วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ชานชรา

คอลัมน์ท้ายเล่ม

เรื่อง : โค้ก อลงกรณ์

 

ชานชรา

 

คอลัมน์ท้ายเล่ม

 

เช้าวันอาสาฬหบูชาหลวงพ่อลงโบสถ์ประกอบพิธีทางสงฆ์ พอตกบ่ายท่านเริ่มปฏิบัติธรรมดังที่ตั้งใจไว้ว่า พรรษานี้ขอตัวปลีกวิเวกเพื่อปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ความตั้งใจนี้พวกเราทีมอุปัฏฐากพอรู้คร่าว ๆ มาก่อนแล้ว แต่ที่ยังรู้ไม่แน่ชัดคือสถานที่ หลวงพ่อจะไปปลีกวิเวกที่ไหน

              บางทีผมคิดว่าจะมัวมาเสียเวลาคาดเดาไปต่าง ๆ นานาทำไม อย่างไรเราทุกคนก็ต้องรู้ทั่วกันแน่นอน แต่ที่เราต้องมาคาดเดานี้เพราะว่ามันก็คือหน้าที่ที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าหลวงพ่อไปที่ไหน อย่างน้อยในทีมพวกเราต้องมีสักคนที่ต้องตามไปอยู่ดูแลคอยอุปัฏฐาก หรือว่าหากท่านต้องการปลีกวิเวกตามลำพัง เราจะได้จัดเตรียมของที่ท่านจำเป็นต้องใช้ให้พร้อมเมื่อท่านออกเดินทาง

              สุดท้ายผมมั่นใจว่าท่านคงจะปักหลักนั่งหลับตาอยู่ที่กุฏิไม่ไปที่ไหน แล้วก็เป็นอย่างที่คิดไว้จริง ๆ ผมเชื่อว่าความสบายใจและหายวิตกกังวลที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับผมคนเดียว แต่ถึงแม้จะรู้ว่าท่านเลือก นั่งปฏิบัติธรรมอยู่ในกุฏิ แต่เราก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่า ท่านจะนั่งบริเวณใดของห้อง เพื่อที่เราจะได้จัดเตรียมอาสนะและเก้าอี้ให้พร้อมสำหรับท่าน

             เริ่มแรกหลวงพ่อตัดสินใจเลือกนั่งในห้องเล็กที่อยู่ติดกับระเบียงนอกชาน ห้องเล็กนี้เป็นที่รู้กันว่าเป็นห้องดักยุง เดินขึ้นระเบียงเปิดประตูถ้ามียุงตามเข้ามาด้วย โดยธรรมชาติแล้วยุงจะเสียเวลาบินสำรวจห้องนี้ก่อน ยังไม่บินตามเข้าไปทันทีเมื่อเราเปิดประตูเข้าไปยังห้องถัดไป ทำให้เราสามารถใช้สวิงจับไปทรมานเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อสอนให้รู้ว่าทีหลังอย่าหลงบินตามเข้ามาอีกเด็ดขาด แล้วจึงค่อยนำไปปล่อย

              หลวงพ่อนั่งในห้องดักยุงนี้โดยหันหน้ามาทางประตูทางเข้า ท่านนั่งห้องนี้อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วจู่ ๆ ก็ตัดสินใจย้ายไปนั่งในห้องปฏิบัติธรรมใหญ่ โดยที่ไม่มีใครทราบสาเหตุ แต่ก่อนที่ท่านจะย้ายไปนั่งที่ห้องใหญ่ ท่านได้กำชับให้ผมนั่งอยู่ในห้องดักยุงนี้แทน

              จะว่าไปห้องดักยุงนี้เป็นห้องที่ผมค่อนข้างสนิทสนมมากกว่าห้องอื่น ๆ คงเป็นเพราะการที่ได้ใกล้ชิดและต้องร่วมงานกันเป็นประจำก็เป็นได้ ประตูห้องนี้เป็นประตูกระจก เมื่อมองผ่านทะลุออกไปจะเห็นนอกชานและเห็นบันไดลงไปยังทางเดินที่หลวงพ่อใช้เป็นทางหลักในการเดินเข้าออกกุฏิ แต่ถ้ามองจากภายนอกเข้ามาจะมองไม่เห็นเพราะโดยรอบเต็มไปด้วยไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งปกคลุมพื้นที่จนร่มรื่น แล้วยังมีไม้พุ่มขนาดกลางขึ้นเป็นแนวตลอดสองข้างทางระเบียงนอกชานและบรรยากาศโดยรอบที่ผมมองเห็นจากห้องดักยุงนี้ คือสถานที่ที่ผมคุ้นเคยตั้งแต่วันแรกที่เริ่มรับบุญ

              ผมยังจำได้แม่นว่า วันแรกที่ผมเริ่มเข้ามารับบุญช่วยพี่ ๆ ในทีมอุปัฏฐากดูแลหลวงพ่อ ผมก็มาเริ่มต้นที่นอกชานแห่งนี้ เดินแบกถาดภัตตาหารจากครัวเข้ามาส่งทุกเช้าเพล จากนั้นก็เดินขึ้นมาบนระเบียง ช่วยพี่ ๆ จัดเตรียมอาหารหวานคาว ผลไม้ ยา และน้ำปานะเพื่อถวายหลวงพ่อ จัดเตรียมกันอยู่ที่มุมด้านหนึ่งของระเบียงนอกชานตั้งแต่วันนั้นเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ที่นี่คือห้องทำงานห้องแรกของผม

            นอกชานนี้นอกจากเป็นห้องทำงานแล้ว ช่วงมื้อเช้ากับเพลยังกลายเป็นห้องฉันสำหรับหลวงพ่อ แต่พอหลังเพลไป ก็เริ่มกลายเป็นห้องประชุมสำหรับพระอาจารย์ที่เข้ามาคุยงานกับหลวงพ่อ แต่พอ   ตกตอนเย็น ก็กลายเป็นห้องเรียนพิเศษสำหรับอุปัฏฐากมือใหม่อย่างผมอีกด้วย

              สิบกว่าปีก่อน ทุก ๆ เย็นหลวงพ่อจะเดินตรวจวัดและชวนทุกคนมากวาดใบไม้ในวัดด้วยกันกับท่าน หลังจากนั้นท่านก็จะเดินกลับเข้ามาที่กุฏิ เดินขึ้นบันไดมาท่านก็แวะนั่งพักให้หายเหนื่อยที่พื้นนอกชานแห่งนี้ ผมมีโอกาสได้ฟังธรรมะ ปกิณกะ ประวัติศาสตร์การสร้างวัด และเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งสุดแล้วแต่หลวงพ่ออยากจะเล่าให้ฟังไปพร้อม ๆ กับสอนผมให้เรียนรู้เรื่องการนวดจับเส้นให้ท่านด้วย ผม
ไม่แน่ใจว่าท่านเคยเรียนเรื่องนวดมาก่อนหรือเปล่า แต่ท่านสามารถสอนนักเรียนใหม่อย่างผมที่มีพื้นฐานการนวดเท่ากับศูนย์ให้สามารถนวดได้ภายในไม่ถึงนาที

              ท่านให้ผมลองบีบนวดที่เท้าก่อนเป็นอันดับแรกในการนวด โดยให้หลักง่าย ๆ ที่ต่อมาผมถือเป็นคาถาประจำใจในการนวดไว้ว่า อย่าไปคิดว่าการนวดมันเป็นเรื่องยาก ในเมื่อเส้นเอ็นต่าง ๆ ของคนเรามันก็อยู่นิ่ง ๆ กับที่ มันไม่ได้วิ่งย้ายไปไหนมาไหน ดังนั้นนวดอย่างไรก็ต้องย่อมถูกเส้น ว่าแล้วท่านก็ให้ผมลงมือฝึกนวดให้ท่านเลยทันที

              ผมได้เรียนรู้จากห้องเรียนห้องนี้อีกด้วยว่า น้ำหนักมือที่กดนวดนั้น ถ้าหนักไปหรือเบาไป  หลวงพ่อท่านจะคอยบอกให้ทราบ แต่ก็มีที่ท่านไม่ได้บอก เราต้องฉลาดเรียนรู้เองก็คือ เส้นเอ็นที่เท้านั้นแข็งแรงมาก ถ้าเกิดเราใช้พลังหนุ่มที่มีทุ่มแรงกดลงไปเยอะหรือนวดห้าวมากไป เมื่อนั้นเราอาจหงายหลังตกลงไปใต้ถุนชานได้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติตามหลักแรงกดเท่ากับแรงผลัก ยิ่งออกแรงกดลงไปมากเท่าไร เส้นเอ็นจะเกิดการกระตุกแล้วแปรเป็นแรงถีบเท่าแรงที่กดในทันที เรื่องนี้เป็นสัญชาติญาณที่เราต้องรู้ของเราเอง

              หลังจากที่ผ่านบทเรียนการนวดขา ผมก็เริ่มพัฒนาขึ้นมานวดบทเรียนต่อไปคือแขนและมือ   บทนี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นมาอีกไม่มาก แต่บทที่ลำบากสุดของผมคือการนวดที่ต้นคอและบ่า  ความยากลำบากของบทนี้มันมีอยู่ด้วยกัน ๒ ระดับขั้น เริ่มต้นขั้นแรกแค่ท่ายืนก็ยากลำบากใจเสียแล้ว บทเรียนการนวดบ่าและคอ ผมต้องลุกขึ้นมายืนด้านหลังสูงกว่าศีรษะของหลวงพ่อ นี่คือยากลำบากใจระดับแรก ซึ่งถ้าไม่ใช่เพราะหน้าที่ ชาตินี้ผมคงไม่มีทางเรียนจบได้แน่ ๆ

              ความยากลำบากระดับต่อมาคือ ต้องนวดต่อหน้าพระเถระและพี่ ๆ ที่มาคุยงานกับหลวงพ่อ ทุกคนที่เห็นผมยืนนวดบ่าให้หลวงพ่อ มองจากภายนอกต่างเข้าใจกันว่าฝีมือนวดผมนี่คงมืออาชีพ    แต่ภายในใจไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นอย่างไร มือใหม่หัดนวดที่เรียนรู้หลักการแค่ไม่ถึงนาทีอย่างผม ขณะที่นวดไปก็คิดไป เราจะนวดขับไล่ลมภายในร่างกายของหลวงพ่ออย่างไรดี จึงจะช่วยทำให้ท่านหายมึนงงศีรษะ ถ้านวดหายเราก็ได้หน้า แต่ถ้านวดไม่หายเราก็อายเขา แล้วถ้านวด ๆ ไปท่านเกิดมึนงงหนักกว่าเดิมจะอย่างไรล่ะทีนี้ ถ้ามีทางมุดลงไปหลบอยู่ใต้ถุนชานได้ผมก็อยากจะมุดลงไปในทันที

             บทเรียนที่ว่ายากที่สุดยังผ่านมาได้ บทต่อไปก็กลายเป็นบทหมู ๆ นวดขาแต่ทว่าต้องนวดใต้โต๊ะ เมื่อก่อนพอหลวงพ่อฉันเพลเสร็จยังไม่ทันได้ลุกออกจากโต๊ะ ทีมงานต่าง ๆ ก็เข้ามาขอคุยงาน  เอาแผนที่จัดงาน กำหนดการ เอกสารต่าง ๆ มาวางบนโต๊ะ ในเมื่อไม่มีทางเลี่ยงยืดเส้นยืดสายให้เลือดลมเดินได้ก็ต้องหาทางรอด การมุดใต้โต๊ะไปบีบนวดขาถือเป็นบทเรียนเสริมประสบการณ์ขั้นแอดวานซ์ และนี่คือช่วงเวลาที่สนุกสนานมาก ๆ ในชีวิตการนวดอาชีพของผม

             นวด ๆ ไปได้ความรู้สึกเหมือนเราเป็นหมอนวดที่พิการทางสายตา เพราะใต้โต๊ะไม่มีวิวอื่นใดให้ผมมอง ผ้าคลุมโต๊ะฉันห้อยลงมาปิดบังวิวหมดทุกทิศทาง นึกคาดเดาว่าเสียงคุ้น ๆ ที่ได้ยินนี้น่าจะเป็นหลวงพี่อะไร เสียงนี้ไม่คุ้นเลย ใครกันชักอยากรู้ เป็นช่วงเวลาที่จินตนาการบรรเจิดมาก ส่วนเรื่องอากาศที่ใช้หายใจไม่มีปัญหา เพราะว่าผมอาศัยสูดอากาศบริสุทธิ์ที่ลอยตัวขึ้นมาจากใต้ถุนระเบียงนอกชาน

             ความทรงจำที่แจ่มชัดที่สุดที่ระเบียงนอกชานนี้คงหนีไม่พ้นการเช็ดถูในช่วงฤดูฝน พอเข้าฤดูนี้ ละอองฝนจะสาดเข้ามาที่นอกชาน ถ้าวันไหนตกแรงก็จะเปียกเจิ่งนอง จำได้ว่าครั้งหนึ่งผมสู้กับฝนที่ตกหนักตลอดทั้งวันด้วยการพยายามถูนอกชานนี้ให้แห้งทั้งวันเช่นกัน แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า เราสู้กับเมฆบนฟ้าไม่ไหว ทำไมเราไม่คิดสู้ด้วยวิธีใหม่ ๆ ว่าแล้วต่อมาหลังคากันสาดที่ยื่นออกไปคลุมนอกชาน
ก็เกิดขึ้นตามมา

             ช่วงที่ยังไม่มีการต่อกันสาดยื่นออกไป ครั้งหนึ่งขณะที่หลวงพ่อกำลังฉันเช้า เมฆดำบนฟ้าเกิดท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายกระหน่ำทั้งฝนและลมลงมาอย่างหนัก ละอองน้ำฝนสาดเข้ามาเต็ม ๆ ที่โต๊ะฉัน พวกเราจึงช่วยกันเอาร่มมากางเพื่อให้หลวงพ่อฉันต่อจนทุกอย่างผ่านไปได้ แต่วันนั้นฝนยังตก  ต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนมาถึงมื้อเพล คราวนี้น้ำจากหลังคาและรางระบายน้ำรั่วตกลงมากลางโต๊ะ จึงรีบช่วยกันยกย้ายอาหารและนิมนต์หลวงพ่อมาฉันในห้องดักยุง แต่หลังจากซ่อมแซมทุกอย่างและต่อกันสาดยื่นออกมาแล้ว นอกชานแห่งนี้ก็ยังเป็นที่ ๆ หลวงพ่อใช้เป็นห้องฉันเช่นเดิม

             ความหลังที่เป็นความทรงจำเก่า ๆ ที่ฉายขึ้นมาอีกครั้งเมื่อมองทะลุประตูกระจกออกมาที่นอกชาน บางเรื่องยังแจ่มชัด บางเรื่องก็เลือนรางและค่อย ๆ เปื่อยผุพังไปตามอายุและกาลเวลา ถ้านอกชานมันมีความรู้สึกนึกคิดเช่นกันเหมือนคนเรา อยากรู้เหลือเกินว่าความทรงจำของนอกชานมีอะไรบ้าง นอกชานยังจะจำได้บ้างไหมว่า สิบกว่าปีก่อนมีเด็กหนุ่มหน้าตา (ดี) แต่เซ่อ ๆ ซ่า ๆ คนหนึ่งได้มาใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ด้วย เขาใช้ระเบียงนอกชานใช้เป็นห้องทำงาน เป็นห้องเรียน ห้องอาหาร ห้องประชุม จนกลายเป็นความผูกพันระหว่างคนกับสถานที่

            การนึกถึงความหลังเช่นนี้อาจทำให้ผมตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคมผู้สูงอายุใน ไม่ช้า ซึ่งตรงกันข้ามกับระเบียงนอกชานแห่งนี้อย่างสิ้นเชิงที่ความชราไม่กล้ามาเยือน เพราะไม่ว่าอายุนอกชานจะยาวนานผ่านฤดูฝนมาไม่รู้เท่าไร ไม้บางแผ่นเริ่มผุ เราก็เปลี่ยนให้ใหม่ คับแคบไปไม่พอนั่งประชุม ก็ขยายต่อเติมออกไปจนชานกว้างขวางมากขึ้น ผิวพื้นเริ่มเก่าเราก็เอาเคลือบพื้นผิวมาทาให้จนไม่เหลือร่องรอยความทรุดโทรม ไม่ว่าจะผ่านไปอีกนานเท่าไร ชานแห่งนี้ก็ยังไม่มีความชรามาปรากฏ ทุกอย่างยังคงเดิม มีเพียงบทบาทหน้าที่บางอย่างเท่านั้นที่เปลี่ยนไป

             หลายปีแล้วที่ไม่ได้มีการคุยประชุมงานกันที่นี่ และไม่ได้เป็นห้องเรียนของผมนานมาแล้วเช่นกัน เพราะพอความรับผิดชอบมากขึ้น เราก็ต้องไปเรียนวิชาที่ยากขึ้นในห้องเรียนที่อยู่ไกลออกไป แต่ยังคงเป็นห้องทำงานและที่ฉันอาหารของหลวงพ่อเหมือนเดิม และที่เพิ่มขึ้นมาก็คือเป็นโรงทานเล็ก ๆ ของหลวงพ่อ ที่สัตว์ต่าง ๆ อย่างกระรอก นกยูง นกกางเขน นกกะราง และไก่มาขออาศัยดำรงชีวิตอยู่ รอบ ๆ กุฏิ

              แล้วทุกอย่างก็กลับคืนสู่เวลาปัจจุบัน เวลาที่สำคัญที่สุดที่เราสามารถจะสร้างความทรงจำดี ๆ สะสมเก็บไว้ให้ย้อนกลับมานึกถึง เพราะฝูงนกกะรางต่างก็พากันบินมาส่งเสียงดังเจี๊ยวจ๊าวเพื่อขออาหารที่นอกชาน ถ้าผมลองทำไม่รู้ไม่ชี้และไม่ออกไปเปิดกะละมังที่ครอบอาหารของพวกเขาไว้ รับรองได้เลยว่า พวกเขาจะต้องมาเคาะกระจกป๊อก ๆ เรียกร้องความสนใจจนเราทนไม่ไหวต้องใจอ่อนออกไปดูแลพวกเขาจนได้

              ผมว่าผมพอจะรู้สาเหตุที่หลวงพ่อย้ายไปนั่งปฏิบัติธรรมที่ห้องใหญ่แล้วว่าเพราะเหตุใด!...................................

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 131 กันยายน ปี 2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล