Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
วิสาขา ตอนที่ ๑ การขออันประเสริฐ
พระผู้มีพระภาคเจ้าและพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ท่านได้ค้นพบว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นบรมสุข เป็นธรรมที่สงบประณีต ซึ่งจะนึกคิดหรือคาดคะเนเอาไม่ได้ จะรู้ได้เฉพาะตน และจะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อปรับใจให้หยุดนิ่งไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าไปถึงพระธรรมกายที่ชัด ใส สว่าง ซึ่งเป็นแหล่งแห่งความสุขความบริสุทธิ์ แหล่งของสติ แหล่งของปัญญา จนเกิดธรรมจักขุและญาณทัสสนะ เมื่อนั้นเราจะรู้เห็นทุกสิ่งไปตามความเป็นจริงว่าสาระแก่นสารของทุกๆ ชีวิตคือ การฝึกฝนใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งเท่านั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน จีวรขันธกะ วินัยปิฎก ว่า
* “สตรีใดให้ข้าวและน้ำ มีใจเบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นสาวิกาของพระสุคต ครอบงำความตระหนี่แล้ว บริจาคทาน อันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำมาซึ่งความสุข สตรีนั้น อาศัยมรรคปฏิบัติ ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ย่อมได้กำลัง และอายุทิพย์ สตรีผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีสุข สมบูรณ์ด้วยพลานามัย ย่อมปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน”
* พระบรมศาสดาได้ตรัสพระคาถานี้ ด้วยทรงปรารภพร ๘ ประการที่มหาอุบาสิกาวิสาขาได้ขอจากพระพุทธองค์ และมองเห็นการณ์ไกลว่า พรที่นางได้ทูลขอนั้น จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต พระองค์จึงทรงอนุญาต เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่ง นางวิสาขาได้ฟังธรรมในพระเชตวันมหาวิหาร และได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ เพื่อฉันเช้าที่บ้านของนาง ครั้นตกกลางคืนฝนตกหนักไปทั่วทวีปทั้ง ๔ รุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า "มหาเมฆทำฝนให้ตกหนักไปทั่วทวีปทั้ง ๔ ฉะนั้น หากจะออกเดินทางไปตามปกติเพื่อไปรับภัตตาหารที่บ้านของมหาอุบาสิกาวิสาขา ตอนที่ฝนหยุดตกแล้วก็คงไม่ทันแน่ เพราะกว่าฝนจะหยุดตกคงอีกนาน" ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จหายไปจากพระเชตวันพร้อมภิกษุสงฆ์อีก ๕๐๐ รูป ด้วยกำลังฤทธิ์ของพระอรหันต์ ไปปรากฏที่ซุ้มประตูบ้านของนางวิสาขาในทันทีนั้นเอง
มหาอุบาสิกาเห็นหมู่พระภิกษุสงฆ์มาปรากฏอยู่หน้าบ้าน ก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจว่า “น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมาก ในเมื่อห้วงน้ำสูงถึงหัวเข่าก็มี สูงถึงเอวก็มี กำลังไหลเชี่ยว เท้าหรือจีวรของภิกษุแม้รูปหนึ่งที่เปียกน้ำไม่มีเลย” นางจึงชักชวนเพื่อนๆและเหล่าข้าทาสบริวาร ให้ช่วยกันประเคนภัตตาหารแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยจิตที่เลื่อมใส จากนั้นนางได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กราบขอพร ๘ ประการ พระเจ้าข้า”
เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว นางจึงทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่ภิกษุสงฆ์ตลอดชีพ จะถวายภัตรแด่ภิกษุผู้จรมา ภิกษุผู้เตรียมจะไป ถวายภัตรแด่ภิกษุผู้เป็นไข้ ถวายภัตรแด่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ ถวายยาแด่ภิกษุไข้ ถวายข้าวยาคูเป็นประจำ และถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต” พระบรมศาสดาตรัสถามว่า “วิสาขา เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไรถึงขอพร ๘ ประการกับเรา”
วิสาขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า วันนี้หม่อมฉันสั่งทาสีว่า ไปเถิด เจ้าจงไปอารามบอกภิกษุสงฆ์ว่า ภัตตาหารเสร็จแล้ว นางก็ไปวัด และได้เห็นภิกษุสงฆ์เปลื้องผ้าสรงสนานกายอยู่ เข้าใจผิดคิดว่า ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม มีแต่พวกชีเปลือยสรงสนานกายอยู่ จึงกลับมารายงานหม่อมฉันว่า ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกชีเปลือยสรงสนานกายอยู่ แต่หม่อมฉันเข้าใจด้วยปัญญาของตัวเองว่า หากนางกลับไปอีก ก็จะเห็นภิกษุสงฆ์อยู่เต็มวัด เพราะภิกษุสงฆ์สรงสนานกายเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงสั่งนางกลับไปนิมนต์อีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงขอพร
ข้อที่ ๑ เพราะความเปลือยกายไม่งาม ไม่น่าดู หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎกแด่พระสงฆ์จนตลอดชีพ
ข้อ ๒ พระอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง ไม่รู้จักที่โคจร ย่อมเที่ยวบิณฑบาตลำบาก หากท่านฉันอาคันตุกภัตของหม่อมฉันสักวันสองวันก่อน พอชำนาญหนทาง รู้จักที่โคจร จักเที่ยวบิณฑบาตได้ไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายอาคันตุกภัตแด่พระสงฆ์จนตลอดชีพ
ข้อ ๓ พระผู้เตรียมตัวจะไป มัวแสวงหาภัตตาหารเพื่อตนอยู่ จักพลาดจากหมู่เกวียน หรือจักถึงสถานที่ที่ตนต้องการจะไปในเวลาพลบค่ำ จักเดินทางลำบาก หากท่านฉันคมิกภัตของหม่อมฉันแล้ว จักไม่พลาดจากหมู่เกวียน หรือจักถึงสถานที่ที่ตนต้องการจะไปไม่ค่ำเกินไปนัก จักเดินทางไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคมิกภัตแด่พระสงฆ์จนตลอดชีพ
ข้อ ๔ เมื่อพระอาพาธไม่ได้โภชนาหารที่เป็นสัปปายะ อาพาธจักกำเริบ หรือท่านอาจถึงแก่มรณภาพ หากท่านฉันคิลานภัตของหม่อมฉัน อาพาธจักทุเลา ท่านจักไม่มรณภาพ
ข้อ ๕ พระผู้พยาบาลพระอาพาธ มัวแสวงหาภัตตาหารเพื่อตน จักนำภัตตาหารไปถวายพระอาพาธจนสายเกินไป มิเช่นนั้นตนเองก็จะอดอาหาร หากท่านได้ฉันคิลานุปัฏฐากภัตของหม่อมฉันแล้ว จักนำภัตตาหารไปถวายพระอาพาธตามเวลา ตนเองก็จะได้ฉันด้วย
ข้อ ๖ เมื่อพระอาพาธไม่ได้เภสัชที่เป็นสัปปายะ อาพาธจักกำเริบ หรือจักถึงมรณภาพ หากท่านฉันคิลานเภสัชของหม่อมฉันแล้ว อาพาธจักทุเลา และจักไม่มรณภาพ
ข้อ ๗ พระองค์ทรงเห็นอานิสงส์ ๑๐ ประการ ได้ทรงอนุญาตข้าวยาคูไว้ที่เมืองอันธกวินทะ หม่อมฉันเห็นอานิสงส์ตามที่พระองค์ตรัสไว้นั้น จึงปรารถนาจะถวายข้าวยาคูเป็นประจำแด่สงฆ์
ข้อ ๘ ภิกษุณีทั้งหลายเปลือยกายอาบน้ำร่วมท่าน้ำเดียวกันกับเหล่าหญิงแพศยา พวกหญิงแพศยาพากันเย้ยหยันภิกษุณีว่า พวกท่านกำลังสาว ประพฤติพรหมจรรย์จะได้ประโยชน์อะไร ควรบริโภคกามมิใช่หรือ ประพฤติพรหมจรรย์ตอนแก่เฒ่า น่าจะเป็นสิ่งที่พวกท่านยึดเอาส่วนทั้งสองไว้ได้ เมื่อภิกษุณีถูกพวกหญิงแพศยาเย้ยหยัน ก็เป็นผู้เก้อ ความเปลือยกายของมาตุคามไม่งาม หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายผ้าอุทกสาฎกแด่ภิกษุณีสงฆ์ พระเจ้าข้า”
เมื่อนางกราบทูลอานิสงส์ขอพร ๘ ประการแล้ว พระบรมศาสดาทรงอนุโมทนาว่า "ดีละ วิสาขา ดีแท้ ตถาคตอนุญาตพร ๘ ประการ แก่เธอ" จากนั้นพระองค์ก็เสด็จกลับบุพพาราม
นี่เป็นตัวอย่างของผู้ฉลาดในการขอพร และเนื่องจากมหาอุบาสิกาวิสาขาได้สั่งสมบารมีมาอย่างดีแล้ว ดังนั้น เมื่อจะขอพรอะไร นอกจากจะเป็นไปเพื่อเพิ่มเติมบุญบารมีให้กับตัวเอง ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแด่ภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนอีกด้วย ทำให้ชาวโลกได้มีโอกาสทำบุญใหญ่ คือ ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝน ได้ถวายอาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต และคิลานุปัฏฐากภัต เป็นต้น
ประวัติการสร้างบารมีของมหาอุบาสิกาวิสาขายังมีรายละเอียดอีกมาก โดยเฉพาะการขอพรในสมัยที่ยังสร้างบารมีอยู่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก อีกทั้งเมื่อดูประวัติของท่าน ทำให้น่าทึ่งว่า ท่านเคยเป็นพระมารดาของพระเจ้ามหาปนาทะ ผู้มีปราสาททองถึง ๑,๐๐๐ ชั้น สูง ๒๕ โยชน์ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร และนางเคยขอพรไว้อย่างไรบ้าง เราจะได้มาติดตามศึกษากันในครั้งต่อไป
* มก. เล่ม ๗ หน้า ๒๘๑
* มก. เล่ม ๗ หน้า ๒๘๗