วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ การทำงานเผยแผ่ พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก (ตอนที่๑)

พระธรรมเทศนา


        มนุษย์ทุกคนล้วนเกลียดทุกข์อยากได้สุข กันทั้งนั้น แต่ปัญหาก็คือมนุษย์เกิดมาพร้อมกับ ความไม่รู้ อีกทั้งยังมีความ
ทุกข์ประจำชีวิต ได้แก่ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย คอยติดตามเล่นงานไม่หยุดหย่อนอยู่ทุกโมงยามอีกด้วย จิตใจของมนุษย์จึงตกอยู่ในสภาพความหวาดกลัวได้โดยง่าย จึงเป็นเหตุให้หลงผิดได้ง่ายผลสุดท้ายจึงกลายเป็นว่า
ยิ่งแก้ปัญหายิ่งเจอทุกข์ ยิ่งเพิ่มความหวาดกลัว ยิ่งบานปลาย กลายเป็นสารพัดปัญหาที่ยุ่งเหยิงแก้กันไม่จบไม่สิ้น
ชีวิตมนุษย์ในทุกวันนี้จึงตกอยู่ในสภาพลองผิดลองถูกกับการแก้ทุกข์ภัยต่างๆ โดยไม่รู้ว่าท้ายที่สุดชีวิตนั้น ตนเองจะต้องพบกับจุดจบอันเป็นชะตากรรมที่ดีหรือร้ายอย่างไร

       นั่นย่อมหมายความว่า สิ่งที่มนุษย์ทั้งโลกขาดแคลนอย่างหนักในทุกยุคทุกสมัย ก็คือ ปัญญาที่สามารถใช้ขจัดความไม่รู้ ขจัดความทุกข์ และขจัดความกลัวให้หมดสิ้นไปได้อย่างตรงตามความเป็นจริง ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกปัญญานั้นว่า "ธรรมะ" ซึ่งมิใช่ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการไตร่ตรองด้วยความคิด แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากการตรัสรู้ คือ"เห็นแล้วจึงรู้" ด้วยการปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรคมีองค์ ๘ และนับแต่ วันที่พระองค์ตรัสรู้ธรรมเป็นต้นมางานเผยแผ่ธรรมะ
ไปทั่วโลกจึงเกิดขึ้นมาในโลกนี้ ชาวโลกจึงได้โอกาสแห่งการเข้าถึงธรรมตามพระองค์ไป

     เพราะฉะนั้น ในฐานะที่พวกเราเป็นชาวพุทธมีโอกาสได้พบกับธรรมะที่ขจัดความไม่รู้ได้จริง ขจัดความทุกข์ได้จริง
ขจัดความกลัวได้จริง ก่อนคนอื่นในโลกนี้ จึงมีภารกิจประจำชีวิตที่ติดตัวกัน มา ๓ ประการ คือ
๑) ต้องหมั่นเพียรทำภาวนา เพื่อมุ่งขจัดความไม่รู้ ขจัดความทุกข์ และขจัดความกลัวให้หมดสิ้นไป จะได้อาศัยปัญญา คือ ธรรมะเป็นที่พึ่ง

๒) ต้องช่วยกันเผยแผ่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทั่วโลกเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึง
ธรรมให้ทั่วถึงแก่ชาวโลก อันจะเป็นที่มาแห่งการเกิดสันติภาพโลกที่แท้จริง

๓) ต้องช่วยกันสร้างและดูแลรักษา สิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาเพื่อบรรลุธรรม โดยเฉพาะการดูแลวัด
ไม่ให้ร้าง การพัฒนาวัดให้เหมาะแก่การศึกษาธรรมะ และการเพิ่มสถานที่ปฏิบัติธรรมให้ทั่วถึงทุกมุมโลก

        เพราะเหตุแห่งภารกิจประจำชีวิตทั้ง ๓ ประการนี้ ชาวพุทธจึงต้องศึกษาเรื่องการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ไปทั่วโลกให้เกิดความ ชัดเจน จึงจะสามารถฝึกฝนอบรมตนเองให้มีศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจของชาวพุทธได้
อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด การเผยแผ่ศาสนาคือการทำอะไรแน่

"เผย"หมายถึง ทำให้ปรากฏ ดังเช่น เปิดของที่ปิด หงายของที่คว่ำ

"แผ่"หมายถึง ทำให้กว้างขวาง หรือ ขยายตัวออกไปในลักษณะครอบคลุม เหมือน ดวงอาทิตย์แผ่รัศมีครอบคลุมโลก

         ตรงข้ามกับคำว่า แพร่ ซึ่งหมายถึง การขยาย ตัวออกไปในลักษณะแทรกซึม เช่น การแพร่ของโรคระบาด

       คำว่า "ศาสนา" หมายถึงคำสั่งสอนที่เป็นหลัก ปฏิบัติในชีวิตประจำวันในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสัจธรรมไปพร้อมๆ กัน

        "การเผยแผ่ศาสนา" จึงหมายถึง การทำให้คำสอนที่เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันในฐานะที่เป็นทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์
และสัจธรรมปรากฏขึ้นชัด ทั้งในสายตาและจิตใจของชาวโลกและทุ่มเทให้คำสอนแสนวิเศษนั้นแผ่ขยายครอบคลุม
กว้างไกลออกไปทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้ชาวโลกมีที่พึ่ง ปลอดภัยไร้ความทุกข์และความกลัวนานา

กำเนิดศาสนา

         มนุษย์ทั่วโลกต่างเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิตของตนเองและโลกที่เราอาศัยอยู่
จึงเป็นสาเหตุให้มนุษย์ต้องประสบทุกข์ต่างๆ เพราะความไม่รู้ และกลายเป็นความกลัวภัยอันตรายนานาขึ้นมาในจิตใจ ความต้องการ ที่พึ่งทางใจเพื่อขจัดความทุกข์และความกลัว จึงเกิดขึ้นมาในจิตใจมนุษย์ และนี่คือที่มาของ
การกำเนิดลัทธิศาสนาต่างๆ

        ลัทธิศาสนาบางลัทธิเกิดขึ้นจากความกลัวอดกลัวอยากจากภัยธรรมชาติ บ้างเกิดขึ้นจากความกลัวโรคระบาด บ้างเกิดขึ้นจากความกลัว ชนต่างเผ่ารุกราน บ้างเกิดขึ้นจากความกลัวผู้ใต้ปกครองลุกฮือต่อต้าน เป็นต้น

       พระพุทธศาสนาก็เกิดขึ้นจากความกลัวเช่นกัน แต่ไม่ใช่เพราะความกลัวภัยอันตรายจาก สิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์
ภายนอกที่ธรรมชาติหรือมนุษย์เป็นผู้กระทำขึ้น แต่เป็นความกลัว ภัยอันตราย ซึ่งเกิดจากภายในจิตใจของตน นั่นคือ "ความกลัวภัยจากกิเลส" นั่นเอง

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพบความจริงว่า กิเลส คือ ต้นตอแห่งความไม่รู้ ความทุกข์และความกลัวทั้งมวล และเบื้องหลังปัญหาต่างๆ ในชีวิต มนุษย์นั้นล้วนมีกิเลสเป็นตัวชักใยทั้งสิ้น กิเลสจึงเป็นภัยที่หนักหนาสาหัสที่สุดของทุกๆ
ชีวิต ดังนั้น การแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ทั้งโลกนี้ หากจะให้ได้ผลจริง ต้องสอนให้มนุษย์แต่ละคนรู้จักกำจัดกิเลสตนเอง
มิฉะนั้นความไม่รู้ ความทุกข์และความกลัว ก็จะไม่มีวันจางหายไปจากใจได้เลย ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนา
เดียวในโลก ที่มุ่งสอนเรื่องการกำจัดกิเลสอย่างจริงจัง ซึ่งศาสนาไหนๆ ในโลกก็ไม่เคยมีการสอนเช่นนี้มาก่อนเลย

        เพราะฉะนั้น ผู้ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจถูกก่อนว่า "การเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ การนำคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสัจธรรม ไปให้ชาวโลกได้เห็นและเข้าใจ กำจัดทุกข์และกำจัดกิเลสในใจของเขาหมดลงได้เด็ดขาด และเป็นประโยชน์จริงให้ปรากฏเด่นชัดแก่สายตาชาวโลก
และแผ่ขยายให้กว้างไกลครอบคลุมไปทั่ว ทุกมุมโลก เพื่อให้ชาวโลกมีที่พึ่งที่แท้จริงในการกำจัดทุกข์และความกลัวภัยต่างๆ
ซึ่งถ้าหากผู้ทำงานเผยแผ่มองไม่ออกแล้ว ก็ยากที่จะทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งภายในและต่างประเทศได้ดีเท่าที่ควร

ระดับการทำงานเผยแผ่คำสอนในแต่ละศาสนา

          เนื่องจากกิเลสและความกลัวภัยของมนุษย์มีหลายระดับ ทำให้การเผยแผ่ของแต่ละลัทธิศาสนา ต้องแบ่งออกเป็น
หลายระดับตามไปด้วย แต่โดยรวมๆ แล้ว แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ

๑) คำสอนระดับการดำเนินชีวิต คือ คำสอน ที่มุ่งเน้นให้ประกอบสัมมาอาชีพ โดยไม่ขัดต่อ ตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง คือ เน้นแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นหลัก

๒) คำสอนระดับศีลธรรม คือ คำสอนที่ มุ่งเน้นให้รู้จักควบคุมกาย วาจา ใจของตนเอง ไม่ให้เป็นพิษภัยต่อตนเองและผู้อื่น โดยเน้นให้ มีความเมตตากรุณาต่อกัน
ตลอดจนความมีกิริยามารยาทงดงาม น่ารัก น่าเข้าใกล้ น่าเชื่อถือ เป็นต้น

๓) คำสอนระดับกำจัดกิเลส คือ คำสอนที่มุ่งเน้นการทำภาวนาอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
เพื่อการกำจัดกิเลสให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

          ลัทธิศาสนาต่างๆ โดยทั่วไปจะสอนสูงสุดได้เพียงระดับการดำเนินชีวิตและระดับศีลธรรมเท่านั้น มีเพียงพระพุทธศาสนา
ที่นอกจากสามารถสอนได้ในระดับเดียวกับลัทธิศาสนาอื่นแล้ว ยังสามารถสอนในระดับสูงสุด คือ การกำจัดกิเลส
ให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษออกจากใจของผู้ปฏิบัติ แต่ละบุคคลได้อีกด้วย

           เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง หากศึกษาด้วยความ
รอบคอบย่อมได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ และสามารถเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในคำสอนทุกเรื่องของ
พระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน การพัฒนาตนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นในทุกระดับจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชนชั้นล่างก็
พัฒนาตนเป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางก็พัฒนาตนเป็นชนชั้นสูง ชนชั้นสูงก็พัฒนาตนเป็นต้นแบบนักสร้างบารมีให้แก่สังคม
และ ทุกคนก็คือกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือความถูกต้อง ความดีงามสากลให้กว้างไกลไปทั่วโลกนั่นเอง

          ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศจำต้องศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจ คำสอนทั้ง ๓ ระดับดังกล่าวชัดเจนเสียก่อน หากตนเองยังเข้าใจไม่ชัด อย่างดีก็จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้เพียงในระดับการดำเนินชีวิต
และการรักษาศีลธรรมเท่านั้น แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้ชาวต่างชาติ ต่างลัทธิศาสนาในประเทศนั้นๆ เข้าถึงคำสอนในระดับ
กำจัดกิเลส ซึ่งทรงคุณค่าวิเศษแตกต่างจากลัทธิศาสนาดั้งเดิมของเขา ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายมากเพราะนอกจากเขา
จะไม่ให้ความสนใจในพระพุทธศาสนาเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังจะหลงเข้าใจผิดว่าพระพุทธศาสนาเป็นของ
ส่วนเกิน เกะกะบ้านเมืองเขาอีกด้วย

          นอกจากนี้ การที่เราต้องจากบ้านเกิด เมืองนอนไปอยู่ต่างประเทศ กว่าที่เราจะปรับตัว ให้เข้ากับสภาพวิถีชีวิตของคน
ในบ้านเมืองนั้นได้ ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร โดยเฉพาะในขั้นต้น คือการปรับตัวให้เข้ากับความเคร่งครัด
ในเรื่องกฎหมายและระเบียบวินัยต่างๆ อย่างจริงจัง หากในระหว่างการปรับตัวนั้น เราพลาดพลั้งวางตน
ไม่เหมาะสมในสายตาของเขา แม้ในเรื่องเล็กน้อยก็อาจเป็นที่ดูถูกดูแคลนของคนในบ้านเมืองนั้นได้
ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก

        ไม่ว่าประเทศไหนๆ ก็แบ่งกลุ่มคนเป็น ๓ ระดับด้วยกันทั้งนั้น คือ ระดับล่าง ระดับกลาง และระดับบน ขณะที่การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในต่างประเทศเรามักจะเริ่มต้นจากคนไทยที่ทำงาน อยู่ในประเทศนั้นๆ ซึ่งส่วนมากมัก
จะอยู่ในกลุ่มคน ระดับล่าง นั่นก็หมายความว่า แม้เราจะเคร่งครัดในวินัยจนกระทั่งปรับตัวเข้ากับสภาพบ้านเมืองของเขา
ได้แล้วก็ตาม แต่ก็จะหนีไม่พ้นการถูกมองว่าเป็นชนชั้นล่างของสังคมเขาทำให้เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งใน
การยอมรับพระพุทธศาสนา

         ดังนั้น การคัดพระภิกษุและเจ้าหน้าที่ ไปทำงานเผยแผ่ในต่างประเทศ จึงถูกบังคับโดยปริยายให้คัดคน
ที่มีความเคร่งครัดในวินัยและ การปฏิบัติธรรมส่งไป เพราะว่าการเผยแผ่ไม่ใช่แค่การไปเทศน์สอน แต่ทุกอิริยาบถ
ตกอยู่ในสายตาของคนในบ้านเมืองนั้นตลอดเวลา หากเขามีความรู้สึก หรือเกิดทัศนคติผิดๆ ว่า พลเมืองทั่วไป
ในประเทศของเขายังมีวินัย กิริยามารยาท เหนือกว่าพระภิกษุและเจ้าหน้าที่ของเราเสียอีก การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ในประเทศนั้น ย่อมปิดตายทันที นี่คือสิ่งที่นักเผยแผ่ทุกรูปทุกคนต้องระมัดระวังให้มากๆ

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล