พระสัมโพธิญาณ

วันที่ 18 เมย. พ.ศ.2548

phramongkol1.jpg

.....เหตุที่ทำให้พระองค์เป็น อรหํ นั้น สรุปโดยย่อ ก็ได้แก่การที่พระองค์บำเพ็ญสมาธิเจริญวิปัสสนาด้วยพระมหาปธานวิริยะอันแรงกล้า ณ โคนไม้พระศรีมหาโพธิ์ในวันวิสาขปุรณมีนั้นโดยความเด็ดเดี่ยว ตั้งพระหฤทัยอธิษฐานว่า แม้เนื้อและเลือดในพระสรีระของพระองค์จะเหือดแห้ง เหลือแต่ เส้นเอ็น หนังและกระดูกก็ตามทีเถิด หากไม่ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณตราบใด พระองค์จะไม่ยอมลุกจากที่นั้นเป็นอันขาด แล้วพระองค์ก็ทรงนั่งสมาธิรุดไปด้วยน้ำพระทัยเด็ดเดี่ยว ในที่สุดก็ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณสมดังประสงค์ในราตรีกาลแห่งวันวิสาขปุรณมีนั้นเอง ยามต้นทรงบรรลุปุพพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ระลึกชาติหนหลังได้ ยามที่ ๒ ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้ถึงความจุติและความเกิด ยามที่ ๓ ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้ที่กำจัดอาสวะกิเลสที่หมักหมมอยู่ในจิตให้หมดสิ้นไป ทรงรู้เห็นแจ่มแจ้งหมด เห็นจริงๆ เห็นด้วยตาของธรรมกาย ไม่ใช่เห็นด้วยตามนุษย์ หรือคิดคาดคะเนเอาเห็นตลอดทั่วโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ โลกนรก เพราะพระองค์ได้ผ่านพ้นโลก เสด็จออกสู่แดนพระนิพพานแล้ว จึงเห็นได้ทั่วถ้วนโดยมิสงสัย

สมฺมาสมฺพุทฺโธ แปลตามศัพท์ว่า ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบหรือนัยน์หนึ่งว่า ตรัสรู้เองโดยถูกต้อง หรือพูดให้สั้นก็ว่า รู้ถูกเอง เพื่อให้ใกล้กับภาษาสามัญที่ใช้กันว่ารู้ผิดรู้ถูก ได้แก่คำที่พูดติเตียนคนที่ทำอะไรผิดพลาดไปว่าเป็นคนไม่รู้ถูกรู้ผิด ทำไปอย่างโง่ๆ ดังนี้เป็นต้น แต่แท้จริง “ พุทฺโธ” คำนี้เมื่อพิเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไปตามรูปศัพท์แล้ว มีความหมายลึกซึ้งมาก ต่างกันไกลกับคำว่า ชานะ หรือ วิชานะ ซึ่งแปลว่า รู้แจ้งนั้น ดังนั้น พุทฺโธ จึงได้แปลกันว่า “ ตรัสรู้” ๒ คำนี้ มีความหมายลึกตื้นกว่ากันแน่ โดยมิสงสัย เมื่อระลึกถึงพระบาลีในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรที่ว่า “ จกฺขํ อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิฯ ” จึงทำให้แลเห็นความว่า คุณวิเศษทั้ง ๕ อย่าง ดังบาลีที่ยกขึ้นกล่าวนี้ จะเป็นความหมายแห่งคำว่า พุทฺโธ กล่าวคือ จกฺขํ ญาณํ ปญฺญา วิชฺชา อาโลโก ทั้ง ๕ อย่าง นี้ประมวลเข้าด้วยกันรวมเป็นคำแปลของคำว่า พุทฺโธ หรือจะแปลให้สั้นเข้าไปอีก คำว่า พุทฺโธ ก็ยังต้องแปลว่า ทั้งรู้ทั้งเห็น ไม่ใช่รู้เฉยๆ อาศัยคำว่า จกฺขํ ญาณํ ในบาลีที่ยกขึ้นกล่าวมานั้นเป็นเครื่องประกอบ ยิ่งกว่านั้นยังมีคำว่า ชานตา ปสฺสตา ฯ ในมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่อีก ซึ่งเป็นเหตุสนับสนุนว่า ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นไม่ใช่รู้เฉยๆ เป็นทั้งรู้ทั้งเห็น

ที่ว่า “ เห็น” นั้นมิได้หมายความว่าเห็นอย่างตาเราเห็นอะไรจริงๆ แต่พระองค์เห็นด้วยตาธรรมกาย

และ การที่พระองค์เห็นนี้ โดยมิได้มีผู้ใดสอนให้รู้สอนให้เห็นนั้น ตรงตามความเป็นจริงทั้งนั้น มิใช่คาดคะเนหรืออนุมานเอา จึงเป็นองค์สัมมาสัมพุทโธ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ หรือนัยหนึ่งว่า โดยถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทุกประการ จึงได้ชื่อว่า “ ตรัสรู้” ยังมีคำว่า “ สัม” นำหน้า “ พุทธะ” เติมเข้ามาอีกคำหนึ่ง ซึ่งแปลว่า ด้วยพระองค์เอง คือไม่ต้องมีผู้สั่งสอน พระองค์ทำอย่างไร จึงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเช่นนั้น ข้อนี้ตอบไม่ยาก พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองได้ ก็เพราะความเป็น “ อรหํ” ของพระองค์ดังกล่าวข้างต้นแล้วนั่นเอง คือ เมื่ออำนาจสมาธิทำให้จิตของพระองค์หลุดพ้นจากอาสวะแล้ว จิตของพระองค์ก็ใสยิ่ง หยุด และบริสุทธิ์ผุดผ่องเพราะหยุดนิ่งนั่นเอง จึงมีสิ่งหนึ่งผุดขึ้นในนิ่ง ทำให้รู้ พระองค์ก็รู้ตามนั้นไป น้ำขุ่นแม้อิฐสักก้อนหนึ่งอยู่ก้นโอ่งเราก็มองไม่เห็น แต่ถ้าน้ำนั้นนอนนิ่งใสบริสุทธิ์แล้ว แม้แต่เข็มอยู่ก้นโอ่งเราก็มองเห็น ฉันใดก็ฉันนั้น

ยังมีคำว่า “ สัมมา” นำหน้า “ สัมพุทโธ” อีกคำหนึ่ง คำว่า สัมมา แปลว่า โดยชอบ หรือ โดยถูกต้อง พระองค์ตรัสรู้อะไร มีเหตุผลยันกันได้เสมอ จึงได้ชื่อว่าถูกต้อง เพราะการพูดอะไรไม่มีเหตุผลรับสมหรือยันกันได้แล้ว ตามหลักธรรมดาเรียกว่า ไม่ถูก ต้องมีเหตุผลรับสมกันจึงจะนับว่าถูก พระสัทธรรม คำสอนของพระองค์ มีเหตุผลรับกันอยู่เสมอไม่คลาดเคลื่อน จึงสมควรแล้ว ที่ได้พระเนมิตกนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ

พระพุทธวจนะที่ควรนำมาสาธกในที่นี้ ว่าแต่โดยสั้นๆ ก็ว่า พระองค์ตรัสรู้เหตุตรัสรู้ผล ไม่ใช่แต่เหตุหรือรู้แต่ผล พระองค์ตรัสรู้ทั้งเหตุตรัสรู้ทั้งผล ที่ว่านี้คืออะไร เหตุสุข เหตุทุกข์ เหตุไม่สุข ไม่ทุกข์ หรือเรียกว่า อัพยากฤต คือ สภาพเป็นกลางๆ ทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นรากฐานแห่งการตรัสรู้ของพระองค์ กล่าวคือ สุข พระองค์ก็ไม่ทรงรู้แต่สุขเฉยๆ ตรัสรู้ลึกซึ้งเข้าไปถึงว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดสุขด้วย และอีก ๒ ประการนั้นก็เช่นเดียวกัน รู้ทั้งเหตุ รู้ทั้งผลคู่กันไป เป็นต้นว่าสุขเป็นผล คือ ความสบายกายสบายใจ อะไรเล่าเป็นเหตุที่ให้เกิดผลหรือสุขดังกล่าวนั้น พระองค์ตรัสไว้ว่า อโลภะ อโทสะ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ๓ ประการนี้ แหละเป็นเหตุ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024538850784302 Mins