วันมาฆบูชา

วันที่ 20 กพ. พ.ศ.2559

 

วันมาฆบูชา

 

วันมาฆบูชา

        ...วันมาฆบูชามหาสมาคม เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลก  เพราะวันนี้ในอดีตได้มีการประชุมใหญ่ของเหล่าอรหันตสาวก ผู้เนื้อนาบุญ เป็นอายุพระพุทธศาสนา ที่เราเรียกการประชุมครั้งนี้ว่า จาตุรงคสันนิบาต 

         ...หากย้อนไปเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในวันนั้นเป็นวันที่พระจันทร์เสวยมาฆะฤกษ์ ได้มี   พระอรหันตสาวก ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมพร้อมเพรียงกัน โดยไม่ได้นัดหมายทางวาจา ซึ่งทุกองค์ล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ทรงอภิญญา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานการอุปสมบทให้  

        ...ดังนั้นไม่ว่าท่านจะอยู่ห่างไกลเพียงไร  เมื่อถึงเวลาก็สามารถมาประชุมพร้อมเพรียงกันได้ 
เพราะต่างก็รู้ได้ด้วยญาณทัสสนะของพระธรรมกายอรหัตตผล

         ...ในการประชุมวาระพิเศษครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติตามสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ โดยพระองค์ได้ตรัสถึงอุดมการณ์ ในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนว่า..

ขันตี ปะระมัง  ตะโป  ตีติกขา             
ความอดทน คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง

นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม

นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี             
ผู้ล้างผลาญผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย

เอตัง พุทธานะ สาสะนัง
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

      ...การจะปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน จนกระทั่งบรรลุพระนิพพานนั้น จะต้องมีความอดทนหลายประการ เช่น อดทนต่อการกระทบกระทั่ง  อดทนต่อกิเลสที่มายั่วยวน ตลอดจนอดทนต่อการฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง 
         ...ล้วนจะต้องอาศัยขันติธรรม อันเป็นเครื่องแผดเผากิเลสให้เร่าร้อน  เมื่อกิเลสเร่าร้อนก็หลุดร่อนออกไปจากใจ  นี้คือคุณธรรมเบื้องต้นที่เราจะต้องมี

           ...ความอดทนไม่หวั่นไหวต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็เพื่อมุ่งไปสู่พระนิพพาน ซึ่งพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงสรรเสริญว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม 

            ...เพราะพระองค์ทรงผ่านประสบการณ์ชีวิตมาแล้วทุกระดับ ตั้งแต่ชีวิตที่เป็นปุถุชนจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า พระองค์ทรงมองเห็นด้วยธรรมจักขุ ของธรรมกายอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
 
             ...พระนิพพานเป็นเยี่ยมที่สุด และเป็นเป้าหมายของทุกชีวิต ซึ่งการที่จะบรรลุพระนิพพานได้นั้น จะต้องเข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น เว้นจากการทำใจหยุดนิ่งแล้ว อย่างอื่นย่อมเข้าถึงไม่ได้เด็ดขาด

            ...แล้วพระพุทธองค์ยังทรงย้ำอีกว่า การที่จะไปเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนนั้น อย่าได้ไปทำร้ายใคร หรือไปเบียดเบียนบังคับใคร เพื่อให้เขามาเชื่อตามอย่างเรา ให้เขาใช้สติปัญญาตรองตามเหตุผล ให้เข้าใจตามความเป็นจริง แล้วก็ตัดสินใจเชื่อด้วยตัวเอง 

           ...ซึ่งบรรพชิตหรือนักสร้างบารมีที่ดีก็ควรจะทำอย่างนี้  แล้วก็จะต้องประกอบไปด้วยเมตตาธรรม เป็นผู้เสียสละ ให้อภัยต่อเพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่กล่าวมานี้คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์  ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ซึ่งทุกพระองค์ทรงสอนตรงกันหมดนอกจากนี้ 

              ...พระพุทธองค์ได้ทรงให้หลักการ ในการทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร เพื่อแนะนำชาวโลกว่า 


สัพพะปาปัสสะ  อะกะระณัง       การไม่ทำบาปทั้งปวง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา                   การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง              การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

เอตัง พุทธานะ สาสะนัง               นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

             ...หลักการนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้พุทธบุตรและพุทธบริษัท ๔  นำไปใช้ในการแนะนำสั่งสอนชาวโลก โดยยึดหลัก ๓ ประการ คือ ให้เว้นจากความทุจริต ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ  ให้ประกอบแต่สุจริตธรรม ทั้งทางกาย  ทางวาจา และทางใจ  แล้วก็ต้องหมั่นทำใจของตนให้ผ่องใสอยู่เสมอ
             ...สรุปง่าย ๆ คือ ต้องคอยเป็นกัลยาณมิตรให้แก่กัน แล้วก็หักดิบเลิกทำความชั่วทุกอย่าง  ตั้งใจทำแต่ความดี บำเพ็ญกุศลธรรม ทั้งทาน ศีล  ภาวนา การประพฤติอ่อนน้อม การขวนขวายในกิจที่ชอบ การอุทิศส่วนกุศล  การอนุโมทนาบุญ  การฟังธรรม การให้ธรรมทาน  และการทำความเห็นให้ถูกต้องมุ่งตรงสู่พระนิพพาน อีกทั้งต้องหมั่นทำใจให้ใส  ๆ  ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาทุกวัน
           ...นอกจากนี้พระพุทธองค์ทรงบอกวิธีการประพฤติปฏิบัติตนเพื่อความหลุดพ้น และเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อีกว่า


อะนูปะวาโท                             การไม่เข้าไปว่าร้ายกัน

อะนูปะฆาโต                            การไม่เข้าไปล้างผลาญกัน

ปาติโมกเข  จะ  สังวะโร           การสำรวมในศีลและพระปาฏิโมกข์

มัตตัญูญุตา จะ ภัตตัสมิง         การรู้จักประมาณในการบริโภค

ปันตัญจะ  สะยะนาสะนัง        การนอนการนั่งในสถานที่อันสงัด

อะธิจิตเต  จะ  อาโยโค             การประกอบความเพียรในอธิจิต

เอตัง พุทธานะ สาสะนัง          นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

           ..พุทธโอวาทบทนี้ มุ่งเพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถพ้น จากความเป็นปุถุชน  เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า จนกระทั่งได้บรรลุพระนิพพานอันเกษม

           ...โอวาทปาฏิโมกข์ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้  คือ เนติแบบแผน ในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  

           ...เพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติของชาวโลก  ตั้งแต่อดีตกาลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้  ไม่ว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้มากมายเพียงไร แต่การเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน  ก็ยังคงยึดหลักการเหล่านี้ 

        ... ซึ่งจะเป็นหลักวิชชาที่จะทำให้มนุษย์ได้บรรลุธรรม ได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ของชีวิต การปฏิบัติตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นพุทธวิธีที่จะสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นแก่โลกอย่างแท้จริง

 

 

คุณครูไม่ใหญ่
๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘

-----------------
...Panwaya...

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0032039999961853 Mins