.....เพราะฉะนั้น การให้ไม่ใช่ของพอดีพอร้าย ยังแถมให้ตัวอีก ตัวก็สละการครอบครองบ้านเรือนเคหา มอบตนเป็นพุทธศาสนิกชนในพระพุทธศาสนาอย่างนี้ เหมือนภิกษุ สามเณร อุบาสกอุบาสิกานี้ ต่างคนต่างให้ทั้งนั้น นี่ก็ให้ด้วยความยากเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นของให้ง่าย ถ้าให้ง่ายก็มีกันมากนะซิ นี่เพราะให้ยากถึงได้มีกันน้อย เห็นอยู่แล้วว่าให้ยากอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ทุทฺททํ ททมานานํ เมื่อบัณฑิตทั้งหลายให้สิ่งที่บุคคลให้ได้ด้วยยากดังนี้
ทุกฺกรํ กมฺมกุพฺพตํ กระทำกรรมที่บุคคลให้ได้ด้วยยาก กระทำอะไรอะไรที่บุคคลทำได้ด้วยยาก นี่แหละภิกษุสามเณรมาประพฤติตัวเช่นนี้แหละ เขายินดี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกัน นี่มันตัดห่วงตัดอาลัย มาบวชเป็นพระเป็นเณรเช่นนี้ หรืออุบาสกอุบาสิกาเขายินดีปรีดาในการครอบครองบ้านเรือนเคหา ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อยากหยอกหลอกลวง อะไรกันต่างๆ ดังนี้ ละมันเสีย ปล่อยมันเสีย นี้กระทำเช่นนี้ ที่บุคคลทำได้ด้วยยากเหมือนกัน ไม่ใช่ทางทำง่าย นี่ทำได้ยากทั้งนั้น เมื่อทำได้ยากเช่นนี้ ไม่ควรดูถูก ดูเบาอย่าประมาทเลินเล่อ อย่าเผลอตัว ทำให้ยิ่งหนักขึ้นอีก ให้บรรลุธรรมที่พระองค์ทรงประสงค์ หนทางเบื้องต้นคือ ปฐมมรรค มรรคจิต มรรคปัญญา โคตรภู โสดา สกทาคา อนาคา อรหัตต์ ให้ปรากฎขึ้นในตัวของตัว จะได้เป็นที่พึ่งของตัว เหตุนี้ทำกรรมที่บุคคลทำได้ด้วยยากนะ อีกมากมายนัก
ผู้ได้บรรลุผลศีล มีศีลบริสุทธิ์ นี่ก็ทำได้ยาก ศีลห้าบริสุทธิ์ ผู้ได้บรรลุศีลแปด ศีลแปดบริสุทธิ์ นี่ก็ทำได้ยาก ผู้ได้บรรลุศีลสิบ ศีลสิบบริสุทธิ์ เป็นเพศสามเณรก็ทำได้ยาก บรรลุศีล ๒๒๗ เมื่อบรรลุศีล ๒๒๗ ถ้ามีศีลบริสุทธิ์ ถ้าบรรลุปฐมมรรค มรรคจิต มรรคปัญญา นี่ทำได้ยากทั้งนั้น ทุกกรํ กมมกุพพตํ
เหมือนกัน เป็นกรรมที่บุคคลทำได้ด้วยยาก ไม่ใช่เป็นของทำง่าย ทำบริสุทธิ์อย่างเดียว ไม่มีพิรุธในกายวาจาใจเลย มีบริสุทธิ์กายวาจาใจอย่างเดียวนี้ ก็ทำได้ยากอีกเหมือนกัน ถ้าบุคคลใดทำได้ บุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่า ทำกรรมอันบุคคลทำได้ด้วยยาก
อสนฺโต นานุกุพฺพนฺติ อสัตบุรุษทั้งหลายกระทำตามไม่ได้ กระทำเช่นนั้นกระทำไม่ได้ ให้ไม่ได้ จะทำบริสุทธิ์ตามทำไม่ได้ สตํ ธมฺโม ทุรนฺวโย ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย อันอสัตบุรุษทำตามไม่ได้ อันอสัตบุรุษทำอย่างไม่ได้ก็แบบเดียวกัน อันอสัตบุรุษเอาอย่างไม่ได้ เพราะอสัตบุรุษมีหน้าที่ตรงกันข้ามกับสัตบุรุษ อย่างสัตบุรุษทำนะ อสัตบุรุษทำไม่ได้ทีเดียว มันเป็นเช่นนั้น
ตสฺมา สตญฺจ อสตญฺจ นานา โหติ อิโค คติ เพราะเหตุนั้น ความไปจากโลกนี้ของสัตบุรุษและอสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมเป็นต่างๆ กัน การไปจากโลกนี้ของสัตบุรุษและอสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมเป็นต่างกัน อสนฺโต นิรยํ ยนฺติ อสัตบุรุษทั้งหลายไปนรกทีเดียว ตรงกันข้ามกับสัตบุรุษ สนฺโต สคฺคปรายนา
สัตบุรุษทั้งหลายไปสวรรค์ทีเดียว ไปสวรรค์เมื่ออสัตบุรุษทั้งหลายไปนรก สัตบุรุษทั้งหลายไปสวรรค์ นี้อาการของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ ย่อมเป็นต่างกันอย่างนี้จากโลกนี้ การไปจากโลกนี้ของสัตบุรุษและอสัตบุรุษเป็นต่างกันอย่างนี้
เมื่อเราเข้าใจชัดอย่างนี้ น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ อุโภ สมวิปากิโน อธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติ สุคฺคตึ ธรรมก็ดี อธรรมก็ดี ทั้งสองอย่างนี้ผลเสมอกันหามิได้ มีผลไม่เสมอกันนั่นเอง อธมฺโม นิรยํ เนติ อธรรมนำไปนรก ธมฺโม ปาเปติ สุคฺคตึ ธรรมให้ถึงสุคติ คือให้ถึงสวรรค์ อธรรมนำนรก ธรรมให้ถึงซึ่งสวรรค์นี้ ต่างกันดังนี้
ทีนี้จะพูดถึงธรรม และอธรรมทั้งสองอย่าง นี่ตามวาระพระบาลีว่า กุสลา ธมฺมา ธรรมไปดี อกุสลา ธมฺมา ธรรมไปชั่ว ที่แสดงมานี้ ธรรมและอธรรมทั้งสองอย่างนี้ ประสงค์กุศลธรรม เรียกฝ่ายธรรม อกุศลธรรมเรียกว่า ฝ่ายอธรรม ไม่ใช่ธรรมฝ่ายดี เป็นธรรมฝ่ายชั่ว ทั้งสองอย่างนี้ ธรรมฝ่ายดี เป็นที่แอบแนบแน่นอยู่กับใจของบัณฑิต ธรรมฝ่ายชั่ว เป็นที่แอบแนบแน่นอยู่กับใจของคนพาล คนทั้งสองจำพวก พาลและบัณฑิตนี้ คนพาลเป็นเครื่องหมายของคนเลว คนบัณฑิตเป็นเครื่องหมายของคนดี มันตรงกันข้ามอย่างนี้เสีย เอาอย่างกันไม่ได้ ตามกันไม่ได้ ทุกคนมันคนละแนวคนละสายทีเดียว ไม่ใช่แนวสายเดียวกัน ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ธรรมน่ะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ กุศลธรรมความดีนี่แหละ รักษาผู้ประพฤติให้ได้รับความสุขตลอดสาย ไม่ให้ได้รับความทุกข์ นี่แหละธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ประพฤติดี ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ไม่มีร่องเสียเลย ประพฤติดีฝ่ายเดียว เขาไม่ได้เสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดเลย แม้อยู่ในหมู่ใด หมู่พระภิกษุหรืออยู่ในหมู่สามเณร ในหมู่อุบาสก อุบาสิกา เมื่อประพฤติธรรมอยู่เช่นนั้นแล้ว ใครๆ ก็ย่อมนับถือ ใครๆ ก็ย่อมต้องเชิดชูบูชา เขาต้องนับถือ เขาต้องเชิดชูบูชา ประพฤติธรรมอยู่อย่างเดียว อย่าประพฤติอธรรม อย่าประพฤติเหลวไหลอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ถูกต้องร่องรอย คือ ความบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ เป็นภายนอกสมเจตนา จนกระทั่งทำใจให้ผ่องใส นี้เรียกว่า ผู้ประพฤติธรรม ผู้ประพฤติเช่นนี้ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมนั้นไว้