.....ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงใน ทุลลภะ สิ่งที่หาได้โดยยาก ทั้ง ๔ ประการนี้ จะชี้แจงแสดงตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยธิบาย กว่าจะยุติกาลลงโดยสมควรแก่เวลา
เริ่มต้นใน ทุลฺลภา ทั้งสี่นี้ว่า ทุลฺลภญฺจ มนุสฺสตฺตํ ความได้เป็นมนุษย์เป็นของยาก พุทฺธุปฺปาโท จ ทุลฺลโภ ความเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นของได้ยาก เป็นประการที่สอง ทุลฺลภา ขณสมฺปตฺติ ถึงพร้อมด้วยขณะด้วยสมัยเป็นของได้ยาก เป็นประการที่สาม สทฺธมฺโม ปรมฺทุลฺลโภ สัทธรรมเป็นของได้ยาก อย่างนี้เป็นประการที่สี่ ทุลฺลภะ ทั้งสี่ประการนี้ แปลเนื้อความของพระบาลีเป็นสยามได้ความเท่านี้
ต่อแต่นี้จะอรรถาธิบายความเป็นลำดับไป ในอัตตภาพเป็นมนุษย์ที่ได้ยากนั้นเป็นไฉน เพราะความบังเกิดขึ้นของมนุษย์ ต้องบริสุทธิ์ด้วยกาย บริสุทธิ์ด้วยวาจา บริสุทธิ์ด้วยใจ ไม่มีขาดตกบกพร่องเลย นั้นจึงจะได้อัตตภาพเป็นมนุษย์
ความบริสุทธิ์ด้วย กาย นั้น เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทำลายชีวิตสัตว์ เว้นขาดจากถือเอาวัตถุที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมยและหลอกลวงต่างๆ ฉ้อโกงต่างๆ คือเว้นจากถือพัสดุที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยเป็นของตน ชักชวนบุคคลอื่นไม่ให้ถือเอาพัสดุที่เจ้าของมิได้ให้ และยินดีในการที่ไม่ถือเอาพัสดุที่เจ้าของมิได้ให้ เว้นจากประพฤติผิดในกามด้วยตนของตน เว้นจากการชักชวนบุคคลอื่นให้ประพฤติผิดในกาม และไม่สรรเสริญผู้ดำเนินด้วยกาย วาจาเช่นนั้น และไม่ยินดีพวกดำเนินประพฤติเช่นนั้นตลอดไป นี้สามข้อแยกออกเป็นข้อละสี่ๆ เป็น ๑๒ ข้อนี้ เว้นขาดจากใจ ไม่ได้มีกระทบจิตใจ ในกาย วาจา ตลอดถึงใจของตนเลย ดังนี้ได้ชื่อว่า บริสุทธิ์กาย
ส่วน วาจา ละ ไม่พูดปด พูดแต่ถ้อยคำที่จริงด้วยตนของตน ชักชวนบุคคลอื่นให้พูดคำจริงที่เหมือนตน ยินดีพวกกล่าวถ้อยคำจริงเหมือนตน สั่งสอนและสรรเสริญพวกที่พูดจริงเหมือนตน สี่ข้อนี้เป็นวาจาบริสุทธิ์ เว้นจากพูดกล่าวคำหยาบช้า ด่าชาติด่าตระกูล กล่าวคำที่ไม่ไพเราะเสนาะโสต คำหยาบช้าทารุณเช่นนี้ ตัวเองเว้นได้ดี ชักชวนบุคคลอื่นให้เว้นด้วย เหมือนอย่างตนบ้าง ยินดีพวกเว้นจากคำหยาบเช่นนั้น สรรเสริญพวกดำเนินด้วยการไม่กล่าวคำหยาบเช่นนั้นบ้าง
นี้เรียกว่า ดีส่วนหนึ่ง กล่าวคำสมาน ไม่กล่าวคำแตกร้าวฉาน แล้วกล่าวคำสมานให้กลมเกลียวสนิทชิดชมในกันและกัน แล้วชักชวนบุคคลผู้อื่นให้กล่าวคำสมานเหมือนอย่างตนบ้าง ยินดีพวกกล่าวคำสมาน สรรเสริญพวกกล่าวคำสมาน นี่เป็นวาจาบริสุทธิ์ กล่าวคำเป็นหลักเป็นธรรมวินัย เมื่อต้องการหาความจริง สาวหาเหตุได้ ไม่ใช่ถ้อยคำเหลาะแหละเหลวไหล กล่าวคำหลักเป็นธรรมวินัยด้วยตนของตนแล้ว ชักชวนบุคคลอื่นให้กล่าวถ้อยคำเป็นธรรมเป็นวินัยเหมือนตนบ้าง ยินดีพวกกล่าวถ้อยคำเป็นธรรมวินัย สรรเสริญพวกกล่าวถ้อยคำเป็นธรรมเป็นวินัยเหมือนตน นี่เรียกว่า วจีสุจริต อีกอย่างหนึ่ง บริสุทธิ์ทั้ง ๔ ข้อนี้ รวมเป็นข้อละสี่ๆ เป็น ๑๖ ข้อ วาจาบริสุทธิ์ทั้ง ๑๖ ข้อนี้แล้ว เรียกว่า วจีสุจริต
ส่วน ใจ ละ ส่วนใจก็ด้วยเหมือนกัน ไม่โลภ อยากได้ของเขา คิดจะให้สมบัติของเราเป็นเบื้องหน้า คิดชักชวนบุคคลผู้อื่นให้สละสมบัติของตนให้แก่บุคคลอื่น นี่เป็นมโนสุจริต ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่พยาบาทด้วย เป็นคนเมตตาแก่ตนและบุคคลผู้อื่นทุกถ้วนหน้า รักใคร่ปรารถนาจะให้เขาเป็นสุข เขาเป็นสุขแล้วยินดีชอบอกชอบใจ แล้วก็ชักชวนบุคคลผู้อื่นให้ดำเนินเช่นนั้น สรรเสริญพวกดำเนินเช่นนั้น ยินดีพวกดำเนินเช่นนั้น นี้เป็นมโนสุจริต ความเห็นผิดไม่กล่าว ความเห็นผิดทางใจเลิกเสีย ให้ความเห็นถูก เห็นถูกด้วยตัวของตัวแล้ว ชักชวนบุคคลอื่นให้เห็นถูก ยินดีในการเห็นถูก สรรเสริญในการเห็นถูก สามข้อนี้ ข้อละ ๔ๆ เป็น ๑๒ นี้เรียกว่า มโนสุจริต เมื่อบริสุทธิ์ ไม่พิรุธทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ สามประการนี้แล้ว เรียกว่า เป็นหลักเป็นประธานของการประพฤติธรรม ที่จะทำให้เป็นมนุษย์ เมื่อบริสุทธิ์ไม่มีพิรุธ แตกกายทำลายขันธ์จากมนุษย์ ได้กลับเป็นมนุษย์อีกทันที
เมื่อประพฤติขึ้นไปกว่านี้ ประพฤติดีขึ้นกว่าบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ ประพฤติดีขึ้นไปกว่านี้ ก็ได้เป็นมนุษย์สูงขึ้นไปกว่านี้ เป็นมนุษย์เกิดมนุษย์ขึ้นไป นี้กล่าวเฉพาะ ธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์เป็นของได้ยาก ดังนี้นะ เมื่อเราปรับกับตัวของเราแล้วละก็ ขาดธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์มากนัก ขาดธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์จะเป็นอะไร เมื่อขาดธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ละก็ แตกกายทำลายขันธ์จากมนุษย์ ต้องไปเกิดเป็นเปรตบ้าง อสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เกิดในนรก ๔๕๖ ขุมบ้าง ขุมใดขุมหนึ่ง อบายภูมิทั้ง ๔ ไม่เคลื่อนหละ ไม่พ้น พอเคลื่อนจากการเป็นมนุษย์แล้ว ก็เป็นผู้ไปอบายภูมิทั้งสี่ทีเดียว ต้องประพฤติถูกธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ จึงได้ง่ายถ้าเคลื่อนจากธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ไม่ได้