วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วันสมาธิโลก วันแห่งเกียรติยศ ของวงการพระพุทธศาสนา

ทบทวนบุญ
เรื่อง : แป้นแก้ว

วันสมาธิโลก วันแห่งเกียรติยศ
ของวงการพระพุทธศาสนา

   วันแห่งการเชิดชูเกียรติพระภิกษุ-สามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคถือเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ของวงการพระพุทธศาสนา เมื่อพระมหาเถรานุเถระเจ้าคณะพระสังฆาธิการ และพุทธบริษัททั้งหลาย ร่วมเป็นประจักษ์พยานในพิธีมุทิตาสักการะพระภิกษุ-สามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒๙ ณ วัดพระธรรมกาย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ในเทศกาลวันสมาธิโลก (๖ สิงหาคม) โดยในวันเดียวกันนี้ได้จัดให้มีพิธีมอบโล่เกียรติยศและทุนการศึกษาแด่สำนักเรียนบาลีดีเด่น พิธีถวายมหาสังฆทาน ๓,๐๐๐ กว่าวัดทั่วประเทศและพุทธบุตร ๓๒๓ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ และพิธีมอบกองทุนหนุนแรงใจช่วยครูใต้ ทุกพิธีกรรมนำมาซึ่งความปลื้มปีติยินดีและเป็นการแสดงออกถึงพลังสามัคคีของพุทธบริษัท ๔ ที่หลอมรวมดวงใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ร่วมประกาศความสำคัญของการศึกษาพระสัทธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก
 

เชิดชูเกียรติเพชรน้ำเอก แห่งวงการพระพุทธศาสนา
   พิธีมุทิตาสักการะพระภิกษุ-สามเณร ผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคระดับโลกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และเป็นอีกปีที่พระเดชพระคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถร-สมาคม ที่ปรึกษาแม่กองบาลีสนามหลวงเมตตาให้เกียรติไปเป็นประธานสงฆ์ โดยมีพระมหาเถรานุเถระ เจ้าคณะพระสังฆาธิการและพุทธบริษัทจากทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นประจักษ์พยานในความสำ เร็จของพระภิกษุ-สามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม

    ทุกรูปคือบุคคลสำคัญที่จะนำความรู้จากการศึกษาพระบาลีออกไปเทศนาสั่งสอนญาติโยม ยิ่งมีผู้ศึกษามากเท่าไรย่อมช่วยขยายพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ให้กว้างไกลไปสู่ดวงใจชาวโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งบนเส้นทางการศึกษาพระบาลีต้องใช้ความเพียรพยายามทุ่มเทแรงกายแรงใจ และมั่นคงในเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ จึงจะกระทำสิ่งที่ทำได้ยากอย่างยิ่งให้สำเร็จ

    ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค จึงเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การเชิดชูเกียรติให้สมกับเป็นเพชรน้ำเอกแห่งวงการพระพุทธศาสนา

  เพื่อเป็นการประกาศเจตนาในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กว้างไกล พระมหาศุภณัฐ จนฺทชโย ผู้แทนพระภิกษุผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ระดับโลก และภายหลังผู้แทนพระภิกษุ-สามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ระดับโลกแล้วสามเณรพฤก ชาตะปัทมะ ได้เป็นผู้แทนสามเณร วัดพระธรรมกายขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของพุทธบริษัททั้งหลาย
 

ประกาศเกียรติคุณ ยอดสำนักเรียนบาลีดีเด่น
   หน้าประวัติศาสตร์แห่งวงการพระพุทธศาสนาไทยได้บันทึกเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ของยอดสำนักเรียนบาลีดีเด่นแห่งสังฆมณฑลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพระมหาเปรียญธรรมทุกรูปในพิธีมอบโล่เกียรติยศและทุนการศึกษาแด่สำนักเรียนบาลีดีเด่นทั่วประเทศ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแด่สำนักเรียนบาลีที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมการเรียนภาษาบาลีรวมถึงพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง ผลสำเร็จที่บังเกิดขึ้นได้สร้างเพชรน้ำเอกแห่งวงการพระพุทธศาสนา ทั้งยังได้ประกาศพระสัทธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
 

มหาสังฆทาน มหาปีติ 
     พิธีถวายมหาสังฆทาน ๓,๐๐๐ กว่าวัดทั่วประเทศและพุทธบุตร ๓๒๓ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๒ ครั้งที่ ๑๒๒ โดยมีคณะสงฆ์ทั่วสังฆมณฑลเมตตาไปเป็นเนื้อนาบุญให้เหล่ากัลยาณมิตรผู้รักในพระพุทธศาสนาเป็นประจำ ทุกปี นำมาซึ่งความปีติอย่างสุดซึ้ง ที่ได้โอกาสน้อมถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่คณะสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญที่แท้จริงและเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นยังเป็นดั่งคำมั่นสัญญาของพุทธบริษัททั้งหลายในการสืบทอดพิธีกรรมสำคัญให้คงอยู่ต่อไป เพื่อร่วมกันสร้างมหาทานบารมีครั้งยิ่งใหญ่ในวันแห่งเกียรติยศเป็นประจำ ทุกปี
 

มอบกองทุนหนุนแรงใจช่วยครูใต้
    ภายหลังพิธีถวายมหาสังฆทานเป็นพิธีมอบกองทุนหนุนแรงใจช่วยครูใต้จาก ๔ จังหวัดภาคใต้ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจแก่พ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติผู้เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการอบรมสั่งสอนศิษย์ทุกคน


เส้นทางการศึกษาพระบาลีเส้นทางแห่งการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา
   เหตุการณ์สำ คัญในวันแห่งเกียรติยศสร้างมหาปีติให้บังเกิดขึ้นอย่างท่วมท้น ยิ่งกว่านั้นคือความมั่นใจและภาคภูมิใจในเส้นทางการศึกษาพระบาลีที่พร้อมสร้างเพชรน้ำเอกประดับวงการพระพุทธศาสนา รักษาไว้ซึ่งพระสัทธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อร่วมมือกันเผยแผ่ให้เป็นที่แพร่หลายขยายสู่นานาอารยประเทศ และยังเป็นการร่วมปกป้องพระพุทธศาสนาจากภัยคุกคาม ด้วยการรวมพลังพุทธ-บริษัท ๔ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว

   ด้วยเหตุนี้ พิธีมุทิตาสักการะพระภิกษุ-สามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคระดับโลกจึงเป็นพิธีกรรมสำคัญ เป็นการยอยกพระพุทธศาสนาให้สูงส่งและเชิดชูเกียรติผู้มีคุณูปการต่อวงการพระพุทธศาสนาให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก

*------------------------------------------------*

 

โอวาท
พระเดชพระคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์

เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถรสมาคม
ที่ปรึกษาแม่กองบาลีสนามหลวง

   งานวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นงานวันสมาธิโลก มีพิธีบูชาข้าวพระ พิธีมุทิตาสักการะพระภิกษุ-สามเณร ผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค พิธีมอบโล่เกียรติยศและทุนการศึกษาแด่สำ นักเรียนบาลีดีเด่น พิธีถวายมหาสังฆทาน ๓,๐๐๐ กว่าวัดทั่วประเทศ และพุทธบุตร ๓๒๓ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ ปีที่ ๑๒ ครั้งที่ ๑๒๒

    วันนี้วันอาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ สภาธรรมกายสากลแห่งนี้ วัดพระธรรมกายได้ประกอบพิธีอนุโมทนามุทิตาภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยที่เล่าเรียนศึกษาพระพุทธวจนจากสำ นักต่าง ๆ และได้ความสำ เร็จเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค ในปีนี้ถึง ๔๔ รูปด้วยกัน และแสดงความยินดีกับกัลยาณมิตร
อุบาสิกาที่สอบบาลีศึกษา ๙ ประโยคได้ นอกจากนั้นแล้วพระสงฆ์ก็ให้พร มีท่านเจ้าคุณพระพรหมเมธี เจ้าคณะภาค ๔, ๕, ๖, ๗ กรรมการมหาเถรสมาคม รองเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม มาเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีอันเป็นมงคลสมัย

    วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ทางวัดพระธรรมกายได้ส่งเสริมสนับสนุนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ด้วยการจัดพิธีกรรมให้กำ ลังใจแก่ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อย และเชิญเหล่ากัลยาณมิตรร่วมบำเพ็ญบุญเสริมบารมีอีกหลาย ๆ อย่างด้วยกัน ซึ่งเป็นที่น่าชื่นใจและอนุโมทนา

     การเล่าเรียน การศึกษาพระบาลี พระปริยัติธรรมแผนกบาลีนั้น เป็นการรักษาพระพุทธวจน คือ พระดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากพระองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงเริ่มประกาศศาสนธรรมคำสอน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น เป็นระยะเวลาถึง ๔๕ พรรษา แล้วพระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธวจนของพระองค์นั้น ชาวท้องถิ่นรู้และเข้าใจเป็นอย่างดี แต่เมื่อพระดำ รัสของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นภาษาบาลีแพร่ขยายไปยังนานาประเทศ ก็จะต้องมีการศึกษาให้ดีและรักษาไว้

    เรารักษาพระบาลีเอาไว้ด้วยการสืบต่อมากันตามลำ ดับตราบเท่าทุกวันนี้ ท่านที่เป็นมหาเปรียญจะประโยคไหนก็ตาม ได้รู้พระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำมาเปิดเผยชี้แจงแสดงด้วยหลักเหตุและหลักผล พระดำรัสของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถ้าศึกษาให้ดีแบบคุณมหาทั้งหลายหรือผู้ใคร่ศึกษาทั้งหลาย และได้เข้าใจพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ให้ช่วยกันกระจายแพร่ไปในหมู่ชนที่นับถือเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

    การศึกษาพระบาลีเป็นการรักษาพระศาสนา เราเรียนพระบาลีเบื้องต้นก็เรียนแบบทรงจำ แต่เมื่อเรียนไปก็รู้คำ อธิบายของพุทธวจนนั้น แล้วนำมาช่วยกันแพร่กระจายไปในหมู่พุทธบริษัททั้ง ๔ ให้ได้รับรู้ เพราะฉะนั้นภิกษุ-สามเณรที่สำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค ก็เท่ากับสืบทอดศาสนธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    สมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงพระธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นการแสดงกตัญญูต่อปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่เคยตั้งความปรารถนาเอาไว้เมื่อครั้งเฝ้าติดตามปรนนิบัติว่า เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสรู้แล้วจะได้รู้ตามบ้าง หลังจากพระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขที่พระศรีมหาโพธิ์แล้ว ทรงนึกถึงผู้ที่มีคุณูปการ
อย่างน้อยก็อาจารย์ทั้งสอง คือ อาฬารดาบสและอุทกดาบส แต่อาจารย์ทั้งสองถึงแก่กรรมไปก่อน จึงทรงเพ่งไปที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เพราะท่านทั้ง ๕ นี้มีคุณูปการ

    เมื่อปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ยอมรับฟังแล้ว พระองค์ก็ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร จนกระทั่งปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นพระอริยะ เกิดอริยสงฆ์ขึ้นมาครบรัตนะทั้ง ๓ ประการ

   หลังจากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความกตัญญูต่อพระเจ้าพิมพิสาร เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คือ ออกบวช ก็เสด็จไปพักอยู่กับพระเจ้าพิมพิสาร ณ กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงแบ่งทรัพย์สมบัติให้กึ่งพระนคร แต่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของเจ้าชายสิทธัตถะ เพราะ
ทรงมีความประสงค์จะแสวงหาโมกขธรรม พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสว่า ถ้าท่านได้รู้ได้เห็นเรื่องดี ๆ แล้วขอให้กลับมาบอกด้วย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปแสดงธรรมแก่พระเจ้าพิมพิสาร จนกระทั่งพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมือง ๑๑ นหุต บรรลุโสดาปัตติผล อีก ๑ นหุตแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

 หลังจากนั้นเสด็จไปทรงแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อพระเจ้าสุทโธทนะที่กรุงกบิลพัสดุ์ หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพร้อมด้วยพระประยูรญาติแล้ว รุ่งเช้าทรงทำ พุทธกิจ คือ การออกบิณฑบาต ประชาชนทั้งหลายที่ไม่รู้ระเบียบ ไม่รู้ข้อวัตรปฏิบัติ ก็กล่าวขานโจษจันว่าเจ้าชายสิทธัตถะ
พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะทำเสียชื่อมาก เป็นถึงลูกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินไปถือบาตรขอข้าวเขากินแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ก็พากันไปฟ้องพระเจ้าสุทโธทนะ พระเจ้าสุทโธทนะไม่ทรงพิจารณาให้ถี่ถ้วน ทรงออกมาต่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทำอย่างนี้ถูกต้องแล้วหรือ เป็นลูกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเที่ยวขอข้าวเขากิน
กลางตลาด

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธมฺมญฺจเร สุจริตํ บุคคลพึงทำหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้อง หน้าที่ของพระก็คือ การแสดงธรรม ฆราวาสก็ทำหน้าที่ของฆราวาส ที่โลกวุ่นวายโกลาหลนั้นเพราะไม่รู้จักหน้าที่ก้าวก่ายกันไปหมด พูดอย่างนี้เดี๋ยวอาตมาก็ถูกว่าร้ายอีก ว่าวัดพระธรรมกายจ้างเจ้าคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์มาพูด แต่ที่พูดนี้ก็คือหน้าที่ ตามพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่อาตมภาพยกขึ้นไว้ว่า ธมฺมญฺจเร สุจริตํบุคคลพึงทำหน้าที่ให้ถูกต้อง หน้าที่ของใครก็ของใคร แต่ถ้าทำหน้าที่ไม่ถูกต้องก็ยุ่งเหยิง โกลาหลวุ่นวายกันไปหมด ก็ขอฝากพุทธดำรัสของพระพุทธเจ้าไว้ว่า ธมฺมญฺจเร สุจริตํ บุคคลพึงทำหน้าที่หรือว่าประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่

    เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปต่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลางตลาดว่า ท่านทำ ให้โยมเสียหน้า เที่ยวมาถือบาตรขอทานเขากินในท้องตลาด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ถวายพระพรมหาบพิตร ตถาคตทำ หน้าที่ของตถาคตถูกต้องแล้ว มหาบพิตรมีหน้าที่ปกครองดูแลประชาราษฎรทั้งหลายก็ทำ หน้าที่ของมหาบพิตรไป พระเจ้าสุทโธทนะเข้าพระทัยเลยว่า พระองค์ทรงก้าวก่ายหน้าที่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้าใจผิดคิดไปว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเป็นพระราชโอรสอยู่ แต่ความจริงพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นพระในพุทธศาสนาแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพุทธบิดาก็จริงอยู่ แต่ว่าถ้ารู้จักหน้าที่ของกันและกันแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะไม่โกลาหลวุ่นวาย

     วันนี้ เรียกว่าเราได้มาร่วมมุทิตากับเปรียญธรรม ๙ ประโยค ปีที่ ๒๙ พิธีถวายมหาสังฆทาน ๓,๐๐๐ กว่าวัดทั่วประเทศ ซึ่งทางท่านเจ้าคุณพระเทพญาณมหามุนี ท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาจารย์ เหล่ากัลยาณมิตร มีคุณอนันต์ อัศวโภคิน เป็นต้น ได้มาร่วมในพิธีอันเป็นบุญลาภอันประเสริฐของทุกคนในครั้งนี้
ขออนุโมทนากับเหล่ากัลยาณมิตรทั้งหลายที่มาร่วมเสริมบุญสร้างบารมีให้แก่ตัวของท่านเอง ไม่ใช่เสริมบุญสร้างบารมีให้แก่ใคร การมาทำ ความดีนั้นคือเสริมบุญสร้างบารมีให้แก่ตัวของเราเอง อาตมภาพก็ได้รับหน้าที่มาเป็นผู้มอบรางวัลแก่พระเปรียญธรรม ๙ ประโยค กระผมขอขอบคุณท่านพระมหาเถรานุเถระ ภิกษุ
ทั้งหลายทั้งปวง และขออนุโมทนากับเหล่ากัลยาณมิตรทั้งหลายที่อยู่ที่นี้หรืออยู่ทั่วโลกก็ตาม ขอให้ทุกท่านได้ทำหน้าที่ของแต่ละคนให้ถูกต้อง คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตั้งมั่นเป็นจิรัฐิติกาล ถ้าทุกคนรู้จักหน้าที่ สิทฺธมตฺถุ สิทฺธมตฺถุ สิทฺธมตฺถุ อิทํ ผลํ สิ่งใดที่ท่านตั้ง สิ่งใดที่ท่านปรารถนา ขอสิ่งนั้นจงพลัน
สำเร็จ จงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จ โดยทั่วหน้ากันทุกท่าน ทุกรูป ทุกคนเทอญ

*------------------------------------------------*
 

โอวาทหลวงพ่อทัตตชีโว

    เข้าพรรษามาหลายวันแล้ว อยากจะฝากพวกเราไว้ว่า การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดให้มีการเข้าพรรษานั้น ขอให้พวกเราจำพรรษาด้วย ไม่เฉพาะที่เป็นพระภิกษุเท่านั้น

   การจำพรรษามีเฉพาะพระไม่ใช่หรือ? จะพูดอย่างนั้นก็ถูก เรื่องของการจำพรรษาในฤดูฝนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้แก่พระภิกษุ ก็เพื่อให้พระภิกษุใช้ภาคฤดูฝน ซึ่งไม่เหมาะต่อการออกไปตระเวนเทศน์สอนประชาชน เพราะฝนฟ้าไม่อำนวย ให้พักอยู่ในวัด พระใหม่ก็ศึกษาธรรมะจากพระเก่า พระเก่าก็เคี่ยวเข็ญอบรมธรรมะให้แก่พระใหม่ นั้นเป็นส่วนที่กำหนดไว้ในพระวินัย

   แต่เมื่อเราศึกษาธรรมะภาคปฏิบัติกันมากเข้า ก็ได้ความต่อไปอีก จากที่หลวงปู่ของพวกเรา (หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ) กล่าวเอาไว้ว่า ในการเข้าพรรษานั้น มีการเข้าพรรษาภายนอกกับเข้าพรรษาภายในเข้าพรรษาภายนอกเป็นเรื่องของการเก็บตัวในฤดูฝนของพระภิกษุเพื่อฝึกหัดขัดเกลาตัวเอง แต่การเข้าพรรษา
ภายในนั้นประชาชนและพระภิกษุล้วนทำได้ด้วยกันทั้งคู่ คือ เก็บใจของตนเอาไว้ในตัว

   เพราะฉะนั้นให้ถือโอกาสในฤดูฝนนี้หมั่นประคองใจเอาไว้ในศูนย์กลางกาย เป็นชาวพุทธแล้วต้องรู้จักเข้าพรรษา ทั้งเข้าพรรษาภายนอก คือ ด้วยร่างกาย กับเข้าพรรษาภายใน คือ เก็บใจไว้ในศูนย์กลางกายให้เป็น ซึ่งเมื่อพยายามทำไปแล้วก็จะทำให้ใจหยุด ใจนิ่ง ใจคุ้นอยู่กับศูนย์กลางกายมากขึ้น แล้วโอกาสที่จะเข้าถึงพระธรรมกายในตัวก็มากขึ้น

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนาในวันอาสาฬหบูชา คือ วันเพ็ญกลางเดือน ๘ ส่วนวันเข้าพรรษาต่อมาจากนั้นอีกวันหนึ่ง ปู่ ย่า ตา ทวด ของเราก็สอนให้ชาวพุทธต้องหมั่นสวดธรรมจักรให้ได้ในช่วงเข้าพรรษา เพราะว่าบทสวดธรรมจักรนั้นแท้ที่จริงแล้วก็คือ บทเทศน์บทแรกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์เมื่อทรงบังเกิดขึ้นในโลกแล้ว แม้คนละยุคสมัยก็ทรงมีความเห็นตรงกันว่า การที่ใครจะเข้าถึงธรรมะภายในได้นั้น จะต้องอาศัยการทำใจหยุดใจนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ส่วนวิธีต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกเป็นวิธีสุดโต่งกันทั้งนั้น คือ สุดโต่งทางด้านบวกกับสุดโต่งทางด้านลบ สุดโต่งทางด้านบวกคือ ตามใจตัวเองมากไป ใจเตลิดไม่กลับมาที่ศูนย์กลางกาย ส่วนสุดโต่งทางด้านลบคือทรมานตัวเอง พวกนี้ก็ไม่สามารถที่จะทำใจให้หยุดให้นิ่งเข้าศูนย์กลางกายได้ ต้องปฏิบัติด้วยวิธีที่เรียกว่าทางสายกลาง

    แต่คำว่า “ทางสายกลาง” นั้นไม่ใช่ทางสายกลางในโลก แต่เป็นทางสายกลางที่ศูนย์กลางกายของเรา คือ ปฏิบัติมรรคมีองค์แปด ซึ่งรายละเอียดก็อย่างที่เราสวดกันอยู่ทุกวันนี้ เริ่มตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มัชฌิมาปฏิปทาประกอบ
ด้วยองค์ ๘ ที่เราสวดกันอยู่

      ถึงแม้ว่าบางท่านเพิ่งเข้าวัดใหม่ ๆ รู้คำ แปลบ้าง ไม่รู้บ้าง ก็ขอให้สวดไปเถิด เดี๋ยวใจจะนิ่ง พอใจนิ่งเดี๋ยวใจจะว่าง โล่ง โปร่ง เบาจากภายใน แล้วจะเริ่มรู้จักทางสายกลางโดยอัตโนมัติ การเข้าถึงธรรมะ เข้าถึงพระธรรมกายในตัว สามารถเกิดขึ้นได้ในขณะที่เราสวดบทธรรมจักร หากเราวางใจถูกส่วน เพราะว่าท่านอัญญาโกณฑัญญะซึ่งเป็นพระภิกษุรูปแรกที่เข้าถึงธรรมนั้น ก็อาศัยการฟังบทธรรมจักร

     หลวงปู่เคยเล่าให้พระรุ่นก่อน ๆ ฟังว่า การเทศน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ เทศน์ในส่วนหยาบหรือส่วนพื้นฐานขั้นต้น ขั้นนี้ทรงลืมตาเทศน์ แต่เมื่อถึงธรรมะละเอียดจะทรงหลับตาเทศน์หรือมองเข้าไปข้างในตัวของพระองค์ เทศน์ไปก็มองเข้าไปในศูนย์กลางกาย คุมธรรมะให้ผู้ฟังไปด้วยในตัว ทำให้เมื่อผู้ฟังปล่อยใจตามกระแสเสียงของพระองค์แล้วก็จะเข้าถึงธรรมะภายในได้ง่าย

    ลองไปดูการวางลูกนัยน์ตาของพระพุทธรูปโบราณก็ได้ ปู่ ย่า ตา ทวด ของเราหนักแน่นในเรื่องสมาธิการสร้างพระพุทธรูปในประเทศไทยจึงไม่เหมือนประเทศอื่น บางประเทศพระพุทธรูปลืมตาโตมองตรง ๆ บางประเทศเหลือบต่ำนิดหนึ่งมองหน้าโยม หรือลืมตาเต็มที่แต่ก้มหน้านิด ๆ แต่พระพุทธรูปที่สร้างในเมืองไทย โดยเฉพาะปางสมาธิจะเป็นพระพุทธรูปที่นั่งตั้งกายตรง คอไม่ก้ม แต่ว่านัยน์ตาเหลือบต่ำคล้ายเหลือบมองเข้าไปข้างในตัว นั้นแหละที่หลวงปู่บอกว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงเทศน์เรื่องละเอียดจะทรงเหลือบสายตาลงต่ำมองเข้าไปข้างใน ให้นัยกับชาวพุทธทุกคนว่า ในการฟังเทศน์ที่ถูกที่ควร เมื่อพูดถึง
เรื่องทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับทางโลกก็ต้องลืมตาดูบ้าง แต่ว่าพอเทศน์ธรรมะละเอียดก็จะหลับตาฟังกัน เหมือนอย่างที่เราฟังหลวงพ่อนำพวกเรานั่งธรรมะ นั้นเป็นลักษณะหนึ่งของการเทศน์ที่เลียนแบบกันมาจากบูรพาจารย์ และบูรพาจารย์ก็นำวิธีการเทศน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาใช้กับพวกเราสืบมาจนทุกวันนี้

    ทีนี้เรื่องที่อยากจะพูดกับเราก็คือ เรื่องที่หนึ่ง อย่าปล่อยให้พรรษานี้ผ่านไปโดยได้ประโยชน์ไม่เต็มที่พรรษานี้หมั่นสวดธรรมจักรกันไปด้วย แล้วหมั่นทำ สมาธิไปด้วย และไม่ว่าจะสวดในใจหรือสวดออกเสียงให้หลับตาสวดแล้วมองเข้าไปข้างในตัว ถ้าวางใจได้ถูกส่วน เดี๋ยวจะเข้าถึงองค์พระได้เหมือนกัน ให้ถือว่าเป็นการเข้าพรรษาเป็นเพื่อนพระภิกษุไปด้วยในตัว แต่ว่าเข้าพรรษาอยู่ในศูนย์กลางกายของเรา

   เรื่องที่สอง ความจริงทุกปีช่วงเข้าพรรษาเป็นฤดูกาลที่มีพระบวชมากที่สุด แต่ในหลายปีที่ผ่านมานี้การบวชพระน้อยลง เราจึงต้องมีโครงการบวชผู้ชายแมน ๆ ๑๐๐,๐๐๐ คน จากทุกหมู่บ้านทั่วไทย แต่ปีนี้เนื่องจากมีเรื่องไม่เป็นเรื่องเข้ามาในวัดพระธรรมกาย ทำ ให้พวกเราแทบไม่มีโอกาสไปชักชวนชายแมน ๆ มาบวช
เมื่อสอบถามกับหลวงพ่อ หลวงพี่ ๓,๐๐๐ วัด ที่มากันในวันนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การบวชพระในปีนี้ลดลงอย่างน่าใจหาย แม้แต่วัดพระธรรมกาย แต่ละปีที่วัดเราบวช ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ รูป แต่ปีนี้ทั้งวัดมีเพียง ๙๐ กว่ารูปเท่านั้นเอง ในวัดสาขาก็เหลือไม่กี่รูป นี้คืออันตรายของพระพุทธศาสนา ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็ต้องบอกว่าผู้ที่ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนาคงจะยิ้มย่องผ่องใส

    ความจริงวันนี้เป็นวันสร้างบุญใหญ่ของพวกเรา มีพระมาตั้ง ๓,๐๐๐ วัด เรื่องพวกนี้ไม่อยากพูดก็ต้องพูดให้ทราบทั่วกัน มิฉะนั้นจะกลายเป็นนิ่งนอนใจให้ผู้ที่ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนาได้ใจ เมื่อเหตุการณ์ล่วงเลยไปอย่างนี้ ถ้าจะปล่อยให้เป็นต่อไปก็เป็นความประมาทของเราเอง ซึ่งจะมีผลกระทบกระเทือนไปถึงพระพุทธศาสนาทั้งประเทศอีกด้วย เพราะฉะนั้นก็ปรึกษากันแล้วก็ว่าเอาอย่างนี้เถิด แม้จะล่วงเลยเข้าพรรษามาแล้ว นับแต่นี้ต่อไป วัดพระธรรมกายของเราจะให้มีการจัดบวชแม้เพียงช่วงสั้นก็ยอม คือ แต่ละเดือนจะให้มีการบวช เข้าพรรษามาแล้วบวชสัก ๑ เดือนก็ยังดี ที่บวชมาแล้ว ๙๐ กว่ารูปก็บวชให้ได้ตลอดพรรษา แต่ผู้ที่ยังไม่ได้บวช ถ้าใครจะพร้อมบวชในพรรษาหลัง ก็บวชต่อได้อีกสัก ๓ เดือนก็ยินดี

   อยากฝากเอาไว้ด้วย ต่อแต่นี้ไปวัดพระธรรมกายจะมีการบวชรายเดือนรวมทั้งวัดที่เป็นวัดสาขาด้วยทุก ๆ เดือน จะมีการบวชครั้งละ ๑ เดือน หากสึกไปแล้วพอว่างจะกลับมาบวชอีกในเดือนต่อไปก็ไม่ว่ากันบวชได้เป็นเดือนก็สะสมกันไป ถ้าทำอย่างนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง แล้วก็ได้มีโอกาสเป็นเนื้อนาบุญ
ให้แก่ญาติโยมด้วย

   ในส่วนของเรื่องแรก คือ การสวดธรรมจักร ขอให้หมั่นไปสวด จะได้ติดตัวข้ามภพข้ามชาติไป เพราะว่า พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ เมื่อบังเกิดขึ้นในโลกจะเทศน์บทนี้ และผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือผู้ที่เคยสวดบทธรรมจักรมาในชาติก่อน ๆ จนกระทั่งฝังติดในใจ พอได้ยินบทนี้เมื่อไรจะเข้าใจทันที

    ตามธรรมดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เมื่อจะทรงเทศน์ให้ใครฟัง พระองค์จะทรงระลึกชาติก่อนว่า ภพในอดีตท่านผู้นี้เคยฟังธรรมบทไหนมาบ้าง ถูกอกถูกใจธรรมะบทไหน แล้วพระองค์ก็จะทรงเทศน์ให้ตรงอัธยาศัย ถ้าเราหมั่นสวดธรรมจักรซึ่งเป็นแม่บทของพระพุทธศาสนาจนกระทั่งขึ้นใจ เมื่อไปเจอ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไหนก็ตามเบื้องหน้า พอได้ยินได้ฟังแล้วจะจับใจ เพราะว่าเราคุ้นอยู่แล้ว และเข้าใจง่าย โอกาสที่จะเข้าถึงธรรมตามพระองค์ไปก็จะง่ายขึ้น

    ส่วนเรื่องที่สอง ใครมีโอกาสก็มาบวชกันเถิด เราจะแก้ไขสถานการณ์ให้แก่พระพุทธศาสนา วัดอื่นคิดอย่างไรหลวงพ่อไม่รู้ แต่หลังจากที่ได้สนทนากับพระทั้งหลายที่มากัน ๓,๐๐๐ กว่าวัดแล้วสรุปว่า อย่างน้อยต่อแต่นี้ไป วัดพระธรรมกายจะจัดการบวชทุกเดือน และในช่วงเข้าพรรษานี้อย่าปล่อยให้ผ่านล่วงเลยไปโดยไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ ชวนกันมาบวชสักเดือนหนึ่งก็ยังดี

    เรื่องที่สาม เมื่อหลายปีก่อนโน้น เราเคยพิมพ์พระผง ปีนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อปรารภเรื่องเหล่านี้อีกเริ่มกันมาตั้งแต่เข้าพรรษา หลวงพ่อของพวกเรากำหนดให้เราสวดธรรมจักร ทีแรกปีนี้จะสวด ๑,๐๐๐,๐๐๐ จบ ตอนนี้เพิ่มเป็น ๒,๐๐๐,๐๐๐ จบ เพราะพวกเราเอาจริง เข้าพรรษาไม่กี่วันตอนนี้รวมได้ ๓๐๐,๐๐๐ จบแล้ว ถ้าอย่างนี้ล้านจบก็จะเสร็จก่อนออกพรรษา ท่านก็เลยขอเลื่อนเป็น ๒,๐๐๐,๐๐๐ จบ ถือว่าเป็นข่าวมหามงคล เพราะการที่จะมีใครในโลกนี้เป็นหมู่คณะทั่วโลกสวดธรรมจักรไปพร้อม ๆ กันในเวลาเข้าพรรษาหาไม่ได้ง่าย ๆ ในแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ว่าครั้งนี้เกิดขึ้นแล้วที่วัดพระธรรมกายกับวัดสาขาของเราที่มีอยู่ทั่วโลก เพราะฉะนั้นสวดธรรมจักรไปด้วยและพิมพ์พระของขวัญไปด้วย ทำไปพร้อม ๆ กันก็จะกลายเป็นว่าพระของขวัญรุ่นนี้ช่วยกันเสกด้วยใจใส ๆ เสกด้วยทั้ง “สัมมาอะระหัง” ทั้ง “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ๒,๐๐๐,๐๐๐ จบ”

   ในส่วนที่เกิดจากการสวดธรรมจักรนั้นก็เป็นการกลั่นกาย วาจา ใจของเราไป แล้วก็กลั่นองค์พระที่เราพิมพ์ด้วยมือของเราไปด้วยในตัว ถึงเวลาก็ทำสมาธิ เราจะได้สมาธิกันระดับไหนก็ตามที ทำ ไปพร้อม ๆ กับหลวงพ่อครูไม่ใหญ่กับหมู่คณะที่รับถ่ายทอดการทำพระของขวัญมาจากคุณยาย จากหลวงปู่ ทำไปด้วยกัน
ก็กลั่นด้วยอำนาจสมาธิของหมู่คณะที่ได้ตั้งใจทำกันมาตลอด พวกเราก็มีส่วนในการสร้างพระของขวัญด้วยมือของเราเอง ด้วยใจของเราเอง ถ้าอย่างนี้พระของขวัญรุ่นนี้จะเป็นพระรุ่นพิเศษจริง ๆ ที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาในโลกเลย อย่างไรก็ต้องศักดิ์สิทธิ์แน่นอน และจะต้องศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษอีกด้วย

    ในต่างประเทศก็มีสมาชิกที่เป็นชาวท้องถิ่นนั้น ๆ มาบวชเพิ่มขึ้นอย่างหนาแน่นผิดหูผิดตา แล้วสิ่งที่ปลื้มมาก ๆ คือ เขาพูดภาษาไทยไม่ได้ แต่สวดธรรมจักรไม่มีเพี้ยนเลย สวดไปตามจังหวะพร้อม ๆ กันพวกเราสังเกตไหมเวลาเราสวดธรรมจักร พอได้ที่แล้วใจมันชุ่ม แล้วเคยสังเกตไหม จะมีกันกี่คนที่สวดด้วยกันเป็นหมู่คณะ แต่จังหวะหายใจยังพร้อมกันเลย ไปสังเกตดูเถิด ฟ้องว่าใจบริสุทธิ์ใกล้เคียงกัน ตั้งใจฝึกของเราต่อไป ถ้าสวดพร้อมกันทั้งโลกอย่างนี้ตลอดฤดูเข้าพรรษา กาย วาจา ใจ ของพวกเราชาวพุทธที่รักในการสร้างบุญสร้างบารมีก็จะบริสุทธิ์ไปพร้อมกัน แล้วไม่ใช่บุญเล็กน้อย บุญที่เกิดพร้อม ๆ กันอย่างนี้จะช่วยแก้ไขทุกข์ โศก โรคภัย ของแต่ละคนให้หนักเป็นเบา เบาก็เจือจางให้ละลายไป นี้คือส่วนบุคคล
แล้วจะช่วยแก้ทุกข์แก้โศกของส่วนรวมไปในตัว

    นอกจากสวดที่บ้านแล้ว มีเวลาก็มาสวดพร้อม ๆ กันที่วัด อย่างน้อยก็วันอาทิตย์ และถ้าใครมีเวลาจะมาค้างวัด มาสวดธรรมจักรด้วยกัน พิมพ์พระของขวัญด้วยกัน สวดให้เกิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ จบได้ยิ่งดี นี้คือการแก้ไขสถานการณ์ของประเทศชาติ ของพระศาสนา รวมทั้งสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีของโลกนี้ด้วยธรรมะ
ของพระพุทธเจ้า

    หลวงพ่อขอฝากไว้อย่างนี้ ๑. สวดธรรมจักรให้ดี ๒. มีเวลาก็มาช่วยกันพิมพ์พระ ๓. มีเวลาพอที่จะมาบวชสักเดือนหนึ่งก็มาเลย บวชไปก็นั่งธรรมะไปด้วย พิมพ์พระไปด้วย สวดธรรมจักรไปด้วย ส่วนพวกแม่บ้านมาทีละสัปดาห์ก็ได้ มาสร้างบุญใหญ่กันอย่างนี้ ทำอย่างนี้จะมีแต่บุญล้วน ๆ เกิดขึ้นกับเรา ไม่ต้องไปเสียอารมณ์กับใคร เอาบุญเป็นตัวตั้ง

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ชาวพุทธให้ทำ ๓ อย่าง คือ ๑. ละชั่ว ๒. ทำดี ๓. ทำใจให้ใส ๆ จะประกอบอาชีพการงานใดก็ตาม ให้รักษาใจเอาไว้ว่า ๑. เราจะไม่คิดชั่ว ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เราไม่พูดชั่ว ๆ และไม่ทำชั่ว ๆ ๒. เราจะเลือกคิดดี ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เราพูดดีทำดีตามไปด้วย ๓. ทำใจให้ใส ๆ ก็สวดธรรมจักรไปด้วย ถึงเวลาก็ “สัมมาอะระหัง” ไปด้วย ออกพรรษาเดี๋ยวก็มีพระของขวัญรุ่นพิเศษ คงได้แจก
กันทั้งครอบครัว

     อยากฝากนิดหนึ่ง การพิมพ์พระของขวัญนี้เป็นธรรมเนียมตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ทวด ทำกันมานานแล้ว ๑. ให้พิมพ์พระในฐานะที่เป็นนิมิตเครื่องหมายในการทำสมาธิ พิมพ์ไปก็นึกถึงองค์พระในตัวไป ใครที่ยังนึกองค์พระไม่ได้ ก็พิมพ์หนักเข้า ๆ เดี๋ยวก็นึกออกจนได้ พิมพ์ไปด้วย “สัมมาอะระหัง” ไปด้วย เดี๋ยวก็นึกองค์พระออกเอง ๒. พิมพ์พระเอาบุญเพื่อตัวเองและเอาบุญให้คุณพ่อคุณแม่ของเราด้วย ปู่ ย่า ตา ทวด บรรพบุรุษของเราด้วย แม้ท่านละโลกไปแล้วก็จะพลอยได้บุญกับเรา นึกถึงพระคุณของท่านแล้วพิมพ์พระให้ท่านด้วย ท่านก็จะได้บุญกับเรา ไปเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จะได้สร้างบุญสร้างบารมีเคียงบ่าเคียงไหล่กันไปแล้วจะได้ไปถึงที่สุดแห่งธรรมด้วยกัน คิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ พรรษานี้ก็มีแต่บุญล้วน ๆ ฝากเป็นข้อคิดเอาไว้ เอาไปคิดให้ดีแล้วมาช่วยกันทำให้ดีนะ

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๖๗ เดือนกันยายน ๒๕๕๙

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล