วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ อปจายนมัย หนทางสู่ความรุ่งโรจน์

 

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ / ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
 
อปจายนมัย
หนทางสู่ความรุ่งโรจน์
 
“อภิวาทนสีลิสฺส  นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ  อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ
ความประเสริฐ ๔ ประการ คือ อายุยืน ผิวพรรณผ่องใส มีความสุขกายสุขใจ
มีพลานามัยแข็งแรง ย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติกราบไหว้ ประพฤตินอบน้อมต่อผู้ใหญ่อยู่เป็นนิจ”
 
         อปจายนมัย มาจากศัพท์ว่า  อป (ปราศ, หลีก) จายะ (ให้เกียรติ, เคารพ, บูชา, สักการะ)   มยะ (สำเร็จ, เกิดจาก) รวมความว่า บุญที่เกิดจากการนอบน้อมหรือเคารพบูชาผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม ที่เป็นบุญเพราะผู้มีความอ่อนน้อมย่อมมีจิตที่    อ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง ซึ่งเกิดจากการพิจารณาเห็นคุณธรรมความดีของผู้ใหญ่ที่อุดมด้วยวัยวุฒิ    คุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ และมีศีลมีธรรม
 
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
 
บุคคลที่ควรอ่อนน้อมและควรให้เกียรติ ท่านเรียกว่า วุฑฒบุคคล ซึ่งมีอยู่ ๓ ประเภท คือ 
 
๑. วัยวุฑฒะ คือ คนที่แก่กว่าหรืออายุมากกว่าเรา เช่น พี่ ป้า น้า อา ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า
 
๒. ชาติวุฑฒะ คือ คนที่มีชาติกำเนิดสูงกว่าเรา คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี       พระราชโอรส พระราชธิดา แม้จะมีอายุน้อยกว่า แต่ชาติตระกูลสูง เราก็ควรแสดงความเคารพ เพราะเป็นไปเพื่อความเจริญ
 
๓. คุณวุฑฒะ คือ คนที่มีคุณธรรมสูงกว่า เช่น พระภิกษุ สามเณร แม้จะมีอายุน้อยกว่า เราก็ควรนอบน้อมต่อท่าน เพราะท่านมีคุณธรรม คือ ศีลสูงกว่าเรา หรือคนที่มีบุญคุณต่อเรา เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ เพราะท่านมีคุณต่อเราหรือต่อสังคม
 
          การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อ วุฑฒบุคคล ๓ ประเภทดังกล่าวข้างต้น ด้วยการกราบไหว้ ลุกรับ พูดจาด้วยความมีสัมมาคารวะ หรือให้เกียรติท่านทั้งต่อหน้าและลับหลัง จัดเป็น อปจายนมัย ซึ่งจะเป็นบุญใหญ่ ส่งผลให้เราเป็นผู้มีใจสูง เป็นที่เคารพรักและเกรงใจของคนรอบข้าง จะมีชีวิตที่รุ่งโรจน์รุ่งเรืองในหน้าที่การงาน มีอายุขัยยืนยาว
 
        ในสมัยพุทธกาล สามีภรรยาคู่หนึ่งให้กำเนิดลูกชายที่น่ารักน่าเอ็นดู บรรดาญาติมิตรเพื่อนพ้องต่างพากันเดินทางมาอวยพรไม่ขาดสาย  วันหนึ่ง เพื่อนของสามีซึ่งออกบวชเป็นนักพรต   มาเยี่ยม แทนที่จะให้พรเด็กทารก ท่านนักพรตกลับบอกว่า “ทารกนี้จะตายภายใน ๗ วัน” พ่อแม่ของเด็กตกใจมาก รีบถามว่า “แล้วทำอย่างไร เด็กถึงจะมีชีวิตรอด” นักบวชท่านนั้นกล่าวว่า “เราไม่รู้หรอก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถช่วยได้”
 
        ตามปกติพราหมณ์ไม่เคยไปวัด เพราะ ยังไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่เพื่อชีวิตของ ลูกน้อย จึงยอมทำตามที่นักบวชแนะนำ พ่อ แม่ ลูก รีบพากันเดินทางไปที่วัดพระเชตวัน พร้อมกับกราบทูลเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ด้วยมหากรุณาอันไม่มีประมาณ พระพุทธองค์จึงทรงแนะกุศโลบายว่า “ถ้าท่านปรารถนาจะให้เด็กมีชีวิตรอด ขอให้ทำมณฑปเป็นที่ปฏิบัติธรรม ปูลาดอาสนะ ๑๖ ที่นั่ง เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ แล้วให้ไปชักชวนมหาชนมาฟังพระสาธยายพระปริตรตลอด ๗ วัน ถ้าทำอย่างนี้ เด็กก็จะปลอดภัย”
 
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
 
        สองสามีภรรยาดีใจมากที่ลูกจะปลอดภัย จึงช่วยกันจัดเตรียมงานทุกอย่าง และคอยต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ที่จะผลัดเปลี่ยนกันมาที่บ้านตลอด ๗ วัน โดยให้ลูกน้อยนอนอยู่ตรงกลาง มีพระนั่งล้อมรอบเพื่อเจริญพระพุทธมนต์ อีกทั้งมีมหาชนจำนวนมากนั่งฟังอยู่ด้วย
 
        วันที่ ๗ พระบรมศาสดาเสด็จไปเป็นประธานในพิธี เหล่าเทวดาในหมื่นจักรวาล ตลอดจนพรหม อรูปพรหม ก็มาประชุมกันที่บ้านนั้นเต็มไปหมด เพื่อฟังธรรมและปฏิบัติธรรม แม้ในอากาศก็อยู่แน่นไปหมดจนไม่มีช่องว่าง  
 
         ในวันนั้น อวรุทธกยักษ์ตนหนึ่ง ซึ่งบำรุงท้าวเวสสุวรรณอยู่ ๑๒ ปี ได้รับพรว่า ภายใน ๗ วันนี้ ให้สามารถจับเด็กทารกกินได้ตามชอบใจ  ยักษ์จึงมายืนคอยหาโอกาสจับเด็กทารกนี้กิน    แต่เนื่องจากมีเหล่าเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่มากมายมาประชุมกัน เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยต้องถอยไปตามลำดับ จนผู้มีศักดิ์น้อยสุดต้องถอยไปหลังสุด   ไกลถึง ๑๒ โยชน์ แม้ยักษ์ก็ต้องถอยออกไปอยู่ ด้านหลังสุด  อีกทั้งพระบรมศาสดาทรงเจริญพระพุทธมนต์ตลอดทั้งคืน ทำให้มนุษย์ เทวดา พรหม  อรูปพรหม ได้บรรลุธรรมกันมากมาย ครั้นครบ ๗ วัน ยักษ์จึงหมดโอกาสจับเด็กทารกนี้กิน
 
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
 
        เช้าวันที่ ๘  สองสามีภรรยานำลูกน้อยไปถวายบังคมพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ตรัสว่า “ทีฆายุโก โหตุ ขอให้กุมารน้อยนี้ จงเป็นผู้มีอายุยืนเถิด” แล้วยังทรงพยากรณ์ต่อไปอีกว่า “เด็กน้อยคนนี้จะมีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี ทีเดียว”  สองสามีภรรยาต่างปลื้มปีติยินดี เกิดความซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัย ตั้งแต่นั้นมาจึงยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แล้วตั้งชื่อให้ลูกว่า “อายุวัฒนกุมาร”  
 
       พระพุทธองค์ทรงเมตตาสอนสองสามีภรรยาให้รู้หลักวิชาในการเลี้ยงลูก เช่น สอนลูกให้มีความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าเป็นคนแข็งกระด้าง อย่ามีทิฐิมานะ ให้รักษาศีล สองสามีภรรยาก็น้อมนำไปปฏิบัติด้วยความซาบซึ้งใจ ตั้งใจดูแลลูกน้อยให้เป็นคนเก่งและดี ฝ่ายหนูน้อยผู้เกือบชะตาขาดก็แคล้วคลาดภยันตราย จากร้าย  ก็กลายเป็นดี และเป็นผู้มีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี     สมดังพุทธพยากรณ์จริง ๆ 
 
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
 
อปจายนะ : เหตุแห่งอายุยืน
  
         ฝ่ายภิกษุสงฆ์ได้สนทนาธรรมกันว่า นอกจากพุทธานุภาพและอานุภาพพระปริตรแล้ว อะไรหนอเป็นเหตุให้หนูน้อยอายุยืน พระพุทธองค์   ตรัสว่า เหตุที่ทำให้หนูน้อยอายุยืน เพราะเป็นผู้มีปกติอ่อนน้อมกราบไหว้ผู้ใหญ่ และนอกจากอายุยืนแล้ว ยังเป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขใจ พลานามัยแข็งแรงอีกด้วย
 
         ลักษณะของอปจายนะคือให้เกียรติ     ให้ความเคารพ ให้ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ     มีกิริยาที่แสดงออกมาในลักษณะเป็นที่รัก รู้ที่ต่ำ  ที่สูง ไม่ตีตนเสมอท่าน แต่ก็มีคุณสมบัติผู้ดี     อยู่ในตัว มีวาจาอ่อนหวาน คือมีคำพูดที่ไพเราะ    ไม่พูดโอ้อวดยกตัว ไม่พูดกล่าวโทษลบหลู่คนอื่น ไม่พูดเยาะเย้ยถากถาง ถ้าทำผิดก็กล้าขอโทษ  ใครทำคุณก็กล่าวขอบคุณและหาโอกาสตอบแทนคุณ เห็นใครทำดีก็ชมเชยยกย่องจากใจจริง มีใจอ่อนโยน ไม่ถือความคิดของตัวเป็นใหญ่ มีใจเปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น รู้จักแสวงจุดร่วมสมานจุดต่าง สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย เคารพกราบไหว้พระพุทธปฏิมากรซึ่งเป็นดุจตัวแทนของ    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประจำ เมื่อเราฝึกกาย วาจา ใจ ให้เป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนจนเป็นปกติวิสัยแล้ว จะเกิดอานิสงส์ใหญ่ คือ
 
       ๑. ทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีศัตรู อายุยืนยาว   
       
       ๒. ทำให้เป็นที่รักเคารพกราบไหว้จากผู้อื่น
 
       ๓. ทำให้สามารถซึมซับคุณความดีจากผู้อื่นได้ 
 
       ๔. ทำให้เจริญด้วยลาภ ยศ ตำแหน่งการงานที่มั่นคง 
 
       ๕. ภพชาติต่อ ๆ ไปจะเกิดในตระกูลสูง 
 
       ๖. ทำให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน โดยง่าย
 
 
“บุคคลผู้เป็นบัณฑิต ถึงพร้อมด้วยศีล      มีความละเอียด มีปฏิภาณไหวพริบ ประพฤติถ่อมตน และไม่กระด้างเช่นนั้นย่อมได้ยศ” (สิงคาลกสูตร)
   
    เคารพนบนอบท่าน    เจียมใจ
    เฉกเช่นลมพัดไกว     ไผ่พลิ้ว
    จักหยัดอยู่ยืนไป       ชนช่วย ชูแฮ
    ล้มแล้วคนหอบหิ้ว     ห่างสิ้น อันตราย
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 127 พฤษภาคม ปี2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล