วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ตำรับยอดเลขา จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑ ตอนที่ ๑๕ จรรยาข้อที่ ๒๘

ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

 

ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” 
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑


ตอนที่ ๑๕
จรรยาข้อที่ ๒๘

 

“ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ    ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา”       โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

๒๘
จงเป็นผู้มีพร้อมทั้งสติและปัญญา

 

การทำงานใดก็ตาม ย่อมมีทั้งได้ทั้งเสีย
จึงต้องรู้จักประเมินกำลังสติปัญญาของตนให้พอดี
ถ้าเกินกำลัง มันก็จะโค่นลงมาในภายหลัง
ถ้าเล็กเกินไป มันก็ไม่เต็มศักยภาพ
ทำแล้วเสียเวลาเปล่า
เมื่อประเมินออกทั้งส่วนได้ และรู้ระวังในส่วนเสียแล้ว
ก็ต้องรู้จักวางแผนแบ่งเวลา และบริหารเวลาให้ดี
คือทำให้ถูกเวลา ทันเวลา ตรงเวลา เต็มเวลา
งานจึงจะลุล่วงไปด้วยดี

 

๒๘. จงเป็นผู้มีพร้อมทั้งสติและปัญญา

 

    อีกจำพวกหนึ่ง มักจะประมาทตนว่า มูลนายโปรดปรานขึ้นแล้วฟุ้งเฟ้อเผลอสติว่าตน        เป็นคนวิเศษ ไม่ทันไรก็มีอาการกลับกลายเป็นอย่างอื่นไปก็มีชุม ความเช่นนี้เขาหมายความว่า          สติบกพร่อง มีแต่ปัญญาอยู่บ้างก็ทะลวงทลึ่งไปตามความคิด เพราะฉะนั้น ควรจะฝักใฝ่ให้มีทั้งสติและปัญญาพอ ๆ กัน


    คำที่กล่าวและเข้าใจกันบางทีดูเป็นหมายความว่าสติและปัญญาความเดียวกัน ฤๅคำเดียวกัน ที่แท้เป็นคนละคำและคนละความ สติเป็นคำหนึ่งความหนึ่ง ปัญญาเป็นความหนึ่งคำหนึ่ง ปัญญาคือความคิด สติคือความรู้สึก ดังจะอธิบายเปรียบเทียบว่า


    ปัญญา คือ ความที่จะกระทำงานใด ๆ ลุล่วงไปข้างหน้าแต่ภายเดียว


    สติ คือ ความเหนี่ยวรั้งพินิจพิเคราะห์เหตุการเสียหายที่จะมีจะเป็นขึ้น ด้วยอาการที่กระทำไปนั้น จะมีช่องทางเสียหายอย่างไรบ้าง เมื่อพิเคราะห์เห็นทางเสียและขัดข้องอย่างนั้นเช่นนั้น ๆ แล้ว ก็ยับยั้งและแก้ไข เช่นนี้เรียกว่า สติ


    เหมือนประหนึ่งว่า ปัญญาเป็นคนที่ ๑ คิดทำการก่อสร้างหรูหรา ฟุ้งซ่านด้วยอาการต่าง ๆ คนที่ ๒ คือสติพิเคราะห์การที่ทำไปนั้นเห็นดีตลอดปลอดโปร่ง ไม่มีทางเสื่อมเสียที่จะป้องกันรักษาได้ อย่างนี้ก็นับเป็นดีได้ว่าประกอบพร้อมทั้งสติและปัญญา ถ้าคนที่ ๑ คิดทำไป แต่คนที่ ๒       คิดเห็นทางเสียหายหลายท่า คิดรักษาและป้องกันมิได้ฤๅได้ก็ไม่เท่าที่เสียเช่นนี้ ก็นับว่ามีปัญญาทำไม่ตลอดยังแตกต่างกันอยู่กับสติ ซึ่งนับว่าสติตริตรองรอบคอบถูกต้อง ถ้าแม้ว่ามีปัญญาคิดจัดการอำนวยการอันใด ๆ ก็ดี ซึ่งเป็นที่สมควรไม่มีทางเสื่อมเสีย แต่สติขัดขวางไว้ ฤๅผัดผ่อนพิจารณายาวเวลาอันควรเกินไป อย่างนี้นับว่าสติมากเกินไป ทำให้เสียหายก็ได้


    เพราะฉะนั้น สติและปัญญา ๒ อย่างนี้ ย่อมประกอบกับการใด ๆ จึงจะสำเร็จบริบูรณ์เป็นอันดี แต่ต้องมีเท่า ๆ กันด้วย จึงจะประเสริฐ ปัญญามากกว่าสติเกินไป ก็ทำให้ฟุ้งซ่าน จะรักษาป้องกันก็บกพร่องไม่เพียงพอ ความเสียหายก็บังเกิดมี


    แม้ว่าสติมากกว่าปัญญาเกินไป ก็เลยกลัวอะไรต่ออะไร วุ่นวายสั่นระรัวกลัวไปหมด เลยทำอะไรกับเขาไม่ได้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เสียประโยชน์ที่ควรจะได้ ฤๅทำอะไรไม่ทันเพื่อนเหมือนกัน


    เหมือนอย่างคนทำและคนรักษา เมื่อทำมากเกินไปนัก การปกครองรักษาก็ไม่พอ ฤๅไม่ทำอันใดให้พอกับคราวสมัยที่ควร ก็เสียเวลาเสียประโยชน์ โดยอันควรที่พึงจะทำ และจะได้ก็ไม่ได้      กับเขา เพราะฉะนั้น สติและปัญญาอันควรจะมีก้ำกึ่งกัน การใดจึงจะสำเร็จบริบูรณ์เป็นอันดี


    คนเราโดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ จะทำการงานใด ๆ ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ถึงข้อดีข้อเสียของงานนั้น ๆ เสียก่อน มิฉะนั้นจะไม่สามารถทำงานนั้นให้ก้าวหน้าไปได้ เพราะการงานใด ๆ ก็ตาม ย่อมมีทั้งได้และเสีย แม้กระทั่งการทำบุญ ยกตัวอย่าง เช่น การตักบาตร


    การที่เราทำบุญตักบาตรทุกเช้า หากลำพังเราเพียงคนเดียว ไม่มีคนรับใช้มาช่วย ก็ควรที่      จะเตรียมอาหารสำหรับตักบาตรไว้พอสมควรเท่าที่จะมีกำลังทำได้ อย่าให้เกินตัว ไม่ใช่ว่าไม่มีลูกมือช่วยเลย แต่เตรียมอาหารสำหรับตักบาตรพระไว้ถึงวันละ ๒๐-๓๐ องค์ เช่นนี้เรียกว่าทำเกิน       กำลังไป ควรที่จะรู้จักประมาณกำลังตัวเองบ้าง    


    การนั่งสมาธิก็เหมือนกัน พวกเราทุกคนคงจะทราบถึงผลดีของการนั่งสมาธิ ว่าเป็นการกลั่นกรอง จิตใจของเราให้ละเอียด ให้ใส เป็นการสั่งสมบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งน่าจะมีผลได้ ไม่น่าที่จะมี    ผลเสีย แต่เนื่องจากเรายังต้องทำมาหากินอยู่ หรือหากอยู่ในวัยเรียน ก็มีหน้าที่ที่จะต้องเรียนต้องศึกษา เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้จักแบ่งเวลาสำหรับการนั่งสมาธิ และเวลาสำหรับการค้นคว้าหาความรู้ อย่างอื่นให้พอเหมาะพอควร เช่น หากอยู่ในวัยเรียนก็ควรที่จะให้ความสำคัญในการดูหนังสือและทำการบ้านเป็นอันดับหนึ่ง แม้หลังจากทำการบ้านเสร็จแล้ว ก็ไม่ควรที่จะไปเที่ยวเตร่เฮฮาที่ไหน ออกกำลังกายเสียหน่อยแล้วให้เวลากับการนั่งสมาธิ หากเป็นวันเสาร์อาทิตย์ก็ควรจะมาวัดฟังเทศน์เสียบ้าง เป็นการอบรมจิตใจ นอกเสียจากว่าเป็นช่วงใกล้สอบที่จะต้องใช้เวลาดูหนังสือมากขึ้น       ก็อาจจะมาวัดเพียงตอนเช้า พอตอนบ่ายก็รีบกลับไปดูหนังสือ แต่ถ้าเป็นช่วงปิดเทอม หนังสือตำราวางไว้ก่อนได้ก็ควรที่จะตั้งใจฝึกสมาธิกันให้มาก ๆ ต้องรู้จักแบ่งเวลาให้เป็น


    การถือศีล ๘ ล่ะ จำเป็นแค่ไหน บางคนเห็นทุกอย่างเป็นบุญไปหมด เช่น เข้าพรรษานี้       เห็นเขารักษาศีล ๘ ก็อยากจะตั้งใจรักษาเอาบุญกับเขาบ้าง รักษาได้ก็ดีนะ แต่ถ้าตัวยังต้องมีภาระการงานมากอยู่ การจะรักษาศีล ๘ ให้ได้ตลอด ๓ เดือนนั้น ก็คงจะหนักเกินไป ฉะนั้นขอให้เริ่มรักษาในวันโกน วันพระไปก่อน ต่อไปจึงค่อย ๆ เพิ่มจำนวนวันให้มากขึ้น อย่าไปใจป้ำรวดเร็ว    เกินเหตุ มันจะไม่ไหวเอา


    สมัยเมื่อมีการอบรมธรรมทายาทรุ่นที่ ๑ ลูกศิษย์หลวงพ่อบางคนเขาเห็นรุ่นพี่หลายคนที่มาช่วยกันสร้างวัดตั้งใจรักษาศีล ๘ ตลอด แม้ว่าจะต้องทำงานทั้งกลางวันกลางคืนก็ตาม เวลานั้นรุ่นพี่ เหล่านี้ยังไม่ได้บวช พวกเขาเป็นธรรมทายาทรุ่นที่ ๑ ก็อยากจะถือศีล ๘ ตามอย่างพี่ ๆ บ้าง


    หลวงพ่อจึงกล่าวเตือนไปว่า “เอ็งค่อย ๆ วัดกำลังดูให้ดีนา อย่าถึงกับไปจุดธูปเทียนอย่าง     พี่เขา นั่นเขาตั้งสัจจาธิษฐานที่จะประพฤติพรหมจรรย์และรักษาศีล ๘ ตลอดชีวิต แต่ว่ากว่าเขาจะมาถึงจุดนี้ เขาได้ทดสอบตัวเองมาถึงสองสามปีแล้ว เอ็งจะตามพี่ ๆ เขา เอ็งต้องค่อย ๆ วัดกำลังมาทีละน้อย ๆ อย่าหักโหม”


    หลายคนก็เชื่อ แต่มี ๓-๔ คน ที่ไม่เชื่อ ลับหลังหลวงพ่อ เขาก็ไปจุดธูปเทียนต่อหน้า           พระประธานในโบสถ์ ตั้งสัจจะว่าจะถือศีล ๘ ตลอดชีวิต เวลาผ่านไปได้ปีเศษ ๆ หลวงพ่อก็ได้ ข่าวคราวจากพรรคพวกเขาว่า เจ้าคนหนึ่งไปบ่นให้พรรคพวกฟังว่า ไม่น่าตั้งสัจจาธิษฐานถือศีล ๘ ตลอดชีวิตเลย แล้วจะทำอย่างไร ชาตินี้ถ้าจะหมดสิทธิ์มีเมียเสียแล้ว


    ส่วนอีกคนหนึ่งยังไม่ถึงขนาดนั้น เขามาบอกหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อครับ ถ้าผมรู้ว่าถือศีล ๘ ตลอดชีวิตยากอย่างนี้ ผมไม่จุดธูปเทียนให้เสียท่าหรอก ผมจะรักษาศีล ๘ ไปตามกำลังของผมเรื่อย ๆ ไปก่อน แต่ตอนนี้ผมจุดธูปเทียนตั้งสัจจาธิษฐานที่จะถือศีล ๘ ตลอดชีวิตกับพระประธานไปแล้ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียสัจจะที่ผมตั้งไว้ ผมคิดว่าผมควรจะรีบบวชเสียดีกว่า ถ้าผมยังคงอยู่เป็นฆราวาส ศีล ๘ ของผมคงต้องขาดแน่เลย”


    คราวนี้หลวงพ่อก็เริ่มเกิดความเป็นห่วงเขาขึ้นมา เขาเองก็เริ่มรู้ตัวแล้ว จึงต้องช่วยประคับประคองกันไป และให้ความดูแลอย่างใกล้ชิดขึ้น ในที่สุดเขาก็ได้ไปบวชและไปอยู่ทางภาคใต้        ก็เรียบร้อยไปคนหนึ่ง


    สำหรับผู้ที่ตั้งสัจจาธิษฐานที่จะรักษาศีล ๘ ตลอดชีวิต และสามารถทำได้ จะได้บุญมหาศาล ตั้งแต่ เนกขัมบารมี สัจบารมี ศีลบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี เรียกว่า กวาดบุญมาเสียมากมาย


    ส่วนเจ้าคนที่บอกว่าไม่น่าหลวมตัวตั้งสัจจะถือศีล ๘ ตลอดชีวิตนั้น ตอนนี้ไปเลี้ยงลูกเสียแล้ว จนเดี๋ยวนี้ยังไม่กล้ามาพบหลวงพ่อเลย คงจะกลัวหลวงพ่อถาม แต่หากพบกันจริง ๆ หลวงพ่อก็คงไม่ไปถามอะไรเขาหรอก ตอนนี้เขาไปอยู่ที่จันทบุรี ยังอุตส่าห์มีน้ำใจส่งเงาะมาฝากหลวงพ่อทุกปี ก็ยังดี แต่นับว่าพลาดไปแล้ว เพราะไม่เชื่อคำเตือนของหลวงพ่อ


    หลวงปู่วัดปากน้ำเคยกล่าวเตือนลูกศิษย์ในเรื่องการประมาณกำลังว่ามีได้มีเสีย คือคราวหนึ่งท่านกล่าวเตือนคุณยายทองสุข (มหารัตนอุบาสิกาทองสุข สำแดงปั้น) ซึ่งเป็นครูของคุณยายอาจารย์ฯ (มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง) ของพวกเรามาก่อน จนกระทั่งคุณยายอาจารย์ฯ เข้าถึงธรรมกายแล้ว คุณยายทองสุขจึงพามาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่วัดปากน้ำ


    คุณยายทองสุขผู้นี้ปกติเป็นคนใจใหญ่ ทำอะไรเล็ก ๆ ไม่ค่อยเป็น หลวงปู่วัดปากน้ำท่านเห็นท่านจึงกล่าวเตือนว่า “สุข ทำอะไรละก็ใหญ่นักมันไม่ดีนะ เดี๋ยวมันเกินกำลังแล้วมันจะโค่น มันจะล่มเสียภายหลัง ทำเล็กนักมันก็ไม่ดี มันไม่เต็มแรง ไม่พอมือเรา ทำแล้วเสียเวลาเปล่า เพราะฉะนั้น ใหญ่นักก็ไม่เอา เล็กนักก็ไม่เอา ต้องเอาพอดี ๆ”


    ดังนั้น การที่เราจะทำสิ่งใดก็ตาม จึงมีทั้งได้และเสีย เราต้องรู้จักที่จะประมาณกำลังให้ดี        มิฉะนั้นจะทำให้เสียงาน คนเราจึงต้องมีพร้อมทั้งสติและปัญญาอย่างสมดุลกัน หากมีแต่ปัญญาแต่ขาดสติก็นับว่าประมาท หรือมีสติแต่ขาดปัญญาก็จะเป็นพวกที่ระแวงมากเกินไป


    หลวงพ่อมีตัวอย่างของผู้ที่มีสติเกินกว่าปัญญาอยู่เรื่องหนึ่ง เรื่องนี้หลวงพ่อไปเห็นมาเมื่อ     ตอนเรียนอยู่ชั้น ม.๗-ม.๘ มีอาจารย์อยู่ท่านหนึ่ง ความที่ท่านเรียนวิชาเกี่ยวกับแบคทีเรียมา       อย่างทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงกลัวเชื้อโรคมาก จนกระทั่งแทบจะไม่ได้กินไม่ได้นอนดังเช่นคนปกติ วันหนึ่งท่านไปซื้อกล้วยหอมมาจากตลาด ลูกโตเหลืองสวยเชียวละ เมื่อปอกกล้วยเสร็จ ท่านจะยังไม่กิน แต่จะต้องเอากล้วยที่ปอกแล้วมาแช่น้ำด่างทับทิมเสียก่อน แล้วจึงค่อยนำมากิน กล้วยเมื่อเอาไปแช่น้ำ ก็หมดอร่อยเสียแล้ว โถ...ท่านก็ทนกินไปได้ อย่างนี้เรียกว่าระวังมากเกินไป เป็นประเภทสติล้ำเกิน มีปัญญาเท่าใดก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่


    พวกเราก็เช่นกัน ให้สำรวจตัวเองด้วย ก่อนที่จะทำอะไรทุกครั้งขอให้เราถามตัวเองก่อนว่า       ที่เราเห็นช่องทางที่จะทำได้เช่นนี้ มีช่องทางเสียอย่างไรบ้าง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีทางได้และทางเสีย ถ้าสำรวจดูเห็นว่ามีแต่ทางได้ ไม่มีทางเสียเลย อย่างนี้นับว่าน่ากลัว เพราะแสดงว่าเรา   ชักจะหน้ามืดตามัวแล้ว เห็นแต่ได้ฝ่ายเดียว


    คนเรานั้นยังมีกิเลสอยู่ ยังเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ เรื่องที่จะไม่มีทางเสียเลยนั้นเป็นไปไม่ได้         จะต้องมีเสียบ้าง ให้สมมุติว่านำทางได้และทางเสียไปขึ้นตาชั่งเปรียบเทียบกัน ถ้ามีทางได้มากกว่าทางเสียในปริมาณที่พอสมควรก็ควรที่จะกระทำ แต่ถ้าทางได้และเสียก้ำกึ่งกัน อยู่เฉย ๆ ดีกว่า เพราะทำไปก็ไม่คุ้มกัน


    แต่ก็ไม่ใช่ว่าเปรียบดูแล้ว เห็นมีแต่ช่องทางเสีย ไม่มีทางได้เลย ก็เลยไม่ต้องทำอะไร ผลสุดท้ายนั่งทื่อเป็นตอไม้ไปตลอดชีวิต อย่างนี้ก็ไม่ถูก ขอให้นำทั้งสติและปัญญามาใช้ให้พอเหมาะพอเจาะ


    มีผู้เฒ่าอยู่คนหนึ่ง บ้านอยู่ใกล้ ๆ วัด เวลาว่าง ๆ หลวงพ่อชอบไปคุยด้วย ครั้งหนึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า


    “แต่ไหนแต่ไรมา ผมไม่เคยถูกใครหลอกเลย ทั้ง ๆ ที่ผมเองก็ไม่ค่อยมีความรู้อะไรมาก ไม่ว่า  จะเป็นเรื่องการค้าขายหรือทำมาหากิน ผมไม่เคยถูกหลอกได้”    


    “แล้วเรื่องที่เขาถูกหลอกกันเรื่อย ๆ มีเรื่องอะไรกันบ้างละโยม” หลวงพ่อถาม 


    ผู้เฒ่าจึงอธิบายว่า “ก็เรื่องอยากจะรวยเร็ว ๆ เขาไปเล่นไพ่เล่นหวยกัน มีทั้งหวยรัฐบาล      หวยใต้ดิน แล้วยังต้องไปเสียให้กับอาจารย์ใบ้หวยอีกไม่รู้เท่าไหร่ บางคนก็เสียท่าโดนเจ้าพวก       ๑๘ มงกุฎ หลอกเอาเงินไปกินเรียบ หรือบางทีก็เป็นเรื่องขายข้าว สมมุติว่า รู้ ๆ อยู่ว่าราคาประมาณเกวียนละ ๒,๕๐๐ มันเอาไปขายต่อได้อย่างดีก็ ๒,๖๐๐-๒,๙๐๐ ถ้าราคามันแพงจัดเกินไป แล้วมันจะไปเอากำไรที่ไหน สงสัยมันจะต้องมีเหลี่ยมอะไรสักอย่างหนึ่ง อย่างนี้ผมจึงไม่ขายให้ไอ้พวกนี้       แต่คนอื่นเขาชอบขายกัน ก็เห็นโดนเชิดกันทุกปีแหละ โดนหลอกทำนองนี้ แล้วเขาก็ไม่เข็ดกัน”


    “โยมมีหลักอย่างไรในการระมัดระวังตัวเพื่อไม่ให้โดนหลอกล่ะ”


    “พ่อผมสั่งเอาไว้ว่า หากมีใครมาบอกว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะรวยเร็ว มีกำไรขึ้นมาผิดหูผิดตาอย่างมาก ไม่น่าเชื่อ ถ้าไปเจออย่างนี้เมื่อไรแล้ว พ่อสั่งไว้ว่าให้นอนเสีย เพราะถ้ามันมี       ช่องทางวิเศษขนาดนั้นแล้ว มันไม่ควรจะมาถึงเราเป็นคนแรกหรอก มันควรจะถึงใครก่อนหมดแล้ว      แต่เมื่อมาถึงเรา แสดงว่ามันต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลเสียแล้ว อย่าไปเอามันเลย เดี๋ยวจะไปติดเหยื่อเสียเปล่า ๆ”


    ข้อนี้เป็นแง่คิดสำหรับชาวบ้าน ที่หลวงพ่ออยากจะฝากพวกเราไว้คือ ถ้าใครมาบอกว่าเล่นแชร์แล้วรวยเร็วก็อย่าไปตื่นเต้นตามเขา หรือใครบอกว่ามีการค้าอะไรชนิดที่วิเศษพิสดาร ทำรายได้ให้มหาศาลก็ให้คิดเสียว่าแบบนี้นอนดีกว่า อย่าทำ เพราะว่าเราเองก็ไม่ใช่คนฉลาดที่สุดในโลก นั่นมันเป็นกับดักล่อให้เราพลาดพลั้งเสียทีได้ในภายหลัง


    สำหรับหลวงพ่อ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะทำอะไร พอเห็นว่ามีช่องทางได้ก็ใจฟูเหมือนกัน แต่จะต้องนั่งหยุดคิดหาทางเสียให้ได้ เพื่อเป็นการไม่ประมาท


    สรุปความในข้อนี้ว่า การงานใด ๆ ก็ตาม ย่อมมีทั้งทางได้และทางเสีย เราจึงต้องนำทั้งสติและปัญญามาใช้พินิจพิจารณาให้รอบคอบ แม้แต่งานบุญก็เช่นกัน จึงจะทำให้งานต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี 


         (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๙ เดือนมีนาคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล