นิทานอีสป เรื่อง หมาป่ากับลูกแกะ
ผู้แต่ง : อีสป
เช้าตรู่วันหนึ่ง ลูกแกะหลงฝูงยืนดื่มน้ำอยู่บริเวณริมฝั่งลำธารในป่า ในเช้าวันเดียวกันนั้นเอง หมาป่าหิวโซก็ย่างกายลงมาจากต้นน้ำเพื่อล่าเหยื่อ ไม่ช้าไม่นานมันก็เห็นเจ้าแกะน้อยตัวนั้น ตามกฎแห่งหมาป่า มันจะต้องเขมือบอาหารโอชะเช่นนี้ไม่ให้เหลือแม้แต่กระดูก ทว่าเจ้าลูกแกะช่างดูไร้ทางสู้อักทั้งดูไร้เดียงสาจนเจ้าหมาป่ารู้สึกว่ามันสมควรต้องมีข้ออ้างเพื่อปลิดชีวิตมัน
"เจ้ากล้าดีอย่างไรถึงย่ำไปทั้วลำธารของข้าและกวนเอาโคลนขึ้นมา" มันตะโกนเกรี้ยวกราด "เจ้าสมควรต้องถูกลงโทษอย่างหนักจากความคึกคะนองของเจ้า"
"แต่...นายท่าน" เจ้าแกะผู้สั่นกลัวตอบ "อย่าได้โกรธข้าเลย ถึงอย่างไรข้าก็กวนน้ำที่ท่านกำลังดื่มให้ขุ่นไม่ได้หรอก อย่าลืมสิว่า ท่านอยู่ต้นน้ำ ส่วนข้าอยู่ปลายน้ำ"
"เจ้าทำให้มันขุ่น!" หมาป่าตะคอกใส่ "นอกจากนี้ ข้ายังได้ยินมาว่าเจ้ากุเรื่องโกหกเกี่ยวกับตัวข้าเมื่อปีกลาย"
"ข้าจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร" เจ้าแกะอ้อนวอน "ข้าเพิ่งเกิดปีนี้เอง"
"ถ้าหากไม่ใช่เจ้า ก็ต้องเป็นพี่ชายของเจ้า"
"ข้าไม่มีพี่ชาย"
"เอ่อ ถ้าอย่างนั้น" เจ้าหมาป่าคำราม "ก็ต้องเป็นใครสักคนในครอบครัวของเจ้านั่นแหละ แต่ไม่ว่ามันจะเป็นใคร ข้าก็ไม่ปรารถนาที่จะคุยกับอาหารเช้าของข้าอยู่แล้ว"
เจ้าหมาป่าเลิกพูดพร่ำทำเพลง มันจัดการขย้่ำแกะน้อยผู้น่าสงสารแล้วลากมันเข้าป่าไป
:: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ::
อันธพาลมักหาข้ออ้างให้กับการทำชั่วของตัวเองได้เสมอ พวกอธรรมย่อมไม่ฟังเหตุผลของผู้ไร้ความผิด
:: พุทธภาษิต ::
โจโร ยถา สนฺธฺมุเข คหีโต สกมฺมุนา หญฺ ติ ปาปธมฺโม
เอวํ ปชา เปจฺจ ปรมฺหิ โลเก สกมฺมุนา หญฺ ติ ปาปธมฺโม.
โจรผู้มีความชั่ว ถูกเขาจับได้ซึ่งหน้า ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรม
ของตนฉันใด ประชาผู้มีความชั่ว ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อน
เพราะกรรมของตนในโลกหน้าฉันนั้น .
( รฏฺฐปาลเถร) ขุ. เถร. ๒๖/ ๓๗๙.