ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ตัวไม่ยินดีสละในตัว เพราะตัวไม่เป็นใหญ่ในตัว เพราะตัวไม่รู้จักที่สุดของตัว นี่มนุษย์ทั่วไปเป็นอย่างนี้ เห็นไหมล่ะ
ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านก็ไปไม่ถึงที่สุดเหมือนกัน ถ้าใครไปยังไม่ถึงที่สุดก็ยังไม่ฉลาดเต็มที่ ต่อเมื่อไปให้ถึงที่สุดกายของตัวต่อไปแล้วละก็ฉลาดเต็มที่แน่ ตัวของตัวเองมีชีวิตพึ่งแก่ตัวเองได้แล้ว นี้เป็นข้อสำคัญที่สุดนะ
มาเจอพุทธศาสนานี่แล้ว เห็นไหมจะไปทำเรื่องอื่น จะไปหลงเลอะเทอะ เอ้า! มีครอบครัวแล้วได้อะไรบ้าง ได้ลูกคนหนึ่ง แล้วเอามาทำไมล่ะ เอามาเลี้ยง ๑๐ คน เอาไว้เลี้ยงอย่างไงก็เลี้ยงไป บ่นโอ้กแล้ว เอ้า ได้ ๕๐ คน เอ้า! เอาไว้เพียงนี้ เอ้า! เปะปะไปซี อยากได้ลูกอีกไหมละ ไม่จริง เหลว โกงตัวเอง
โกงตัวเอง พาให้เลอะเลือน ไม่เข้าไปค้นกายของตัวให้ถึงที่สุด ไม่ให้เข้าไปค้นตัวให้ถึงที่สุด เป็นมนุษย์กับเขาทั้งที เพราะเชื่อกิเลสเหลวไหลเหล่านี้แหละ จึงได้เลอะเลือน
จะครองเรือนไปสักกี่ ๑๐๐ ปี ก็ครองไปเถิด มันงานเรื่องของคนอื่นเขาทั้งนั้น เรื่องของพญามารทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องของตัว ไม่ใช่งานของตัว ไปทำงานให้พญามารเขาทั้งวันทั้งคืน เอาเรื่องอะไรไม่ได้
ให้หนึ่งไว้ในใจว่า ต่อแต่นี้ไปเราจะต้องเข้าให้ถึงที่สุด เข้าไปในกายที่สุดของเราให้ได้ เป็นกายๆ ออกไป เมื่อเป็นกายๆ เข้าไปแล้ว ถ้าทำเป็นแล้ว ไม่ใช่เดินท่านี้ เดินในไส้ทั้งนั้น ในไส้เห็น ไส้จำ ไส้คิด ไส้รู้ ในกำเนิดดวงธรรมที่ทำให้เป็นสุดหยาบสุดละเอียด เดินในไส้ ไม่ใช่เดินทางอื่น เดินในกลางดวงปฐมมรรค มรรคจิต มรรคปัญญา เดินไปในกลางดวงศีล ดวงสมาธิ ปัญญา ดวงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ นั้นเป็นทางเดินของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์
เดินไปในไส้ ไม่ใช่เดินไปในไส้เพียงเท่านั้น ในกลางว่างของดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานของดวงศีล ดวงสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ว่างในว่างเข้าไป ในเหตุว่างในเหตุว่าง เหตุเปล่าในเหตุเปล่า เหตุดับในเหตุดับ เหตุลับในเหตุลับ เหตุหายในเหตุหาย เหตุสูญในเหตุสูญ เหตุสิ้นเชื้อในเหตุสิ้นเชื้อ เหตุไม่เหลือเศษในเหตุไม่เหลือเศษ ...
ในเหตุว่างเข้าไป เหตุสุดในเหตุสุด หนักเข้าไปอีกไม่ถอยกลับ นับอสงไขยไม่ถ้วน นับชาติอายุไม่ถ้วน ไม่มีถอยกลับกัน เดินเข้าไปอย่างนี้นะ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ไม่ใช่เดินโลเลเหลวไหล ที่เรากราบที่เราไหว้เรานับถือนะ ท่านวิเศษวิโสอย่างนี้นี่แหละเป็นผู้วิเศษแท้ๆ นี่แหละเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกแท้ๆ ถ้าเป็นผู้รู้จริง เห็นจริง ได้จริง เราจึงเอาเป็นตำรับตำราได้ ฯ
(กัณฑ์ที่ ๔๓ : สติปัฏฐานสูตร ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๗
จากหนังสือมรดกธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร))