วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ บทที่สิบเอ็ด

คอลัมท์ท้ายเล่ม

เรื่อง : โค้ก อลงกรณ์
 
บทที่สิบเอ็ด
 
 
เราคุยกันถึงหนังสือเล่มหนึ่ง 
 
         ‘เรา’ ในที่นี้คือ ‘ผม’ กับ ‘ผู้ทำหนังสือ’ คุณครูไม่เล็ก หนังสือที่รวมเรื่องเล่า จากปากและจากใจลูกศิษย์ของคุณครูไม่เล็กร่วม ๑๐๐ ท่าน
 
       หลังจากการพูดคุยกันทางความคิด ทำให้ผมเข้าใจหลาย ๆ อย่าง เช่น เหตุที่  ผู้ทำไม่คิดให้หนังสือเล่มนี้มีสารบัญ เพราะอยากชวนให้ผู้อ่านสัมผัสบรรยากาศความประทับใจจากบรรดาลูกศิษย์แวดวงต่าง ๆ ที่มีต่อคุณครูไม่เล็กที่พวกเขาเคารพรักเหมือนกับได้มาฟังด้วยตัวเอง
 
        บรรยากาศพูดคุยจริง ๆ นั้นไม่มีลำดับว่าใครเป็นผู้พูดก่อนหรือหลัง ต่างคน ต่างคุ้นเคยกันก็มานั่งล้อมวงคุยกันเป็นกลุ่ม ๆ ใครชอบใจกลุ่มไหนก็เข้าไปร่วมวงรับฟัง ดังนั้นใครสนใจเลือกอ่านหน้าไหนก่อนก็แล้วแต่ใจปรารถนา เล่มนี้สารบัญจึงขอโอกาสหยุดลาพักร้อนในการทำหน้าที่
 
       ผมยังทราบเพิ่มขึ้นอีกว่า ทุกบทจะเริ่มต้นด้วยคุณครูไม่ใหญ่เป็นท่านแรก ที่   เล่าถึงความประทับใจต่อคุณครูไม่เล็ก แต่พอมาถึงบทที่สิบเอ็ดกลับไม่มีเนื้อหาให้อ่าน  ซึ่งความจริงแล้วมี แต่เป็นเนื้อหาที่เราไม่ได้ยิน
 
       ใครที่อ่านมาถึงบทนี้จะเห็นภาพของท่านทั้งสองกำลังเดินพูดคุยกัน เนื้อหาการพูดคุยมีมากมายอยู่ในเครื่องหมายคำพูด (อัญประกาศ) ผมเชื่อว่าเราอาจจะได้ยินถ้าตั้งใจฟังบทที่สิบเอ็ดบทนี้ให้ดี ๆ
 
       ผมได้รับทราบเพิ่มเติมอีกว่า บทพิเศษบทที่สิบเอ็ดที่มีชื่อว่า คุณครูไม่เล็กของเราทุกคน ต่างจากสิบบทแรกที่มีเนื้อหาอัดแน่นตรงที่บทนี้ไม่มีเนื้อหาใด ๆ เลย ความพิเศษจึงอยู่ตรงที่พื้นที่ว่าง ๆ เพื่อจัดเตรียมไว้ให้โดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้มาล้อมวงพูดคุยความประทับใจที่มีต่อคุณครูไม่เล็กด้วยตัวท่านเอง
สำหรับคนจัดทำแล้ว ผมได้ทราบว่าบทที่สิบเอ็ดบทนี้ มีไว้เก็บประสบการณ์  ต่าง ๆ ที่ได้จากการทำงาน ทั้งคำชม คำแนะนำ ความผิดพลาด กำลังใจ และยังเป็น บทที่รวมเรื่องราวมากมายที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในหนังสืออีกด้วย
 
เรากำลังคุยกันในบทที่สิบเอ็ด
 
     ‘เรา’ ในที่นี้คือ ‘ผม’ กับ ‘ลูกศิษย์คุณครูไม่เล็ก’ อีกหลายท่าน
 
      พี่อุบาสิกาท่านหนึ่งเล่าถึงความรัก ความห่วงใยของคุณครูไม่เล็กที่มีต่อเธอ ซึ่งเธอประทับใจไม่มีลืม ตอนนั้นเป็นช่วงที่คุณครูไม่เล็กท่านเดินตรวจความเรียบร้อยภายในวัด และดูแลความเป็นอยู่ของลูก ๆ ในองค์กรไปด้วย พอท่านเดินมาพบเธอ “อยู่กันเป็นอย่างไรบ้าง?”
 
           “อยู่กันสบายดีค่ะ” เธอชี้ไปยังพี่น้องนักสร้างบารมีของเธอที่กำลังทำกิจกรรม ร่วมกันอยู่ “นั่นไงคะ พวกเรากำลังออกกำลังกายตามที่หลวงพ่อแนะกันค่ะ”
 
        ต่อมาวันหนึ่งขณะที่เธอไม่สบายนอนป่วยอยู่ในที่พัก คุณครูไม่เล็กและหมู่คณะเดินตรวจวัดเรื่อยมาเช่นเคย เมื่อมาพบเธอเข้า “เป็นอะไรล่ะ - กินข้าวกินปลาได้ไหม?”
 
        “ยังพอรับประทานได้ค่ะ”
 
        “กินได้ก็ดีแล้ว ถ้ายังกินได้แสดงว่ายังไม่ตายง่าย ๆ หรอกนะลูก” แล้วท่านก็  ให้พรให้หายเร็ว ๆ และให้คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด
 
         เป็นความเมตตาที่ท่านเป็นห่วงเป็นใยและให้กำลังใจลูก ๆ ซึ่งเธอเข้าใจดีว่า หากดูแลรักษาสุขภาพสรีรยนต์นี้ดีมากเท่าไร ก็เท่ากับช่วยรักษาสมบัติให้กับ     พระพุทธศาสนา และบุญที่เธอจะได้เก็บเกี่ยวก็จะยิ่งเต็มที่มากขึ้น
 
      เรื่องนี้พี่อุบาสิกาเล่าให้ผมฟัง ๒ รอบ โดยรอบแรกที่ฟังนี้มีชื่อว่า ‘กินได้ - ตายช้า’
 
       นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในบทใดบทหนึ่งในสิบบท มันเป็นความประทับใจที่ได้มาอยู่ในบทพิเศษที่กันเองเป็นส่วนตัวบทนี้
 
       โดยส่วนตัวแล้ว ผมประทับใจที่เธอเล่าให้ฟังในรอบที่ ๒ มากกว่า เพราะเป็นการเล่าด้วยความคุ้นเคยสนิทกันและเป็นเวอร์ชันต้นฉบับออริจินัล
 
       ในเมื่อพื้นที่ตรงนี้เป็นการคุยกันนอกรอบของบทที่สิบเอ็ด โดยผมขออนุญาตเป็นผู้เล่าในรอบที่ ๒ แบบเธอ ในชื่อเรื่องต้นฉบับดั้งเดิมว่า ‘ด.ด. - ต.ห.ย.’
 
       เหตุการณ์วันนั้นสมมุติว่าผมเป็นเธอ โดยเริ่มจากที่ผมนอนป่วย พอผมทราบว่าคุณครูไม่เล็กท่านเดินตรวจวัดมาเรื่อย ๆ จนมาพบผม ความรู้สึกที่เห็นท่านในวันที่ร่างกายเราอ่อนแอนั้น ขวัญและกำลังใจของเราคงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งท่านเมตตาถามไถ่ทักทายเราด้วยความเอ็นดูอีกว่า “ไอ้โค้ก! นั่นเอ็งหรือวะ เอ็งเป็นไงบ้าง ยังพอ_ได้ไหมวะ?”
 
     ผมคงต้องรีบตะแคงตัวลุกขึ้นมาพนมมือตอบท่าน “ยังพอทานได้อยู่ครับหลวงพ่อ”
 
      ท่านก็คงยิ้มออกมาเพราะเบาใจที่เห็นอาการของผมไม่หนักมาก “เอ้อ! _ได้ก็ดีแล้ว ถ้ายังพอ_ได้แสดงว่าเอ็งจะตาย_ยาก!”
 
     จบข่าว! ขอจบการรายงานเรื่อง “ด.ด. - ต.ห.ย.” แต่เพียงเท่านี้!
 
      ถ้าจะให้ผมอธิบายความรู้สึกเวลานั้นคงอธิบายได้ยาก ป่วย ๆ อยู่เหมือนได้รับพรวิเศษที่เราคงไม่อาจจะหาพรแบบนี้จากใครที่ไหนในโลกได้อีกแล้ว ทั้งจริงใจ ซึ้ง และขำกับสัจธรรมของชีวิตชนิดถึงพริกถึงขิงแบบนี้
 
       อย่างที่บอกไว้ว่า เรากำลังคุยกันในบทที่สิบเอ็ด บทที่เป็นพื้นที่ทางความคิด
 
      ส่วนตัว แล้วแต่ว่าใครจะชอบเวอร์ชันไหน แต่สำหรับผมแล้ว ‘กินได้ - ตายช้า’ กับ ‘ด.ด. - ต.ห.ย.’ คงไม่ต้องบอกว่าผมชอบฟังเวอร์ชันไหน
 
เคยเจอแบบนี้ไหมครับ
 
      ขณะที่เราและเพื่อน ๆ กำลังจับกลุ่มล้อมวงคุยถึงใครบางคนอยู่ แล้วบังเอิญเหลือเกิน คนที่เราพูดถึงเดินมาข้างหลังและได้ยินเข้าพอดี ต่างคนทำอย่างไรในสถานการณ์ตอนนั้นจำได้ไหมครับ
 
      สมมุติว่าขณะที่เรากำลังเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อคุณครูไม่เล็กกันอยู่นี้ แล้วบังเอิญท่านเดินมาได้ยินเข้า ผมไม่อาจทราบได้ว่าท่านจะรู้สึกอย่างไร แต่ผมรู้ว่าเวลานั้นผมจะทำอย่างไร
 
       ผมจะขออนุญาตทุกคนในกลุ่มเป็นตัวแทนกราบขอขมาท่าน ในสิ่งที่เราเคยทำผิดพลาดกับท่าน ว่าก็ไม่นอนสอนก็ไม่ง่าย เคยทั้งดื้อและด้าน ทั้งเปรี้ยวหวานมันเค็ม ทั้งเผ็ดรสจัดและแซบอีกด้วย อยากให้ท่านอดโทษกับพวกเรา และเมตตาอบรมเราเช่นนี้ โดยพวกเราตั้งใจขอเป็นลูกศิษย์คุณครูไม่เล็กตลอดไป
 
     ถึงตอนนี้ ท่านฟังแล้วท่านก็คงจะมีคำพูดอะไรเด็ด ๆ เพื่ออบรมพวกเราอีกเป็นแน่ แต่ก่อนที่วงจะแตกแยกไปคนละทาง ผมจะขอกราบเรียนจากใจให้ท่านทราบเพิ่มเติมอีกว่า
 
      ทุกสิ่งที่ท่านพร่ำสอน ทุกเรื่องที่หลวงพ่อยอมเหน็ดเหนื่อย จ้ำจี้จ้ำไชพวกเราไม่หยุด เพื่อให้เราเติบโตและสอนตัวเองได้ แบกรับภาระและเป็นที่พึ่งให้กับพระพุทธศาสนาได้นั้น การที่เรามาจับกลุ่มคุยกันทั้งสิบเอ็ดบทนี้ ก็เพื่ออยากให้หลวงพ่อรู้ว่า ทุกสิ่งที่หลวงพ่อทุ่มเทมาทั้งชีวิต มันไม่ได้สูญหายไปไหน มันยังคงฝังแน่นอยู่ในใจพวกเราลูก ๆ ทุกคน และยังฝังแน่นไปอย่างนี้อีกนานเท่านาน
 
      ท่านฟังแล้วท่านจะเชื่อในสิ่งที่ได้ยินหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ
 
      แต่ทันทีที่ผมพูดจบ ท่านอาจจะทำให้พวกเรายิ้มออกมาพร้อมหน้ากันทุกคนก็ได้
 
       “พวกมึงเนี่ยมันไอ้ขี้โม้!”
 
เรากำลังคุยกันถึงบทที่สิบเอ็ด 
 
       ‘เรา’ ในที่นี้คือ ‘ตัวเรา’ กับ ‘ตัวตนภายในของเรา’
 
         ไม่ว่าเราจะรักหรือไม่รักการอ่านก็ตาม เราต่างต้องอ่านหนังสือชีวิตของเราเล่มนี้ ตั้งแต่บทแรกเรื่อยไปจนจบบทสุดท้าย
 
          เมื่อถามตัวตนภายในว่า ชอบเนื้อหาบทไหนมากที่สุด?
 
        จะเป็นช่วงสุขสมหวัง หรือตอนที่ทุกข์แสนสาหัส เพราะไม่ว่ายากลำบากเพียงใด เราก็จะไม่ยอมจำนนต่อชีวิตง่าย ๆ คำตอบที่ได้รับคือชอบทุกบท เพราะไม่ว่าเนื้อหาจะเข้มข้นหรือน้ำเน่า ทุกเรื่องราวล้วนเกิดจากฝีมือของเราที่บรรจงประพันธ์ขึ้นมาทั้งสิ้น
 
      มีคำถามถามกลับมาว่า แล้วชอบบทไหนมากเป็นพิเศษ?
 
      ผมขอตอบว่า ‘บทที่สิบเอ็ด’
 
      บทที่มีพื้นที่โล่ง ๆ มีสเปซว่าง ๆ ที่เราสามารถได้ปล่อยความคิด ได้นึก ได้ทบทวน หรือได้อยู่นิ่ง ๆ โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้มีเวลาอยู่ตามลำพังอย่างเต็มที่
 
       บางครั้งชีวิตย่อมต้องมีบางเรื่องที่เราไม่สามารถจะไปจับกลุ่มเม้าท์กับใครได้ พื้นที่ในบทนี้จึงให้ความเป็นส่วนตัวกับเราสูง เพื่อให้เราได้คุยกับตัวเอง คิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
 
       เรายืนได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าที่แห่งนั้นจะคับแคบหรือขรุขระเพียงใด และไม่ว่าชีวิตจะตกอยู่ท่ามกลางความกดดันหรือปัญหาอุปสรรครุมเร้าเพียงใด เราก็จะยังคงมองหาความสุขได้ เพราะเราสามารถเข้มแข็งได้ด้วยตัวของเราเองจากบทชีวิตที่สิบเอ็ดบทนี้
 
     คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถช่วยเราได้ ถ้าภารกิจชีวิตที่รัดตัวของเรา วนเวียนอยู่กับบทใดบทหนึ่ง จนทำให้ชีวิตไม่ปรากฏบทที่สิบเอ็ด
 
       และคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าเรามัวเพลิดเพลินอยู่กับบางบท จนทำให้เราไม่เห็นคุณค่า และหาบทชีวิตที่สิบเอ็ดบทนี้ไม่เจอ
 
            บทสนทนาระหว่าง ‘ตัวเรา’ กับ ‘ตัวตนภายในของเรา’ มีเนื้อหาการพูดคุยมากมายอยู่ในเครื่องหมายคำพูด อัญประกาศ อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่ามันไม่มี เพราะมองไม่เห็นหรือไม่ได้ยิน
.............................
 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 128 มิถุนายน ปี2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล