เริ่มต้นวางแผนทางการเงิน (เงินเธอ เงินฉัน เงินเรา)

วันที่ 07 ธค. พ.ศ.2558

เริ่มต้นวางแผนทางการเงิน (เงินเธอ เงินฉัน เงินเรา)

     เราควรวางแผนการเงินในส่วนของชีวิตคู่ให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น ให้รู้ว่าทรัพย์สมบัติอะไรเป็นของใครอยู่ที่ไหนแล้วจะนำมารวมกันอย่างไรและใช้จ่ายร่วมกันอย่างไร ซึ่งเราควรแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือเงินเธอเงินฉันและเงินเราการใช้ชีวิตคู่นั้นเรียกได้ว่าเป็นหุ้นส่วนกันแล้ว ดังนั้น จึงต้องมีการจัดแบ่งเป็นสัดส่วนร่วมกัน ถ้าเราจัดแบ่งเงินไว้เป็น 3 ส่วน คือ เงินเธอ เงินฉัน และเงินเราแล้ว ก็จะเกิดความลงตัว 

    เงินเธอ คือทรัพย์สมบัติเดิม เงินเดือนและรายได้ต่างๆ ของคู่รักหรือคู่สมรสของเรา และเงินฉัน คือทรัพย์สมบัติของเราในปัจจุบัน ที่มีอยู่แล้วก่อนแต่งงาน ส่วนเงินเรา คือทรัพย์สมบัติที่ถูกแบ่งสรรปันส่วนจากทั้งส่วนของคู่สมรส และส่วนของเราเอง เราและเขาจัดสรรลงกองกลางเพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายภายในครอบครัวร่วมกัน ในกรณีที่แต่งงานกันแล้วฝ่ายหญิงเป็นแม่บ้านและฝ่ายชายเป็นคนหาเงินเข้าบ้าน เราควรใช้วิธีจัดสรรเงินในครอบครัวเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน ในเมื่อภรรยาทำหน้าที่ดูแลบ้าน สามีมอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้ภรรยาเรียบร้อยตามหลักมงคลสูตร สามีจึงควรมอบเงินให้ภรรยาดูแลด้วยซึ่งควรจัดแบ่งเป็นเงินส่วนตัว ไว้ให้ภรรยาสำหรับใช้จ่ายเรื่องส่วนตัวกับเงินกองกลาง ที่ไว้สำหรับจัดการบริหารค่าใช้จ่ายภายในบ้าน

 

       เมื่อเราและเขาร่วมกันแบ่งแยกรายได้ออกเป็น 3 ส่วน คือเงินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย และเงินกองกลางแล้วจากนั้นทั้งคู่ควรปรึกษาหารือเรื่องการใช้จ่ายเงินกองกลางกันก่อนเราควรตกลงกันว่าจะซื้อบ้านซื้อรถร่วมกัน หรือมีค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวอะไรบ้างที่เพิ่มเติมขึ้น เช่น ค่าเรียนพิเศษของลูก เป็นต้น  สำหรับเงินส่วนตัวทั้งของเขาและของเรานั้น ควรแยกบัญชีธนาคาร และต่างฝ่ายไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน เช่นถ้าฝ่ายหนึ่งอยากจะซื้อเครื่องสำอางหรือเสื้อผ้าสวยๆ เพื่อความสบายใจ ก็เป็นเรื่องของเขา เพราะเขาใช้เงินส่วนตัว ในขณะเดียวกัน ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอยากจะซื้อแท็บเล็ตใหม่ ก็เป็นเรื่องของเขาเช่นกัน ซึ่งถ้าได้ตกลงกันไว้ก่อนแล้วเราก็จะไม่ทะเลาะกัน แต่ถ้าเราไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน ในเรื่องการใช้จ่ายส่วนตัว แล้วต่างคนต่างใช้ พอถึงเวลานำเงินมารวมกันก็จะเกิดปัญหาทะเลาะกันอยู่เรื่อยไป 

 

    ที่สำคัญแต่ละฝ่ายควรควรจัดสรรการใช้จ่ายในเรื่องของเงินลงทุนและเงินออมด้วย และในส่วนของการใช้จ่ายต่างๆ เราควรทำบันทึกทางการเงินด้วยว่า บัญชีส่วนตัวของเราใช้จ่ายอะไรบ้าง และบัญชีกองกลางเราใช้จ่ายอะไรบ้าง ในกรณีที่เราและเขามีรายได้ไม่เท่ากัน เราควรช่วยกันจัดสรรเงินด้วยความสมัครใจที่จะมีความรับผิดชอบร่วมกันเช่น ในสังคมอเมริกันเอง ผู้หญิงบางคนหาเงินได้มากกว่าผู้ชาย ฝ่ายชายก็มีความภูมิใจที่จะได้ดูแลบ้าน เขาสามารถสลับบทบาทหน้าที่กันได้ ในสังคมไทยก็เช่นเดียวกัน เราควรพิจารณาถึงภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้าน แล้วพิจารณาความสามารถในการหารายได้ที่แตกต่างกันของคู่ชีวิต จัดสรรรายได้โดยมีคำพูดคุยกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ตั้งแต่ทีแรก และคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อภาระของคนทั้งคู่ที่จะใช้ชีวิตร่วมกันด้วย

-----------------------------------------------------------------

หนังสือ " The Lover รักเป็นจะเห็นใจ "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0085046013196309 Mins