ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๘ จบ


ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๘ จบ

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP191_03.jpg

พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๘ จบ

                การเข้าถึงพระธรรมกายภายใน จะต้องอาศัยความเพียรและการปฏิบัติที่ถูกวิธี และทุกวิธีต้องมีอารมณ์ดีอารมณ์เดียวอารมณ์สบาย แล้วต้องมีใจหยุดนิ่ง พอหยุดถูกส่วนก็วูบเข้าไปข้างใน จนกระทั่งเข้าไปถึงสภาวะธรรมภายใน เห็นกายในกายเห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิตเห็นธรรมในธรรม

 


                เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนแล้ว จะภาวนาหรือไม่ภาวนาอะไรก็แล้วแต่ หรือจะกำหนดอะไรก็ตาม เมื่อไปสู่เบ้าหลอมเดียวกันในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้ว ต้องเข้าถึงดวงธรรม จากดวงธรรมก็เห็นกายในกาย จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้แสดงว่ามาถูกทางพระนิพพานแล้ว ฉะนั้นน่ะให้ตั้งใจทำใจหยุดนิ่งเเรื่อยไป แล้วเราจะสมปรารถนากันถ้วนหน้าทุกคนนะจ๊ะ

 

 

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในธัมมัทธชชาดกความว่า

ท่านทั้งหลาย จงพากันประพฤติธรรม 
ความเจริญจะมีแก่ท่านทั้งหลาย
เพราะว่าผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

 

 

                การประพฤติธรรมนั้นมีมาทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ว่าหลักหรือวิธีการในการประพฤติธรรม ของแต่ละศาสนานั้นไม่เหมือนกัน เช่นขั้นตอนการปฏิบัติธรรมของพวกพราหมณ์หรือฮินดูในสมัยโบราณนั้น ท่านใช้คำว่าอาศรม ซึ่งในความหมายโดยทั่วไป หมายถึงที่อยู่อาศัยของนักบวชหรือดาบส 

 


                แต่ในที่นี้หมายถึงช่วงระยะเวลาของชีวิตที่ต้องปฏิบัติธรรม คือวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ เว้นพวกศูทร ต้องปฏิบัติตามอาศรม ๔ อย่างนี้ ได้แก่

            พรหมจารี คือช่วงชีวิตสำหรับการศึกษาเล่าเรียน เพื่อนำความรู้มาแสวงหาทรัพย์สมบัติทางโลก 

            คฤหัสถ์ คือช่วงหาความสุขทางโลก มีครอบครัวมีบุตรธิดาแสวงหาทรัพย์สมบัติ ประกอบยัญพิธีและรับผิดชอบต่อชุมชน 

            วานปรัสถ์ คือช่วงวัยชลา วัยเข้าหาธรรมะ ที่จะต้องปล่อยวางวิถีชีวิตคฤหัสถ์  แล้วหันมาปฏิบัติธรรม ทำตนให้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม โดยการออกไปพำนักอยู่ในอาศรมตามป่า บำเพ็ญตบะและข้อปฏิบัติอื่นๆทางศาสนาอย่างเคร่งครัด

            ประการสุดท้ายคือสันยาสี เป็นช่วงที่สระทุกอย่าง เหลือแต่ผ้านุ่งกับภาชนะ สำหรับภิกขาจารและหม้อน้ำ เที่ยวจาริกทั่วไป เพือแสวงหาโมกขธรรม

 

 

                สำหรับการประพฤติธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น ถือว่าควรเริ่มปลูกฝันกันตั้งแต่ยังเยาว์วัยหรือยังหนุ่มยังแน่นนี่แหละ ไม่ใช่มาเริ่มเข้าวัดกันตอนแก่นะจ๊ะ เหมือนดังเรื่องของพระเตมียราชกุมาร ผู้เปี่ยมไปด้วยเนกขัมมบารมี ที่ตัดสินพระทัยออกผนวชเพื่อประพฤติธรรมะตั้งแต่ยังหนุ่ม ยอมอดทนต่อบททดสอบทุกอย่าง เพื่อมุ่งการบรรพชาอย่างเดียว เพราะฉะนั้นในวันนี้เรามารับฟังตอนอวสานกันเลยนะจ๊ะ

        

 

                เมื่อวานนี้หลวงพ่อได้เล่าถึงตอนที่พระเจ้ากาสิกราชและพระนางจันทราเทวี รวมไปถึงเหล่าอำมาตย์ ข้าราชบริพารทั้งหมด ได้ออกบวชตามพระโพธิสัตว์ โดยไม่ห่วงกังวนการปกครองบ้านเมืองอีกต่อไป 

 

                ส่วนพระนครพาราณสีเมื่อไร้พระราชาและรัชทายาท สืบราชบัลลังก์ ก็ต้องกลายเป็นเมืองร้างในที่สุด จะเหลือก็แต่เพียงเด็ก คนแก่ชรา และพวกนักเลงสุรา ที่ยังคงตกอยู่ในความประมาท จึงไม่ปรารถนาที่จะออกบวชตามพระเตมียฤษี

 

                ในเวลานั้น ท้าวสามนตราช (สา มน ตะ ราช)  กษัตริย์ที่ครองนครใกล้เคียงกัน เมื่อได้ทราบว่าพระเจ้ากาสิกราชสละราชสมบัติ เสด็จออกผนวชในป่า และแม้เหล่าอำมาตย์ราชมนตรีและพสกนิกร ต่างก็ออกบวชตามพระองค์มากมาย จึงได้ยกกองทัพเข้ามาประชิดพระนคร   ด้วยทรงหมายจะยึดเอาพระนครพาราณสีไว้ในครอบครอง แต่ครั้นมาถึงก็พบว่า พระนครพาราณสีซึ่งแต่ก่อนเคยรุ่งเรืองนั้น มาบัดนี้กลายเป็นเมืองร้างไปเสียแล้ว 

 

                พระเจ้าสามนตราชรีบเสด็จขึ้นสู่ปราสาทราชนิเวศน์ ทอดพระเนตรดูกองรัตนะอันเลอค่า ซึ่งถูกทอดทิ้งไว้โดยปราศจากผู้คนเหลียวแล ก็ยิ่งทรงฉงนพระหฤทัยยิ่งนัก ทรงดำริว่า “น่าจะมีภัยเพราะทรัพย์นี้กระมัง”
 

 

                ดำริดังนี้แล้วจึงให้เรียกพวกนักเลงสุรามาเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า “ภัยบังเกิดขึ้นแก่เจ้าเหนือหัว พระมเหสี และพระโอรสของพวกท่านหรือ”   พวกนักเลงสุราจึงกราบทูลว่า “ไม่มีภัยอะไรเลย พระเจ้าข้า”

 


                พระองค์จึงตรัสซักว่า “แล้วเพราะสาเหตุเกิดจากอะไรเล่า ท้าวเธอถึงได้ทอดทิ้งราชสมบัติไป โดยไม่มีความเยื่อใยเลย” พวกนักเลงสุราก็ทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ

 

                ท้าวสามนตราชยิ่งสดับก็ยิ่งอัสจรรย์ใจ ขนลุกชูชันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะไม่นึกว่าจะมีมนุษย์พันธ์อัสจรรย์อย่างนี้ จึงตรัสถามว่า “ก็แล้วพระราชาของพวกท่าน เสด็จออกไปทางไหนกันเล่า” พวกนักเลงสุรากราบทูลหนทางที่พระราชาของตัวเองเสด็จออกไป

 

                ท้าวสามนตราชและเหล่าเสนามหาอำมาตย์ จึงได้ยกไพร่พลติดตามไปยังชายป่านอกเมือง ครั้นเสด็จไปถึงอาศรมของพระเตมียฤษี ก็ได้เห็นพระราชา พระราชินี และบรรดาเสนาอำมาตย์มุขมนตรี อีกทั้งพสกนิการทั้งหมด ต่างพากันทรงเพศเป็นฤษีและฤษิณี บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าเป็นจำนวนมาก

 

                พระเตมียฤษีผู้ทรงอภิญญา ครั้นทราบว่ามีแขกมาเยือนก็เหาะมาต้อนรับ นั่งขัดสมาธิอยู่กลางอากาศ ได้สนทนาธรรมกับพระเจ้าสามนตราช จนทำให้พระเจ้าสามนตราช บังเกิดความศรัทธาเลื่อมใส ได้ขอบวชอยู่ในสำนักของพระเตมิยฤษีพร้อมทั้งบริวาร ไม่ยอมเสด็จกลับไปครองราชอีกต่อไป

 

                ในสมัยต่อมา ได้มีกษัตริย์ต่างเมืองทรงทราบข่าว การเสด็จออกผนวชของพระเตมียราชกุมาร จึงได้สละราชสมบัติ ทิ้งราชบัลลังก์ ทั้งแก้วแหวนเงินทองให้เกลื่อนกลาดกลายเป็นของไร้ค่า ทรงนำข้าราชบริพารเสด็จออกผนวช อยู่ในสำนักพระเตมียฤษี โดยทำนองนี้อีกถึง ๓ พระองค์

 

                ส่วนช้างม้าที่ทรงขับขี่เป็นพาหนะ เสด็จออกบวช เมื่อไม่มีใครดูแลใช้สอย ก็ปล่อยให้เป็นอิสระกลายเป็นช้างป่า ม้าป่า แต่ก็เป็นสัตว์ป่าที่เชื่อง สัตว์เหล่านั้นก็มีใจเลื่อมใสในหมู่ฤษี ด้วยอำนาจจิตที่เลื่อมใสนั้น เมื่อสิ้นอายุขัยก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ แม้รถทั้งหลายก็ชำรุดทรุดโทรมไปในป่านั้นเอง ภัณฑ์. เครื่องใช้สอยและกหาปณะทั้งหลาย ก็เรี่ยราดเกลื่อนกลาด ดุจทรายที่ใกล้อาศรมสถาน ไม่มีใครสนใจที่จะใช้สอย เพราะไม่มีความจำเป็น ทุกท่านสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ด้วยกำลังฌานสมาบัติ อยู่ได้ด้วยกำลังแห่งปีติในฌาน

 

                ราวไพรซึ่งมีหมู่ฤษีอาศัยอยู่แต่เดิมนั้น เมื่อมีเหล่ากษัตริย์และข้าราชบริพารออกบวชตามมากขึ้น จึงขยายกว้างใหญ่ออกไปอีกถึง ๑๐โยชน์ กลายเป็นแผ่นดินธรรมที่เต็มไปด้วเหล่าฤษี ฤษิณีและดาบส ดาบสินี ล้วนตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ บำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ในป่าแห่งนั้น ด้วยความสุขสำราญ ต่างได้รับผลของการปฏิบัติ ได้สำเร็จอภิญญาสมาบัติ ครั้นละโลกไปแล้วก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก

 

                เราจะเห็นได้ว่าเรื่อง ”พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี” นี้เป็นเรื่องราวการบำเพ็ญเนกขัมมบารมีขั้นสูงสุด ที่เรียกว่าปรมัตถบารมี แม้พระองค์จะยังทรงพระเยาว์ แต่ก็ทรงมีพระหฤทัยแน่วแน่ที่จะเสด็จออกบรรพชา แม้ว่าจะต้องทนทุกข์ทรมานจากบททดสอบที่ยากยิ่งเพียงใด และไม่ว่าพระองค์จะต้องรอคอยเป็นเวลายาวนานสักเพียงใด แต่เพื่อที่จะบำเพ็ญเนกขัมมบารมีให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ พระองค์ก็ไม่ทรงละทิ้งขันติธรรม  กระทั่งทรงออกผนวชได้สำเร็จ 

 


                เราทั้งหลายต่างทราบดีว่า เราเคยเวียนว่ายตายเกิดกันมา นับภพนับชาติไม่ถ้วน พวกเราได้เคยประพฤติธรรม สร้างบารมีกันมาหลายชาติแล้ว เพื่อหวังบุญบารมีที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จึงควรต้องเข้มแข็งหนักแน่น มีขันติมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายที่เราปรารถนา ด้วยการหลุดพ้นจากกิเลสอัศวะไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม การที่จะสร้างบารมีให้ได้ดีที่สุดนั้น ควรต้องประพฤติพรหมจรรย์หรือเป็นนักบวช เพราะเพศนักบวชเป็นอุดมเพศ ซึ่งมีความปลอดโปร่ง มีโอกาสว่างในการสร้างบารมี เพื่อบ่มอินทรีย์ให้แก่รอบโดยเร็ว ดังนั้นท่านใดที่ไม่มีภาระทางครอบครัว เมื่อจะสร้างบารมีตามแบบอย่างของทานผู้รู้ทั้งหลาย ก็ต้องหาโอกาสบวช เพราะนี่คือหนทางที่ดีที่สุด เร็วที่สุดและลัดที่สุดในการทำใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง เพื่อขจัดกิเลสอาสวะ ไปสู่ที่สุดแห่งธรรมนะจ๊ะ

 

พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล