เกิดจากอกุศลกรรมซึ่งมีหลายสาเหตุ และรูปกายของเปรตมักจะบอกบุพกรรมที่ทำเอาไว้ เช่น
เปรตไม่มีหนัง
อาชีพตอนเป็นมนุษย์ คือ ชอบปอกลอกคน คือจะใช้วิธีการหรือเทคนิคอะไรก็ได้ ที่จะได้ทรัพย์ของคนนั้นมาโดยไม่ชอบธรรม พอขึ้นมาจากมหานรกแล้วก็มาเป็นเปรต
เปรตกินคูถตัวเอง
หัวมาอยู่ที่กระเบนเหน็บ ลิ้นยาว คว้าอาจมที่ออกมาทางทวารหนัก กินเข้าไปเรื่อยๆ บุพกรรมตอนเป็นมนุษย์คือ เป็นคนที่ชอบกินสินบนเช่นถ้าอยู่ที่วัด ก็วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง ขึ้นมาจากมหานรก อุสสทนรกแล้วก็มายมโลก แล้วมาเป็นเปรต หนอนไชทั้งตัวทั้งเจ็บปวด แสบ ทรมาน แล้วต้องกินอาจมอยู่อย่างนี้เป็นล้านๆปีมนุษย์
เปรตขนเป็นหอกเป็นดาบ
ลิ้นจะยาวแล้วก็ตวัดมีดสับตั้งแต่หัวถึงตัว ตามรูขุมขนก็มีมีดโผล่ขึ้นมา อันนี้โผล่อันนั้นหุบ อันนี้หุบอันนั้นโผล่ เข้าๆออกๆ อยู่แบบนี้ แทงเนื้อทุกข์ทรมาน แล้วมีดก็ตวัดไปเรื่อยๆ บุพกรรมตอนเป็นมนุษย์คือ กล่าววาจาจ้วงจาบผู้มีศีลมีธรรม คำว่า จ้วงจาบคือ ด่าว่า หรือชวนคนนั้นให้ด่าก็ดี ขีดเขียนก็ดี หรืออะไรต่างๆ ทำทุกอย่างเพื่อจะให้ผู้มีศีลมีธรรมเดือดร้อน
เปรตมีปากอยู่ที่ก้น
จะมีปากอยู่ที่ก้น อาเจียนหนอน น้ำหนอง ออกมาตลอดเวลาบุพกรรมตอนเป็นมนุษย์คือ ชอบนินทาว่าร้ายลับหลัง ทำให้คนอื่นเสียหาย หรือพวกกุข่าวสร้างข่าว สร้างกระแสขึ้นมา
เปรตหัวโตตัวเล็ก
จะมีไฟลุกท่วมตัวตลอดเวลา บุพกรรมตอนเป็นมนุษย์ คือชอบหลอกลวงผู้อื่นว่าตนเองมียศใหญ่ หน้าใหญ่เกินกว่าความเป็นจริง หลอกลวงจนกระทั่งเขาเสียหาย เสียทรัพย์ เสียตัว เสียคน เสียอนาคต เสียทุกสิ่งทุกอย่าง พอตายไปแล้วก็ไปเกิดในนรก พอขึ้นมาจากนรกแล้วก็มาแบกหัวตัวเอง
เปรตตัวโตหัวเล็ก
จะมีหนอนไชเต็มตัว บุพกรรมตอนเป็นมนุษย์คือ ชอบพูดให้คนเสียหน้า ยิ่งต่อหน้าธารกำนัลยิ่งชอบพูดเป็นวจีกรรมทำให้คนเสียหน้า ถ้ายิ่งคนอื่นเสียหน้าเมื่อไหร่จะหัวเราะชอบใจสนุกสนาน สนุกปากแต่ลำบากคนอื่น
เปรตมือเท้าคอบิด
บุพกรรมตอนเป็นมนุษย์คือ ชอบบิดเบือนความจริง หรือทำอาชีพที่ได้ทรัพย์มาเพราะบิดเบือนความจริง
พอมาเป็นเปรตก็จะบิดไปหมดทั้งตัว คอบิด แขนบิด ตัวบิด ขาบิด เดินไม่ได้ เดินไม่ถนัด บิดไปหมดเหมือนเถาตำลึง
สาเหตุการตายของเปรต
1. เสวยทุกขเวทนาจนหมดกรรม
2. หมู่ญาติมิตรอุทิศบุญมาให้ สำหรับเปรตที่รับบุญได้ อาจพ้นจากกรรมในขณะอนุโมทนาสาธุนั้นเอง
-----------------------------------------------------------------
หนังสือ "วงจรชีวิต ฉบับชีวิตในกามภพ "
พระครูวินัยธรไพบูลย์ ธมฺมวิปุโล