถามว่า "ท่านผู้เจริญ โปรดบอกกระผมได้ไหมวา "จะทำอย่างไรจะให้ลาภเกิดแก่กระผม" พระเถระจึงบอกชายคนนั้นไปว่า "ดูก่อนอาวุโส ลาภสักการะย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ๑. จงทำลายความเกรงกลัวต่อบาป ๒. จงกล่าววาจาส่อเสียด ๓. จงเป็นเช่นกับนักฟ้อนรำ และ ๔. จงเป็นมีวาจาพล่อยๆ" เมื่อชายคนนั้นฟังจบ เกิดการโมโหว่ากล่าวตักเตือนก่อนจะลุกหนีไป
วันต่อมาเมื่อพระเถระทราบเรื่องที่เกิดขึ้นจึงเกิดความไม่สบายใจ ได้เข้าเฝ้าพระศาสดา กราบทูลเรื่องให้ทราบ "ดูก่อนสารีบุตร ภิกษุนั้นติเตียนลาภในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็ได้ติเตียนแล้วเหมือนกัน" จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาเล่าให้ฟัง
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดขึ้นในตระกูลพราหมณ์ เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ก็เรียนจบไตรเพท และศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ จนได้เป็นอาจารย์คอยสอนศิลปะแก่เหล่านักเรียนที่เข้ามาหาความรู้ที่สำนัก
เช้าวันหนึ่ง มีลูกศิษย์ได้เข้ามาหาพระโพธิสัตว์ถึงที่พัก ทำให้ความแปลกใจแล่นเข้ามาในหัว จนต้องเอ่ยปากถาม "เจ้ามีอะไรทำไมถึง เข้ามาที่นี่" "กระผมมีเรื่องสงสัยอยากจะถามหน่อยครับ" "ว่ามา" "จะทำอย่างไรให้เกิดลาภแก่ตนเอง อาจารย์ช่วยบอกกระผมได้ไหม" "ได้สิ ลาภย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ ไม่ใช่คนบ้า ทำเป็นเหมือนคนบ้า ไม่ใช่คนส่อเสียด ทำเป็นเหมือนคนส่อเสียด ไม่ใช่นักฟ้อนรำ ทำเหมือนนักฟ้อนรำ ไม่ใช่คนตื่นข่าว ทำเป็นเหมือนคนตื่นข่าว ย่อมจะได้ลาภในหมู่คนหลงงมงาย นี้เป็นคำสอนสำหรับท่าน"
"ความหมายคืออะไรหรือครับท่านอาจารย์" "ไม่ใช่คนบ้า ทำเป็นเหมือนคนบ้า คือ ต้องไม่เกรงกลัวต่อความผิดบาป อยากได้อยากมีจนไม่สนใจว่าจะได้มาโดยวิธีใดก็ได้ เช่นเห็นเด็กใส่เสื้อผ้า เห็นสร้อยแหวนเงินทองของคนอื่น เกิดความอยากได้ก็ใช้วิธีขโมย หรือหลอกลวง โกงจนได้ทรัพย์นั้นมา"
" คนแบบนี้ถึงจะไม่ใช่คนบ้าก็ชื่อว่าเป็นคนบ้า ส่วนคนใด มีความละอาย รังเกียจ บุคคลนี้ย่อมไม่ได้ลาภในหมู่คนผู้งมงายมิใช่บัณฑิต เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ต้องการลาภพึงทำเป็นเหมือนคนบ้า"
ยังไม่ทันที่อาจารย์จะเอ่ยข้อสองต่อผู้เป็นลูกศิษย์ เอ่ยขึ้น "แน่ใจหรือครับ ผมว่ามันไม่น่าจะใช่นะ" ใบหน้าของอาจารย์เปื้อนได้ด้วยรอยยิ้ม ก่อนเอ่ยว่า "ยังไงฟังข้อสองก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน"
"ส่วนคนที่เป็นผู้ส่อเสียด ให้นำความส่อเสียดเข้าไปในราชสกุล กล่าวโทษคนอื่นไปเรื่อย แย่งชิงยศของคนอื่นถือเอามาเพื่อตนเอง ประจบพระราชา จนทำให้เกิดความเสน่หา เราจะได้อยู่ในตำแหน่งสูงๆ เช่นอำมาตย์ "
"ข้อสาม พึงเป็นเหมือนนักฟ้อนรำ นักเต้นรำทั้งหลาย เมื่อขึ้นการแสดงจะต้องละทิ้งความละอาย การขับร้องและสวมบทบาทเป็นตัวละครที่ตนได้รับบทบาท ซึ่งการแสดงแต่ละครั้ง มักจะได้เงินจากผู้คนที่ชื่นชอบเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเราจะต้องสวมบทบาทต่างๆ เพื่อเที่ยวหลอกล่อทรัพย์ของคนอื่น"
"มีอะไรสงสัยอีกไหม" อาจารย์เอ่ยถามลูกศิษย์ที่ตอนนี้นั่งขมวดคิ้วจนแทบจะพันกันเป็นปมได้แล้ว "เอ่อ..ไม่มีครับผมแค่ไม่เข้าใจเฉยๆ"
" ฮะแอม....ข้อสุดท้ายแล้ว ไม่ใช่คนตื่นข่าว ทำเป็นเหมือนคนตื่นข่าว ยกตัวอย่างเช่น เรานั้นเป็นอำมาตย์อยู่ในพระราชวัง ในกรณีนี้คือ เราสามารถปล่อยข่าวปลอมขึ้นมา "เช่นแถวบ้านของหม่อมฉันมีโจรคอยเข้ามาชิงทรัพย์" เมื่อพระราชาทราบข่าว ก็จะส่งทหารไปดูแล ส่วนเรื่องผู้เสียหายก็จ้างคนที่ไว้ใจได้ ค่อยเล่นละครตบตา เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผน พระราชาจะเพิ่มยศให้กับอำมาตย์ผู้นั้น เพราะเขาเป็นคนช่วยให้บ้านเมืองสงบสุข"
"ทั้งหมดก็ประมาณนี้" "เอาจริงๆนะครับ นี้คือคำสอนจริงๆใช่ไหม" "อื้ม"อาจารย์พยักหน้าช้าๆ "ท่านยังจำประโยคสุดท้ายได้ไหม" " ครับ นี้เป็นคำสอนสำหรับท่าน" "ใช่ คำสอนนี้สำหรับมนุษย์ที่สามารถสร้างเงินได้เป็นกอบเป็นกำ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง" "แล้วถ้าหาเลี้ยงชีพแบบนี้จะทำให้เราตกต่ำลงนะครับ" "ใช่" อาจารย์พยักหน้าอย่างช้าๆ "กระผมไม่อยากทำงานหาเงินแบบนี้เลย" "ถ้าอย่างนั้นก็ออกบวชสิ ถึงแม้จะไม่ได้มีบ้านหลังใหญ่ ใช้ชีวิตสะดวกสบาย แต่สิ่งนี้ประเสริฐกว่าการมีชีวิตเป็นคนธรรมดาเป็นไหนๆ" "ครับ" ลูกศิษย์ได้ฟังดังนั้นก็คิดพิจารณา "ผมขอเวลาคิดสักครู่นะครับ" จากนั้นก็ได้เดินจากไป
เมื่อคุยกับอาจารย์เสร็จจึงตัดสินใจออกบวชเป็นฤาษี แสวงหาภิกษาโดยธรรม ยังสมาบัติทั้งหลายให้เกิดขึ้น ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
มาณพในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุผู้ติเตียนลาภในบัดนี้
ส่วนอาจารย์ คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.