คิดถึงคนบนฟ้า
ลูกเริ่มต้นจากครอบครัวที่อบอุ่น มีความสุข คุณพ่อมีตำแหน่งเป็นถึงเทศมนตรีมีลูกทั้งหมด ๗ คน ครอบครัวของเราสมบูรณ์บริบูรณ์เพียบพร้อมไปทุกอย่าง ญาติทางฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ก็ล้วนแต่เป็นคนดี บ้านของลูกเป็นศูนย์รวมหมู่ญาติ ทำให้ญาติ ๆ แวะมาเยี่ยมเยียนไม่เคยขาด คุ้นเคยกันจนสามารถเปิดหม้อข้าวทานกันได้ จนมีคนพูดกันว่าหม้อข้าวบ้านนี้ไม่เคยว่างเปล่าจากข้าวเลย
ในช่วงปิดเทอม ลูกและพี่น้องก็จะพากันไปเที่ยว แล้วก็ไปพักอยู่กับญาติ ๆ ซึ่งทุกคนก็ให้การต้อนรับเลี้ยงดูเป็นอย่างดี
กระทั่งลูกอายุได้ ๑๒ ปี ความสุขเหล่านั้นก็อันตรธานหายไป กลับกลายเป็นความทุกข์เข้ามาแทนที่ เพราะคุณพ่อได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ด้วยวัยเพียง ๓๘ ปีเท่านั้น
นับจากวันที่คุณพ่อเสียชีวิต คุณแม่ก็เศร้าโศกเสียใจมาก ร้องไห้ทุกวัน แม้รับประทานอาหารแม่ก็ยังร้องไห้ เรียกว่า กินข้าวคลุกนํ้าตาทุกมื้อ เพราะตอนที่คุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะมานั่งทานข้าวด้วยกันทุกครั้ง คุณแม่ก็เลยหาทางออกด้วยการเริ่มดื่มเหล้า ดื่มทุกมื้อ ดื่มให้มึน ๆ เพื่อจะได้ลืมความทุกข์ระทม
แม้เวลาจะผ่านไปถึง ๑๕ ปี จนแม่อายุ๕๓ ปี ท่านก็ไม่เคยสร่างจากความเศร้าโศกนั้นเลย ต่อมาท่านเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ โดยตกจากมอเตอร์ไซค์ ศีรษะฟาดพื้นอย่างแรงจนศรีษะแตกและหมดสติ ทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ด้วยวัย ๕๓ ปี
คตินิมิตของคุณแม่เป็นอย่างไร ความโศกเศร้าที่มีอยู่ตลอด ส่งผลให้แม่เป็นอย่างไรบ้าง ขณะนี้ท่านอยู่ที่ไหน ได้รับบุญที่อุทิศให้หรือไม่คะ
คุณครูไม่ใหญ่
แม่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เพราะกรรมฆ่าสัตว์ใหญ่ทำอาหาร เช่น หมู วัว ควายเป็นต้น และกรรมที่เคยเมาแล้วทะเลาะกับน้องของตน แล้วผลักน้องตกชานเรือนจนศีรษะฟาดพื้นตายในอดีต มารวมส่งผล
ละโลกก็ไปอยู่ยมโลกของมหานรกขุม๕ ด้วยกรรมดื่มสุราแก้ปัญหา เพราะคิดถึงสามีในปัจจุบัน กำลังโดนเจ้าหน้าที่กรอกนํ้าทองแดงร้อนอยู่ด้วยความทุกข์ทรมานมากได้รับบุญที่อุทิศไปให้แล้ว ก็ได้รับลดหย่อนผ่อนโทษลงมา
ถ้าคิดถึงต้องสั่งสมบุญและอุทิศบุญไปให้ จึงจะถูกหลักวิชชา ต้องคิดว่า
๑. เรามีความตายเป็นธรรมดา เราก็เคยตายมาแล้ว และทุกคนก็ต้องตาย
๒. ร้องไห้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ตายแล้วยังทำให้ตัวเราทั้งกายและใจเศร้าหมอง
๓. ต้องสั่งสมบุญทุกบุญ เราก็จะได้บุญแล้วอุทิศบุญนั้นไปให้ผู้ตาย และบุญใหญ่ก็ต้องทำกับเนื้อนาบุญผู้เป็นอายุพระศาสนาอย่างนี้จึงจะถูกหลักวิชชา
ที่นี่มีคำตอบ ฉบับมินิ เล่ม 4 รักนี้สีอะไร
โดย คุณครูไม่ใหญ่
๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘