วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น

วันที่ 11 มีค. พ.ศ.2559

วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น , สมาธิ , ศาสตร์แห่งสมาธิ , The Science of Meditation , ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 , พุทธานุสติ , อาโลกกสิน

วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น

          การฝึกสมาธิทำได้หลายวิธีตามจริตอัธยาศัยของแต่ละบุคคล วิธีที่จะแนะนำต่อไปนี้เป็นวิธีที่เรียกว่า "อาโลกกสิน" คือ กสินแสงสว่าง ร่วมกับ "พุทธานุสติ" คือ การมีสติระลึกถึงพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นวิธีที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถปฏิบัติได้ง่ายได้ผลเร็ว 


โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้

         1. กราบบูชาพระรัตนตรัย เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจให้นุ่มนวลไว้เป็นเบื้องต้น แล้วสมาทาน ศีล๕ หรือ ศีล ๘ เพื่อย้ำความมั่นคงในคุณธรรมของตนเอง

          2. นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย นั่งให้อยู่ในท่าที่พอดี  ไม่ฝืนร่างกายมากจนเกินไป ไม่ถึงกับเกร็ง แต่อย่าให้หลังโค้งงอ หลับตาพอสบายคล้ายกับกำลังพักผ่อนไม่บีบกล้ามเนื้อตาหรือขมวดคิ้ว แล้วตั้งใจมั่น วางอารมณ์สบาย สร้างความรู้สึกให้พร้อมทั้งกาย และใจ ว่ากำลังจะเข้าสู่ภาวะแห่งความสงบสบายอย่างยิ่ง

          3. นึกกำหนดนิมิตเป็น "ดวงแก้วกลมใส" ขนาดเท่าแก้วตาดำ ใสบริสุทธิ์ปราศจากรอยตำหนิใดๆ ขาวใส เย็นตาเย็นใจ ดังประกายของดวงดาว ดวงแก้วกลมใสนี้ เรียกว่าบริกรรมนิมิต นึกสบายๆ นึกเหมือนดวงแก้วนั้นมานิ่งสนิทอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นึกไปภาวนาไปอย่างนุ่มนวล เป็นพุทธานุสติว่า "สัมมาอะระหัง ๆๆๆ..." หรือค่อยๆน้อมนึกดวงแก้ว กลมใสให้ค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางกาย ตามแนวฐาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ฐานที่ 1 เป็นต้นไป น้อมนึกอย่างสบายๆ ใจเย็นๆ  ไปพร้อมๆกับคำภาวนา

        4. เมื่อนิมิตดวงแก้วกลมใสปรากฏแล้ว ณ กลางกาย ให้วางอารมณ์สบายๆ กับนิมิตนั้นจนเหมือนกับว่าดวงนิมิตเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ หากดวงนิมิตนั้นอันตรธานหายไป ก็ไม่ต้องนึกเสียดาย ให้วางอารมณ์สบาย แล้วนึกนิมิตนั้นขึ้นมาใหม่แทนดวงเก่า หรือเมื่อนิมิตนั้น ไปปรากฏที่อื่นที่มิใช่ศูนย์กลางกาย ให้ค่อยๆน้อมนิมิตเข้ามาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการบังคับ และเมื่อนิมิตมาหยุดสนิท ณ ศูนย์กลางกาย ให้วางสติลงไปยังจุดศูนย์กลางของดวงนิมิต ด้วยความรู้สึกคล้ายมีดวงดาวดวงเล็กๆ อีกดวงหนึ่ง  ซ้อนอยู่ตรงกลางดวงนิมิตรดวงเดิม แล้วสนใจเอาใจใส่แต่ดวงเล็กๆ ตรงกลางนั้นไปเรื่อยๆ ใจจะปรับจนหยุดได้ถูกส่วน เกิดการตกศูนย์และเกิดดวงสว่างขึ้นมาแทนที่ ดวงนี้เรียกว่า "ดวงธรรม" หรือ "ดวงปฐมมรรค" อันเป็นประตูเบื้องต้น ที่จะเปิดไปสู่หนทางแห่งมรรคผลนิพพาน

           5. การระลึกนึกถึงนิมิต สามารถทำได้ในทุกแห่ง ทุกที่ ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน หรือขณะทำภารกิจใดๆ

          6. หลักสำคัญคือ ต้องทำให้สม่ำเสมอ เป็นประจำทำเรื่อยๆ ทำอย่างสบายๆ ไม่เร่ง ไม่บังคับ ทำได้แค่ไหน ให้พอใจแค่นั้น ซึ่งเป็นการป้องกัน มิให้เกิดความอยากจนเกินไป จนถึงกับทำให้ใจต้องสูญเสียความเป็นกลาง และเมื่อการฝึกสมาธิบังเกิดผลจนได้ "ดวงปฐมมรรค" ที่ใสเกินใส สวยเกินสวย ติดสนิทมั่นคงอยู่ที่ศูนย์กลางกายแล้ว ให้หมั่นตรึกระลึกนึกถึงอยู่เสมอ

       7. เมื่อปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ผลแห่งสมาธิจะทำให้ชีวิตดำรงอยู่บนเส้นทางแห่งความสุขความสำเร็จและความไม่ประมาทได้ตลอดไป ทั้งยังจะทำให้สมาธิละเอียดลุ่มลึกไปตามลำดับอีกด้วย

 

วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น , สมาธิ , ศาสตร์แห่งสมาธิ , The Science of Meditation , ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 , พุทธานุสติ , อาโลกกสิน


 

.............................................................................................................

" หนังสือ ศาสตร์แห่งสมาธิ The Science of Meditation "
โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ M.D., Ph.D

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001097583770752 Mins