ธรรมยาตราคืออะไร?

วันที่ 08 มค. พ.ศ.2559

 

ธรรมยาตราคืออะไร?

 

ธรรมยาตราคืออะไร?

        คำว่า ธรรมยาตรา นี้ ไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก แต่เป็นคำที่มาจากการนำคำว่า "ธรรม" และ "ยาตรา" มาประกอบกัน คำว่า ธรรม นั้น ในคัมภีร์พุทธศาสนา และในพจนานุกรมฉบับต่างๆ ได้ให้ความหมายไว้หลายอย่าง เช่นว่าหมายถึง สภาพที่ทรงไว้, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง,ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ, ความยุติธรรมเป็นต้น ส่วนคำว่า ยาตฺรา เท่าที่ปรากฏเฉพาะในพระไตรปิฏก 45 เล่ม ก็มีถึง 48 หน้า และในคัมภีร์ขยายความพระไตรปิฎก เช่น อรรถกถา เป็นต้นอีกหลายแห่ง  ทั้งหมดได้ให้ความหมายของคำว่า ยาตฺรา ไว้ว่า ความเป็นไปแห่งชีวิต, ความเป็นไปแห่งอิริยาบถ, ความดำรงอยู่แห่งชีวิต, ความออกไปหรือหนีไป(จากทุกข์) เช่น ในประโยคว่า...ยาตฺรา   จ   เม   ภวิสฺสติ   อนวชฺชตา  จ  ผาสุวิหาโร  จาติ. ที่พระโบราณาจารย์นำไปเป็นส่วนหนึ่งของบทสวดมนต์ทำวัตรที่พระภิกษุสามเณรสวดพิจารณากันทุกๆ วัน
 
     ส่วนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายไว้ว่า ยาตร, ยาตรา [ยาด, ยาดตฺรา] ก. เดิน, เดินเป็นกระบวน. (ป., ส.). และที่เป็นคำสมาสก็มีหลายคำ เช่นที่คุ้นเคยกันก็คือ พยุหยาตรา [ยาดตฺรา] น. กระบวนทัพ, การเดินทัพ  เช่น ยก พยุหยาตรา. ก. ไปเป็นกระบวนทัพใหญ่. เป็นต้น ซึ่งให้นัยยะความหมายเพียงอย่างเดียวคือการเดิน และอธิบายว่า เดินอย่างเป็นกระบวนหรือขบวน

     ฉะนั้น เมื่อรวม ธรรม+ยาตรา เป็น ธรรมยาตรา แล้วจึงแปลว่า การดำเนินไปด้วยธรรม,หรือ การออกไปด้วยธรรม ซึ่งมีความหมายว่า  การดำเนินออกไปจากทุกข์ทางกายและทางใจด้วยธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือเมื่อมีเปลี่ยนอิริยาบถด้วย

ธรรมยาตรา การดำเนินไปด้วยธรรม

     การเดินไปซึ่งเป็นเหมือนการเดินจงกรมไปด้วย อัตภาพร่างกายก็แข็งแรง ทุกข์ทางกายก็เป็นอันบรรเทาหายไปด้วย และเมื่อเดินไปไม่อยู่ติดที่ติดเสนาสนะที่อยู่อาศัย อกุศลธรรมบางเหล่าที่เกิดขึ้นเพราะการอยู่ประจำในเสนาสนะก็เป็นถูกบรรเทาทำให้ไม่เกิดขึ้นได้ ทุกข์ทางใจอันเกิดจากการถูกกิเลสบีบคั้นก็เป็นอันหนีหายไปด้วย และการเดินไปโปรดชาวโลกก็เป็นอันประกาศพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปด้วย การเดินธุดงค์ไปจึงชื่อว่าได้สร้างประโยชน์เกื้อกูลอันใหญ่หลวงให้เกิดขึ้นแก่สรรพสัตว์โดยทั่วหน้ากัน ความหมายพระบาลีในพระไตรปิฏกและอรรถกถา จึงให้นัยที่ครบถ้วนและให้ความสำคัญทั้งประโยชน์ตนเองและผู้อื่นไปด้วย
        ยังมีอีกคำหนึ่งที่ใกล้เคียงกับ ธรรมยาตรา และมีการใช้กันค่อนข้างแพร่หลายในทางพระพุทธศาสนาและสังคมไทยได้รับรู้กันมา ยาวนาน คือ  ธรรมจาริก หมายถึง เที่ยวไปหรือเดินทางเพื่อประกาศธรรม ยาตฺรา กับ จาริก มีความหมายเหมือนกัน คือ การเดินทางไป แต่จาริกจะมีความหมายในรายละเอียดคือจะไป 1 เดียว 2 รูป 3 รูปหรือมากกว่านั้นเป็น ร้อย พัน หมื่น แสนเป็นต้นก็ได้ ไม่ได้ผิดอะไร คำว่าจาริก นี้เริ่มต้นปรากฏครั้งแรกในทางพุทธศาสนา เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เจ้า ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธองค์ทรงจาริกไป“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี เข้าไปหาพวกภิกษุปัญจวัคคีย์ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์เห็นเราเดินทางมาแต่ไกล...”     วัตถุประสงค์ในการจาริกไปในครั้งนั้นก็เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์กระทั้งได้บรรลุธรรมตามพระพุทธองค์

     เมื่อบรรลุธรรมแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงมีรับสั่งให้ จาริก แก่พระปัญจวัคคีย์ผู้เป็นพระสาวก เพื่อทำหน้าที่บำเพ็ญโลกหิตประโยชน์คือประประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก และแม้พระพุทธองค์ก็ต้องบำเพ็ญหน้าที่นี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีปรากฏในพระวินัยปิฎกเล่มที่ 4 มหาวรรค ภาคที่ 1 ความว่า
 
      “ดู ก่อนภิกษุทั้งหลาย   เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง   ทั้งที่เป็นของทิพย์  ทั้งที่เป็นมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง   ทั้งที่เป็นของทิพย์    ทั้งที่เป็นของมนุษย์ พวกเธอจงเที่ยวจาริก  เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก  เพื่ออนุเคราะห์โลก   เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์   พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป     จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น     งามในท่ามกลาง งามในที่สุดจงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์    สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย    มีอยู่    เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม   ผู้รู้ทั่วถึงธรรม   จักมี   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  เพื่อแสดงธรรม”จะเห็นได้ว่า การจาริกไปในทุกครั้งนั้น เพื่ออนุเคราะห์โลก   เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมวลมนุษย์และความสุขอย่างแท้ จริง ซึ่งจะมีได้ก็ด้วยการแสดงหรือประกาศธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ เพราะสัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยคือผู้มีศรัทธาและปัญญานั้นมีอยู่ เมื่อไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อมหายจากประโยชน์สุข เมื่อได้ฟังธรรมแล้วผู้รู้ทั่วถึงธรรมบรรลุธรรมจักมี 

วัตถุประสงค์ของธรรมยาตรา หรือจาริกไปโดยธรรมคือ
 
     เพราะฉะนั้นการจาริกไปแต่ละครั้งนั้น พระพุทธองค์ได้วางวัตถุประสงค์ไว้ 3 ประการคือ

     1.) เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน  อนุเคราะห์ชาวโลก และเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ คือ การจาริกแต่ละครั้งทุกคนได้ประโยชน์แม้กระทั้งเทพเทวาด้วย

     2.) ต้องแสดงธรรมหรือประกาศธรรมจะมากน้อยก็ได้ แต่ต้องงามในเบื้องต้น  งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ 

     3.) สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี   หมายถึงคนที่มีศรัทธาและปัญญามีบุญบารมีพอ ดีจะบรรลุธรรมนั้นมีอยู่ ถ้าไม่มีการจาริกไม่มีการแสดงธรรมก็จะเสื่อมเสียจากประโยชน์สุข สำหรับคนที่ยังไม่เลื่อมใสและมีปัญญาน้อยไม่ได้ถือเป็นประมาณ แต่ก็จะได้เป็นอุปนิสัยติดตัวต่อไปในภายภาคเบื้องหน้า

 


ธรรมยาตราในสมัยพุทธกาลมีอย่างไรบ้าง
     ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงนำพระสงฆ์สาวกจำนวนนับหมื่นรูป เดินธุดงค์ธรรมยาตรา จากเมืองสู่เมืองเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา อาทิ

       พระพุทธองค์นำพระสงฆ์ 14,000 รูป เดินธรรมยาตราจากกรุงราชคฤห์สู่กรุงกบิลพัสดุ์ ตอนหลังตรัสรู้ใหม่ๆ แม้พระเจ้าสุทโธทนะจะส่งคณะมาทูลอาราธนาให้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ถึง 10 คณะ พระพุทธเจ้าก็ยังไม่ไป ทรงรอให้สถานการณ์พร้อม มีพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก แล้วจึงนำขบวนธรรมยาตราไปพร้อมๆ กัน เพราะสามารถสร้างศรัทธาได้ดีกว่า และในหลายๆ แห่ง ชาวเมืองก็จะมาต้อนรับคณะสงฆ์ โดยโปรยดอกไม้บนทางที่คณะสงฆ์เดินผ่าน วัดพระธรรมกายจึงได้ปฏิบัติตามแบบอย่างของชาวพุทธครั้งพุทธกาล

       พระภิกษุในโครงการอุปสมบทหมู่ 1 แสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทยซึ่งอบรมตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในช่วงท้ายการอบรมจะมีการเดินธุดงค์ บวชที่จังหวัดใดก็เดินธุดงค์ที่จังหวัดนั้น ถือเป็นการไปโปรดญาติโยมและเป็นการฝึกตัวอย่างเข้มข้น

       หลังออกพรรษา ผู้ที่มีศรัทธาบวชต่อไม่สึกส่วนหนึ่งประมาณ 1,000 รูป จะมารวมตัวกันที่วัดพระธรรมกาย ฝึกอบรมธรรมปฏิบัติอย่างเข้มข้น นั่งสมาธิ(Meditation)วันละ 10 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเตรียมกาย วาจา ใจ ให้ใสบริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญให้กับญาติโยม และจะเดินธุดงค์ธรรมยาตราผ่านจังหวัดต่างๆ รวมทั้ง กทม. ระยะทาง 400 กว่ากิโลเมตร เพื่อปลุกกระแสชาวพุทธให้ตื่นตัว เป็นการปฏิบัติตามพุทธโอวาท ที่ให้เที่ยวจาริกไปเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งจะต้องเดินจาริกไปในย่านชุมชน เพราะจะไปโปรดญาติโยม ส่วนการเดินธุดงค์ในป่าเป็นการเดินเพื่อฝึกตัวเอง

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033879780769348 Mins