ชาดก 500 ชาติ รวมนิทานชาดกพร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ชาดก 500 ชาติ : ชาดก 500ชาติรวมชาดก 500 ชาติพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ชาดก คือ เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า คือ สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิตที่พระองค์ทรงประสงค์ เรียกเรื่องในอดีตของพระองค์นี้ว่า ชาดก ชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่า นิทานชาดก

ชาดก 500 ชาติ :: อรรถกถา กาฬกัณณิชาดกว่าด้วย มิตร

อรรถกถา กาฬกัณณิชาดกว่าด้วย มิตร


               พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภมิตรของท่านอนาถบิณฑิกะผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ 


              มิตรผู้นั้นได้เคยเป็นสหายร่วมเล่นกันมากับท่านอนาถบิณฑิกะ ทั้งเรียนศิลปะในสำนักอาจารย์เดียวกัน โดยนามมีชื่อว่า กาฬกรรณี. 

 13-11-67-1b.jpg

               กาฬกรรณีนั้น เมื่อกาลล่วงผ่านไปก็เป็นผู้ตกยาก ไม่อาจเลี้ยงชีวิตได้ จึงไปยังสำนักของท่านเศรษฐี. 


               ท่านเศรษฐีก็ปลอบสหาย ให้เสบียงแล้วมอบสมบัติของตนแบ่งให้ไป เขาเป็นผู้ทำอุปการะแก่ท่านเศรษฐี ทำกิจการทุกอย่าง เวลาที่เขามาสู่สำนักท่านเศรษฐี คนทั้งหลายพากันกล่าวว่า หยุดเถิดกาฬกรรณี นั่งเถิดกาฬกรรณี กินเถิดกาฬกรรณี. 
13-11-67-2b.jpg               
               อยู่มาวันหนึ่ง หมู่มิตรและอำมาตย์ของท่านเศรษฐี พากันเข้าไปหาท่านเศรษฐี แล้วพูดอย่างนี้ว่า อย่าเลี้ยงเขาไว้ใกล้ชิดอย่างนี้เลย ท่านมหาเศรษฐี เพราะแม้ยักษ์เองก็ยังต้องหนีด้วยเสียงนี้ว่า หยุดเถิดกาฬกรรณี นั่งเถิดกาฬกรรณี กินเถิดกาฬกรรณี เขาเองก็มิได้เสมอกับท่าน ตกยาก เข็ญใจ ท่านจะเลี้ยงคนๆ นี้ไว้ทำไม. ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกล่าวว่า ธรรมดาว่าชื่อเป็นคำเรียกร้อง หมู่บัณฑิตมิได้ถือชื่อเป็นประมาณ ไม่ควรจะเป็นคนประเภทที่ชื่อว่า "สุตมังคลิกะ" (ถือมงคลจากเสียงที่ได้ยิน) เราไม่อาจอาศัยเหตุเพียงแต่ชื่อ แล้วทอดทิ้งเพื่อนผู้เล่นด้วยกันมา ดังนี้แล้ว มิได้ยึดถือถ้อยคำของพวกนั้น. 

13-11-67-3b.jpg               
             

                วันหนึ่ง เมื่อจะไปบ้านส่วยของตน ได้ตั้งเขาเป็นผู้รักษาเคหสถาน. 


               พวกโจรคบคิดกันว่า ได้ข่าวว่า เศรษฐีไปบ้านส่วย พวกเราระดมกันปล้นบ้านของเขาเถิด พากันถืออาวุธต่างๆ มาในเวลากลางคืนล้อมเรือนไว้. 


                ฝ่ายกาฬกรรณีระแวงการมาของพวกโจรอยู่ จึงนั่งเฝ้าไม่ยอมหลับนอนเลย ครั้นรู้ว่า พวกโจรพากันมา เพื่อจะปลุกพวกมนุษย์ จึงตะโกนว่า เจ้าจงเป่าสังข์ เจ้าจงตีกลอง ดังนี้แล้ว ทำให้เป็นเหมือนมีมหรสพโรงใหญ่ กระทำนิเวศน์ทั้งสิ้นให้มีเสียงสนั่นครื้นเครงตลอดไป. 
13-11-67-4b.jpg             

                 พวกโจรพากันพูดว่า ข่าวที่ว่า เรือนว่างเปล่าพวกเราฟังมาเหลวๆ ท่านเศรษฐียังคงอยู่ แล้วต่างทิ้งก้อนหินและไม้พลองเป็นต้น ไว้ตรงนั้นเองหนีไปหมด. 


               รุ่งขึ้น พวกมนุษย์เห็นก้อนหินและไม้พลองเป็นต้นที่พวกโจรทิ้งไว้ในที่นั้นๆ ต่างสลดใจไปตามๆ กัน พูดกันว่า ถ้าวันนี้ไม่มีคนตรวจเรือน ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้ขนาดนี้แล้ว พวกโจรจักพากันเข้าได้ตามความพอใจ ปล้นเรือนได้หมดเป็นแน่ เพราะอาศัยมิตรผู้มั่นคงผู้นี้ ความจำเริญจึงเกิดแก่ท่านเศรษฐี ต่างพากันสรรเสริญกาฬกรรณีนั้น. 

13-11-67-5b.jpg
               เวลาที่เศรษฐีมาจากบ้านส่วย ก็พากันบอกเรื่องราวนั้นให้ทราบทุกประการ. ครั้งนั้น ท่านเศรษฐีได้พูดกับคนเหล่านั้นว่า พวกเธอบอกให้เราไล่มิตรผู้รักษาเรือนอย่างนี้ไปเสีย ถ้าเราไล่เขาไปตามถ้อยคำของพวกเธอเสียแล้ว วันนี้ทรัพย์สินของเราจักไม่มีเหลือเลย ธรรมดาว่า ชื่อไม่เป็นประมาณดอก จิตที่คิดเกื้อกูลเท่านั้นเป็นประมาณ ดังนี้แล้ว ให้ทรัพย์เป็นทุนแก่เขายิ่งๆ ขึ้นไป ดำริว่า บัดนี้ เรามีเรื่องที่จะเริ่มเป็นหัวข้อกราบทูลได้แล้ว ไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลเรื่องราวนั้นแต่ต้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. 


               พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่มิตรชื่อว่ากาฬกรรณีรักษาทรัพย์สินในเรือนแห่งมิตรของตนไว้ แม้ในครั้งก่อนก็รักษาแล้วเหมือนกัน. 


               ท่านเศรษฐีกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :- 


               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นเศรษฐีมียศยิ่งใหญ่. ท่านเศรษฐีได้มีมิตรชื่อ กาฬกรรณี เรื่องราวทั้งหมดก็เหมือนกับเรื่องปัจจุบันนั่นแหละ.

 
               พระโพธิสัตว์มาจากบ้านส่วยแล้วฟังเรื่องนั้นแล้ว กล่าวว่า ถ้าเราไล่มิตรเช่นนี้ออกไปเสียตามคำของพวกท่านแล้ว วันนี้ทรัพย์สมบัติของเราจักไม่มีอะไรเหลือเลย.  แล้วกล่าวว่า :- 


               "บุคคลชื่อว่าเป็นมิตรด้วยการเดินร่วมกัน ๗ ก้าว ชื่อว่าเป็นสหายด้วยการเดินร่วมกัน ๑๒ ก้าว และชื่อว่าเป็นญาติด้วยการอยู่ร่วมกันเดือนหนึ่งหรือกึ่งเดือน ส่วนผู้ชื่อว่ามีตนเสมอกันก็ด้วยการอยู่ร่วมกันยิ่งกว่านั้น เราจะละทิ้งมิตร ชื่อว่ากาฬกรรณี ผู้ชอบพอกันมานาน เพราะความสุขส่วนตัวได้อย่างไร?" 

     

               พระโพธิสัตว์กล่าวถึงคุณของมิตรนั่นแลด้วยประการฉะนี้. ตั้งแต่นั้นมา ก็มิได้มีใครๆ ที่จะได้ชื่อว่า กล่าวละลาบละล้วงกาฬกรรณีนั้นอีกเลย. 
                พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า 


                         กาฬกรรณีในครั้งนั้น ได้มาเป็น อานนท์ ในครั้งนี้ 
                         ส่วนพาราณสีเศรษฐี ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

* * ชาดก 500 ชาติ แนะนำ * *

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล