มิตรภาพผุพังเพราะฟังคำยุ

วันที่ 14 มค. พ.ศ.2559

มิตรภาพผุพังเพราะฟังคำยุ

         สาเหตุที่ตรัสชาดก พระทศพลทรงติเตียนภิกษุฉัพพัคคีย์ที่นำความส่อเสียดไปให้แก่ภิกษุผู้บาดหมางกันแล้วตรัสว่า ขึ้นชื่อว่าวาจาส่อเสียดคมกล้าประดุจศาสตรา ความคุ้นเคยที่เหนียวแน่นมั่นคงแตก ลายไปได้รวดเร็วเพราะวาจาส่อเสียด แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้..

 

         ในอดีต ณ ป่าแห่งหนึ่ง โคตัวหนึ่งเกิดความคุ้นเคยกับราชสีห์ตัวหนึ่ง ทั้งสองเป็นมิตรสนิทสนมมั่นคงกันอย่างยิ่ง ต่อมามีพรานป่าผู้หนึ่งเข้าป่ามาเห็นเข้าก็ให้นึกประหลาดใจ พรานป่าแวะเอาของป่าไปถวายพระราชา พระราชาได้ตรัสถามพรานด้วยอาการใคร่จะฟังเรื่องราวที่น่าสนใจในป่าว่า..

"สหาย! ท่านเคยเห็นความอัศจรรย์อะไรในป่าบ้างไหม"
"เห็นแต่ราชสีห์ตัวหนึ่งกับโคผู้ตัวหนึ่งสนิทสนมกันเที่ยวไปไหนมาไหนด้วยกัน พระเจ้าข้า"
นายพรานตอบ

 

พระราชาทรงมองการณ์ไกลตรัสว่า..
"เจ้าคอยดูเถอะ! เมื่อสัตว์ตัวที่สามเกิดขึ้นภัยจักบังเกิดมีแน่ เมื่อใดท่านเห็นสัตว์ตัวที่สามเพิ่มขึ้นมา ท่านจงรีบมาบอกเราโดยด่วนนะ"


กาลไม่นานสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งหวังกินเศษอาหารที่สัตว์ทั้งสองนี้กินเหลือ จึงเข้าไปรับใช้ราชสีห์และโค พรานป่ามาเห็นเข้าจึงรีบไปกราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ
"สัตว์นั้นคืออะไรรึ" พระราชาตรัสถามอย่างสนพระทัย
"สุนัขจิ้งจอก! พระเจ้าข้า" นายพรานตอบ
"แย่แล้ว!สักวันสุนัขจิ้งจอกคงจะยุยงทำลายสัตว์ทั้งสองนั้นเป็นแน่ เร็วเข้าเถอะ! พวกเราจะไปให้ทันก่อนที่สัตว์ทั้งสองนั้นจะตาย"

 

พระราชาขึ้นราชรถเสด็จไปทันที เมื่อนายพรานนำทางไปถึง ราชสีห์กับโคกำลังทะเลาะไล่ฟัดกันอยู่ โคเอาเขาขวิดราชสีห์ ราชสีห์ก็กัดที่ซอกคอโคสัตว์ทั้งสองบาดเจ็บสาหัสค่อยๆ นอนตายลงอย่างช้าๆ พระราชาทรงประทับยืนทอดพระเนตรอยู่บนรถ ตรัสกับนายสารถีว่า..
"ท่านดูเถิดนายสารถี!สัตว์ทั้งสองนี้กินอาหารคนละอย่างกันก็ยังคุ้นเคยกันได้ แต่ภายหลังสุนัขจิ้งจอกมายุยงทำลายก็แตกกันถึงตาย เราคาดการณ์ไม่ผิดเลยจริงๆ"

 

จากนั้นพระราชาทรงเปล่งอุทานว่า..
"ผู้ใดเชื่อถือคำของคนส่อเสียดมุ่งทำลายความสนิทสนมของคนอื่น ผู้นั้นจะต้องนอนตายอย่างนี้ส่วนผู้ใดไม่เชื่อถือคำของคนส่อเสียด ผู้นั้นย่อมประสบสุขเหมือนคนไปสวรรค์ ความส่อเสียดนั้นแหละ! จะตัดมิตรภาพลงได้เหมือนดาบอันคมกริบ"

 

สุนัขจิ้งจอกกัดกินโคและราชสีห์อย่างเอร็ดอร่อยเป็นที่สุด หลังจากที่มันกินเดนเนื้ออื่นมานานจนเบื่อ วันนี้มันสมใจไม่เสียแรงที่ยุยงใส่ความสัตว์ทั้งสองพระราชารับสั่งให้เก็บหนังและเขี้ยวของไกรสรราชสีห์ไว้ดูเตือนพระทัย แล้วเสด็จกลับพระนคร..

 

ประชุมชาดก
          พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า พระราชาครั้งนั้นได้มาเป็นตถาคตแล


          จากชาดกข้างต้น คำยุยงเห็นจะเป็นของคู่โลก และเป็นศัตรูคู่นักสร้างบารมีมาทุกยุคสมัยเรื่องมานะทิฏฐิมีอยู่ในใจทุกคนเหมือนไฟที่รอเชื้อ คำยุยงส่อเสียดนี้ไม่ต่างจากเชื้อเพลิงที่ใส่เข้าไปบางคนเพียงได้รับข้อมูลบางอย่างเท่านั้น ไฟโทสะก็พร้อมประทุได้ทันทีโดยคร้านที่จะไปพิสูจน์ ทั้งนี้เพราะขันติมีไม่พอจึงไม่อาจสงบใจรอคอยการพิสูจน์ได้ หากนักสร้างบารมีไม่ฝึกข่มใจสยบอารมณ์ไว้ก่อน ความหุนหันพลันแล่นนี้เองจะฆ่าทำลายขันติบารมีลงไปอย่างไม่ปราณี

 

"นิสัยข่มอารมณ์, ไม่หุนหัน, ไม่ด่วนตัดสิน, ใจหนักแน่น, รักการสงบใจพิจารณา, รักความอดทน ทนเสียงวิพากษ์วิจารณ์คำนินทา และคำสรรเสริญได้ด้วยใจปกติ" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในขันติบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0089180668195089 Mins