วิวัฒนาการของวัดพระธรรมกาย ยุคที่ 2 ยุคเริ่มขยายงาน (พ.ศ. 2528 - 2535)

วันที่ 21 มิย. พ.ศ.2559

วิวัฒนาการของวัดพระธรรมกาย , ยุคเริ่มขยายงาน (พ.ศ. 2528 - 2535) , สาธุชน , สภาจาก , วัดพระธรรมกาย

วิวัฒนาการของวัดพระธรรมกาย
ยุคที่ 2 ยุคเริ่มขยายงาน (พ.ศ. 2528 - 2535)

 

      ในยุคนี้ ทุกครั้งเมื่อวันทอดกฐินจะมีสาธุชนมาเต็มพื้นที่ภายในวัด มีการลงเต็นท์เหล็กในสนามหญ้า พื้นที่ว่างในวัดทั้งหมดกลายเป็นพื้นที่นั่งสาธุชน สาธุชนที่มาในวันนั้นเกือบ 8,000 คน เมื่อเกิดฝนตกทำให้ไม่สะดวกในการประกอบพิธีกรรม วัดจึงได้ขยายมาใช้ด้านนอกกำแพงวัด ซึ่งวัดได้ซื้อเพิ่มไว้ประมาณ 2,000 ไร่ และสร้างสภาธรรมกายสากลหลังคาจาก ในปี พ.ศ. 2528 กว้าง 70 เมตร ยาว 200 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 34,000 ตารางเมตร (ประมาณ 9 ไร่) รองรับสาธุชนได้ 12,000 คน นับตั้งแต่นั้นมาพิธีกรรมต่างๆ ของวัด ก็จัดขึ้นที่สภาธรรมกายสากลหลังคาจากนี้ จนถึงปี พ.ศ. 2539 จึงได้ใช้สภาธรรมกายสากลหลังใหม่


การรับพระภิกษุบวชต่อ

      การรับสมัครพระภิกษุให้อุปสมบทและสามารถบวชอยู่ที่วัดประจำ ทำให้มีพระธรรมทายาท เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุของวัด โดยอบรมเป็นพระบัณฑิตอาสารุ่นที่ 1 ในปี พ.ศ. 2528 ตรงกับการอบรมธรรมทายาทรุ่นที่ 13 และมีพระภิกษุรุ่น 2 และ 3 ตามมาจนถึงปัจจุบัน มี 18 รุ่น (พ.ศ. 2545) โดยมีหน่วยงาน ศูนย์ฝึกอบรมธรรมทายาทŽ เกิดขึ้นในเวลานั้นเพื่อดำเนินงานการฝึกอบรมธรรมทายาทและอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน และปกครองดูแลพระภิกษุธรรมทายาทที่สำเร็จการศึกษาแล้วและตั้งใจบวชตลอดชีวิตอยู่ที่วัด

   พระภิกษุธรรมทายาทรุ่นแรกๆ เหล่านี้ได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยงานพระภิกษุรุ่นบุกเบิก เช่นงานการเทศน์ งานเป็นพระพี่เลี้ยง งานการอบรม และงานการก่อสร้าง และเน้นการฝึกพระอาจารย์เทศน์ในการอบรมธรรมะของวัด ซึ่งหลวงพ่อทัตตชีโวทำหน้าที่ฝึกโดยตรง เมื่อเริ่มมีพระภิกษุด้านการเทศน์ และการอบรมมากขึ้น หลวงพ่อทั้งสองจึงอนุญาตให้เปิดรับสมัครอุบาสิกาในเวลาต่อมา จึงทำให้มีกำลังหลักในการดำเนินงานของวัดตามแผนกต่างๆ


การรับอุบาสิกาเข้าทำงาน

   ในปี พ.ศ. 2528 วัดเริ่มรับอุบาสิกาเข้าทำงานของวัด และเริ่มอยู่ประจำภายในวัด ในระยะแรก วัดเปิดรับสมัครเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานกัลยาณมิตร (อยู่ภายนอกวัด) แบบไปเช้าเย็นกลับ ในปี พ.ศ. 2529 รับสมัครอุบาสิกา และอยู่ประจำภายในวัด ได้แก่ โครงการอบรมธรรมทายาทหญิง และโครงการอาสากัลยาณมิตรหญิง

    เมื่อมีทั้งพระภิกษุและสามเณร อุบาสก อุบาสิกา การมอบหมายงานและการทำงานของวัดจึงขยายส่วนงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการเข้ามาวัดของสาธุชนที่มีจำนวนมากขึ้น มีบุคลากรที่สามารถรักษาศรัทธาญาติโยมให้ประทับใจ ศรัทธาวัด ศรัทธาเจ้าหน้าที่อุบาสกอุบาสิกามากขึ้น ญาติโยมจึงตั้งใจทำบุญอย่างสม่ำเสมอ และญาติโยมที่มามีทั้งครูอาจารย์ นักธุรกิจ ข้าราชการ เมื่อมาวัดเห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรม และการศึกษาธรรมะ จึงมากราบเรียนปรึกษาหลวงพ่อทัตตชีโว เพื่อให้จัดโครงการอบรมธรรมะสำหรับประชาชน ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และเยาวชน และหลวงพ่อทัตตชีโวดำริให้มีหน่วยงาน ศูนย์ฝึกอบรมŽ เพื่อจัดโครงการอบรมธรรมะสำหรับบุคคลภายนอก คือการอบรมพนักงานพิทักษ์ป่า การอบรมนักเรียนวิทยาลัยอาชีวะ หรือวิทยาลัยช่างกล การอบรมธรรมสำหรับนักศึกษาวิทยาลัยครูต่างๆ การอบรมนักเรียนพยาบาล และการอบรมข้าราชการ การอบรมมีหลายประเภทคือ การอบรมภายใน วันเดียว หรือการอบรมปักกลดอยู่ธุดงค์ 3 วัน 7 วัน หรือ 15 วัน ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน ทำให้วัด พระธรรมกายเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา ทั้งนี้ที่วัดขยายงานได้ เนื่องจากบุคลากรทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่ตั้งใจมาทำงานพระพุทธศาสนามีจำนวนมากขึ้น และสามารถรองรับงานที่ขยายตามไปได้


การรับสามเณร

    ในปี 2529 วัดเปิดรับสมัครสามเณร จากทั่วประเทศเพื่อให้สามเณรมีโอกาสศึกษาต่อและเป็นกำลังช่วยงานพระภิกษุ การรับสามเณรเกิดจากพระภิกษุธรรมทายาทที่บวช รุ่นแรกๆ ไปประชาสัมพันธ์ เชิญชวนเยาวชนชาย อายุ 12 - 15 ปี และสามเณรตามวัดต่างๆ ที่ต้องการศึกษาต่อ เข้าอบรมที่วัดและเป็นสามเณรประจำของวัด เพื่อเรียนปริยัติธรรม (คือการเรียน นักธรรมและบาลี) การอบรมสามเณร รุ่นแรก จึงอาศัยพระภิกษุรุ่นแรกๆ ทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ และพระพี่เลี้ยงในการให้การอบรม


การมาวัดของสาธุชน โดยจัดจุดออกรถในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น

    การจัดรถมาวัดในวันอาทิตย์ ได้ขยายจุดเพิ่มขึ้นเป็น 16 จุด ทำให้คนในเขตกรุงเทพได้มาวัดอย่างสะดวก และ ผู้ที่มาวัดอยู่แล้ว ก็สามารถชวนญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน คนรู้จักมากันสะดวกขึ้น จุดจอดรถที่เปิดเพิ่มขึ้นจากการแนะนำของกัลยาณมิตรที่มาวัดอย่างสม่ำเสมอ และอาสาทำหน้าที่ดูแลการจัดรถออกตามจุดต่างๆ และการรับกลับมาส่งด้วย จุดจอดรถส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านใหญ่ๆ หรือเป็นย่านชุมชนที่ คนมาก เช่น วงเวียนใหญ่ สุขุมวิท ลาดพร้าว บางมด สมุทรปราการ เป็นต้น

    กล่าวได้ว่าจากยุคบุกเบิกสร้างวัด จนมาสู่ยุคเริ่มขยายงาน วัดได้มุ่งฝึกบุคลากรหลักคือ พระภิกษุ ในระยะแรก เพื่อรับผิดชอบงานหลักๆ ของวัด หน้าที่หลักที่สำคัญที่ต้องให้ความเอาใจใส่คือ การฝึกให้ ทำหน้าที่เทศน์และการอบรมธรรมสำหรับบุคลากร เป็นผลให้สามารถเปิดรับสามเณร อุบาสก อุบาสิกา เข้ามาอบรมในจำนวนที่มากขึ้น ยุคเริ่มขยายงานนี้จึงเป็นยุคพัฒนาคนเพื่อให้คนไปพัฒนางาน รองรับงานในหน้าที่ต่างๆ เนื่องมาจากจำนวนสาธุชนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการพัฒนาบุคลากร วิธีการบริหารงาน สาธุชนจึงศรัทธาวัด และมาวัดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนั่นเป็นเพียงปัจจัยภายนอกทั้งหมด แต่ปัจจัยภายในคือสาธุชนรักการปฏิบัติธรรม เพราะเห็นผลของการปฏิบัติด้วยตนเองจึงมาวัดอย่างตลอดต่อเนื่อง

 

 


หนังสือ DF 303 เครือข่ายองค์กรกัลยาณมิตร
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011524677276611 Mins