ศาสนาพุทธ

วันที่ 30 มิย. พ.ศ.2559

ศาสนาพุทธ

1. ประวัติความเป็นมา

       ดินแดนอันเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาพุทธนั้น คืออินเดียในยุคโบราณ ปัจจุบันดินแดนดังกล่าวได้แบ่งแยกออกเป็นหลายประเทศ คือ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ภูฏาน และเนปาล ศาสดาของศาสนาพุทธ คือ ”พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”Ž ทรงถือกำเนิด ณ ดินแดนซึ่งอยู่ทางภาคเหนือสุดของอินเดีย แถบบริเวณเชิงเขาหิมาลัย ปัจจุบันดินแดนแห่งนั้นอยู่ในเขตประเทศเนปาล

        คนพื้นเมืองเดิมที่อยู่ในอินเดียคือพวกมิลักขะ (Dravidian) พวกที่อพยพเข้ามาอยู่ ภายหลัง ได้แก่ ชนเผ่าอารยันซึ่งเรียกว่า ”อริยกะŽ” พวกอริยกะเดิมเป็นพวกชอบเคลื่อนย้ายที่ เป็นพวกนักรบ มีความเจริญ ทำสงครามชนะพวกพื้นเมืองเดิมแล้วเข้ายึดครองดินแดนที่เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์และตั้งถิ่นฐาน เริ่มจากบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ แล้วขยายตัวไปทางตะวันออกสู่ลุ่มแม่น้ำคงคา พวกพื้นเมืองซึ่งสู้ไม่ได้ บางส่วนยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครอง บางส่วนอพยพลงใต้ อินเดียสมัยก่อนพุทธกาล1) จึงแบ่งเป็น 2 เขต คือ

       (1)    บริเวณตอนใน (ใจกลาง) ซึ่งเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของพวกอริยกะ เรียกว่า มัธยมประเทศŽ หรือมัชฌิมชนบท อยู่ทางตอนเหนือ

       (2)    บริเวณรอบนอก (ชายแดน) เป็นที่อยู่ของพวกมิลักขะ เรียกว่า ปัจจันตชนบทŽ อยู่ทางตอนใต้

        มัชฌิมชนบทสมัยโบราณเป็นเขตเจริญ เป็นศูนย์กลางการปกครองของพวกอริยกะ เป็นที่รวมของผู้มีวิชาความรู้และเป็นที่ตั้งของ 16 แคว้นใหญ่ คือ แคว้นอังคะ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ และกัมโพชะ นอกจากนี้ยังมีแคว้นเล็กอีกหลายแคว้น เช่น แคว้นสักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุต- ตราปะ เป็นต้น

      แคว้นใหญ่ในอินเดียยุคโบราณ บางครั้งเป็นมิตรกัน บางครั้งก็ทำสงครามชิงอำนาจกันตลอดเวลา แคว้นใหญ่ที่มีอำนาจมากที่สุดในสมัยพุทธกาล ได้แก่ แคว้นมคธ และแคว้นโกศล

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาพุทธถือกำเนิดในราชตระกูลศากยวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ผู้ครองแคว้นสักกะ ซึ่งเป็นแคว้นเล็ก มีเมืองหลวงชื่อ กรุงกบิลพัสดุ์ และมีฐานะเป็นประเทศราชของแคว้นโกศล

 

1.1 สภาวะของสังคมในอินเดียก่อนสมัยพุทธกาล

มีลักษณะสำคัญพอสรุปได้ดังนี้

      1. ด้านการปกครอง แคว้นต่างๆ ส่วนใหญ่มีพระราชาเป็นหัวหน้าทำการปกครอง บางแคว้นปกครองโดยคณะบุคคลที่นับเนื่องในราชสกุล เช่น แคว้นลิจฉวี การปกครองจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม โดยทั่วไปแล้วจะมีคณะกรรมการปรึกษาหารือ มีสถานที่ประชุมร่วมกัน มีประธานเป็นผู้ชี้ขาด สำหรับแคว้นสักกะสมัยนั้น นโยบายการปกครองบ้านเมืองมาจากมติส่วนใหญ่ของสมาชิกในที่ประชุม

     2. ด้านเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม บางแคว้นมีอุตสาหกรรม ประเภทหัตถกรรมที่มีชื่อเสียง และมีการติดต่อค้าขายระหว่างแคว้นใหญ่ๆ บางแคว้น เช่น แคว้นอุชเชนีและโกสัมพี เป็นต้น สำหรับแคว้นสักกะนั้น เศรษฐกิจสำคัญที่สุดขึ้นกับอาชีพเกษตรกรรม (คือการทำนา)

      3. ด้านสังคมและวัฒนธรรม มีลักษณะที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้ คือ

     1) มีการแบ่งชั้นวรรณะเป็น 4 วรรณะใหญ่ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ผู้อยู่ในวรรณะสูง 3 วรรณะแรก คือ กษัตริย์ พราหมณ์ และแพศย์ ได้แก่ พวกผิวขาว (อริยกะ) พวกที่อยู่ในวรรณะต่ำ คือ พวกศูทร ได้แก่ พวกผิวดำ ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองเดิม มีการประกอบอาชีพแตกต่างกันตามวรรณะ มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพ รังเกียจเดียดฉันท์ ดูถูก เหยียดหยาม และกีดกันการสมาคมสมสู่ระหว่างพวกที่อยู่ในวรรณะสูงกับวรรณะต่ำ สตรีมีฐานะด้อยกว่าบุรุษ

     2) พวกพราหมณ์ที่เป็นนักบวชได้รับการยกย่องนับถืออย่างสูง คำสอนของพราหมณ์และปรัชญาฮินดูมีอิทธิพลต่อความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิดและวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก

     3) นักบวชผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่มีผู้นิยมยกย่องและนับถือมาก สามารถ ยกฐานะได้สูงเท่าเทียมกับจักรพรรดิ

     4) ชนชั้นสูงกับชนชั้นต่ำในสังคมมีมาก ชนชั้นกลางมีน้อย

     5) ความคิดด้านศาสนาเกี่ยวกับเรื่องการตายแล้วเกิด ในหมู่ผู้ที่เชื่อเช่นนั้นยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็นหลายพวก ทำให้เกิดลัทธิต่างๆ มากมาย เช่น 

    เกี่ยวกับเรื่องการตาย การเกิด พวกหนึ่งเชื่อว่าตายแล้วเกิด ในหมู่ผู้ที่เชื่อเช่นนั้น ยังมีความคิดเห็นแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า เดิมเคยเกิดเป็นอะไร เกิดใหม่ก็เป็นเช่นนั้น อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า อาจไปเกิดใหม่เป็นอย่างอื่นก็ได้ อีกพวกหนึ่งเชื่อว่า ตายแล้วสูญ พวกที่เชื่อเช่นนี้ก็มีความเห็นเป็น 2 ฝ่ายเช่นกันคือ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าสูญทั้งหมด อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าสูญเพียงบางส่วน เกี่ยวกับชีวิตหลังตาย บางพวกเชื่อว่า สัตว์หลังจากที่ตายแล้วยังมีความทรงจำ (สัญญา) เหลือติดอยู่ อีกพวกหนึ่งเชื่อว่าไม่มี เกี่ยวกับเรื่องสุข ทุกข์ พวกหนึ่งเชื่อว่าสุข ทุกข์เป็นสิ่งเกิดเอง อีกพวกหนึ่งเชื่อว่ามีเหตุทำให้เกิดคือ กรรมบันดาล (ปัจจัยภายใน) หรือเทวดาบงการให้เป็นไป (ปัจจัยภายนอก)

     6) มีคณาจารย์เจ้าลัทธิต่างๆ ทำการเผยแผ่ลัทธิของตนจำนวนมากมาย คัมภีร์เก่าของศาสนาพุทธกล่าวว่า ในอินเดียฝ่ายเหนือมี 62 ลัทธิ2) (คัมภีร์ศาสนาเชนว่า มี 363 ลัทธิ) เจ้าลัทธิสำคัญๆ ที่ควรทราบได้แก่

1. ปูรณกัสสปะ สอนว่า บุญ บาป ไม่มี ทุกอย่างที่ทำไปแล้วไม่ว่าดีหรือชั่ว เมื่อจบสิ้นแล้วย่อมแล้วกันไป ไม่มีผลตอบสนองภายหลัง
2. มักขลิโคสาล สอนว่า สุข ทุกข์ หรือ ความดี ความชั่ว เป็นสิ่งเกิดเองโดยธรรมชาติไม่มีอะไรเป็นเหตุหรือปัจจัยสนับสนุนให้เกิด
3. ปกุธกัจจายนะ สอนว่า สิ่งที่เป็นจริงแท้ในโลกนี้มีเพียง 7 อย่างเท่านั้น คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์และชีวะ ส่วนกรรมดี กรรมชั่ว บุญ บาป นรก สวรรค์ เป็นเรื่องที่ คิดขึ้นเองทั้งสิ้น แท้จริงไม่มี ลัทธินี้ถือว่าการฆ่าไม่บาป เช่น เมื่อใช้ดาบฟันลงไปบนร่างกาย คมดาบจะผ่านลงไปในระหว่างอนุภาคของสิ่งที่เป็นนิรันดร (ใน 7 สิ่ง) ซึ่งไม่มีสิ่งใดสามารถทำลายหรือแบ่งแยกได้ จึงเท่ากับไม่มีผลดีผลร้ายอย่างไรเกิดขึ้น
4. อชิตเกสกัมพล สอนว่า ธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นที่เป็นของจริง สิ่งอื่นล้วนเป็นมายา เกิดจากการรวมกันของธาตุ 4 เมื่อธาตุ 4 สลายตัวแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอัน สิ้นสูญ การให้ทานหรือการบูชายัญจึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ลัทธินี้ถือว่า สุข ทุกข์ เป็นเรื่องของความบังเอิญ ไม่เกี่ยวกับกรรมดี กรรมชั่ว ไม่มีนรก สวรรค์ ไม่มีการหลุดพ้นและไม่มีการเกิดใหม่
5. นิครนถนาฏบุตร สอนให้แสวงหาทางหลุดพ้นจากสภาวะเวียนว่ายตาย เกิด ด้วยการเว้นจากประพฤติเบียดเบียนชีวิตทุกชนิด การพูดเท็จ การถือครองทรัพย์สินทั้งหลาย ทั้งปวง แม้แต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การลักทรัพย์ และให้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด
6. สัญชัยเวลัฏฐบุตร สอนว่า ไม่ควรเชื่อความคิดเห็นของผู้ใดทั้งสิ้น เพราะความคิดเห็นเป็นสิ่งที่อาจผิดพลาดได้ ผู้อยู่ในลัทธินี้มักจะใช้คำปฏิเสธเหตุผลของผู้อื่นว่า อย่างนั้นก็ไม่ใช่ อย่างโน้นก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ใช่อย่างนั้นก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ใช่อย่างโน้นก็ไม่ใช่Ž สรุปความว่าสอนไม่ให้ยอมรับทรรศนะของผู้ใดว่าผิดหรือถูก

 

ข้อควรทราบ

คำสอนของ ปูรณกัสสปะ    เรียกว่า    อกิริยทิฏฐิŽ
คำสอนของ มักขลิโคสาล    เรียกว่า    อเหตุกทิฏฐิŽ
คำสอนของ ปกุธกัจจายนะ    เรียกว่า    นัตถิกทิฏฐิŽ
คำสอนของ อชิตเกสกัมพล    เรียกว่า    นัตถิกอุจเฉททิฏฐิŽ
คำสอนของ สัญชัยเวลัฎฐบุตร    เรียกว่า    อมราวิกเขปิกทิฏฐิŽ

 

1.2 สภาพบ้านเมืองก่อนสมัยพุทธกาล

     สภาพบ้านเมืองก่อนสมัยพุทธกาล3)

    ศาสนาพุทธเกิดขึ้นในโลกนี้ภายหลังศาสนาพราหมณ์ประมาณ 600 ปี ก่อนศาสนาคริสต์ 543 ปี ก่อนศาสนาอิสลาม 1,124 ปี และเกิดขึ้นในหมู่ชนชาติอริยกะ หรืออารยันในประเทศอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทิศเหนือมีภูเขาหิมาลัยกั้นเขต ต่อนั้นออกไปเป็นประเทศทิเบต ทิศตะวันตกและทิศตะวันออกจดมหาสมุทรอินเดีย ภูมิประเทศตรงกลางมีภูเขาวินธัยตั้งเป็นแนวจากตะวันตกมาตะวันออก

   ในสมัยพราหมณ์ตอนปลาย ใกล้จะเข้าสมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นยุคที่ศาสนาพราหมณ์เจริญมากที่สุด แผ่นดินอินเดียได้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคเหนือเรียกว่า มัชฌิมชนบท หรือ มัธยมประเทศ มีแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำสำคัญ ส่วนภาคคาบสมุทรตอนใต้เรียกว่า ทักษิณชนบท หรือทักษิณประเทศ มีแม่น้ำโคธาวรีเป็นแม่น้ำสำคัญ

     ในมัชฌิมชนบท มีแคว้นต่างๆ ที่พวกอารยันแบ่งกันปกครอง ซึ่งมีอยู่ 16 แคว้น คือ

     1. คันธาระ ตั้งอยู่ตรงลุ่มน้ำสินธุตอนบน เมืองหลวงชื่อ ตักสิลา เป็นสถานศึกษาศิลปวิทยา มีคณาจารย์ที่เรียกกันว่า ทิศาปาโมกข์ มีชื่อเสียงเลื่องลือไปถึงประเทศกรีก และไอยคุปต์ว่า เป็นศูนย์กลางของวิชาการ ปัจจุบันคือประเทศอัฟกานิสถาน

     2. กุรุ ตั้งอยู่ตรงลุ่มน้ำยมุนาตอนบน เมืองหลวงชื่อ อินทปัตถ์ หรืออินทรปรัสถ์ มีกษัตริย์ปราณฑพทั้ง 5 เป็นผู้ครองนคร และตำนานทางศาสนาพุทธกล่าวถึงหลายแห่ง เช่น เป็นที่พระพุทธองค์ตรัสมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นมณฑลปัญจาบ และเมืองเฑลหิ ปัจจุบันเรียก นิวเดลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอินเดียในปัจจุบัน

     3. ปัญจาละ ตั้งอยู่ตรงลุ่มแม่น้ำคงคาตอนบน เมืองหลวงเดิมชื่อ หัศดินาปุระ หรือหัสดิน เป็นราชธานีที่สถิตของกษัตริย์เคารพจันทวงศ์ ต่อมาแยกราชธานีออกไปตั้งใหม่เป็น 2 แห่ง คือ ที่เมืองกัมปิละ และเมืองกันยากุพซ์ ปัจจุบันคือเมืองกาโนชหรือกาเนาซ์

     4. โกศล ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาหิมาลัย กับแม่น้ำคงคาตอนกลาง เมืองหลวงเดิมชื่อ อโยธยา ภายหลังสร้างเมืองเป็นราชธานี ชื่อเมืองสาวัตถี ปัจจุบันเรียกว่า สะเหตมาเหต แคว้นโกศลนี้มีอำนาจมากถึงกับปราบชนบทใกล้เคียงได้ เช่น แคว้นสักกะ

     5. มัลละ ตั้งอยู่ถัดโกศลมาทางทิศตะวันออก เมืองหลวงเดิมชื่อ กุสาวดี ภายหลังแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ กุสินารากับปาวา เป็นราชธานี ปัจจุบันเรียกว่า ปาตราโอนะ

     6. วัชชี ตั้งอยู่ติดกับมัลละ เมืองหลวงชื่อ เวสาลี หรือไพสาลี เป็นราชธานีของกษัตริย์ลิจฉวี ปัจจุบันเรียกว่า เยซาระ ซึ่งพระมหาวีระศาสดาของศาสนาเชนก็เกิดในเมืองนี้

     7. อังคะ ตั้งอยู่ปลายแม่น้ำคงคา เมืองหลวงชื่อ จำปา เดิมเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาก แต่มาสมัยพุทธกาลต้องขึ้นอยู่กับแคว้นมคธ ซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ปกครอง

     8. กัมโพชะ ตั้งอยู่ใต้แคว้นคันธารราษฎร์ มีเมืองหลวงชื่อ ทวารกะ สร้างขึ้น ริมมหาสมุทรในแคว้นวลภี หรือคุรธรราษฎร์ ปัจจุบันเรียกว่า คุธรัฐ เป็นแคว้นเหนือมณฑล บอมเบย์ในปัจจุบัน

     9. มัจฉะ ตั้งอยู่ระหว่างลำน้ำสินธุกับยมุนาตอนบน เมืองหลวงชื่อ สาคละ พระเจ้ามิลินท์ เป็นผู้ครองนครนี้

     10. สุรเสนะ ตั้งอยู่ระหว่างลำน้ำสินธุกับยมุนาตอนล่าง เมืองหลวงชื่อ มถุรา ภายหลังย้ายไปสร้างเมืองทวารถะ เป็นราชธานีขึ้นใหม่

     11. วังสะ ตั้งอยู่ใต้ลำน้ำยมุนา ต่อจากกาสีไปทางทิศตะวันตก เมืองหลวงชื่อ โกสัมพี บัดนี้เรียกว่า โกแซม นครนี้เจริญรุ่งเรืองมาก เพราะเป็นศูนย์กลางการค้า พระเจ้าอุเทน เป็นผู้ครองนครนี้

     12. กาสี ตั้งอยู่ตรงที่บรรจบลำน้ำคงคาและยมุนา เมืองหลวงชื่อ พาราณสี ปัจจุบันเรียกว่า เบนารัส เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงมาก ทั้งมหากาพย์มหาภารตะ และคัมภีร์ทาง ศาสนาพุทธได้กล่าวถึงบ่อยครั้ง

     13. มคธ ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของแม่น้ำคงคาตอนกลาง เขตตะวันออกจรดแม่น้ำจำปา ตะวันตกจรดแม่น้ำโสนะ ทิศใต้จรดภูเขาวินธัย เป็นแคว้นที่ใหญ่มากในครั้งนั้น เมืองหลวงชื่อ ราชคฤห์ ปัจจุบันนี้เรียกว่า ราชเคอร์

     14. มาลวะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกแห่งแคว้นวังสะ แถบเหนือภูเขาวินธัย ภายหลัง เรียกว่า อวันตี เมืองหลวงชื่อ อุชเชนี ปัจจุบันคือ อุชเชน

     15. เจตี ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำคงคา ติดต่อกับแคว้นวังสะ และอยู่ต่อแคว้นมาลวะ ออกมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมืองหลวงชื่อ โสตถิวดี

     16. อัสสกะ ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำโคธาวรี เมืองหลวงชื่อ โปตลี

 

1.3 ความเป็นมาของบรรพบุรุษพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความเป็นมาของศากยวงศ์

     พระเจ้าโอกกากราชได้ทรงครอบครองราชสมบัติในพระนครแห่งหนึ่ง พระองค์มี พระมเหสี 5 พระองค์ ได้แก่ พระนางหัตถา พระนางจิตตา พระนางชันตุ พระนางชาลินี และ พระนางวิสาขา

     พระนางหัตถาซึ่งเป็นอัครมเหสี มีพระราชโอรส 4 พระองค์ คือ โอกกากมุขราชกุมาร กรัณฑิราชกุมาร หัตถินิเกสิราชกุมาร นิปุรราชกุมาร และมีพระราชธิดา 5 พระองค์ คือ ปิยาราชกุมารี สุปียาราชกุมารี อานันทาราชกุมารี วิชิตาราชกุมารี และวิชิตเสนาราชกุมารี

    ส่วนพระมเหสีองค์อื่นไม่มีหลักฐานระบุว่ามีพระราชโอรสและพระราชธิดา ต่อมาเมื่อพระนางหัตถาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโอกกากราชทรงมีมเหสีองค์หนึ่งซึ่งสวยมาก จึงทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี พระนางมีพระราชโอรสที่น่ารักพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ชันตุ พระเจ้าโอกกากราชทรงโปรดปรานเจ้าชายชันตุอย่างมาก และได้พลั้งพระราชทานพรให้พระนางเลือกสิ่งที่ต้องประสงค์ พระนางจึงทูลขอราชสมบัติให้เจ้าชายชันตุ พระเจ้าโอกกากราช จำพระทัยต้องพระราชทานให้เพราะได้พลั้งพระราชทานพรไปแล้ว ถ้าไม่พระราชทานให้ก็เป็นการเสียสัตย์ เมื่อเป็นดังนี้ พระองค์จึงตรัสสั่งให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 9 พระองค์ซึ่งประสูติจากพระนางหัตถาไปสร้างพระนครอยู่ใหม่

     พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 9 พระองค์ได้เสด็จออกจากพระนครด้วย จตุรงคินีเสนาเป็นจำนวนมากเพื่อไปแสวงหาที่สร้างพระนครอยู่ใหม่ ได้เสด็จไปถึงสถานที่ที่เป็นป่าไม้สักกะใกล้ภูเขาหิมาลัย ทรงพบดาบสมีนามว่า กปิละŽ ซึ่งสร้างอาศรมบำเพ็ญพรต อยู่บริเวณป่าไม้สักกะนั้น กปิลดาบสได้ทูลถามสาเหตุที่ต้องเสด็จออกจากพระนคร ครั้นทราบความนั้นก็มีจิตเมตตา จึงถวายคำแนะนำให้สร้างพระนครอยู่ที่นั้นเพราะเป็นชัยภูมิอันเป็นมงคล เมื่อพระราชโอรสและพระราชธิดาทรงสร้างพระนครแล้ว จึงขนานนามพระนครว่า กบิลพัสดุ์Ž เพื่อให้สมกับสถานที่อันเป็นที่อยู่ของกบิลดาบส

     เมื่อสร้างเมืองแล้ว พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 8 พระองค์ได้ทรงให้เจ้าหญิงปิยาผู้เป็นเชษฐภคินีดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพเหมือนพระมารดา และทั้ง 8 พระองค์ ได้ทรงสมรสกันเป็นคู่ๆ ครบ 4 คู่ เพื่อไม่ให้สกุลวงศ์โอกกากราชขาดสูญ ครั้นเมื่อพระเจ้าโอกกากราช ทรงทราบเรื่องนี้จึงทรงพอพระทัยยิ่ง โดยทรงเปล่งอุทานว่า สกฺยา วต โภ กุมารา ปรมสกฺยา วต โภ กุมาราŽ แปลว่า พระกุมารสามารถหนอ พระกุมารสามารถยิ่งหนอŽ ด้วยเหตุนี้วงศ์นี้จึงได้ชื่อว่า ศากยวงศ์Ž เพราะได้ทรงสร้างพระนครขึ้นในดงไม้สักกะ


ความเป็นมาของโกลิยวงศ์

     เมื่อพระราชโอรสในพระเจ้าโอกกากราชทรงสร้างนครกบิลพัสดุ์แล้ว เวลาต่อมา เจ้าหญิงปิยาซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีเกิดเป็นโรคเรื้อนขึ้น พระนางมีความละอายพระทัยมาก ฝ่ายพระกนิษฐภาดาและพระกนิษฐภคินีทรงเกรงว่าโรคเรื้อนนั้นจะติดต่อไปยังบุคคลอื่น จึงทรงปรึกษาตกลงกันเชิญพระพี่นางเสด็จไปสู่อรัญประเทศ รับสั่งให้ขุดที่แห่งหนึ่งลง มีสัณฐานคล้ายสระ ให้ตกแต่งเรียบร้อยเป็นที่พ้นภัย แล้วเชิญพระนางให้ประทับในหลุมนั้น พร้อมด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนมาก นานๆ จึงให้ราชบุรุษนำอาหารไปส่งสักครั้งหนึ่ง

     ในเวลานั้น กษัตริย์ผู้ครองกรุงพาราณสีพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า รามŽ เกิดเป็นโรคเรื้อนขึ้น ก็ทรงสังเวชในพระทัยและทรงกลัวประชาชนรังเกียจว่ากษัตริย์ของตนเป็นโรคเรื้อน จึงทรงมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ แล้วพระองค์ได้เสด็จออกไปสู่ป่าประทับอยู่ในโพรงใหญ่ของต้นไม้โกละหรือกระเบา พระองค์ได้เสวยผลไม้เหมือนดาบส ทั้งหลายที่อยู่ในป่า บังเอิญผลไม้ที่เสวยนั้นเป็นยารักษาโรคเรื้อนได้ โรคเรื้อนนั้นจึงได้หายไป ผลไม้ที่ได้เสวยอาจเป็นผลกระเบาและอาจรักษาโรคเรื้อนได้

      วันหนึ่ง เวลาเช้าตรู่ เสือโคร่งตัวหนึ่งเที่ยวแสวงหาอาหารได้กลิ่นพระนางปิยา ซึ่งประทับอยู่ในหลุมนั้นก็ขุดดินลงไปตามกลิ่นนั้น ฝ่ายพระนางปิยาทรงเห็นเสือโคร่งก็ทรงร้องด้วยเสียงอันดัง เสือโคร่งตกใจก็หนีไป เสียงร้องของพระนางปิยาได้ยินไปถึงพระกรรณของพระเจ้าราม พระองค์ได้เสด็จไปเที่ยวค้นหา ครั้นทรงพบพระนางแล้วจึงตรัสถาม ทรงทราบความตลอดแล้ว จึงทรงแนะนำพระนางให้เสวยผลไม้ที่พระองค์เคยเสวย พระนางปิยาจึง ทรงหายจากโรคเรื้อนนั้นในเวลาไม่นาน พระเจ้ารามและพระนางปิยาได้มีพระทัยปฏิพัทธ์ รักใคร่ซึ่งกันและกัน จึงได้สมรสอยู่ด้วยกันที่ต้นไม้โกละนั้น

     เวลาต่อมา บุรุษชาวเมืองพาราณสีได้เที่ยวไปในป่าพบพระเจ้าราม และพระองค์ทรงจำได้ ครั้นบุรุษชาวเมืองพาราณสีทูลถามทราบความแล้วจึงได้นำความนั้นไปกราบทูล แด่กษัตริย์ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าราม พระราชานั้นก็ทรงยกจตุรงคเสนาออกไปเชิญ พระราชบิดาให้เสด็จกลับไปเสวยราชสมบัติดังเดิม พระเจ้ารามไม่เสด็จกลับ พระราชาผู้เป็น พระราชโอรสทรงเห็นว่าพระราชบิดาไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงรับสั่งให้ตัดต้นโกละนั้นทิ้งเสีย สร้างพระนครถวายแด่พระบิดาแล้วให้นามพระนครนั้นว่า โกลิยะŽ และพระเจ้ารามได้ทรงตั้งวงศ์กษัตริย์ปกครองกันต่อมาชื่อ โกลิยวงศ์Ž เวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อราชธานีเป็น เทวทหะŽ เจ้าชายและเจ้าหญิงในนครกบิลพัสดุ์และนครเทวทหะได้ทรงทำอาวาหมงคลวิวาหมงคลซึ่งกันและกันสืบมาโดยลำดับ


ความสัมพันธ์ของศากยวงศ์กับโกลิยวงศ์

     กษัตริย์แห่งศากยวงศ์ได้ทรงครองกรุงกบิลพัสดุ์สืบเชื้อสายมาตามลำดับจนถึงพระเจ้าชัยเสนะ ซึ่งมีพระราชโอรสทรงพระนามว่า สีหหนุ และพระราชธิดาทรงพระนามว่า ยโสธรา

     ฝ่ายกษัตริย์แห่งโกลิยวงศ์ทรงเริ่มต้นตั้งแต่พระเจ้ารามกับเจ้าหญิงปิยาล่วงมาหลายรัชสมัยจนถึงกษัตริย์ผู้ครองกรุงเทวทหะทรงพระนามว่า อัญชนะ และพระกนิษฐภคินี ทรงพระนามว่า กัญจนา หรือกาญจนา

     พระเจ้าสีหหนุได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางกัญจนา มีพระราชโอรส 5 พระองค์ คือ สุทโธทนะ สุกโกทนะ อมิโตทนะ โธโตทนะ และฆนิโตทนะ และมีพระราชธิดา 2 พระองค์ คือ ปมิตา และอมิตา

     พระเจ้าอัญชนะได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา มีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ สุปปพุทธะ ทัณฑปาณิ และมีพระราชธิดา 2 พระองค์ คือ มายา หรือสิริมหามายา และ ปชาบดี หรือโคตมี

     พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางมายา มีพระราชโอรส 1 พระองค์ คือ สิทธัตถะ ครั้นพระนางมายาทิวงคต พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางปชาบดี มีพระราชโอรส 1 พระองค์ คือ นันทะ และมีพระราชธิดา 1 พระองค์ คือ รูปนันทา

 

2. ประวัติศาสดา4)

2.1 สกุลกำเนิดและปฐมวัย

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า สิทธัตถะ โคตมะ ประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน (ปัจจุบันเรียกว่า รุมมิเด แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล) ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ กับ กรุงเทวทหะ ในวันเพ็ญเดือน 6 (วิสาขะ) ปีจอ เมื่อก่อนพุทธศักราช 80 ปี ทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ศากยวงศ์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของแคว้นสักกะ กับพระนางสิริมหามายาราชธิดาของกษัตริย์โกลิยวงศ์ ผู้ครองกรุงเทวทหะ

     ในสมัยนั้น มีดาบสตนหนึ่งชื่อ อสิตะ หรือกาฬเทวิล ผู้ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยและเป็นที่นับถือของราชตระกูลมาก เมื่อได้ทราบข่าวการประสูติของพระราชกุมาร จึงเข้าไปในพระราชวัง เพื่อขอชมพระกุมาร เมื่อท่านได้เห็นพระกุมารมีลักษณะเลิศ ก็ทราบว่าต่อไปในภายหน้า พระกุมารนี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ลุกขึ้นจากอาสน์คุกเข่าลงถวายอัญชลี กราบลงที่พระบาทพระกุมาร แล้วก็หัวเราะก้องไปทั้งปราสาท เพราะเห็นว่าเป็นลาภของตนที่ได้เห็นพระกุมาร ซึ่งมีลักษณะอันประเสริฐเช่นนั้น แต่เมื่อพิจารณาเห็นว่าตนจะต้องตายเสียก่อนจึงพลาดโอกาสที่จะได้มรรคผล และนิพพาน มีความเสียดายนัก จึงได้ร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์เห็นดังนั้นพากันพิศวงยิ่งนัก ต่างก็พากันไถ่ถามพระดาบส เมื่อได้ทราบว่าพระกุมารจะเป็นผู้มีเดชานุภาพยิ่งใหญ่ต่อไปในภายหน้า ต่างก็พากันกราบพระกุมาร แม้แต่พระเจ้าสุทโธทนะเองก็ทรงยกพระกรกราบอภิวันทนาการพระกุมารเช่นกัน แล้วดาบสก็ทูลลากลับ

     เมื่อพระกุมารประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะทรงทำพิธีทำนายลักษณะและขนานพระนามโดยเชิญพราหมณ์ 108 คนมาเลี้ยง และได้คัดเลือกเอาพราหมณ์ชั้นยอด 8 คน ให้เป็นผู้ทำนายลักษณะพระกุมาร พราหมณ์ 7 คน ต่างทำนายเป็น 2 นัย คือ

1. ถ้าพระกุมารครองความเป็นฆราวาสต่อไป จะได้เป็นบรมจักรพรรดิ

2. ถ้าพระกุมารออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาจารย์เอกของโลก

     แต่โกณฑัญญะพราหมณ์หนุ่มได้ทำนายไว้ประการเดียวว่า ”พระกุมารจะต้องออกบรรพชา และจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน”Ž แล้วพราหมณ์เหล่านั้นก็ได้ขนานพระนามพระกุมารว่า ”สิทธัตถะŽ” ซึ่งหมายความว่า ต้องการอะไรเป็นสำเร็จทุกอย่าง

     ฝ่ายพระนางสิริมหามายาพระราชมารดา เมื่อประสูติพระกุมารได้ 7 วันแล้ว ก็ทิวงคต โดยเหตุนี้พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้ทรงมอบภาระการเลี้ยงดูพระกุมารให้แก่พระนางปชาบดี พระน้านาง ซึ่งเป็นพระชายาพระเจ้าสุทโธทนะเหมือนกัน แม้ในกาลต่อมาพระนางมีโอรส คือ เจ้าชายนันทะ และราชธิดา คือ เจ้าหญิงรูปนันทาก็ตาม ถึงกระนั้นพระนางก็มิได้ ทะนุถนอมให้ยิ่งไปกว่าเจ้าชายสิทธัตถะ

     วันหนึ่ง เป็นวันพระราชพิธีแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะพร้อมด้วยอำมาตย์ ราชบริพาร พราหมณ์ คหบดี ได้เสด็จไปทำพิธีแรกนาขวัญ ณ ทุ่งนาหลวง และได้เชิญ พระกุมารออกไปด้วยโดยจัดที่ประทับไว้ใต้ต้นหว้าใหญ่ มีพระพี่เลี้ยงนางนมบริบาลแวดล้อม ขณะที่พระราชาเสด็จลงทำพิธีไถนาเป็นปฐมฤกษ์พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพารชั้นผู้ใหญ่รวม 108 ไถนั้น พวกพระพี่เลี้ยงก็ออกมาชมด้วย ทิ้งพระกุมารไว้ในม่านแต่พระองค์เดียว เมื่อพระกุมารอยู่ตามลำพังพระองค์เดียวก็ทรงลุกขึ้นเจริญภาวนาอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นได้ เวลานั้นเป็นเวลาบ่าย เงาแห่งต้นไม้ทั้งหลายได้ชายไปตามตะวันทั้งสิ้น แต่เงาไม้หว้าที่ประทับปรากฏตรงอยู่เสมือนเวลาเที่ยง ครั้นพระพี่เลี้ยงทั้งหลายกลับเข้าไปในม่านเห็นพระกุมารอยู่ในลักษณะเช่นนั้นก็พิศวงจึงออกไปกราบทูลให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ เมื่อพระราชาเสด็จเข้าไปเห็นก็ทรงรู้สึกอัศจรรย์พระทัยจึงยกพระหัตถ์ถวายอภิวาทพระกุมารเป็นคำรบสอง

     เมื่อพระกุมารมีพระชนม์ได้ 7 พรรษา พระราชบิดาทรงรับสั่งให้สร้างสระน้ำสำหรับพระกุมารและบริวารลงเล่น มี 3 สระด้วยกัน ปลูกอุบลบัวขาวสระหนึ่ง ปทุมบัวหลวงสระหนึ่ง และปลูกปุณฑริกาสระหนึ่ง

     ครั้นพระราชกุมารมีพระชนม์เจริญวัย 8 พรรษา ควรศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว พระราชบิดาก็ทรงนำไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร ซึ่งเป็นครูประจำราชสำนัก สั่งสอนพระกุมาร ทุกสกุล เจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการได้อย่างว่องไวจนสิ้นความรู้อาจารย์ ทรงแสดงความเฉลียวฉลาดในหมู่พระญาติ ไม่มีพระกุมารอื่นจะเทียมเท่า

 

2.2 อภิเษกสมรส

      เมื่อพระราชกุมารมีพระชนม์ได้ 16 พรรษา พระราชบิดาทรงรับสั่งให้สร้างปราสาท ขึ้น 3 หลัง เพื่อให้เหมาะสมกับการที่จะประทับอยู่ 3 ฤดู และให้สร้างลงในบริเวณเดียวกัน มีทางเดินติดต่อกันทั้ง 3 หลัง เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระบิดายังไม่ให้เจ้าชายขึ้นประทับจนกว่าจะทำการอภิเษกแล้ว จึงได้ไปสู่ขอพระเจ้าหญิงยโสธราพิมพา ราชธิดาพระเจ้าสุปปพุทธะแห่ง กรุงเทวทหะ มาอภิเษกให้ โดยให้ประทับอยู่อย่างสำราญในปราสาททั้ง 3 จนเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระชนมายุ 29 พรรษา ตลอดเวลาเหล่านี้เจ้าชายสิทธัตถะไม่เคยเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย คนที่แวดล้อมพระองค์มีแต่คนหนุ่มคนสาว คนที่แข็งแรง เพราะว่าพระบิดาของพระองค์ไม่ประสงค์ให้เจ้าชายเสด็จออกบวช แต่มีพระประสงค์จะให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิตาม คำทำนายของพวกพราหมณ์มากกว่า

      ด้วยเหตุนี้ วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะมีพระทัยปรารถนาจะเสด็จประพาสพระอุทยาน จึงรับสั่งให้นายฉันนะมหาดเล็กจัดรถเทียมด้วยม้า 4 ตัว ขับเที่ยวไปในอุทยาน ขณะที่กำลังเพลิดเพลินอยู่นั้นได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต คือ เทวดาจำแลงองค์เป็นชายชราผมหงอกขาว หลังโกง ถือไม้เท้ายันกันล้ม เดินกะโผลกกะเผลกไปในระหว่างทาง ก็ทรงแปลกพระทัยจึงถามนายฉันนะว่า ชายผู้นี้ทำไมจึงรูปร่างผิดปกติกับคนทั่วๆ ไป เมื่อทรงทราบว่าเป็นธรรมดาที่ ทุกคนจะต้องชราด้วยกันทั้งนั้น ก็บังเกิดสังเวชพระทัยจึงเสด็จกลับพระราชวัง

     วันต่อมาเมื่อเจ้าชายเสด็จประพาสพระอุทยานอีก ก็ทรงพบเห็นคนเจ็บและคนตายในวาระที่สองและที่สาม ก็ทรงถามดังเช่นคราวก่อน เมื่อทรงทราบว่าเป็นของธรรมดาที่ทุกคนจะต้องเจ็บ จะต้องตาย ก็ทรงสลดสังเวชพระทัยเป็นทวีคูณ แต่ในวาระที่สี่ได้ทรงพบภาพบรรพชิตนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ มีกิริยาสำรวมน่าเคารพเลื่อมใสยิ่งนัก จึงทรงถามนายฉันนะอีก เมื่อทรงทราบว่าเป็นผู้สงบ ไม่มีอันตราย ก็ทรงพอพระทัยในบรรพชา ทำให้เจ้าชายมีพระทัยผ่องแผ้วเบิกบาน จึงเสด็จเที่ยวอยู่ในพระอุทยานตลอดวัน

    ในวันนั้นเองเจ้าหญิงพิมพาได้ประสูติโอรส พระเจ้าสุทโธทนะจึงให้มหาดเล็กไปทูลเจ้าชายให้ทรงทราบ พระองค์กำลังมีพระทัยน้อมไปในบรรพชา จึงออกโอษฐ์ว่า ”ห่วงบังเกิดขึ้นแก่เราแล้วŽ” ตั้งแต่นั้นมาพระราชกุมารจึงได้นามว่า ราหุล ซึ่งแปลว่า ห่วง แล้วในตอนเย็นพระองค์ก็เสด็จกลับพระราชวัง


2.3 ออกบรรพชา

     เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงพบว่าคนเราจะต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย และความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่แหละเป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์ จึงทรงดำริต่อไปว่าสภาพทั้งปวงย่อมมีของแก้กัน เช่น มีร้อนก็มีเย็นแก้ มีมืดก็มีสว่างแก้ มีทุกข์ก็ต้องมีสุขได้ และความสุขนั้นจะต้องพ้นไปเสียจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้ายังอยู่ในเพศฆราวาสก็คงหาทางแก้ทุกข์มิได้

     ในตอนดึกคืนวันหนึ่ง เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 29 พรรษา ก็ตัดสินพระทัยเสด็จออกบรรพชา โดยยอมหนีจากพระนางพิมพา พระวรชายาคู่บารมี และโอรสราหุลสุดที่รักปานดวงหทัย สละโภคสมบัติ ยศศักดิ์รัชทายาท และอำนาจวาสนาทั้งสิ้น เสด็จหนีออกจากพระราชวังที่ประทับโดยม้าทรงชื่อ กัณฐกะ พร้อมกับมหาดเล็กชื่อ ฉันนะ ในยามราตรี ถึงฝั่งตรงข้ามของ แม่น้ำอโนมา (ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างแคว้นสักกะกับแคว้นมัลละ) ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ และทรงเปลื้องเครื่องประดับต่างๆ ออก สวมใส่ชุดนักบวช อธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต เพื่อแสวงหาทางแห่งความพ้นทุกข์ต่อไป ครั้งแรกพระสมณโคดมได้ประทับอยู่ ณ ป่ามะม่วงชื่อ อนุปิยอัมพวัน ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ฝั่งเมืองสาวัตถีอยู่ถึง 7 วัน จึงเสด็จมุ่งตรงไปยังกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

     ฝ่ายโกณฑัญญพราหมณ์ เมื่อได้ข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชแล้ว จึงได้ชวนบุตรของพราหมณ์ที่เคยไปร่วมทำนายลักษณะเจ้าชายออกบวชตาม บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ จึงมีผู้บวชตามเพียง 5 คน รวมทั้งโกณฑัญญพราหมณ์ อีก 4 คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ทั้ง 5 นี้รวมเรียกว่า ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 คนนี้ได้ตัดสินใจออกบวชติดตามหา พระสมณโคดม ส่วนพระเจ้าพิมพิสารผู้ครองแคว้นมคธ เมื่อได้ทรงทราบข่าวการเสด็จออกบรรพชาของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงได้เสด็จไปยังสำนักพระสมณโคดม และได้ทูลถามถึง ความเป็นมา วัตถุประสงค์ที่มา เมื่อทรงทราบว่าพระสมณโคดมเป็นราชตระกูลในราชวงศ์-ศากยะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เกิดเบื่อทางโลกคิดออกบวชเพื่อหาทางพ้นทุกข์เช่นนี้ พระองค์ทรงชักชวนให้พระสมณโคดมอยู่กับพระองค์ โดยทรงสัญญาว่าจะแบ่งราชสมบัติให้ปกครองกึ่งหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับการปฏิเสธจากพระสมณโคดมโดยสุภาพ


2.4 เข้าศึกษาในสำนักดาบส

      ต่อจากนั้นพระสมณโคดมได้เสด็จไปยังสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร ณ เชิงเขาบัณฑวะ เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ ศึกษาจนสำเร็จตามหลักสูตรของอาจารย์ ได้สมาบัติ 7 คือ ได้รูปฌาน 4 อรูปฌาน 3 ครั้นแล้วพระองค์ก็เสด็จไปศึกษาต่อ ณ สำนักอุทกดาบส รามบุตร ได้ความรู้สูงขึ้นอีกขั้นหนึ่ง คือ ได้รู้อรูปฌาน 4 ซึ่งเป็นความรู้สูงสุดของอาจารย์ แต่พระองค์ก็ทรงหาพอพระทัยไม่ เพราะนั่นยังมิใช่ทางพ้นทุกข์ที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย พระองค์จึงลาอาจารย์เสด็จต่อไปจนถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงพิจารณาเห็นว่าสถานที่นั้นสงบ น่ารื่นรมย์ มีพื้นที่ราบเรียบ มีแนวป่าเขียวสด มีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำใสสะอาด มีท่าอันดีน่ารื่นรมย์ มีที่สำหรับโคจรเพื่อภิกขาอยู่โดยรอบ จึงทรงประทับเพื่อบำเพ็ญเพียร ณ ที่นั้นต่อไป

      ฝ่ายปัญจวัคคีย์ซึ่งพากันติดตามพระองค์มาหลายเมืองแล้วนั้น ได้มาพบพระองค์ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เห็นพระองค์บำเพ็ญเพียรโดยวิธีต่างๆ อยู่ ก็คิดว่าพระองค์คงจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้ จึงพากันเข้าไปอยู่ช่วยปรนนิบัติตั้งแต่นั้นมา


2.5 บำเพ็ญทุกรกิริยา

     ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมนี้เอง พระสมณโคดมได้เริ่มบำเพ็ญทุกรกิริยาซึ่งเป็น วิธีการที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น โดยคิดว่าจะเป็นทางแห่งความหลุดพ้นทุกข์ พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างแรงกล้า เช่น กดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ (เพดานปาก) ด้วยพระชิวหา จนเหงื่อไหลจากรักแร้ กลั้นลมหายใจเข้าออก เมื่อลมเดินทางช่องนาสิกและพระโอษฐ์ไม่สะดวกแล้ว ก็เกิดเสียงอู้ๆ ทางช่องพระโสต และในที่สุดก็ใช้วิธี อดอาหาร โดยผ่อนเสวยน้อยลงๆ จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง พระฉวีวรรณเศร้าหมอง กระดูกปรากฏทั่วพระวรกาย เมื่อทรงลูบพระองค์พระโลมาก็หลุดร่วงจากขุมขน พระกำลังก็ลดน้อยถอยลงตามลำดับจะเสด็จไปทางไหนก็คอยซวนเซล้ม แม้พระองค์จะทรงทรมานพระกายถึงขนาดนี้ก็หาบรรลุคุณวิเศษใดๆ ไม่

     พระองค์จึงทรงพิจารณาเห็นว่า การบำเพ็ญเพียรทางกายอย่างมากก็ทำกันได้เพียงแค่นี้เอง ไม่ดีไปกว่านี้แน่ ถึงกระนั้นก็หาใช่ทางหลุดพ้นไม่ พระองค์จึงทรงหวนระลึกถึง ความเพียรทางใจว่าคงจะเป็นทางตรัสรู้อย่างแน่แท้ ทรงเกิดความคิดเทียบเคียงกับพิณ 3 สาย ถ้าขึงตึงนักพอดีดก็จะขาดออกไป ถ้าขึงหย่อนไปก็ดีดไม่เป็นเสียง แต่ถ้าขึงปานกลางย่อมดีดไพเราะเจริญใจ เมื่อเทียบกับการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ถ้าย่อหย่อนนัก คือ หมกมุ่นหนักไปในกามารมณ์จนเกินไป ก็เป็นเสมือนพิณที่ขึงหย่อนย่อมไม่สามารถออกจากทุกข์ได้ ถ้าหากปฏิบัติตึงเกินไป เช่น การบำเพ็ญทุกรกิริยาที่เคยปฏิบัติมานั้นก็เป็นเสมือนพิณที่ขึงตึงนัก พอดีดก็ขาด พระองค์ก็เช่นเดียวกัน บำเพ็ญลำบากเปล่าๆ แทบจะขาดใจก็หาได้ผลใดๆ ไม่ ฉะนั้นจึงควรเดินสายกลางไม่ให้ตึงนักและหย่อนนัก ซึ่งเรียกว่า ”มัชฌิมาปฏิปทาŽ” นี่กระมังที่จะเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์

     พระสมณโคดมทรงตระหนักได้ว่า ร่างกายและจิตใจเป็นของคู่กันและเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน การทรมานร่างกายก็ย่อมทำให้จิตใจไม่สงบ กระวนกระวาย เมื่อจิตใจไม่สงบปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และถ้ากำลังกายไม่มีกำลังใจจะมีได้อย่างไร จิตใจที่เข้มแข็งย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์ จึงทรงหันกลับมาเสวยอาหารตามปกติเพื่อให้มีกำลังกาย เพื่อจะได้ เจริญสมาธิภาวนาทำความเพียรต่อไป

     เมื่อปัญจวัคคีย์เห็นพระสมณโคดมเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยากลับมาเสวยอาหารเช่นนั้น ก็คิดว่าพระองค์คงจะเลิกละความเพียรหันมาเพื่อความมักมากเสียแล้ว คงไม่อาจตรัสรู้ได้อย่างแน่นอน ถ้าตนจะอยู่ปฏิบัติต่อไปก็คงไม่ได้อะไร จึงพากันหลีกหนีไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตน-มฤคทายวัน (ปัจจุบันนี้เรียกว่า สารนาถ) ใกล้เมืองพาราณสี

     การที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา แล้วมีปัญจวัคคีย์มาอุปัฏฐากเช่นนั้นย่อมเป็นบุญของพระองค์ เพราะเท่ากับพระองค์ได้พยาน เพราะถ้าหากพระองค์ตรัสรู้แล้ว ถ้าทรงสั่งสอนใคร ให้ละเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา จะได้ทรงยกพระองค์เป็นตัวอย่างได้ว่า ทรงเคยทำมาแล้ว หาใช่ทางแห่งความสำเร็จไม่ เมื่อพระองค์ทรงดำริจะบำเพ็ญเพียรทางจิตนั้นก็นับว่าเป็นบุญของพระองค์อีก ที่มีเหตุให้ปัญจวัคคีย์หลบหนีไป เพราะการบำเพ็ญเพียรทางจิตนั้นจำต้องอาศัยความสงบเป็นอย่างมาก ถ้ามีคนอยู่พลุกพล่านย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อความสงัดของพระองค์ ซึ่งนับว่าพระองค์ทรงเป็นผู้มีบุญเป็นอย่างยิ่ง

     ในเช้าวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 พระสมณโคดมได้ทรงรับข้าวมธุปายาสพร้อมถาดจากนางสุชาดา ซึ่งนางนำมาแก้บนที่ได้บุตรคนหัวปีเป็นชาย เพราะเข้าใจว่าพระองค์เป็นเทวดา เมื่อเสวยข้าวมธุปายาสจนหมดจำนวน 45 ก้อน ทรงนำถาดทองใบนั้นไปลอยในน้ำ โดยทรงอธิษฐานเสี่ยงบารมีว่า ถ้าพระองค์จะได้สำเร็จพระโพธิญาณก็ขอให้ถาดนั้นลอยทวนน้ำขึ้นไป ถ้าจะไม่สำเร็จก็ขอให้ลอยไปตามน้ำ ซึ่งปรากฏว่าถาดได้ลอยทวนน้ำไปเป็นระยะทางไกล 1 เส้น จึงได้จมลงไปในน้ำวนแห่งหนึ่ง พระโคดมเมื่อทรงเห็นเช่นนั้นก็มั่นพระทัยว่าพระองค์จะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย ทรงปีติโสมนัสมาก


2.6 การได้ตรัสรู้

     นับแต่การได้ออกทรงบรรพชาจนถึงเสวยข้าวมธุปายาสรวมเป็นเวลา 6 ปีเต็ม พระองค์ก็ได้เสด็จไปประทับนั่ง ณ โคนต้นสาละ ทรงดำริที่จะบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป โดยทรงกำหนดสถานที่ กำหนดเวลาและกิจที่จะต้องทรงทำ เมื่อเตรียมวางแผนในเรื่องดังกล่าว ได้แล้วจึงเสด็จลุกจากต้นสาละ มุ่งตรงไปยังต้นมหาโพธิ์ที่ทรงกำหนดหมายไว้ ขณะนั้นได้มีคนเกี่ยวหญ้าคนหนึ่งชื่อ โสตถิยพราหมณ์ ถือหญ้าคา 8 กำ เดินสวนทางมา พอพราหมณ์นั้น มาพบพระสมณโคดมก็เกิดเลื่อมใส จึงน้อมนำหญ้าคาทั้ง 8 กำนั้นเข้าไปถวาย พระองค์ ก็ทรงรับและเสด็จต่อไปยังต้นมหาโพธิ์ เมื่อเสด็จไปถึงต้นมหาโพธิ์แล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า เบื้องทิศตะวันออกของต้นมหาโพธิ์เป็นที่เหมาะเรียบราบสม่ำเสมอดี จึงทรงเอาหญ้าคาทั้ง 8 กำนั้นปู ทรงพอพระทัยในบัลลังก์หญ้านั้น โดยกำหนดนึกให้เสมอบัลลังก์แก้ว ทรงนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์หญ้า หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันหลังให้ต้นมหาโพธิ์ และ ตั้งสัตยาธิษฐานไว้อย่างอุกฤษฏ์ว่า ถ้าเรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด เราจักไม่ลุกขึ้นตราบนั้น แม้ว่าเนื้อเลือดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามทีŽ แล้วทรงกระทำจิตเข้าสู่สมาธิ

     ในขณะนั้นได้เกิดความขัดแย้งระหว่างธรรมชาติฝ่ายต่ำ คือ กิเลส และธรรมชาติฝ่ายสูง คือ คุณธรรมต่างๆ ในพระทัยของพระองค์ แต่พระองค์มีพลังพระทัยเข้มแข็ง สามารถประมวลเอาบารมีที่เคยสั่งสมอบรมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ให้เข้มแข็งหนักแน่นเสมือนแผ่นดิน หักห้ามความคิดจะกลับหลังเสียได้โดยเด็ดขาดจนสามารถเอาชนะธรรมชาติฝ่ายต่ำได้ และสามารถทำให้จิตเข้าสู่สมาธิที่แน่วแน่มากยิ่งขึ้นตามลำดับ จนได้บรรลุฌานที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ มีจิตที่แน่วแน่มั่นคงผ่องแผ้วจากกิเลสอาสวะทั้งปวงได้ แล้วทำให้บรรลุญาณความรู้เห็นเป็น ขั้นตอนตามลำดับในราตรีนั้น คือ

     ยามที่ 1 (18.00 น. - 22.00 น.) ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ รู้และเข้าใจชาติหนหลังของพระองค์ได้อย่างแจ่มแจ้ง ทั้งทรงรู้แจ้งการกำเนิดและเรื่องของชีวิต

     ยามที่ 2 (22.00 น. - 02.00 น.) ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ คือ ทรงรู้และเข้าใจเหตุที่สัตวโลกต้องเกิดและตายมีสภาพที่แตกต่างกัน

     ยามที่ 3 (02.00 น. - 06.00 น.) ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ คือ ความรู้และความเข้าใจอันเป็นเหตุที่ทำให้สิ้นอาสวกิเลสทั้งหลาย คือ ทรงทราบว่าการที่ขันธ์มาประชุมกันขึ้นเป็นตัวเราตัวเขานี้ ก็เพราะความโง่ (อวิชชา) ความต้องการ ความปรารถนาไม่มีที่สิ้นสุด (ตัณหา) ความ ยึดมั่น ถือมั่น (อุปาทาน) และการกระทำของเรา (กรรม) นั่นเอง ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเหตุและผลของกันและกันเสมือนสายโซ่ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า พระองค์ตรัสรู้อริยสัจ 4 อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย (เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) และมรรค (ทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์) เมื่อทรงรู้อย่างนี้แล้วจิตของพระองค์ก็พ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง ไม่ยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป ในรุ่งอรุณของคืนนั้นพระองค์ก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (คือ ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบธรรม)


2.7 ทรงพระดำริที่จะโปรดสัตว์

     เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ทรงเสวยวิมุตติสุข คือ ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นเวลา 49 วัน (7 สัปดาห์) แล้วได้เสด็จกลับไปยังต้นอชปาลนิโครธ ในราตรีนั้นทรงดำริว่า พระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ยากที่คนธรรมดาจะรู้และเข้าใจและปฏิบัติตามพระองค์ได้ จึงมีพระทัยน้อมไปทางไม่คิดจะ สั่งสอนผู้อื่น แต่เพราะพระเมตตาพระกรุณาอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ในพระหฤทัยเป็นนิจนั่นเอง ได้เตือนพระองค์เองว่า ถ้าพระองค์จะไม่ทรงสั่งสอน สัตว์ทั้งปวงก็จักฉิบหายสิ้น จึงทรงกลับพระทัยคิดจะสั่งสอนสัตว์ต่อไป โดยทรงพิจารณาเห็นว่า

     สัตว์ทั้งหลายมีสติปัญญาอ่อนและแก่กล้าไม่เหมือนกัน ประดุจดอกบัว บางดอกเพิ่งออกจากเหง้ายังจมอยู่ใต้น้ำที่ดินที่เลนอยู่ บางดอกก็งอกมีก้านเจริญขึ้นแล้วแต่ยังอยู่ภายในน้ำ บางดอกก็เจริญขึ้นมาพอเสมอน้ำ และบางดอกก็โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ พอพระอาทิตย์ฉายแสงก็จะบานทันที สัตวโลกทั้งหลายก็มีอุปมาเหมือนดอกบัว ฉะนั้นบางคนก็มีปัญญาเฉียบแหลม สอนเพียงครั้งเดียวก็จะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง เปรียบประดุจดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำคอยแสงแดดอยู่ฉะนั้น บางคนก็มีสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ดี พอแนะนำให้ตรัสรู้ได้โดยง่าย แม้จะต้องสอนกันถึง 2-3 ครั้งก็ตาม ย่อมเป็นเสมือนดอกบัวที่อยู่เสมอผิวน้ำอีก 2-3 วันก็จะบานฉะนั้น บางคนแม้จะไม่ถึงกับจะตรัสรู้มรรคผลได้ แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะแนะนำสั่งสอนให้ตั้งตนอยู่ในคุณธรรมความดีได้ เปรียบเสมือนดอกบัวที่ยังอยู่ในน้ำ พอมีหวังจะบานได้ในอนาคต แม้จะนานสักหน่อยก็ตาม แต่บางคนก็หมดปัญญาที่จะแนะนำได้ ย่อมตกเป็นทาสของกิเลส มานะทิฏฐิตลอดไป เปรียบประดุจดอกบัวที่เพิ่งแตกจากเหง้า ยังไม่แน่ว่าจะผุดขึ้นมาเหนือน้ำได้หรือไม่ อาจเป็นภักษาหาร ของปลาและเต่าก็ได้ เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาเห็นเช่นนั้นแล้ว จึงทรงคิดสั่งสอนประชาชน ต่อไป ครั้นแล้วจึงทรงดำริว่า ควรจะไปสั่งสอนผู้ใดก่อน บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ พวกแรกที่ทรงระลึกถึงได้ คือ อาฬารดาบส และอุททกดาบส แต่ขณะนั้นทั้งสองท่านได้ เสียชีวิตไปก่อนแล้ว บุคคลต่อมาที่ทรงระลึกถึงได้แก่ ปัญจวัคคีย์ ซึ่งได้หนีจากพระองค์ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นผู้มีอุปการคุณต่อพระองค์ระหว่างทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ดังนั้นจึงทรงตัดสินพระทัยจะแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์เป็นพวกแรก


2.8 แสดงปฐมเทศนาและได้ปฐมสาวก

     เมื่อทรงตัดสินพระทัยจะแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ จึงได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในระหว่างทางได้สวนทางกับอาชีวก (นักบวชพวกหนึ่งนอกศาสนาพุทธ) ผู้หนึ่ง ชื่ออุปกะ ณ ตำบลระหว่างแม่น้ำคยากับมหาโพธิ์ต่อกัน อุปกชีวกเมื่อเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีผิวพรรณผุดผ่องงดงามยิ่งนักก็สนใจ จึงถามว่า ”ท่านมีผิวพรรณผ่องใสยิ่งนัก ท่านชื่ออะไร บวชในสำนักผู้ใด ใครเป็นครูของท่านŽ” พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ”เรารู้ธรรมด้วยตนเอง จะได้บวชในสำนักผู้ใดก็หาไม่ ฉะนั้นจึงไม่มีใครที่เป็นครูของเรา เราเป็นผู้ตรัสรู้เอง”Ž อุปกชีวกไม่เชื่อจึงหลีกทางไป พระพุทธองค์เสด็จไปจนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันในตอนเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ในที่สุดก็ได้พบกับปัญจวัคคีย์ และได้ทำให้ปัญจวัคคีย์เชื่อในการตรัสรู้ของพระองค์ และพร้อมที่จะรับฟังธรรม

     ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้น คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี จึงทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ เมื่อปัญจวัคคีย์ได้พิจารณาไตร่ตรองธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแล้ว ท่านโกณฑัญญะซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสที่สุดก็ได้ดวงตา เห็นธรรม (ธรรมจักษุ) คือ ได้เห็นจริงตามทุกประการ นับว่าเป็นบุคคลแรกในโลกที่ได้รู้ตามพระพุทธองค์ แม้จะยังไม่ถึงขั้นสุดก็ตาม แต่ก็เป็นขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความตรัสรู้ต่อไป อันเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงดีพระทัยมากที่ธรรมอันลึกซึ้งที่พระองค์ตรัสรู้แล้วนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยที่คนจะรู้ตามได้ ท่านโกณฑัญญะนี้เป็นพยานยืนยันในความจริงข้อนี้เป็นอย่างดีถึงกับทรงเปล่งอุทานว่า ”อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญŽ” 2 ครั้ง แปลว่า โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โดยนิมิตที่พระองค์ทรงเปล่งอุทานนี้ ท่านโกณฑัญญะจึงได้นามใหม่ว่า อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ต่อจากนั้นอัญญาโกณฑัญญะได้ทูลขอบรรพชากับพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้กลายเป็นภิกษุโดยสมบูรณ์ นับว่าเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นปฐมสาวก

      ในระหว่างนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเพิ่มเติมโปรดอีก 4 ท่านที่เหลือ ท่านวัปปะและท่านภัททิยะได้ดวงตาเห็นธรรม และชุดสุดท้ายที่ได้ดวงตาเห็นธรรมคือ ท่านมหานามะ และท่านอัสสชิ ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ทรงประทานการบรรพชาอุปสมบทให้ ต่อมา ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรโปรดพระภิกษุปัญจวัคคีย์อีก กระทั่งเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งจิตหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปทานอีกต่อไป จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้งหมดทั้ง 5 รูป เท่ากับมีพระอรหันต์เกิดขึ้นแล้วในโลกรวม 6 รูปด้วยกัน และได้ จำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน นับว่าเป็นพรรษาที่ 1 ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      ในระหว่างนั้น ก็ได้แสดงธรรมโปรดยสกุลบุตรและสหายในเมืองพาราณสี 4 คน คือ วิมล สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ พร้อมสหายของยสกุลบุตร ที่อยู่ตามชนบทนอกเมืองพาราณสี อีก 50 คน จนได้บรรลุอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด และจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตน- มฤคทายวัน ในกาลนั้นก็ได้มีพระอรหันต์ในโลกรวม 61 รูปแล้ว


2.9 ประกาศศาสนา

     เมื่อทรงมีสาวกเป็นพระอรหันต์ 60 รูป และออกพรรษาแล้ว ทรงพิจารณาเห็นสมควรว่าจะออกไปประกาศศาสนาให้เป็นที่แพร่หลายได้แล้ว พระพุทธองค์จึงทรงเรียกประชุมสาวกทั้งหมดแล้วตรัสว่า

     ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นจากบ่วงทั้งปวงทั้งชนิดที่เป็นทิพย์ และชนิดที่เป็นของมนุษย์แล้ว แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เราทั้งหลายจงพากันจาริกไปยังชนบททั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชนเถิด อย่าไปรวมกันทางเดียวถึงสองรูปเลย จงแสดงธรรมให้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะเถิด จงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสเบาบางนั้นมีอยู่เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมจะเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้พึงถึง ผู้รู้ทั่วถึงธรรมคงจักมีอยู่ แม้เราเองก็จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมเช่นกันŽ

     พระพุทธองค์ทรงส่งสาวกออกประกาศศาสนาพร้อมกันทีเดียวถึง 60 รูป ไป 60 สาย คือ ไปกันทุกสารทิศทีเดียว แม้พระองค์เองก็ไปเหมือนกัน ไม่ใช่แต่สาวกอย่างเดียวเท่านั้น นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของบุคคลที่จะเป็นผู้นำทีเดียว

      สาวกทั้ง 60 รูป เมื่อได้รับพุทธบัญชาเช่นนั้นก็แยกย้ายกันไปประกาศศาสนาตามจังหวัด อำเภอ และตำบลต่างๆ ทำให้กุลบุตรในดินแดนถิ่นฐานต่างๆ เหล่านั้นหันมาเลื่อมใสได้มากมาย บางคนก็ขอบวช แต่สาวกเหล่านั้นยังให้บวชเองไม่ได้ จึงต้องพากุลบุตรเหล่านั้นมาเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อให้พระองค์บวชให้เอง ทำให้ได้รับความลำบากในการเดินทางมาก ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้สาวกเหล่านั้นอุปสมบทกุลบุตรได้ โดยโกนผมและหนวดเคราเสียก่อน แล้วจึงให้นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด นั่งคุกเข่าพนมมือกราบภิกษุแล้วเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึง พระสงฆ์เป็นสรณะŽ รวม 3 ครั้ง การอุปสมบทเช่นนี้เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา คือ อุปสมบทโดยวิธีให้ปฏิญญาตนเป็นผู้ถึงไตรสรณคมน์

      ตั้งแต่พรรษาที่ 15) ที่ทรงได้สาวกเป็นพระอรหันต์จำนวน 60 รูปแล้ว พระพุทธองค์ก็ได้อาศัยพระมหากรุณาธิคุณทำการประกาศเผยแผ่คำสั่งสอน จนได้สาวกเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นพุทธบริษัท 4 ขึ้นอย่างแพร่หลายและมั่นคง การประกาศพระพุทธศาสนา ของพระองค์ได้ดำเนินการไปอย่างเข้มแข็ง โดยการจาริกไปยังหมู่บ้านชนบทน้อยใหญ่ ในแว่นแคว้นต่างๆ ทั่วชมพูทวีปตลอดเวลาอีก 44 พรรษา คือ พรรษาที่ 2-45 ดังนี้

      พรรษาที่ 2 เสด็จไปยังเสนานิคมในตำบลอุรุเวลา ในระหว่างทางได้สาวกกลุ่ม ภัททวัคคีย์ 30 คน และที่ตำบลอุรุเวลาได้ชฎิล 3 พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ กับศิษย์ 1,000 คน ทรงเทศนาอาทิตตปริยายสูตรที่คยาสีสะ เสด็จไปยังราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ กษัตริย์พิมพิสารทรงถวายสวนเวฬุวันแด่คณะสงฆ์ ได้พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวก อีก 2 เดือนต่อมาเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์ ทรงพำนักที่นิโครธาราม ได้สาวกมากมาย เช่น นันทะ ราหุล อานนท์ เทวทัต และพระญาติอื่นๆ อนาถปิณฑิกเศรษฐีอาราธนาไปยังกรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ถวายสวนเชตวันแด่คณะสงฆ์ ทรงจำพรรษาที่นี่

     พรรษาที่ 3 นางวิสาขาถวายบุพพาราม ณ กรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษาที่นี่

     พรรษาที่ 4 ทรงจำพรรษาที่เวฬุวัน ณ กรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ

     พรรษาที่ 5    โปรดพระราชบิดาจนบรรลุอรหัตตผล ทรงไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ระหว่างพระญาติฝ่ายสักกะกับพระญาติฝ่ายโกลิยะเกี่ยวกับการใช้น้ำในแม่น้ำโรหิณี ทรงบรรพชาอุปสมบทพระนางปชาบดีโคตมี และคณะเป็นภิกษุณี

     พรรษาที่ 6    ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ในกรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษาบนภูเขามังกลุบรรพต

     พรรษาที่ 7    ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ระหว่างจำพรรษาเสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงเทศนาพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา

     พรรษาที่ 8    ทรงเทศนาในแคว้นภัคคะ ทรงจำพรรษาในสวนเภสกลาวัน

     พรรษาที่ 9    ทรงเทศนาในแคว้นโกสัมพี

     พรรษาที่ 10    คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีแตกแยกกันอย่างรุนแรง ทรงตักเตือนไม่ เชื่อฟัง จึงเสด็จไปประทับและจำพรรษาในป่าลิเลยยกะ มีช้างเชือกหนึ่งมาเฝ้าพิทักษ์และรับใช้ตลอดเวลา

     พรรษาที่ 11    เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีปรองดองกันได้ ทรงจำพรรษาในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ เอกนาลา

     พรรษาที่ 12    ทรงเทศนาและจำพรรษาที่เวรัญชา เกิดความอดอยากรุนแรง

     พรรษาที่ 13    ทรงเทศนาและจำพรรษาบนภูเขาจาลิกบรรพต

     พรรษาที่ 14    ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ราหุลขอบรรพชาอุปสมบท

     พรรษาที่ 15    เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุปปพุทธะถูกแผ่นดินสูบเพราะ ขัดขวางทางโคจร

     พรรษาที่ 16    ทรงเทศนาและจำพรรษาที่อาลวี

     พรรษาที่ 17    เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี กลับมายังกรุงอาลวี และทรงจำพรรษาที่ กรุงราชคฤห์

     พรรษาที่ 18    เสด็จไปยังกรุงอาลวี ทรงจำพรรษาบนภูเขาจาลิกบรรพต

     พรรษาที่ 19    ทรงเทศนาและจำพรรษาบนภูเขาจาลิกบรรพต

     พรรษาที่ 20    โจรองคุลิมาลกลับใจเป็นสาวก ทรงแต่งตั้งให้พระอานนท์เป็นอุปัฏฐากรับใช้ใกล้ชิดตลอดกาล ทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์ ทรงเริ่มบัญญัติพระวินัย

     พรรษาที่ 21-44 ทรงยึดเอาวัดพระเชตวันและวัดบุพพารามในกรุงราชคฤห์เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่และเป็นที่ประทับจำพรรษา เสด็จพร้อมสาวกออกเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ ตามแว่นแคว้นต่างๆ โดยรอบ

     พรรษาที่ 45 ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้ายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์มีเนื้อความปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร ความว่า พระเทวทัตปองร้ายพระพุทธเจ้าบริเวณ เขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์ถึงกับพระบาทห้อโลหิต ทรงได้รับการบำบัดจากหมอชีวก วัสสการพราหมณ์ได้เข้าเฝ้า ต่อจากนั้นเสด็จไปยังอัมพลัฏฐิกา นาลันทา และปาฏลิคามตามลำดับ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่โตมดิตถ์ เสด็จต่อไปยังโกฏิคาม นาทิคาม และเวสาลี ทรงพำนักในสวนของนางคณิกา อัมพปาลี เสด็จจำพรรษาที่เวฬุวัน ทรงเริ่มประชวร และ 3 เดือนต่อมาเสด็จ ดับขันธปรินิพพาน ในเมืองกุสินาราแห่งแคว้นมัลละ ในวันเพ็ญเดือน 6 (วิสาขะ) เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา

     ก่อนวันที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน 1 วัน ได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดนายจุนทะ และนายจุนทะได้ถวายภัตตาหารเช้า ซึ่งมีอาหารที่จัดเป็นพิเศษถวาย คือ สุกรมัทวะ หลังจากเสวยเสร็จแล้วในระหว่างทางเสด็จสู่เมืองกุสินาราในวันเพ็ญเดือน 6 นั้น ทรงประชวรหนักด้วย พระโรคลงพระโลหิต จนมาถึงข้ามแม่น้ำหิรัญวดีเข้าเขตเมืองกุสินารา พระอาการประชวรหนักขึ้น จึงตรัสสั่งให้พระอานนท์จัดตั้งเตียงปูลาดผ้าสังฆาฏิ แล้วเสด็จประทับบรรทมสีหไสยาสน์ระหว่างต้นรัง (สาละ) ทั้งคู่ โดยหันพระเศียรไปเบื้องทิศอุดร เสด็จดับขันธปรินิพพาน ปัจฉิมโอวาท6) ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานมีใจความว่า

     “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิดŽ”

      หลังจากปรินิพพานได้ 7 วัน ก็ได้จัดให้มีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ มกุฎพันธนเจดีย์ ห่างจากเมืองกุสินาราทางทิศตะวันออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร มีการแบ่ง พระบรมสารีริกธาตุเพื่อนำไปสักการบูชาแก่บรรดาเจ้าผู้ครองนครต่างๆ 9 นครด้วยกัน

 

3. คัมภีร์ในศาสนา

      คัมภีร์ของศาสนาพุทธ คือ พระไตรปิฎก คำว่า ไตรปิฎกŽ มาจากภาษาบาลีว่า ติปิฏก หรือเตปิฏก ติ หรือ เต หรือ ไตร แปลว่า 3 ปิฏก แปลว่า กระจาดหรือตะกร้า ก็ต้องตีความว่าเป็นเสมือนกระจาดหรือตะกร้าสำหรับใส่หรือรวบรวมพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่ไม่ให้กระจัดกระจาย แบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่สาวกรวบรวมจากการที่ท่องจำสืบต่อกันมาและได้มาประชุมสังคายนาร่วมกัน โดยได้จารึกขึ้นในภายหลังเป็นภาษาบาลี สันสกฤต จีน ทิเบต และไทย

พระไตรปิฎก7) หรือปิฎกทั้ง 3 นั้น ได้แก่

1.1 พระวินัยปิฎก

     พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัย คือ ศีลของภิกษุ ภิกษุณี มีเรื่องเล่าประวัติความเป็นมาที่ทรงบัญญัติวินัยอย่างละเอียด นอกนั้นยังมีเรื่องเกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติและวิธี ดำเนินการในการบริหารคณะสงฆ์โดยพิสดาร มี 21,000 พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น 3 หมวด หรือ 5 คัมภีร์ จัดพิมพ์อักษรไทย 8 เล่ม คือ

ก. วิภังค์ หรือ สุตตวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ แบ่งเป็น 2 คัมภีร์ คือ

1. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก (อา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนัก ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต (Major Offences) จัดพิมพ์เป็น 1 เล่ม
2. ปาจิตติยะ (ปา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถึงเสขิยะ และรวมเอาภิกขุนีวิภังค์เข้าไว้ด้วย (Minor Offences) จัดเป็น 2 เล่ม วิภังค์นี้แบ่งอีกอย่างหนึ่งเป็น 2 เหมือนกัน คือ

(1) มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ จัดเป็น 2 เล่ม
(2) ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ จัดเป็น 1 เล่ม

ข. ขันธกะ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิิโมกข์ รวมเป็นบทๆ เรียกว่า ขันธกะหนึ่งๆ ทั้งหมดมี 22 ขันธกะ แบ่งเป็น 2 วรรค คือ

1. มหาวรรค (ม; วรรคใหญ่) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น มี 10 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
2. จุลวรรค (จุ; วรรคเล็ก) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย มี 12 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
ค. ปริวาร (ป; หนังสือประกอบ, คู่มือ) คัมภีร์บรรจุคำถามคำตอบ ซ้อมความรู้ พระวินัย จัดเป็น 1 เล่ม


1.2 พระสุตตันตปิฎก

      พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตร คือ คำเทศนาสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและ พระสาวก มีเรื่องราวประกอบมาก รวมทั้งรายละเอียดแห่งการที่จะทรงโต้ตอบกับนักบวชแห่งศาสนาอื่น และผู้ที่มาซักถาม มีการกล่าวถึงภูมิประเทศ เหตุการณ์ บุคคล และกาลเวลา พลอยให้ได้ประโยชน์ในการศึกษาชีวิตของชาวอินเดียในครั้งนั้น มีลักษณะเป็นรูปคาถา ร้อยกรอง ล้วนบ้าง ร้อยแก้วล้วนบ้าง ผสมร้อยแก้วกับร้อยกรองบ้าง มีทั้งหมด 21,000 พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น 5 นิกาย (ประมวลหรือชุมนุม) จัดพิมพ์เป็น 25 เล่ม คือ

     1. ทีฆนิกาย (ที) ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว จัดเป็น 3 วรรค 3 เล่ม มี 34 สูตร

     2. มัชฌิมนิกาย (ม) ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง จัดเป็น 3 ปัณณาสก์ 3 เล่ม มี 152 สูตร

     3. สังยุตตนิกาย (สํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่า สังยุตต์หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน จัดเป็น 56 สังยุตต์ แล้วประมวลเข้าอีกเป็น 5 วรรค 5 เล่ม มี 7,792 สูตร

     4. อังคุตตรนิกาย (อํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่า นิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม จัดเป็น 11 นิบาต (หมวด 1 ถึงหมวด 11) รวมเข้าเป็นคัมภีร์ 5 เล่ม มี 9,557 สูตร

     5. ขุททกนิกาย (ขุ) ชุมนุมพระสูตร ข้อธรรม คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ด รวมคัมภีร์ที่จัดเข้าไม่ได้ในนิกายสี่ข้างต้น มีทั้งหมด 15 คัมภีร์ จัดเป็น 9 เล่ม คือ ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต (1 เล่ม) วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา (1 เล่ม) ชาดก (2 เล่ม) นิทเทส (มหานิทเทส 1 เล่ม, จูฬนิทเทส 1 เล่ม) ปฏิสัมภิทามัคค์ (1 เล่ม) อปทาน (2/3 เล่ม) พุทธวงศ์ จริยาปิฎก (1/3 เล่ม)


 

1.3 พระอภิธรรมปิฎก

      พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยอภิธรรม กล่าวถึงเนื้อธรรมะในแง่วิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ บุคคล ภูมิประเทศ และกาลเวลา เป็นเนื้อหาธรรมะที่นำเอามาอธิบายก็มีอยู่แล้ว ในส่วนพระสุตตันตปิฎกนั่นเอง มี 42,000 พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ จัดพิมพ์เป็น 12 เล่ม คือ

     1. ธัมมสังคณี หรือ สังคณี (สํ) รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบาย เป็นประเภทๆ (1 เล่ม)

     2. วิภังค์ (วิ) อธิบายข้อธรรมที่รวมเป็นหมวดหมู่ (เรียกวิภังค์หนึ่งๆ ) แยกแยะออกชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด (1 เล่ม)

     3. ธาตุกถา (ธา) สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ (ครึ่งเล่ม)

     4. ปุคคลบัญญัติ (ปุ) บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ (ครึ่งเล่ม)

     5. กถาวัตถุ (ก) แถลงวินิจฉัยทัศนะต่างๆ ที่ขัดแย้งระหว่างนิกายทั้งหลาย สมัยสังคายนาครั้งที่ 3 (1 เล่ม)

     6. ยมก (ย) ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบโดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (2 เล่ม)

     7. ปัฏฐาน (ป) หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย 24 โดยพิสดาร (6 เล่ม)

     อนึ่ง 3 ปิฎกนี้สงเคราะห์เข้าใจปาพจน์ 2 คือ พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก จัดเป็นธรรม พระวินัยปิฎกจัดเป็นวินัย

     พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี และได้จัดพิมพ์ด้วยอักษรไทย พม่า ลังกา ลาว มอญ เขมร โรมัน ซึ่งอ่านแล้วออกเสียงเป็นอย่างเดียวกัน และได้แปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา รวมทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ส่วนที่จัดพิมพ์อักษรไทยเป็น 45 เล่ม ก็เพื่อให้จำนวนสอดคล้องกับระยะเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาเป็นเวลา 45 ปี นั่นเอง

     ภายหลังที่ศาสนาพุทธแบ่งออกเป็นนิกายเถรวาท และนิกายมหายานแล้ว พระ- ไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีก็เป็นคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาท ส่วนฉบับภาษาสันสกฤตเป็นคัมภีร์ของฝ่ายมหายาน ต่อมาได้มีการแปลเป็นภาษาจีนและภาษาทิเบต และฉบับสันสกฤตสูญหายไปมากต่อมาก พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานจึงได้ใช้พระไตรปิฎกฉบับภาษาจีนเป็นหลัก แม้ ชาวญี่ปุ่นก็ใช้ฉบับภาษาจีนเป็นหลัก เพราะในสมัยก่อนญี่ปุ่นใช้ตัวหนังสือจีน เพิ่งมาประดิษฐ์ตัวอักษระบบใหม่ขึ้นในภายหลัง

     นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์ทางศาสนาพุทธที่อธิบายขยายความคำสอนในคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นลำดับชั้นดังนี้

     ก.    อรรถกถา เป็นตำราอธิบายพระไตรปิฎกซึ่งแต่งโดยอาจารย์ในกาลต่อมาที่เรียกว่าพระอรรถกถาจารย์ เป็นเนื้อความสอนชั้นที่ 2 รองจากพระไตรปิฎก

     ข.    ฎีกา เป็นตำราอธิบายขยายความอรรถกถา ซึ่งแต่งโดยอาจารย์ที่เรียกว่า พระฎีกาจารย์ ถือเป็นตำราชั้นที่ 3

     ค.    อนุฎีกา เป็นตำราอธิบายขยายความฎีกา หรือเรื่องเกร็ดย่อยเบ็ดเตล็ด ซึ่งเขียนโดยอาจารย์ที่เรียกว่า พระอนุฎีกาจารย์ เป็นตำราชั้นที่ 4

 

4 หลักคำสอนที่สำคัญ

      หลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น โดยภาพรวมแล้วหลักคำสอนทุกหมวดทุกข้อล้วนมีความสำคัญเหมือนกันหมดทั้งสิ้น คือถ้าพุทธศาสนิกชนได้นำหลักคำสอนข้อใดข้อหนึ่งไปประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว จะทำให้สามารถหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายไปสู่พระนิพพานได้เหมือนกันหมด ส่วนหลักคำสอนที่จะได้้ศึกษาในบทเรียนนี้ เป็นหลักคำสอนพื้นฐานสำคัญที่ควรศึกษาก่อนในเบื้องต้น คือ พระรัตนตรัย หลักสัมมาทิฏฐิ ไตรลักษณ์ อริยสัจ 4 มรรคมีองค์ 8 และนิพพาน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.1 พระรัตนตรัย

    พระรัตนตรัย8) แปลว่า ดวงแก้วอันประเสริฐ 3 ดวง เป็นสัญลักษณ์อันมีค่า และเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชน 3 อย่าง คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งอาจจำแนกอธิบายได้ ดังนี้

     พระรัตนตรัยในฐานะสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธ 1. พระพุทธเจ้า9)

     องค์แห่งพระรัตนตรัยองค์ที่ 1 คือพระพุทธเจ้า หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่นี้ จะกล่าวถึงคุณลักษณะ 2 ประการ ได้แก่

     1) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในฐานะบุคคล หรือมนุษย์ในประวัติศาสตร์ พระนามว่า สิทธัตถะ ทรงเป็นราชโอรสพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา ตระกูลศากยะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน ในวันเพ็ญเดือน 6 ที่ประเทศอินเดีย เมื่ออายุครบ 16 พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา มีพระโอรส 1 องค์ พระนามว่า ราหุล

     เสด็จออกผนวชเมื่ออายุ 29 ชันษา บำเพ็ญเพียรอยู่ 6 ปี จึงตรัสรู้เป็นพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือน 6 ณ พุทธคยา ทรงเผยแผ่ศาสนาพุทธนานถึง 45 พรรษา และเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนม์ได้ 80 พรรษา ในวันเพ็ญเดือน 6 ณ เมืองกุสินารา ประเทศอินเดียปัจจุบัน

     2) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์ผู้พัฒนาตนสูงสุด และเป็นแม่แบบที่มนุษย์ทั้งปวงจะต้องยึดถือไว้เป็นแบบอย่าง โดยทรงคุณสมบัติ 9 ประการ คือ

(1)    เป็นพระอรหันต์
(2)    ตรัสรู้เองโดยชอบ
(3)    ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
(4)    เสด็จไปดีแล้ว
(5)    เป็นผู้รู้แจ้งโลก
(6)    เป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า
(7)    เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
(8)    เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว
(9)    เป็นผู้มีโชค

     ซึ่งย่นย่อลงในหลัก 3 อย่าง คือ

1) พระปัญญาธิคุณ ทรงมีพระปัญญา คือ ความรู้สัพพัญญุตญาณ
2) พระกรุณาธิคุณ ทรงคุณความดี คือ ความกรุณา ในฐานะเป็นคุณธรรมที่นำให้ความดีอื่นๆ ทั้งหลาย และประโยชน์สุขเกิดขึ้นแก่คนอื่นๆ
3) พระวิสุทธิคุณ ทรงบริสุทธิ์ทั้งพระชาติ และความประพฤติทางกาย วาจา ใจ

2. พระธรรม10)

      พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความจริงที่สามารถ เข้าถึงได้ด้วย

      ถ้าเป็นผู้นำพระธรรมนั้นมาประกาศสั่งสอนผู้อื่น เผยแผ่ให้ผู้อื่นรู้ตาม หรือก่อตั้ง ศาสนาได้ เรียกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าค้นพบเองแต่ไม่ได้เผยแผ่่พระธรรมนั้นแก่คนอื่น เรียกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะไม่สามารถจะตั้งศาสนาได้ ถ้าเป็นผู้รู้ธรรมตามที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เรียกว่า อนุพุทธ หรือสาวก คุณของพระธรรมมี 6 อย่าง คือ

1. เป็นธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว
2. เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
3. เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยกาล (เหนือกาลเวลา)
4. เป็นธรรมอันควรเรียกให้มาดู (พิสูจน์ได้)
5. เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตน
6. เป็นธรรมอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

     พระธรรมทั้งปวงเป็นคุณชาติที่ทำให้ปุถุชนผู้ปฏิบัติตามกลายเป็นพระอริยบุคคล มี 4 ระดับ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ พระธรรมมีวิมุตติเป็นแก่น และความพ้นทุกข์เป็นรส

     พระคัมภีร์รองรับพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศแล้ว เรียกว่า พระไตรปิฎก แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ พระวินัยปิฎก ว่าด้วยระเบียบวินัย และศีล พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยหลักธรรมที่ทรงแสดงแก่บุคคลต่างๆ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เวลา และสถานที่ และ พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยองค์แห่งสภาวธรรมล้วนๆ ไม่ปรารภบุคคล หรือสถานที่

      พระธรรมทั้งปวงรวมลงเป็นธรรม 3 อย่าง คือ ปริยัติธรรม ได้แก่ การศึกษา เล่าเรียนอันเป็นส่วนเบื้องต้น ปฏิบัติธรรม ได้แก่ ความประพฤติตามธรรมที่ตนได้สดับมา และปฏิเวธธรรม คือผลของการปฏิบัติ ที่เรียกว่า อริยมรรค อริยผล มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น มีอรหัตตผลเป็นที่สุด

3. พระสงฆ์11)

     พระสงฆ์ คือ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติถูกต้อง ตรงกับพระธรรมวินัยที่พระสัมมา- สัมพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้ เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพยานการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตามและได้สั่งสอนธรรมต่อมา จึงเป็นที่ควรเคารพนับถือ

     พระสงฆ์ทรงคุณลักษณะ 9 ประการ คือ

     1.    เป็นผู้ปฏิบัติดี มุ่งปฏิบัติชอบด้วยพระวินัย พัฒนาตนเองไปตามลำดับ ไม่เป็นข้าศึกต่อผู้อื่น พยายามขัดเกลาจิตใจ และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนไปตามลำดับตามความสามารถของตน
     2.    เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ พยายามทำตนให้ตรงต่อคำสอนเหล่านั้น เป็นผู้ตรงต่อ ตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อภารกิจการงานพระศาสนา
     3.    เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม คือ ปฏิบัติมุ่งให้สงบกาย วาจา ใจ จนถึงหลุดพ้นจากความทุกข์
     4.    เป็นผู้ปฏิบัติสมควร คือ ปฏิบัติตามสมควรแก่สมณเพศ สมควรแก่ฐานะ กระทั่ง สามารถขจัดกิเลสได้โดย ลำดับจนหมดสิ้นไป
     5.    เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา คือ ปฏิบัติตนดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร ดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นที่เคารพสักการะของคนทั้งหลาย
     6.    เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ คือ เป็นผู้ที่เมื่อประชาชนต้อนรับแล้ว ย่อมเกิดความสุขสบายใจ คือ ประสบบุญ อันมีผลเป็นความสุขทั้งในปัจจุบันและกาลภายหน้าด้วย
     7.    เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน คือ เป็นผู้ปฏิบัติดีงาม เหมาะสมเป็นผู้รับทักษิณาทาน เพราะช่วยให้ทานที่เขาบริจาคมีผล มีอานิสงส์มาก
     8.    เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี คือ เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ควรแก่การประณมมือไหว้ท่านด้วยความเคารพ เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้มีคุณความดี
    9.    เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า เพราะคุณความดีของพระสงฆ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นเหมือนกับนาที่ดี ชาวโลกที่ต้องการความดีอันเป็นสุข ย่อมคบหาสมาคมเพราะความเป็นกัลยาณมิตร เป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งปวง เมื่อเข้าสมาคมย่อมได้รับสิ่งที่เป็นกุศล และความสุข
ดังนั้น พระสงฆ์จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม


1.2 หลักสัมมาทิฏฐิ12)

      สัมมาทิฏฐิ หมายถึง คำสอนที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ของโลกและชีวิต ว่าสิ่งใดเป็นความชั่วที่ต้องละเว้น สิ่งใดเป็นความดีที่ต้องทำ สิ่งใดเป็น การขจัดอาสวกิเลสให้สิ้นไปอย่างเด็ดขาด และไม่ว่าจะถูกพิสูจน์โดยใคร จำนวนเท่าไร ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะถูกต้องตรงกันตลอดกาล

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหลักสัมมาทิฏฐิที่มนุษย์ทุกคนต้องเข้าใจให้ถูกต้อง มี 10 ประการ คือ

1.    ทานที่ให้แล้วมีผล (หมายถึงการให้ในระดับแบ่งปันกัน)

2.    ยัญที่บูชาแล้วมีผล (หมายถึงการให้ในระดับสงเคราะห์กัน)

3.    การเซ่นสรวงมีผล (หมายถึงการบูชาบุคคลที่ควรบูชามีผลดีจริง)

4.    ผลคือวิบากของกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี (หมายถึง บุคคลทำดีต้องได้ดีจริง ทำชั่วต้องได้ชั่วจริง)

5.    โลกนี้มี (หมายถึง โลกนี้มีคุณเป็นอย่างยิ่ง เหมาะสำหรับใช้สร้างบุญบารมี)

6.    โลกหน้ามี (หมายถึง โลกหน้ามีจริง ตายแล้วไม่สูญ ความเป็นไปของโลกหน้า เป็นผลมาจากโลกนี้)

7.    มารดามี (หมายถึงมารดามีพระคุณต่อบุตรอย่างยิ่ง บุตรควรตั้งใจตอบแทนพระคุณท่านอย่างเต็มที่)

8.    บิดามี (หมายถึง บิดามีพระคุณต่อบุตรอย่างยิ่ง บุตรควรตั้งใจตอบแทนพระคุณท่านอย่างเต็มที่)

9.    สัตว์ที่เกิดแบบโอปปาติกะมี (หมายถึง สัตว์ที่ผุดขึ้นเกิดแล้วโตทันทีมีจริง อาทิเช่น ในภูมิทุคติ ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย ในภูมิสุคติ ได้แก่ เทวดา พรหม อรูปพรหม)

10.    สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบชนิดที่ทำให้แจ้งโลกนี้ โลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตามมี (หมายถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ ผู้สามารถรู้แจ้งในโลกนี้ โลกหน้า ด้วยวิริยอุตสาหะอันยิ่งของท่านเองมีจริง)

     ซึ่งถ้าหากใครมีความเข้าใจในเรื่องสัมมาทิฏฐิทั้ง 10 ประการนี้แล้ว ต้องถือว่าบุคคลนั้นมีวิถีชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุด


 

1.3 ไตรลักษณ์13)

     ไตรลักษณ์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ แปลว่า ลักษณะ 3 อย่าง หมายถึง กฎธรรมชาติที่มีอยู่ทั่วไปในสรรพสิ่ง กฎธรรมชาตินี้เป็นภาวะที่ทรงตัวอยู่เองโดยธรรมชาติ (ธรรมธาตุ) เป็นหลักหรือกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว (ธรรมฐิติ) เป็นสิ่งธรรมดา ไม่มีผู้สร้างบันดาล เกิดเอง เป็นเอง (ธรรมนิยาม) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงกฎธรรมชาตินี้ ไว้ว่า ไม่ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นในโลกหรือไม่ก็ตาม กฎธรรมชาตินี้ก็ยังคงมีอยู่และเป็นไปตลอดกาล พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้รู้ที่แจ่มแจ้งซึ่งกฎธรรมชาตินั้น แล้วทรงนำมาประกาศ เปิดเผยให้บุคคลอื่นเข้าใจตามเท่านั้น

     กฎนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ หมายความว่าเป็นลักษณะทั่วไปหรือมีเหมือนกันในสิ่งทั้งปวง มีอยู่ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

     1) อนิจจตา : ความเป็นของไม่เที่ยง อันได้แก่ ไม่ถาวร ไม่คงที่ ไม่แน่นอน เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป แปรปรวนไป

     2) ทุกขตา : ความเป็นทุกข์ อันได้แก่ ความเป็นของทนได้ยาก ทนอยู่ตลอดไป ไม่ได้ ต้องแปรปรวนไป เพราะมีเหตุปัจจัยคือความเกิดขึ้น ความเสื่อมไป และความแปรปรวนไป

     3) อนัตตตา : ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน อันได้แก่ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ขัดแย้งกับความเป็นตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นของว่างเปล่า เป็นเพียงสิ่งสมมติ ไม่ใช่ของตนแท้จริง

     อนิจจตาเป็นปรากฏการณ์ที่ประจักษ์ภายนอก เช่น ผมหงอก ฟันหลุด ผิวหนังเหี่ยวย่น เป็นต้น ส่วนทุกขตาเป็น ”เนื้อในŽ” ของสิ่งนั้น หรือเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ การที่ผมหงอก ฟันหลุด ผิวหนังเหี่ยวย่นดังที่ปรากฏให้เห็นนั้น เป็นเพราะเนื้อแท้ของสิ่งเหล่านี้ ไม่มีความสมบูรณ์ในตัว มีความบกพร่องในตัวเอง จึงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องมีอันเปลี่ยนแปลง


แต่อนัตตตานั้นมีความหมาย 2 นัย ดังต่อไปนี้

     1) อนัตตตา แปลว่า ไม่ใช่ตน หมายความว่าไม่ใช่ตัวตนของคน สิ่งที่เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งประกอบกันเข้าเป็นร่างที่เราเข้าใจว่าเป็น คนŽ นี้ ไม่ใช่ ตัวของคน

     2) อนัตตตา แปลว่า ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่มีวิญญาณถาวร หรือ สิ่งŽ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย อนัตตตาในความหมายนี้ตรงกันข้ามกับอัตตาหรืออาตมันที่ลัทธิอื่นเชื่อถือและยืนยันว่ามีจริง

     ลักษณะดังกล่าวมาแสดงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ สภาพไม่เที่ยงแท้ถาวร ต้องแปรปรวนเสื่อมสลายไปในที่สุด ทุกสิ่งเป็นของไม่จีรังยั่งยืน สรรพสิ่งในจักรวาลตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ ไม่ว่าโลก สังคมมนุษย์ และตัวเราเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลายไปในที่สุด


 

1.4 อริยสัจ 4 14)

     อริยสัจ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐหรือความจริงของพระอริยบุคคล เพราะผู้ใดรู้อริยสัจด้วยญาณ ผู้นั้นก็กลายเป็นผู้ประเสริฐหรือพระอริยบุคคลทันที อริยสัจจึงเป็นหัวใจของศาสนาพุทธ เป็นความจริงขั้นสูงสุดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ หรือตรัสรู้ มี 4 ประการ ดังต่อไปนี้

1. ทุกข์ หรือ ทุกขอริยสัจ แปลว่า สภาพที่ทนได้ยากทั้งทางกายและทางใจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งในความจริง อันได้แก่ ทุกข์ และทุกข์อันเป็นความจริงนี้ หมายถึงสภาพที่ทนได้ยากทางกาย เรียกว่า ทุกข์กาย และสภาพที่ทนได้ยากทางใจ เรียกว่า ทุกข์ใจ ทุกข์ตามความหมายนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้

1)    สภาวทุกข์ คือ ทุกข์โดยสภาพ อันได้แก่ ทุกข์ประจำสังขาร 3 อย่าง คือ ทุกข์คือความเกิด ทุกข์คือความแก่ และทุกข์คือความตาย

2)    ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์เบ็ดเตล็ด หรือทุกข์จร อันได้แก่ ทุกข์ที่เกิดมีขึ้น ภายหลัง มี 8 อย่าง คือ ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก และความไม่สมปรารถนา

     ผู้ศึกษาอาจสังเกตสภาวทุกข์และปกิณณกทุกข์ได้ว่า กระบวนการแห่งชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทั้งทางกายภาพ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และทางจิตภาพ อันได้แก่ ความเศร้าโศก ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความไม่สมปรารถนา เป็นต้น ล้วนก่อให้เกิดความทุกข์ในรูปแบบต่างๆ กล่าวโดยสรุปว่า ภาวะที่จิตหลงผิดไม่เข้าใจความจริงตามสภาวธรรม จึงยึดติดร่างกายและความคิดต่างๆ นั่นคือความทุกข์

     ศาสนาพุทธสอนให้มองโลกตามความเป็นจริงว่า โลกที่เราเห็นอยู่นี้เป็นความจริงอย่างนี้ ชีวิตมนุษย์มีความเป็นจริงอย่างนี้ หากเราไม่ยอมรับความจริงที่ปรากฏอยู่เราจะแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และแก้ไม่ได้ตลอดกาล

     ศาสนาพุทธสอนว่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่พึงจะเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อหาทาง แก้ไข พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นว่า มนุษย์กำลังป่วย ถ้ามนุษย์เข้าใจผิดคิดว่าตนไม่ป่วย อาการอาจจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะความประมาทจนถึงแก่ชีวิต ถ้ามนุษย์เข้าใจผิดคิดว่าอาการป่วยของตนหนักจนไม่มีทางแก้ มนุษย์ก็หมดหวัง


2. สมุทัย หรือ ทุกขสมุทัย แปลว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งในสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ อันได้แก่ ตัณหา 3 ประการ ดังต่อไปนี้

1) กามตัณหา คือความทะยานอยากและความเพลิดเพลิน ยินดีในกามหรือ สิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจ

คำว่า ”กาม”Ž ตามความหมายทางศาสนาพุทธ มี 2 อย่าง คือ

1.    กิเลสกาม ได้แก่ กิเลสที่ทำให้เกิดความใคร่ความพอใจ
2.    วัตถุกาม ได้แก่ วัตถุหรืออารมณ์ที่ชวนให้รู้สึกใคร่พอใจ และติดใจอย่างหนึ่ง วัตถุกามคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยกายหรือผิวหนัง)

2) ภวตัณหา คือ ความอยากเป็นสภาพที่ตนปรารถนาจะเป็น เช่น อยากเป็น ดารา อยากเป็นผู้แทนราษฎร อยากเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

3) วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากเป็นสภาพที่ตนไม่ปรารถนาจะเป็น เช่น ไม่อยากเรียนซ้ำชั้น ไม่อยากเป็นคนแก่ ไม่อยากเจ็บป่วย ไม่อยากมีผมหงอก เป็นต้น

3. นิโรธ หรือ ทุกขนิโรธ แปลว่า ความดับสนิทแห่งทุกข์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า การดับทุกข์ต้องดับที่เหตุซึ่งทำให้ทุกข์เกิด เมื่อเหตุดับไปแล้ว ผลซึ่งเกิดจากเหตุย่อมดับไปด้วย และความดับสนิทแห่งทุกข์ ในที่นี้หมายถึงการดับตัณหาทั้ง 3 นั้นเอง

     การที่จะดับตัณหาโดยตรงนั้นกระทำได้ยาก เพราะตัณหามีพลังแรง ตัณหาเป็นพฤติกรรมของจิตที่เกิดมาคู่กับจิตจนทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ความอยากเป็นธรรมชาติของจิตซึ่งจะแยกกันไม่ออก นอกจากนั้น คนยังมีความอาลัยความรักในตัณหาโดยเข้าใจว่าตัณหาเป็นของตนเองหรือเป็นของตนเองเลยทีเดียว จึงไม่อยากกำจัดตัณหา เปรียบเสมือนไฟที่กำลังลุกโพลงเต็มที่ จะให้ดับลงในทันทีทันใดนั้นย่อมเป็นการยาก ฉะนั้นการดับตัณหาจึงต้องค่อยๆ กระทำไปตามลำดับขั้น ขั้นตอนแห่งการดับตัณหาเรียกว่า มรรคมีองค์ 8

4. มรรค หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แปลว่า ทางหรือมรรควิธีที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ หรือดับตัณหา อันได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8

 

5. มรรคมีองค์ 815)

1.    สัมมาทิฏฐิ : ความเห็นชอบ มีลักษณะเด่นๆ ดังนี้

1) ความเข้าใจชัดว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือสาเหตุแห่งทุกข์ อะไรคือความดับทุกข์ และอะไรคือมรรควิธี หรือมรรคปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์
2) ความเข้าใจว่าอะไรคือกุศลกรรม อะไรคืออกุศลกรรม
3) ความเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท คือกระบวนการเกิดขึ้นและดับแห่งทุกข์โดยปัจจัยอาศัยกัน

2. สัมมาสังกัปปะ : ความดำริชอบ มีลักษณะเด่นๆ 3 ประการ ต่อไปนี้

1) ความคิดที่ปลอดโปร่ง ไม่หมกมุ่นพัวพันอยู่ในสิ่งที่สนองความอยาก อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เรียกว่า กามคุณŽ รวมถึงความคิดเสียสละปราศจากการครุ่นคิดหาผลประโยชน์ใส่ตัว (เนกขัมมวิตก)
2) ความคิดที่ไม่พยาบาทมุ่งร้ายใคร เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา (อพยาปาทวิตก)
3) ความคิดไม่เบียดเบียนใคร ไม่คิดทำร้าย หรือทำลายใคร (อวิหิงสาวิตก)

3. สัมมาวาจา : การเจรจาชอบ มีลักษณะดังนี้

1) งดเว้นจากการพูดเท็จ (มุสาวาท)
2) งดเว้นจากการพูดส่อเสียด ยุยงให้เกิดความแตกแยก (ปิสุณวาจา)
3) งดเว้นจากการพูดหยาบคาย (ผรุสวาท)
4) งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือพูดสิ่งไร้สาระ (สัมผัปปลาปะ)

4.    สัมมากัมมันตะ : การทำงานชอบ มีลักษณะดังนี้

1) งดเว้นจากการทำลายชีวิตคนอื่นและสัตว์อื่น (ปาณาติบาต)
2) งดเว้นจากการขโมยของของคนอื่น (อทินนาทาน)
3) งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม (กาเมสุมิจฉาจาร)

5.    สัมมาอาชีวะ : การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึงการทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต เว้นมิจฉาอาชีวะ อันได้แก่ การเลี้ยงชีพไม่ชอบ คือการโกงหรือหลอกลวง เว้นการประจบสอพลอ การบีบบังคับขู่เข็ญ และการต่อลาภด้วยลาภ รวมถึงอาชีพอีก 5 ประเภท ดังนี้

1) การค้ามนุษย์
2) การค้าอาวุธ
3) การค้าเนื้อ
4) การค้าสุราและยาเสพติด
5) การค้ายาพิษ

6.    สัมมาวายามะ : ความเพียรชอบ หมายถึงเพียรพยายามทางจิตอย่างยิ่งใหญ่ 4 ประการ (สัมมัปปธาน) ดังนี้

1) เพียรระวังมิให้ความชั่วเกิดขึ้น (สังวรปธาน)
2) เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว (ปหานปธาน)
3) เพียรสร้างความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (ภาวนาปธาน)
4) เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม (อนุรักขนาปธาน)

7.    สัมมาสติ : การตั้งสติชอบ หมายถึง สติปัฏฐาน อันได้แก่ การตั้งสติพิจารณา สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง 4 ประการ ดังนี้

1) พิจารณากาย มีหลายวิธี เช่น กำหนดลมหายใจเข้าและออก เป็นต้น (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
2) พิจารณาเวทนา คือความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ (เวทนานุปัสสนาสติ- ปัฏฐาน)
3) พิจารณาจิต คือให้รู้เท่าทันความนึกคิด เช่น จิตมีราคะหรือไม่มีราคะ มีโทสะหรือไม่มีโทสะ เป็นต้น (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
4) พิจารณาธรรมให้เกิดปัญญา รู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง เช่น พิจารณา ขันธ์ 5 เป็นต้น (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

8.    สัมมาสมาธิ : การตั้งจิตมั่นชอบ หมายถึงการที่จิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน เรียกว่า เอกัคคตา สมาธิแบ่งออกเป็น 3 ระดับ จากต่ำไปหาสูง ดังนี้

1. สมาธิชั่วขณะซึ่งเกิดแก่สามัญบุคคลทั่วไปในเวลาปฏิบัติภารกิจประจำวัน เรียกว่า ขณิกสมาธิ
2. สมาธิที่จวนจะแน่วแน่ สมาธิที่ตั้งจิตมั่นกว่าระดับแรก เรียกว่า อุปจารสมาธิ
3. สมาธิที่แนบสนิท เป็นสมาธิระดับฌานขั้นต่างๆ อันเป็นระดับสูงสุด เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

สัมมาสมาธิ หมายถึง สมาธิระดับฌาน (หมายถึงข้อที่ 3) ซึ่งมีอยู่ 4 ขั้น ดังนี้

1. ปฐมฌาน มีองค์ประกอบ 5 คือ วิตก ความตรึกแต่ลมหายใจเข้าและออก วิจาร ความตรองหรือพิจารณาลมหายใจเข้าและออก ปีติ ความอิ่มเอิบใจ สุข เสวยสุขทางกาย และใจอันเกิดจากวิเวก เอกัคคตา ความมีสติเพ่งอยู่อย่างแน่วแน่
2. ทุติยฌาน มีองค์ประกอบ 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
3. ตติยฌาน มีองค์ประกอบ 2 คือ สุข เอกัคคตา
4. จตุตถฌาน มีองค์ประกอบ 2 คือ เอกัคคตา อุเบกขา

 

6. นิพพาน

     ด้วยเหตุที่ชีวิตของมนุษย์เต็มไปด้วยความทุกข์นานัปการ ทั้งทุกข์กาย และทุกข์ใจ ซึ่งผู้เกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกไม่สามารถจะหลีกหนีให้พ้นได้ ศาสนาพุทธจึงสอนให้มนุษย์ มุ่งปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิงและตลอดไป ภาวะสูงสุดที่เมื่อเข้าถึงแล้วความทุกข์ย่อมดับสิ้นไปตลอดกาลนี้ได้แก่ภาวะที่เรียกว่า นิพพาน

1. ความหมายของนิพพาน

     คำว่า นิพพาน โดยความหมายของศัพท์ แปลว่า ความดับ โดยใจความหมายถึง ความดับกิเลสและกองทุกข์ อีกนัยหนึ่งหมายถึง ภาวะที่ออกจากตัณหา หรือภาวะก้าวออกจากกิเลสเครื่องร้อยรัด เป็นภาวะที่เมื่อเข้าถึงแล้วทำให้กิเลสและทุกข์ทั้งปวงดับไปโดยสิ้นเชิงเป็นสมุจเฉทปหาน คือ เมื่อกิเลสและทุกข์ทั้งปวงดับสิ้นไปแล้วก็จะไม่กลับเกิดมีขึ้นมาอีก ผู้ที่เข้าถึงนิพพานดังกล่าวนี้ ศาสนาพุทธเรียกว่า พระอรหันต์

     ในทางปฏิบัติ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็คือ ผู้ที่ได้ปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ และปัญญา หรือหลักอริยมรรคมีองค์ 8 จนได้บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุดตามคำสอนของศาสนาพุทธ อันได้แก่อรหัตตมรรคและอรหัตตผล กิเลสที่เรียกว่าสังโยชน์ที่ยังเหลืออยู่จากการทำลายของมรรคเบื้องต่ำ 3 ระดับ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค และอนาคามิมรรค จะถูกอรหัตตมรรคทำลายให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง ผลที่เกิดต่อเนื่องจากการทำลายกิเลสของ อรหัตตมรรค เรียกว่า อรหัตตผล ผู้ที่เข้าถึงหรือบรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผลที่เรียกว่า พระอรหันต์นี้ เป็นผู้เข้าถึงนิพพานตามคำสอนของศาสนาพุทธ


2. นิพพาน 2 ประเภท

     การเข้าถึงภาวะสูงสุดตามคำสอนของศาสนาพุทธ คือ การบรรลุนิพพาน พระอรหันต์จึงจัดว่าเป็นผู้ที่ได้เข้าถึงภาวะสูงสุดดังกล่าวนี้ แต่มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับพระอรหันต์ก็คือ บุคคลที่บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุดที่เรียกว่าพระอรหันต์นี้ ถ้าบรรลุมรรคผลแล้วยังมีชีวิตอยู่ก็เรียกว่าได้บรรลุ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์จัดเป็นผู้ที่ดับทุกข์ทางใจได้สิ้นเชิง เพราะกิเลสอันเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ทางใจของท่านได้ถูกอรหัตตมรรคทำลายได้เด็ดขาดสิ้นเชิงแล้ว ส่วนความทุกข์ทางกาย เช่น ความเจ็บปวดหรือความเจ็บป่วยทางกายยังคงมีอยู่ต่อไปตราบเท่าที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เพราะสังขารร่างกาย ซึ่งเป็นวิบากแห่งกิเลสและกรรมในอดีตของท่านยังมีอยู่ยังไม่ได้แตกดับไป ท่านจึงยังคงมีความทุกข์ทางกายเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

     ข้อแตกต่างระหว่างพระอรหันต์กับปุถุชนและพระอริยบุคคลชั้นต่ำทั่วไป ก็คือ บุคคลที่ยังมีกิเลสเมื่อเกิดความทุกข์ทางกายก็จะส่งผลให้ท่านเกิดความทุกข์ทางใจด้วย ส่วนพระอรหันต์นั้น ความทุกข์ทางกายจะไม่ส่งผลให้เกิดความทุกข์ทางใจด้วย เพราะกิเลสอันเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ทางใจท่านละได้เด็ดขาดสิ้นเชิงดังกล่าวแล้ว เมื่อใดพระอรหันต์สิ้นชีวิตหรือตาย เมื่อนั้นเรียกว่าท่านได้บรรลุ อนุปาทิเสสนิพพาน ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปรินิพพาน เมื่อพระอรหันต์เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน หรือปรินิพพาน ก็กล่าวได้ว่าท่านดับได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ เพราะหลังจากตายแล้วพระอรหันต์ก็หมดชาติ คือความเกิดท่านจะไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป

     เกี่ยวกับ "สอุปาทิเสสนิพพาน และอนุปาทิเสสนิพพานŽ” มีพระพุทธภาษิตกล่าวไว้ในขุททกนิกาย อิติวุตตกะ16) ว่า

     “ ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ 2 ประการนี้ 2 ประการเป็นไฉน คือ สอุปาทิเสส นิพพานธาตุ 1 อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ 1 ภิกษุทั้งหลายก็สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้วปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นยังได้รับอารมณ์ทั้งที่น่าพึงใจและไม่น่าพึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่เพราะความที่อินทรีย์ 5 เหล่าใดยังไม่เสื่อมสลาย อินทรีย์ 5 เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่นั่นเทียว ภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ภิกษุทั้งหลายก็อนุปาทิเสสนิพพานธาตุุุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้ของภิกษุนั้นเป็นสภาพอันกิเลสทั้งหลายมีตัณหา เป็นต้น ให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว จัก (ดับ) เย็น ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพาน 2 ประการนี้แลŽ”

     ข้อความพระพุทธพจน์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสอุปาทิเสสนิพพาน กับอนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อบุคคลดับกิเลส คือ ราคะ โทสะ และโมหะได้ ก็ชื่อว่าเข้าถึงสอุปาทิเสสนิพพาน ศาสนาพุทธเรียกบุคคลผู้เข้าถึงนิพพานชนิดนี้ว่าพระอรหันต์ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ต่อไปก็ย่อมได้รับอารมณ์ทั้งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ยังเสวยทั้งสุขเวทนาและทุกขเวทนา เพราะอินทรีย์ 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกายของท่านยังทำงานได้อย่างปกติ เช่นเดียวกับของบุคคลทั่วไป แต่เนื่องจากท่านละกิเลสได้เด็ดขาดสิ้นเชิงแล้วเมื่อกระทบอารมณ์และเวทนาอย่างใด อารมณ์และเวทนาอย่างนั้นย่อมไม่สามารถทำให้จิตของท่าน หวั่นไหวไปตาม คือไม่เกิดความยินดียินร้ายเพราะอารมณ์และเวทนานั้นๆ เมื่อชีวิตของ พระอรหันต์สิ้นสุดลง ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงอนุปาทิเสสนิพพาน เวทนาทั้งปวงย่อมดับสิ้นพร้อมกับการสิ้นสุดของชีวิต


3. ความมีอยู่จริงของภาวะที่เรียกว่า นิพพาน

     ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ภาวะสูงสุดที่เรียกว่านิพพานที่ผู้ปรารถนา ความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิงพึงมุ่งเข้าถึงนั้น เป็นภาวะที่มีอยู่จริง และผู้ดับกิเลสได้หมดแล้วเข้าถึงได้จริง หลักฐานเรื่องนี้มีพระพุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ในขุททกนิกาย อุทาน และอิติวุตตกะ ตรัสยืนยันไว้ว่า

     อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ ยตฺถ เนว ปŸวี น อาโป น เตโช น วาโย น อากาสานญฺจายตนํ น วิญฺาณญฺจายตนํ น อากิญฺจญฺายตนํ น เนวสญฺนาสญฺายตนํ นายํ โลโก น ปรโลโก น อุโภ จนฺทิมสุริยา ตมหํ ภิกฺขเว เนว อาคตึ วทามิ น คตึ น Ÿฐิตึ น จุติ น อุปปตฺติ อปฺปติฏฺŸฐํ อปฺปวตฺตํ อนารมฺมณเมว ตํ เสวนฺโต ทุกฺขสฺสาติ17)

     “ ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญ-จายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้โลกหน้า ดวงจันทร์ และ ดวงอาทิตย์ทั้งสองย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ภิกษุทั้งหลายเราไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไปหาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์Ž”

     อตฺถิ ภิกฺขเว อชาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขตํ โน เจตํ ภิกฺขเว อภวิสฺส อชาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขตํ นิยิธ ชาตสฺส ภูตสฺส กตสฺส สงฺขตสฺส นิสฺสรณํ ปญฺาเยถฯ ยสฺมา จ โข ภิกฺขเว อตฺถิ อชาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขตํ ตสฺมา ชาตฺสส ภูตสฺส กตสฺส สงฺขตสฺส นิสฺสรณํ ปญฺาเยถาติ18)

     “ ภิกษุทั้งหลาย ภาวะอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว ไม่ปรุงแต่งแล้ว มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าภาวะอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว ไม่ปรุงแต่งแล้ว จักไม่มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งภาวะที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่ภาวะอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว ไม่ปรุงแต่งแล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งภาวะที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จึงปรากฏŽ”

     ยตฺถ อาโปท จ ปŸวี เตโช วาโย น คาธติ

     น ตตฺถ สุกฺกา โชตนฺติ    อาทิจฺโจ นปฺปกาสติ

     น ตตฺถ จนฺทิมา ภาติ    ตโม ตตฺถ น วิชฺชติ

     ยทา จ อตฺตนาเวทิ    มุนิ โมเนน พฺราหฺมโณ

     อถ รูปา อรูปา จ    สุขทุกขา ปมุจฺจตีติ.19)

      ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาว ทั้งหลายย่อมไม่สว่าง ดวงอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ ดวงจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็ เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่ามุนีเพราะรู้แจ้ง (สัจจะ 4) แล้วด้วยตนเอง เมื่อนั้นเขาย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์

     พระพุทธพจน์ทั้งหมดที่ได้ยกมากล่าวไว้นี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาวะที่ เรียกว่านิพพานนั้นมีอยู่จริง แต่เป็นภาวะที่ไม่มีอะไรอย่างที่โลกมี กล่าวอีกนัยหนึ่งอะไรก็ตามที่มีอยู่หรือปรากฏอยู่ในโลก สิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่เลยในภาวะที่เรียกว่านิพพาน ไม่มีทั้ง ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ไม่ใช่ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ตามปกติเวลาเราคิดถึงสิ่งที่มีอยู่สิ่งใด สิ่งหนึ่ง เราจะคิดถึงสิ่งนั้นในลักษณะที่มันเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หรือเคลื่อนไหวมาจากทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่ภาวะที่เรียกว่านิพพานนั้นไม่ใช่ทั้งการมา ไม่ใช่ทั้งการไป และไม่ใช่ทั้งการหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่ใช่ทั้งการแตกดับ (จุติ) ไม่ใช่ทั้งการเกิด (อุบัติ) เป็นภาวะที่หาที่ตั้งไม่ได้ จึงมิอาจกล่าวได้ว่ามันมีอยู่ ณ ที่ใด ทั้งเป็นภาวะที่ปราศจากอารมณ์ด้วยประการทั้งปวง ภาวะดังกล่าวนี้เองที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นที่สุดแห่งทุกข์

     ข้อความในลำดับต่อมาแสดงให้เห็นว่า ภาวะที่เรียกนิพพานนั้น เป็นภาวะที่ไม่มีการเกิดขึ้น และไม่มีการเป็นไป ปราศจากการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย (อสังขตะ) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยืนยันว่าภาวะเช่นที่กล่าวนี้มีอยู่จริง เพราะถ้าภาวะนี้ไม่มีอยู่แล้ว การที่จะปฏิบัติตนให้หลุดพ้น (สลัดออก) ไปจากสภาวะที่มีการเกิดขึ้น มีการกระทำและปรุงแต่งของเหตุปัจจัย (สังขตะ) ก็จะเป็นไปไม่ได้เลย แต่เพราะภาวะที่พ้นจากการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยมีอยู่ การปฏิบัติตนจนเข้าถึงความหลุดพ้นจากสังสารวัฏอันเป็นสภาวะที่เป็นไปตามการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยจึงเป็นสิ่งเป็นไปได้

 

7. หลักความเชื่อและจุดมุ่งหมายสูงสุด

      ศาสนาพุทธเชื่อว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่หมดกิเลส วิญญาณก็จะเวียนว่ายตายเกิดร่ำไป คนอาจเกิดเป็นสัตว์ สัตว์อาจเกิดเป็นคนก็ได้ ทั้งนี้ก็เป็นไปตามอำนาจกรรมที่ได้กระทำไว้ นอกจากนี้ก็อาจไปเกิดในทุคติภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน หรือไปเกิดในสุคติ-ภูมิ มีมนุษย์ เทวดา พรหม ก็ได้ การที่ไปเกิดในภูมิต่างๆ ก็เพราะมนุษย์ตลอดทั้งสัตว์ทั้งหลายมีกิเลส เมื่อมีกิเลสจึงเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมจึงได้รับวิบากกรรมหรือผลของกรรม แล้วก็เกิดกิเลสอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้ ดุจเดินรอบวงเวียนไม่ไปถึงไหนแต่ก็เดินไปไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าสิ้นกิเลส จึงจะเข้าสู่นิพพานไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป นิพพานจึงเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เมื่อใครเข้าถึงแล้วก็ไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตาย หยุดการเวียนว่ายใน วัฏสงสาร ไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจอีกต่อไป นิพพานเป็นโลกุตรอยู่เหนือสมมุติ อยู่เหนือกระแสโลก ไม่อาจพรรณนาได้ แต่ก็เป็นสภาวะที่มีอยู่ ไม่ได้สูญสิ้น

 

8. พิธีกรรมที่สำคัญ

     พิธีกรรมในพุทธศาสนา เป็นองค์ประกอบหนึ่งของศาสนา เป็นกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่างผู้ปฏิบัติกับความจริงหรือธรรมในศาสนา พิธีกรรมนอกจากจะเป็นเรื่องความผูกพันระหว่างศาสนิกชนกับศาสนธรรมแล้ว ยังเป็นการแสดงออกซึ่งความหมายในศาสนาด้วย

     พิธีกรรมที่สำคัญในศาสนาพุทธ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

1.1 เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับวินัยสงฆ์โดยเฉพาะ

     เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับวินัยสงฆ์โดยเฉพาะ และดำเนินการทำพิธีโดยเฉพาะ พระสงฆ์เท่านั้น ฆราวาสไม่ได้ร่วมด้วย พิธีนี้เรียกว่า สังฆกรรม ฆราวาสจะมีส่วนร่วมใน ส่วนอื่นที่ไม่ใช่สังฆกรรม เช่น พิธีบรรพชาอุปสมบท พิธีเข้าพรรษา พิธีออกพรรษา

1.2 พิธีทำบุญในงานมงคล

     พิธีทำบุญในงานมงคล พระสงฆ์และฆราวาสดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต มีการตั้งบาตรน้ำมนต์ด้วย เช่น พิธีทำบุญงานมงคลสมรส พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ พิธีทำบุญวันเกิด พิธีทำบุญถวายสังฆทาน พิธีทำบุญทอดกฐินผ้าป่า พิธีทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่

1.3 พิธีทำบุญงานอวมงคล

     พิธีทำบุญงานอวมงคล พระสงฆ์และฆราวาสดำเนินการร่วมกัน เพื่ออุทิศ ส่วนกุศลแก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อขจัดเสนียดจัญไร เช่น

1) การทำบุญเกี่ยวกับศพ เช่น การสวดอภิธรรม การฌาปนกิจศพ การบรรจุศพ การทำบุญ 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน เป็นต้น
2) การทำบุญขจัดเสนียดจัญไร เมื่อเกิดเหตุที่คนโบราณถือว่า ไม่เป็นมงคลในครอบครัว เช่น แร้งจับบ้าน หรือรุ้งกินน้ำในบ้าน เป็นต้น

1.4    พิธีบูชาในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ

     พิธีบูชาในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เป็นพิธีที่ชาวพุทธต้องปฏิบัติร่วมกัน เช่น พิธีบูชาในวันมาฆบูชา พิธีบูชาในวันวิสาขบูชา พิธีบูชาในวันอาสาฬหบูชา

     พิธีกรรมใน 3 ข้อแรก เป็นพิธีกรรมที่ชาวพุทธในประเทศไทยปฏิบัติกัน ส่วน ชาวพุทธในประเทศอื่นอาจจะปฏิบัติแตกต่างกันไป เพราะพิธีกรรมนี้เกี่ยวข้องกับประเพณี ท้องถิ่นซึ่งยากที่จะแยกออกจากกัน

     ส่วนพิธีกรรมในข้อ 4 เป็นพิธีกรรมที่พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั่วโลกต้องปฏิบัติร่วมกัน ปฏิบัติเหมือนกันในวันและเวลาเดียวกัน ถือว่าพิธีนี้เป็นสากลสำหรับชาวพุทธ ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดของแต่ละพิธีต่อไปดังนี้

     1. พิธีบูชาในวันมาฆบูชา พิธีนี้จะปฏิบัติกันในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 กิจกรรมที่ปฏิบัติ มีดังนี้

1) ประดับธงธรรมจักรที่วัด สถานที่ราชการ และอาคารบ้านเรือน
2) ทำบุญตักบาตรที่วัด
3) ฟังเทศน์
4) เวียนเทียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ การเวียนเทียนนี้ปฏิบัติกันได้ทั้งวัน ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ผู้ที่มาเวียนเทียนจะมาเป็นกลุ่ม เช่น ส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ นักเรียน และประชาชน แต่ส่วนมากจะปฏิบัติกันเวลาเย็น

     การเวียนเทียนทุกคนจะถือเครื่องสักการะคือ ดอกไม้ ธูปเทียน เวลาเวียนเทียนจะจุดธูปเทียน เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า

     ประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเป็นเวลา 9 เดือน ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ได้มีการประชุมพระสาวกครั้งใหญ่ เรียกการประชุมครั้งนี้ว่า จาตุรงคสันนิบาตŽ คือ การประชุมมีองค์ 4 ต่อไปนี้

1)    วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนมาฆะ
2)    พระสาวก 1,250 รูป มาประชุมกันเอง โดยมิได้นัดหมาย
3)    พระสาวกทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพระอรหันต์
4)    พระอรหันต์สาวกเหล่านี้เป็นผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธองค์เอง

     การประชุมครั้งนั้น เป็นการประชุมใหญ่ครั้งแรก พระองค์เห็นว่าเป็นโอกาส อันเหมาะที่จะได้ประกาศหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสาวกถือเป็นนโยบายในการประกาศพระศาสนา จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ แปลว่า หลักแห่งคำสอน

     โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ถือกันว่าเป็นหลักหรือหัวใจศาสนาพุทธ เป็นภาษาบาลี 3 คาถา ซึ่งพอจะจับใจความได้ดังนี้

     ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานเป็นธรรมยอดเยี่ยม บุคคลผู้ทำร้ายผู้อื่น หาได้เป็นบรรพชิตไม่ ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ก็ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

     การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้สมบูรณ์ การชำระจิตใจให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

     การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย การสำรวมในวินัย ความรู้จักพอดีในเรื่องอาหาร การนอนการนั่งในที่อันสงบ การบำเพ็ญเพียรทางใจ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายŽ


     2. พิธีบูชาในวันวิสาขบูชา กระทำกันในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 มีพิธีปฏิบัติและกิจกรรมเหมือนกันกับวันมาฆบูชา

     ประวัติความเป็นมาของพิธีบูชาวันวิสาขบูชา เนื่องจากวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธทั่วโลกจึงถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ


     3. พิธีบูชาในวันอาสาฬหบูชา กระทำกันในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 มีวิธีปฏิบัติและกิจกรรมเหมือนวันมาฆบูชา

     ประวัติความเป็นมาของพิธีบูชาในวันอาสาฬหบูชา คือ เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ และเมื่อทรงแสดงธรรมจบแล้วอัญญาโกณฑัญญะซึ่งเป็นหัวหน้าเหล่าปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม พระพุทธองค์ทรงประทานอุปสมบทแก่อัญญาโกณฑัญญะเป็นคนแรก วันนั้นจึงเป็นวันที่มีพระอริยสงฆ์อุบัติขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก จึงทำให้พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ทั้ง 3 ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ชาวพุทธทั่วโลกจึงถือว่าวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธอีกวันหนึ่ง

 

9. นิกายในศาสนา

     ศาสนาพุทธมีนิกายที่สำคัญอยู่ 2 นิกาย อันเกิดจากการสังคายนาครั้งที่ 2 เป็นเหตุให้มีการถือพระวินัยแตกต่างกัน คือ

1.1 นิกายเถรวาท

     นิกายเถรวาท ได้แก่ นิกายที่ทางคณะสงฆ์อันมีพระยศกาลัณฑบุตรเถระถือตามแนวพระพุทธบัญญัติ ดังที่พระเถระทั้งหลายโดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานได้ทำ การสังคายนาไว้ พระสงฆ์คณะนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพวก ”สถวีระŽ” หรือในกาลต่อมาถูก พวกนิกายมหายานเรียกว่า ”หีนยานŽ” ซึ่งแปลว่า ยานเลว ยานเล็ก ยานคับแคบ ไม่สามารถขนสัตวโลกไปสู่ความพ้นทุกข์ได้มาก เพราะมีวัตรปฏิบัติอันเข้มงวดกวดขัน ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุจุดหมายปลายทางได้ยาก แต่ในการประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งแรกที่ศรีลังกา เมื่อ พ.ศ. 2493 ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกใช้คำว่า หีนยาน และให้ใช้คำว่า เถรวาทŽ แทน เพราะเห็นว่าคำว่า หีนยาน เกิดขึ้นเพราะการแก่งแย่งแข่งขันกันในอดีต นิกายเถรวาทนี้ตั้งมั่นอยู่ในประเทศศรีลังกา พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา

1.2 นิกายอาจริยวาท

     นิกายอาจริยวาท ได้แก่ นิกายที่พระภิกษุชาววัชชีถือตามที่อาจารย์ของตนได้แก้ไขขึ้นในภายหลัง พระสงฆ์คณะนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ”มหาสังฆิกะŽ” และในเวลาต่อมาเรียกตัวเองว่า “    มหายานŽ” ซึ่งแปลว่า ยานใหญ่โต สามารถบรรทุกสัตวโลกไปสู่ความพ้นทุกข์ได้มาก เพราะการแก้ไขวัตรปฏิบัติให้อำนวยความสะดวกสบายยิ่งขึ้น จะช่วยสามารถนำสัตว์ไปสู่ความพ้นทุกข์ได้จำนวนมาก นิกายมหายานนี้แพร่หลายในประเทศทิเบต จีน มองโกเลีย เกาหลี เวียดนาม สิกขิม และภูฏาน

     ทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายานโดยหลักการใหญ่ก็ลงรอยกัน แม้ว่านิกายมหายานจะมีลัทธินิกายแยกย่อยออกไปอีกมาก มีพระสูตรและพระคัมภีร์ศาสนาเพิ่มขึ้นในระยะหลังอีกเป็นอันมากก็ตาม ต่อไปนี้เป็นข้อแตกต่างกันในบางประเด็น

เถรวาท มหายาน (อาจริยวาท)
1. ถือเรื่องอริยสัจเป็นสำคัญ 1. ถือเรื่องบารมีเป็นสำคัญ
2. ถือคุณภาพของศาสนิกชนเป็นสำคัญ 2. ถือปริมาณเป็นสำคัญก่อนแล้วจึงค่อยปรับปรุง คุณภาพในภายหลัง ดังนั้นจึงต้องลดหย่อน การปฏิบัติพระวินัยบางข้อลงเข้าหาบุคคล และ เพิ่มเทวดา และเพิ่มพิธีกรรมสังคีตกรรมเพี่อ จูงใจคน ได้อธิบายพุทธมติ อย่างกว้างขวาง เกินประมาณเพี่อการเผยแผ่จนทำให้พระพุทธพจน์ สิ่งเป็นสัจนิยมกลาย เป็นปรัชญาและ ตรรกวิทยาไป
3. มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว คือ พระสมณโคดม หรือพระศากยมุนี 3. มีพระพุทธเจ้าหลายองค์ องค์เติมคือ อาทิ พุทธะ (กายสีน้ำเงิน) เมื่อท่านบำเพ็ญฌานก็ เกิดมีพระฌานิพุทธะอีกมาก เป็นต้นว่า พระไวโรจนพุทธะ อักโขภัยพุทธะ รัตนสมภพพุทธะ ไภสัชชคุรุ โอฆสิทธิ และอมิตาภา เฉพาะองค์นี้ที่มาในร่าง ที่เป็นคน (มานุษี พุทธะ) คือ พระศากยมุนี
4. มีความพ้นจากกิเลส ชาติภพ เป็นอัตตัตถจริยา แล้วบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นเป็นโลกกัตถจริยา เป็นความมุ่งหมายสำคัญ 4. มีความเป็นพระโพธิสัตว์ หรือพุทธภูมิ เพี่อบำเพ็ญโลกัตถจริยาได้เต็มที่เป็นความมุ่งหมาย และมีพระโพธิสัตว์หลายองค์ เช่น พระอวโลกิเตศวร มัญชูสี วัชรปาณี กษิติ ครรภ สมันตภัทร อริยเมตไตรย เป็นต้น
5. มีบารมี 10 ประการ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา อันให้ถึงความเป็นพระพุทธเจ้า          5. มีบารมี 6 ประการ คือ ทาน ศีล วินัย ขันติ ฌาน ปัญญาอันให้ถึงความสำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์และ เป็นปฏิปทาของพระโพธิสัตว์
6. ถึอพระไตรปิฎกเถรวาท คือ พระธรรมวินัยยุติ ตามปฐมสังคายนา ไม่มีพระธรรมวินัยใหม่เพิ่มเติม   6. ถือพระธรรมวินัยเก่า และมีพระสูตรใหม่เพิ่มเติม เช่น สุขาวดีวยูหสูตร ลังกาวตารสูตร สัทธรรมปุณฑริกสูตร ปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นต้น
7. รักษาธรรมวินัยเติมเอาไว้ 7. ปรับปรุงพระธรรมวินัยให้เข้ากับภาวะแวดล้อม
8. ถือว่าพระอรหันต์เมื่อปรินิพพานแล้วไม่เกิดอีก 8. ถือว่าพระอรหันต์เมื่อปรินิพพานแล้วย่อมกลับ มาเกิดใหม่ สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าอีก
9. ยอมรับแต่ธรรมกายและนิรมานกายบางส่วน นอกนั้นไม่ยอมรับ 9. ถือว่าพระพุทธเจ้ามีกาย 3 คือ 1. ธรรมกายได้แก่ ธรรม 2. สัมโภคกาย หรือกายจำลอง หรือกาย อวตารของพระพุทธเจ้า แบบนารายณ์อวตาร คือ ที่พระพุทธเจ้าเป็นพระกัสสปสัมพุทธะบ้างเป็น พระศากยมุนีบ้าง เป็นพระกกุสันธะบ้างเป็นต้น ล้วนเป็นสัมโภคกายของพระพุทธเจ้าองค์เติม (อาทิพุทธะ) ทั้งนั้น และ 3. นิรมาณกาย คือ กาย ที่ต้องอยู่ในสภาพของธรรมดาคือ ต้องแก่ เจ็บ และปรินิพพาน ชึ่งเป็นกายที่พระพุทธเจ้าสร้าง ขึ้นเพี่อสอนคนให้เห็นความจริงของชีวิต แต่ สำหรับพระพุทธองค์ที่แท้นั้นไม่ต้องอยู่ในสภาพ เช่นนั้น แบบเดียวกับปรมาตมันของพราหมณ์

 

10. สัญลักษณ์ของศาสนา

     สัญลักษณ์ของศาสนาพุทธมีหลายอย่าง แต่มีสัญลักษณ์ที่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปมีดังนี้

1.1 ธรรมจักร

     ธรรมจักร หมายถึง วงล้อแห่งพระธรรม ธรรมจักรใช้แทนหลักธรรม คือ มรรค 8 คือ อริยสัจข้อที่ 4 ซึ่งเป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ธรรมจักรมี 8 กำ (8 ซี่ล้อ) ได้รับการรับรองให้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาระดับชาติ และธงทางพระพุทธศาสนา 6 สี (ฉัพพรรณรังสี) ซึ่งใช้อยู่ในประเทศศรีลังกาในขณะนี้ ได้รับการให้ใช้เป็นธงแห่งพระพุทธศาสนาระดับชาติ แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทย นิยมใช้ธงธรรมจักรพื้นสีเหลืองมากกว่า

1.2 พระพุทธรูป

     พระพุทธรูป พระพุทธรูปนิยมสร้างขึ้นในอิริยาบถต่างๆ ไว้เคารพบูชาแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเสมือนสิ่งแทนคล้ายอนุสาวรีย์ ทำให้ผู้พบเห็นน้อมระลึกถึงพระคุณ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณของพระพุทธองค์

1.3 รอยพระพุทธบาท

     รอยพระพุทธบาท ในสมัยที่ยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูป ชาวพุทธนิยมสร้าง รอยพระพุทธบาทซึ่งแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และร่องรอยแห่งความดีที่พระพุทธองค์ทรงประทับไว้เป็นแบบอย่าง

1.4 ใบโพธิ์

     ใบโพธิ์ หรือ ต้นโพธิ์ เป็นต้นไม้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาศัยร่มเงาในระหว่างเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพียร และได้ตรัสรู้อริยสัจธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

 

11. ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน

     ปัจจุบันศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศแถบเอเชีย จนได้นามว่าประทีปแห่งทวีปเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธเจริญยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ ชาวไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นพุทธศาสนิกชน จนศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย ทั้งองค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทั้งพฤตินัยและนิตินัย และประเทศไทยยังได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งถาวรขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกอีกด้วย แต่ละปีจะมีชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยเข้ามาบรรพชาอุปสมบทอยู่เสมอ จึงมีพระภิกษุ สามเณรชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากในประเทศไทย เช่น ที่วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น และบรรดาท่านเหล่านั้น บางรูปก็ได้เดินทางกลับไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศของตน กลายเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ศาสนาพุทธเป็นอย่างดี จึงทำให้ศาสนาพุทธขยายไปสู่ประเทศต่างๆ ที่นับถือศาสนาอื่น ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกาและออสเตรเลีย

     อย่างเช่นในปัจจุบัน (พ.ศ. 2538) มีวัดไทยในต่างประเทศถึง 97 วัด โดยอยู่ในสหรัฐอเมริกา 51 วัด ในสิงคโปร์ 11 วัด ในออสเตรเลีย 8 วัด ในอินเดีย 7 วัด ในอังกฤษ 6 วัด ในมาเลเซีย 4 วัด ในเยอรมนี เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ ประเทศละ 2 วัด ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศละ 1 วัด การที่ศาสนาพุทธแผ่ขยายเข้าไปในต่างประเทศที่นับถือศาสนาอื่นได้ ก็เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญาและเมตตาธรรม คำสั่งสอนในศาสนาพุทธเป็นความจริงตามธรรมชาติ จึงสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องเหตุผล ทั้งศาสนาพุทธก็สอนให้ใช้ปัญญาขบคิดพิจารณาในเรื่องต่างๆ ตลอดถึงการดำเนินชีวิต เป็นตัวของตัวเองไม่เชื่อตามใคร และศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเมตตาธรรม ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร มีแต่ให้ความรักให้อภัยต่อกัน ดังนั้นเมื่อศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าไปในประเทศไหน ก็จะไม่เป็นที่รังเกียจของคนในศาสนาอื่น เพราะศาสนาพุทธไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครดังกล่าวแล้ว

      ประเทศทั่วโลกที่ศาสนาพุทธแผ่เข้าไปถึง จะมีสมาคมพุทธศาสนาบ้าง ออกวารสารทางพุทธศาสนาบ้าง จัดตั้งสำนักสงฆ์จนถึงวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาและปฏิบัติธรรม ตลอดทั้งการเผยแผ่ศาสนาพุทธบ้าง จึงมีกลุ่มทางศาสนาพุทธในต่างประเทศทั่วโลกกว่า 1,000 แห่ง

      ยิ่งกว่านั้น ประเทศที่เคยนับถือศาสนาพุทธมาก่อน เช่น ประเทศจีน เป็นต้น แต่ต้องมาเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ก็ได้หันมานับถือศาสนาพุทธอีก เพราะระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย จึงทำให้มีจำนวนพุทธศาสนิกชนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีมากกว่า 390 ล้านคน (Encyclopaedia Britanica 1992 : 269) อีกทั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกก็คอยเป็นศูนย์กลางจัดให้ชาวพุทธทั่วโลกมาประชุม ทำให้ทราบความเป็นไปของศาสนาพุทธในประเทศต่างๆ หากมีอุปสรรคอันใดก็ช่วยกันแก้ไข ทั้งคอยประสานความแตกต่าง ระหว่างนิกายต่างๆ จึงทำให้ศาสนาพุทธเป็นเอกภาพ และเป็นนิมิตหมายที่สำคัญใน การเผยแผ่ศาสนาให้แพร่หลายยิ่งๆ ขึ้นไป

 

 


1) ดนัย ไชยโยธา. ประวัติศาสตร์เอเชียใต้ยุคโบราณ, 2527 หน้า 44-45.
2) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 9. สามัญญผลสูตร, 2539.
3) Tripathi, Rama Shamker. History of Ancient India, 1967 p. 86-89.
4) วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า, กรมพระยา. พุทธานุพุทธประวัติ, 2526 หน้า 6-44.
5) พิฑูร มลิวัลย์ และไสว มาลาทอง. พุทธกิจ 45 พรรษา, 2531 หน้า 21-23.
6) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 10. มหาปรินิพพานสูตร, 2539 หน้า 238.
7) สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, 2539 หน้า 20-24.
8) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 25. พระรัตนตรัย, 2539 หน้า 1.
9) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 12. พุทธคุณ, 2539 หน้า 67.
10) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 12. ธรรมคุณ, 2539 หน้า 67.
11) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 12. สังฆคุณ, 2539 หน้า 67.
12) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันยปิฎก มัชฌิมนิกาย เล่ม 13. มหาจัตตารีสกสูตร, 2539 หน้า 342.
13) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายนวรรค เล่ม 18. ไตรลักษณ์. 2539 หน้า 1.
14) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม 19. อริยสัจ 4, 2539 หน้า 528.
15) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 10. มรรคมีองค์ 8, 2539 หน้า 348.
16) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่ม 25, 2539 หน้า 222.
17) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่ม 25, 2539 หน้า 126, 221.
18) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม 25, 2539 หน้า 50.
19) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม 25, 2539 หน้า 158.


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร


 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0057959834734599 Mins