พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

วันที่ 11 เมย. พ.ศ.2548

phramongkol1.jpg

.....ณ บัดนี้ จะได้แสดงธรรมกถา ว่าด้วย พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เพื่อประดับสติปัญญาและปสาทะแห่งท่านสัตบุรุษพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จักแสดงตามลำดับพระบาลีที่ยกไว้ข้างต้น เริ่มแต่คำว่า อิติปิโส ภควา ไปจนจบ แต่การแสดงจะหนักไปทางปฏิบัติ เพื่อมุ่งประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่

คำว่า คุณ ในที่นี้หมายความว่ากระไร เพื่อพิเคราะห์ดูตามถ้อยคำในบาลีนี้แล้ว หมายความว่า ความดี ความงาม ที่ควรเทอดทูนเคารพบูชา ความดีความงามของพระพุทธเจ้า ๙ ประการ ของพระธรรม ๖ ประการ ของอริยสงฆ์ ๙ ประการ ตามที่ปรากฏในพระบาลีนี้ จักได้แสดงแต่ละประการเป็นลำดับไป เริ่มต้นพระพุทธคุณก่อน ซึ่งตั้งต้นด้วย คำว่า อรหํ ตลอดจนจบสังฆคุณ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ที่มีพระเกียรติคุณเฟื่องฟู จนเป็นที่เคารพสักการะของมวลเทวดา อินทร์ พรหม และมนุษย์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ มิใช่เพราะเหตุที่พระองค์เป็นกษัตริย์ แต่เป็นเพราะเหตุอื่น เหตุอื่นคืออะไร ก็คือเหตุที่พระองค์สละราชสมบัติออกบรรพชา ประกอบพระมหาวิริยะ ความเพียรอันแรงกล้า จนได้บรรลุพระโพธิญาน ณ ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ เมื่อวันวิสาขปุรณมีเพ็ญเดือน ๖ นั้นเอง พระองค์ได้ตรัสรู้เญยยธรรมทั้งปวง ในเวลาอันรุ่งอรุณวันนั้น คุณงามความดีของพระองค์ได้บังเกิดขึ้น พระองค์ตั้งแต่วันนั้นเป็นลำดับมา จนตราบเข้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน รวมเป็น ๙ ประการด้วยกัน

อรหํ เป็นพระคุณข้อต้น มีนัยดังจะแสดงต่อไปนี้ อรหํ เป็นเนมิตกนาม เกิดขึ้นเองพร้อมกับที่พระองค์บรรลุพระโพธิญาน ยกตัวอย่างเทียบเคียงคล้ายกับชื่อพระราชกุมารีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อว่า

“ มัลลิกา” กล่าวคือว่า วันที่พระนางเธอประสูตินั้น มีดอกมะลิร่วงลงมาจากอากาศในเวลาเกิด พระราชบิดาและพระประยูรญาติถือเอานิมิตดอกมะลินั้นขนานนามธิดาองค์นั้นว่า “ มัลลิกา” ซึ่งแปลว่าพระนางมะลิ

อรหํ เป็นคำที่พวกเรานักปฏิบัติธรรมเชิดชูกันหนักหนา ถึงแก่ได้นำมาใช้เป็นบทบริกรรมภาวนาในเมื่อนั่งสมาธิ ฉะนั้น จึงขอนำมาแปลไว้ในที่นี้เพื่อได้ซาบซึ้งพระคุณนามข้อนี้ไว้บ้าง แต่การจะพรรณนาให้สิ้นสุดได้ เมื่อคิดเทียบแล้วก็เท่ากับอากาศในปีกนก กล่าวคือ บรรดาอากาศทั้งหลายในสากลโลก มีมากสุดที่จะคณนา แต่คิดเฉพาะอากาศเท่าที่ปีกนกกระพือขณะที่บินหนหนึ่ง จะมีอากาศอยู่ในระหว่าง

ปีกนกนิดเดียว ในจำนวนอากาศทั้งหลาย นี่ฉันใดก็ฉันนั้น

อรหํ แปลสั้นๆ ว่า ไกล ว่าควร เป็นสองนัยอยู่ “ ไกล” หมายความว่า ไกลจากกิเลส หรือว่า พ้นจากกิเลส เสียแล้ว “ ไกล ” ตรงกันข้ามกับปุถุชนคนเรา ซึ่งยังอยู่ใกล้ชิดกิเลส พระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องดังแท่งทองชมพูนุท หรือ อีกอย่างหนึ่งว่าใส เหมือนแก้วอันหาค่ามิได้ สมคำที่ว่า พุทธรัตนะ ประกอบด้วย ตาทิโน เป็นผู้คงที่ไม่หวั่นไหว หากจะมีของหอมมาชะโลมไล้พระวรกายอีกซีกหนึ่ง และเอาของเหม็นมาชะโลมอีกซีกหนึ่ง พระหฤทัยของพระองค์ก็ไม่แปรผันยินดียินร้ายประการใด และเปรียบได้อีกสถานหนึ่งว่า อินฺทขีลูปโม พระทัยมั่นคงดังเสาเขื่อน ถึงจะมีพายุมาแต่จาตุรทิศก็ไม่คลอน เมื่อเช่นนี้จึงมีนัยที่แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นผู้ควร คือเป็นผู้ที่เราสมควรจะเทอดจะบูชาไว้เหนือสิ่งทั้งหมด อรหํ เป็นนามเหตุ พระคุณนาม นอกนั้นเป็นนามผล

ว่าในด้านภาวนา กายนี้มีซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีกายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายรูปพรหม กายธรรมซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหม คนเราที่ว่าตายนั้น คือ กายทิพย์กับกายมนุษย์หลุดพรากออกจากกันเหมือนมะขามกะเทาะล่อนจากเปลือก ฉะนั้น กายทิพย์ก็หลุดจากกายมนุษย์ไป

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0066594004631042 Mins